อาการครรภ์เป็นพิษ มีสาเหตุจากอะไร ภาวะอันตรายที่คุณแม่ควรระวัง

ครรภ์เป็นพิษ วิธีสังเกตอาการและแนวทางป้องกันเพื่อสุขภาพแม่และลูก

คุณแม่ตั้งครรภ์
บทความ
เม.ย. 1, 2024
6นาที

การตั้งครรภ์อาจไม่ราบรื่นเสมอไป บางครั้งอาจเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งเป็นอาการคนท้องที่เกิดจากความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ และอาจมาพร้อมกับอาการอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูก สามารถลดความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษนี้โดยเริ่มต้นจากการฝากครรภ์และไปพบสูติแพทย์ให้ตรงตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สูติแพทย์สามารถติดตามสุขภาพและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

ครรภ์เป็นพิษ วิธีสังเกตอาการและแนวทางป้องกันเพื่อสุขภาพแม่และลูก

สรุป

  • ภาวะครรภ์เป็นพิษมีอาการเริ่มแรก คือ ความดันโลหิตสูง มีอาการบวมที่ขา เท้าและมือ
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษมักเริ่มหลังจากตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูก
  • หากพบว่าคุณแม่ท้องมีภาวะครรภ์เป็นพิษ สูติแพทย์ที่ดูแลมักจะแนะนำให้ทำการคลอด ซึ่งระยะเวลาที่สูติแพทย์จะให้คลอดนั้น ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของคุณแม่และความรุนแรงที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

รู้จักอาการครรภ์เป็นพิษ คืออะไร

อาการคนท้องครรภ์เป็นพิษ (เดิมเรียกว่า ภาวะเป็นพิษในเลือด) เกิดขึ้นเมื่อคุณแม่มีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ โดยพบว่าปริมาณโปรตีนมากเกินไปในปัสสาวะ อาการที่พบได้คือ คนท้องเท้าบวม มือบวม และอาจมีอาการอื่น ๆ ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนคลอด

 

อาการครรภ์เป็นพิษของคนท้อง

อาการคนท้องโดยทั่วไป เช่น อาการบวม (บวมน้ำ) เกิดจากมีปริมาณโปรตีนส่วนเกินในปัสสาวะ และความดันโลหิตที่วัดได้มากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท อาจเป็นสัญญาณเตือนที่ควรเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม อาการครรภ์เป็นพิษของคนท้อง อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่  

  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

น้ำหนักตัวอาจเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติในช่วง 1-2 วัน เนื่องจากมีการสะสมของเหลวในร่างกายมากเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่อาการบวมที่รุนแรงขึ้น

  • ปวดไหล่

อาการปวดบริเวณไหล่หรือหลังส่วนบน อาจสัมพันธ์กับความดันที่เพิ่มขึ้นและการไหลเวียนโลหิตที่ผิดปกติ

  • ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณด้านขวาบน

มักเกิดจากความดันในตับที่เพิ่มสูงขึ้น อาจเป็นสัญญาณเตือนของการทำงานผิดปกติของอวัยวะภายใน

  • ปวดศีรษะรุนแรง

อาการปวดหัวที่ไม่ตอบสนองต่อยาหรือการพักผ่อน อาจเกิดจากความดันโลหิตที่สูงขึ้น

  • การตอบสนองหรือสภาพจิตใจเปลี่ยนแปลง

อาจรู้สึกมึนงง สับสน หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากปกติ ซึ่งบ่งบอกถึงการทำงานผิดปกติของสมอง

  • ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่มีเลย

เป็นสัญญาณของไตที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งมักพบในภาวะครรภ์เป็นพิษที่รุนแรง

  • เวียนศีรษะ

รู้สึกโคลงเคลงหรือเสียสมดุล ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของเลือดที่ผิดปกติ

  • หายใจติดขัดหรือหายใจลำบาก

อาจเกิดจากการสะสมของของเหลวในปอด หรือการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ

  • คลื่นไส้และอาเจียนรุนแรง

แม้ว่าจะเป็นอาการที่พบได้ในช่วงตั้งครรภ์ แต่หากเกิดอย่างรุนแรงร่วมกับอาการอื่น ๆ ควรรีบปรึกษาสูติแพทย์

