ท้องลูกแฝด เกิดจากอะไร ตั้งครรภ์แฝดเสี่ยงอันตรายจริงไหม
การมีลูกแฝดอาจเป็นความฝันของหลาย ๆ ครอบครัว แต่การตั้งครรภ์ลูกแฝดถือเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง บทความนี้รวบรวมสิ่งที่คุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับลูกแฝด ลูกแฝด เกิดจากอะไร ครรภ์แฝดมีความเสี่ยงอย่างไร รวมถึงคำแนะนำสำหรับคุณแม่ที่ต้องการมีลูกแฝดแบบธรรมชาติ และเคล็ดลับในการดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ลูกแฝด
สรุป
- กรรมพันธุ์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดลูกแฝด แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้มีลูกแฝดได้ เช่น คุณแม่น้ำหนักตัวมาก คุณแม่อายุมาก และคุณแม่ที่กินยาบางชนิด
- ครรภ์แฝดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ แฝดแท้และแฝดเทียม ซึ่งเป็นสองประเภทของฝาแฝดที่เกิดจากกระบวนการที่แตกต่างกัน แฝดแท้เกิดจากไข่ใบเดียวกัน ส่วนแฝดเทียมเกิดจากไข่คนละใบ
- ครรภ์แฝดเป็นภาวะเสี่ยงของคุณแม่ และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด การแท้ง เป็นต้น
- การดูแลตัวเองเมื่อตั้งครรภ์แฝด ร่างกายของคุณแม่ท้องต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อไปเลี้ยงลูกแฝดในท้อง ดังนั้น คุณแม่ครรภ์แฝดต้องทานอาหารให้มากกว่าแม่ตั้งครรภ์ปกติ โดยเฉพาะอาหารที่ให้พลังงาน ต้องเพิ่มจากปกติอย่างน้อย 200-300 กิโลแคลอรีต่อวัน ควรเน้นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ มากกว่าอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล เพราะอาจทำให้คุณแม่น้ำหนักเพิ่มมากเกินไป
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ลูกแฝด เกิดจากกรรมพันธุ์จริงไหม
- มีลูกแฝด เกิดจากปัจจัยอะไรได้บ้าง
- อยากมีลูกแฝดธรรมชาติยากแค่ไหน
- ครรภ์แฝดแท้ แฝดเทียม ต่างกันยังไง
- มีครรภ์แฝด จะแพ้ท้องมากกว่าปกติจริงไหม
- ครรภ์แฝด เป็นภาวะเสี่ยงของคุณแม่จริงไหม
- ภาวะแทรกซ้อน ที่คุณแม่มีครรภ์แฝดต้องระวัง
- คุณแม่มีครรภ์แฝด ต้องกินอาหารเพิ่มเป็น 2 เท่า
- คุณแม่มีครรภ์แฝด ต้องดูแลตัวเองแบบไหน
- เคล็ดลับ สำหรับคนอยากมีลูกแฝด
ลูกแฝด เกิดจากกรรมพันธุ์จริงไหม
กรรมพันธุ์เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดลูกแฝด โดยเฉพาะ แฝดไม่เหมือนกัน (dizygotic twins) หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า แฝดเทียม หากคุณแม่มีประวัติครอบครัวเคยมีลูกแฝดมาก่อน โอกาสที่จะมีลูกแฝดเองก็จะสูงขึ้นด้วย ซึ่งพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการมีลูกแฝดนี้มักจะถ่ายทอดมาจาก ฝ่ายแม่มากกว่าฝ่ายพ่อ
มีลูกแฝด เกิดจากปัจจัยอะไรได้บ้าง
การเกิดของลูกแฝดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรรมพันธุ์ ปัจจัยแวดล้อม และกระบวนการทางการแพทย์ อาทิเช่น
- คุณแม่น้ำหนักตัวมาก คุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวมากและส่วนสูงเกินมาตรฐาน มีโอกาสมีลูกแฝดมากกว่าคนตัวเล็ก เพราะร่างกายอาจหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นการตกไข่มากกว่าปกติ
- คุณแม่มีอายุมาก คุณแม่ที่มีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะอายุ 35 ปีขึ้นไป มีโอกาสมีลูกแฝดสูงขึ้น เนื่องจากร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นการตกไข่มากขึ้น ทำให้ไข่ตกพร้อมกันหลายฟองได้
- กินยาบางชนิด การใช้ยาเพื่อกระตุ้นการตกไข่ หรือการทำเด็กหลอดแก้ว เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีโอกาสมีลูกแฝดเพิ่มขึ้น เพราะวิธีเหล่านี้มักจะทำให้ไข่ตกหลายฟองหรือมีการย้ายตัวอ่อนหลายตัว
อยากมีลูกแฝดธรรมชาติยากแค่ไหน
จากสถิติทั่วไปพบว่า การมีลูกแฝดสองคน เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉลี่ยแล้วจะมีคู่สามีภรรยาประมาณ 1 คู่ จาก 89 คู่ ที่มีลูกแฝดสองคน สำหรับลูกแฝดสามคนจะพบได้น้อยลงไปอีก คือ ประมาณ 1 คู่ จาก 7,921 คู่ และ ลูกแฝดสี่คน นั้นพบได้ยากมาก ๆ คือ ประมาณ 1 คู่ จาก 704,969 คู่ สรุปง่าย ๆ คือ การมีลูกแฝดเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และโอกาสที่จะได้ลูกแฝดมากกว่าสองคนนั้นยิ่งยากขึ้นไปอีก
ครรภ์แฝดแท้ แฝดเทียม ต่างกันยังไง
ครรภ์แฝดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ แฝดแท้และแฝดเทียม ซึ่งเป็นสองประเภทของฝาแฝดที่เกิดจากกระบวนการที่แตกต่างกัน
1. แฝดแท้ (Identical twins)
เกิดจากไข่ใบเดียวกันที่ถูกปฏิสนธิโดยอสุจิหนึ่งตัว หลังจากนั้นตัวอ่อนจะแบ่งตัวออกเป็นสองส่วน ทำให้ได้ฝาแฝดที่มีพันธุกรรมเหมือนกันทุกประการ จึงมีรูปลักษณ์ภายนอกที่คล้ายกันมาก และมักจะเป็นเพศเดียวกัน โดยแฝดแท้ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น สายรกพันคอ รกเกาะต่ำ หรือปัญหาในการเจริญเติบโตไม่เท่ากัน เนื่องจากต้องแบ่งปันทรัพยากรจากรกเดียวกัน
2. แฝดเทียม (Fraternal twins)
เกิดจากไข่สองใบที่ถูกปฏิสนธิโดยอสุจิสองตัวพร้อมกัน ทำให้ได้ฝาแฝดที่มีพันธุกรรมแตกต่างกัน เหมือนพี่น้องทั่วไปที่เกิดคนละวัน เพียงแต่เกิดมาพร้อมกันในครรภ์เดียวกัน ฝาแฝดเทียมอาจมีเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ได้ สำหรับแฝดเทียม โดยทั่วไปมีความเสี่ยงน้อยกว่าแฝดแท้ แต่ก็อาจมีปัญหาคลอดก่อนกำหนดได้ เนื่องจากพื้นที่ในครรภ์จำกัด
มีครรภ์แฝด จะแพ้ท้องมากกว่าปกติจริงไหม
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดมักจะมีอาการแพ้ท้องรุนแรง และนานกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เดี่ยวทั่วไป เนื่องจาก ระดับฮอร์โมนสูงขึ้น เมื่อมีการตั้งครรภ์แฝด ร่างกายจะผลิตฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยรักษาการตั้งครรภ์ ในปริมาณที่สูงกว่าการตั้งครรภ์เดี่ยว อาจทำให้เกิดอาการแพ้ท้องที่รุนแรงขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว เป็นต้น
ครรภ์แฝด เป็นภาวะเสี่ยงของคุณแม่จริงไหม
การตั้งครรภ์แฝดถือเป็นภาวะเสี่ยง เนื่องจากร่างกายของมนุษย์ ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการตั้งครรภ์หลายคนพร้อมกัน มดลูกต้องแบกรับน้ำหนักและขนาดที่เพิ่มขึ้น ทำให้คุณแม่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ยิ่งจำนวนทารกในครรภ์มากขึ้น ความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งครรภ์แฝดสามขึ้นไป ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากต่อทั้งแม่และลูก
ภาวะแทรกซ้อน ที่คุณแม่มีครรภ์แฝดต้องระวัง
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด มักจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มากกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกคนเดียวทั่วไป เนื่องจากร่างกายต้องทำงานหนักขึ้นในการเลี้ยงลูกถึงสองคน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น
ความดันโลหิตสูง
คุณแม่ตั้งครรภ์แฝด จะมีความเสี่ยงในการเกิดความดันโลหิตสูง และภาวะครรภ์เป็นพิษเพิ่มมากขึ้นในครรภ์แฝด เนื่องจากมีระดับของ sFlt-1 เพิ่มสูงขึ้น และ PIGF ลดลง
ครรภ์เป็นพิษ
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดครั้งแรกมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะตกเลือดหลังคลอด และเสียชีวิตได้ พบว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับครรภ์เดี่ยว ภาวะนี้เกิดจากความดันโลหิตสูงร่วมกับมีโปรตีนปนในปัสสาวะ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ในร่างกายเริ่มทำงานผิดปกติ
คลอดก่อนกำหนด
ลูกแฝดมักจะคลอดก่อนกำหนด ทำให้ลูกน้อยอาจมีสุขภาพไม่แข็งแรงเท่าที่ควร เนื่องจากปอดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ โดยพบอัตราการคลอดก่อนกำหนดในครรภ์แฝดสอง ร้อยละ 60 ส่วน ในครรภ์แฝดสาม พบสูงถึงร้อยละ 98
ภาวะแท้ง
คุณแม่ตั้งครรภ์แฝดจะมีความเสี่ยงในการมีภาวะแท้งสูงกว่าปกติ และในบางกรณีอาจเกิดภาวะ vanishing twin โดยแฝดหนึ่งคนจะหยุดเติบโตและสลายไประหว่างตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก ซึ่งภาวะนี้พบได้บ่อยประมาณ 10-40 เปอร์เซ็นต์
เบาหวานขณะตั้งครรภ์
โดยทั่วไปความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ในคุณแม่ครรภ์แฝดจะสูงกว่าคุณแม่ครรภ์เดี่ยว เนื่องจากการอุ้มลูกแฝด ทำให้ร่างกายต้องทำงานหนักขึ้น เนื่องจากต้องผลิตฮอร์โมนและสารอาหารเพื่อเลี้ยงลูกน้อยถึงสองคน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ง่ายขึ้น ภาวะดื้อต่ออินซูลินนี้เองที่เป็นสาเหตุหลัก ที่นำไปสู่การเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์
โรคถ่ายเลือดในครรภ์แฝด
เป็นภาวะที่เกิดขึ้นในแฝดที่มีรกร่วมกัน โดยมีการถ่ายเทเลือดระหว่างแฝดสองคนไม่สมดุลกัน ทำให้แฝดหนึ่งได้รับเลือดมากเกินไป อีกแฝดหนึ่งได้รับเลือดน้อยเกินไป ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกทั้งสองคน
คุณแม่มีครรภ์แฝด ต้องกินอาหารเพิ่มเป็น 2 เท่า
คุณแม่ท้องแฝดต้องการปริมาณอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เพราะร่างกายของคุณแม่ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อเลี้ยงลูกแฝดที่กำลังเติบโตอยู่ในท้อง สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณแม่ท้องแฝดต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเน้นอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะโปรตีนและแคลเซียม เพราะต้องใช้ในปริมาณมากกว่าครรภ์เดี่ยวถึง 2 เท่า
คุณแม่มีครรภ์แฝด ต้องดูแลตัวเองแบบไหน
ตั้งครรภ์แฝดจะต้องดูแลตัวเองมากขึ้น เพราะถึงแม้เรื่องตั้งครรภ์แฝดจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีของใครหลายคน แต่ก็มีความเสี่ยงสูงแอบแฝงอยู่ มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนกับคุณแม่และลูกน้อยระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยคุณแม่มีครรภ์แฝดควรดูแลตัวเอง ดังนี้
- ฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าท้อง การฝากครรภ์และตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกแฝดในครรภ์อย่างใกล้ชิด ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนลงได้
- คุณแม่ตั้งครรภ์แฝดต้องการสารอาหารครบถ้วนเพื่อเลี้ยงลูกน้อยถึงสองคน ควรเน้นอาหารที่มีประโยชน์หลากหลาย เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผักใบเขียว ผลไม้สด นม และผลิตภัณฑ์จากนม เพื่อให้ได้รับโปรตีน แคลเซียม วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ โดยเฉพาะธาตุเหล็กที่จำเป็นต่อการสร้างเลือดเพิ่มขึ้นเพื่อเลี้ยงลูกสองคน
- การพักผ่อนสำคัญมาก คุณแม่มีครรภ์แฝดควรนอนหลับให้เพียงพอ ผ่อนคลายจิตใจ อย่ากังวลมากเกินไป จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายตัวและมีสุขภาพที่ดีขึ้น และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรงมากเกินไป ห้ามทำงานหนัก ห้ามยกของหนัก งดเดินทางไกล เพราะอาจเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้
- รับประทานยาบำรุงครรภ์ ตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น และไม่ควรซื้อยาหรือวิตามินมารับประทานเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
เคล็ดลับ สำหรับคนอยากมีลูกแฝด
กินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นแคลเซียมและกรดโฟลิก
ผลการวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่า การบริโภคอาหารบางชนิดอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับโอกาสในการมีลูกแฝด โดยพบว่าผู้หญิงที่ดื่มนมเยอะ ๆ มีโอกาสได้ลูกแฝดมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่มนมถึง 5 เท่า สาเหตุอาจเป็นเพราะโปรตีนชนิดหนึ่งในนมที่ช่วยกระตุ้นให้รังไข่ทำงานมากขึ้น และแม้ว่าผลการวิจัยเรื่องกรดโฟลิกจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็มีงานวิจัยบางชิ้นที่เชื่อมโยงกับโอกาสในการมีลูกแฝด อย่างไรก็ตาม การทานกรดโฟลิกก่อนตั้งครรภ์ก็เป็นสิ่งสำคัญอยู่แล้ว เพราะช่วยป้องกันความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ แต่ก่อนตัดสินใจอะไร อย่าลืมปรึกษาแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมกับคุณแม่มากที่สุด
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวมของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และช่วยให้ร่างกายพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป เนื่องจาก การออกกำลังกายหนักเกินไปในผู้หญิงมีผลให้วงจรการตกไข่หยุดชะงัก และส่งผลต่อประจำเดือน สำหรับผู้ชายก็เช่นกัน หากออกกำลังกายมากเกินไปอาจทำให้จำนวนอสุจิลดลง
พักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับมีบทบาทสำคัญในทุกขั้นตอนของกระบวนการเจริญพันธุ์ ตั้งแต่การมีประจำเดือนไปจนถึงการปฏิสนธิและการคลอดบุตร ซึ่งหมายความว่า การพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นอุปสรรคต่อการมีลูกในทุกขั้นตอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
หากลองทำลูกแฝดด้วยวิธีธรรมชาติแล้วไม่สำเร็จ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ ที่ช่วยรักษาภาวะมีบุตรยาก ให้คุณแม่สามารถมีลูกได้ง่ายขึ้น ทั้งการใช้ยากระตุ้นให้ไข่ตก การทำเด็กหลอดแก้ว การใส่ตัวอ่อน และอื่น ๆ ทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยทำให้โอกาสเกิดครรภ์แฝดมีสูงขึ้นเช่นกัน แต่วิธีการที่หวังผลได้มากที่สุด คือการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งจะทำให้ได้ลูกแฝดมากกว่าธรรมชาติถึง 20 เท่า
สรุปแล้ว ส่วนใหญ่ลูกแฝดเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม หรือการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ ในการช่วยการเจริญพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสสำหรับคนที่อยากมีลูกแฝดโดยธรรมชาติ แม้โอกาสค่อนข้างน้อยมาก อีกทั้ง การมีลูกแฝดเป็นภาวะเสี่ยงที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อน หากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด พบอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ลูกน้อยมีพัฒนาการยังไงบ้าง
- ลูกดิ้นตอนกี่เดือน การนับลูกดิ้น ลูกดิ้นแบบไหนอันตราย
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายกับคุณแม่ท้องและลูกในครรภ์อย่างไร
- 12 เมนูคนท้อง คนท้องกินอะไรได้บ้าง กินอะไรให้ดีกับลูกน้อย
- โฟเลต คืออะไร อาหารที่มีโฟเลตสูงสำคัญกับคุณแม่ตั้งครรภ์แค่ไหน
- อาหารบํารุงครรภ์ไตรมาส 1 อาหารคนท้องอ่อน สำหรับคุณแม่และลูกน้อย
- คลอดก่อนกำหนด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด
- คลอดธรรมชาติ น่ากลัวไหม คลอดลูกแบบธรรมชาติ มีขั้นตอนอย่างไร
- ของใช้เตรียมคลอดก่อนไปคลอด เตรียมของไปคลอดยังไงให้ครบ
- อยู่ไฟหลังคลอด ยังจำเป็นอยู่ไหมสำหรับคุณแม่หลังคลอด
- คนท้องนอนหงายได้ไหม ท่านอนคนท้อง 1-3 เดือน ท่าไหนปลอดภัย
อ้างอิง:
- เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘ครรภ์แฝด’, โรงพยาบาลพญาไท
- การตั้งครรภ์แฝดไม่ง่ายอย่างที่คิด, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- การตั้งครรภ์แฝด: Multifetal Pregnancy, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- 12 วิธีทำลูกแฝด & อยากได้ลูกแฝดต้องทําอย่างไร?, Medthai
- ความเสี่ยงของครรภ์แฝด, โรงพยาบาลสมิติเวช
- 3 สิ่งนี้ที่คุณแม่ครรภ์แฝดต้องใส่ใจ, โรงพยาบาลเวชธานี
- How might gestational diabetes affect twin pregnancies?, MedicalNewsToday
- How Do Exercise, Weight, and Age Affect Fertility?, Webmd
- Is Poor Sleep Stopping You From Getting Pregnant?, Psychology Today
- การตั้งครรภ์แฝด, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
อ้างอิง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567