  • การมองเห็นผิดปกติ

อาการคนท้องที่มีการเปลี่ยนแปลงในการมองเห็น รวมถึงการสูญเสียการมองเห็นชั่วคราว เช่น เห็นแสงกะพริบ ภาพเบลอ หรือภาพซ้อน อาจเป็นผลจากความดันในสมองที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ ในบางกรณี คุณแม่อาจไม่มีอาการเหล่านี้ แต่ยังคงมีภาวะผิดปกติทางสุขภาพอยู่ ดังนั้น หากรู้สึกไม่สบายหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรไปพบสูติแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
 

 

คนท้องเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ จะมีอาการแบบไหน

อาการครรภ์เป็นพิษเริ่มแรก คือ ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งสูติแพทย์สามารถตรวจพบได้เมื่อคุณแม่เข้ารับการตรวจสุขภาพ สำหรับคนท้องที่เสี่ยงครรภ์เป็นพิษจะมีอาการดังนี้ 

  • มีโปรตีนมากเกินไปในปัสสาวะของคุณแม่
  • เกล็ดเลือดในเลือดไม่พอที่ร่างกายจะทำงานได้เป็นปกติ
  • สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับไตในเลือดอยู่ในระดับสูง
  • สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับตับในเลือดอยู่ในระดับสูง
  • มีของเหลวในปอด
  • อาการปวดหัวไม่ยอมหายไปเมื่อรับประทานยา

 

เพื่อยืนยันการวินิจฉัยหลังแจ้งให้คุณแม่รับทราบว่ากำลังเสี่ยงกับครรภ์เป็นพิษ คุณหมอจะทำการทดสอบให้กับคุณแม่ ดังนี้

  • ตรวจเลือดเพื่อหาสารเคมีในไตหรือตับ
  • ทดสอบปัสสาวะเพื่อวัดระดับโปรตีน
  • อัลตราซาวด์ เพื่อจะดูว่าลูกน้อยของคุณแม่เติบโตดีอยู่หรือไม่

 

ความแตกต่างระหว่างครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรงและชนิดไม่รุนแรง

ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ มักพบในช่วงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป คุณแม่ที่มีภาวะนี้อาจมีอาการตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นรุนแรงมาก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับดังนี้

1. ภาวะครรภ์เป็นพิษ ระดับไม่รุนแรง

  • มีความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอท
  • มีอาการบวม แต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
  • อาจไม่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่คุณแม่ควรพบสูติแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ
  • คุณแม่ควรลดอาหารรสจัดและพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีอาการตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ หรือปวดศีรษะ ควรรีบพบสูติแพทย์ทันที

 

2. ภาวะครรภ์เป็นพิษ ระดับรุนแรง

  • มีความดันโลหิตสูง 160/110 มิลลิเมตรปรอท
  • มีอาการตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ ปวดศีรษะรุนแรง
  • อาจมีภาวะเกล็ดเลือดแตก หรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้สูติแพทย์ติดตามอาการของคุณแม่และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด

 

3. ภาวะครรภ์เป็นพิษ ระดับรุนแรงจนเกิดอาการชัก

  • เป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด มักเกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงที่ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที
  • คุณแม่อาจมีอาการชัก เกร็ง ซึ่งเป็นอันตรายทั้งต่อตัวคุณแม่และทารกในครรภ์
  • มีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนและใกล้ชิดจากสูติแพทย์

 

เพื่อความปลอดภัยของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาสูติแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและดูแลอย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

 

คนท้องครรภ์เป็นพิษ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

ปัจจัยทางกายภาพอาจทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ คุณแม่ควรระมัดระวังและดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม โดยพิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้

1. ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงขั้นสูง

  • มีประวัติการป่วยด้วยภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
  • อุ้มท้องเตรียมคลอดลูกน้อยมากกว่าหนึ่งคน (กำลังมีลูกแฝด)
  • อาการความดันโลหิตสูงเรื้อรัง
  • โรคไต
  • โรคเบาหวาน
  • ภาวะภูมิต้านตนเอง เช่น โรคลูปัส

 

2. มีปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงระดับปานกลางอยู่หลายรายการ

  • ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก
  • ระยะที่เริ่มตั้งครรภ์ปัจจุบันห่างจากการตั้งครรภ์ครั้งสุดท้ายมากกว่า 10 ปี
  • ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30
  • มีประวัติสมาชิกในครอบครัวมีอาการครรภ์เป็นพิษ (แม่หรือพี่น้องผู้หญิงมีอาการนี้มาก่อน)
  • อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
  • มีภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ที่ผ่านมา (เช่น มีลูกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย)
  • มีภาวะปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF)
  • เป็นคนชายขอบ (เพราะความไม่เท่าเทียมกันในสังคมจะเพิ่มความเสี่ยงให้เจ็บป่วย)
  • กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (เพิ่มความเสี่ยงที่พบกับความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และทำให้เสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้มากกว่า)

 

สัญญาณเตือนของครรภ์เป็นพิษในคนท้อง

 

สัญญาณเตือนของครรภ์เป็นพิษในคนท้อง

อาการที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ เช่น คนท้องมือชา เป็นตะคริว แพ้ท้อง ปวดหลัง หรือท้องผูก มักเป็นอาการปกติที่พบได้ทั่วไป แต่หากคนท้องมีอาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะครรภ์เป็นพิษ คุณแม่ควรเฝ้าระวัง และหากพบความผิดปกติ ควรรีบปรึกษาสูติแพทย์เพื่อรับการดูแลอย่างเหมาะสมทันที

  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บางรายน้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นถึง 4 กิโลกรัมภายใน 1 สัปดาห์
  • บวม มีอาการบวมน้ำ เช่น ขาบวม
  • ปวดศีรษะ อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นบ่อยหรือรุนแรง
  • ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท หากสูงเกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ารุนแรงมาก
  • จุกแน่นใต้ชายโครง รู้สึกแน่นหรือปวดบริเวณใต้ชายโครง
  • ลูกตัวเล็กและเคลื่อนไหวน้อยลง ทารกโตช้าหรือตัวเล็ก ไม่ดิ้น หรือท้องไม่โตตามอายุครรภ์

 

ภาวะแทรกซ้อนจากครรภ์เป็นพิษ

ภาวะครรภ์เป็นพิษ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ทั้งต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ได้แก่

1. เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด

เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อย สูติแพทย์อาจตัดสินใจให้คลอดก่อนกำหนด  ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของทารก

2. รกลอกตัวก่อนกำหนด

ภาวะนี้อาจทำให้เกิดการตกเลือดอย่างรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

3. ทารกน้ำหนักน้อย

เนื่องจากการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ทารกอาจไม่เติบโตตามเกณฑ์

4. คุณแม่มีอาการชัก

หากอาการไม่ดีขึ้น สูติแพทย์อาจพิจารณายุติการตั้งครรภ์เพื่อรักษาชีวิตคุณแม่

5. อวัยวะเสียหายรุนแรง

ภาวะนี้อาจทำให้อวัยวะสำคัญเสียหายและนำไปสู่การเสียชีวิต โดยอาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยไม่มีสัญญาณเตือน

 

คนท้องครรภ์เป็นพิษ ต้องยุติการตั้งครรภ์ไหม

แม้คำว่า "ยุติการตั้งครรภ์" อาจฟังดูน่ากลัว แต่แท้จริงแล้วอาจไม่ได้หมายถึงเรื่องเลวร้ายเสมอไป เพราะยังหมายถึงการทำคลอด ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้คุณแม่และทารกปลอดภัย โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยสูติแพทย์มักเลือกให้คลอดทางช่องคลอดเนื่องจากเป็นวิธีที่ปลอดภัย แต่หากอาการรุนแรงมาก อาจต้องพิจารณาผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องตามความเหมาะสม และในบางกรณีสูติแพทย์อาจใช้คีมช่วยคลอดเพื่อลดความเจ็บปวดและป้องกันไม่ให้คุณแม่ต้องออกแรงเบ่งมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน

 

วิธีการป้องกันและดูแลคนท้องครรภ์เป็นพิษ

การป้องกัน คือการลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด แม้ว่าจะไม่มีวิธีการป้องกันที่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คุณแม่สามารถดูแลตนเองเพื่อลดโอกาสเกิดภาวะนี้ได้ดังนี้

  • ดื่มน้ำวันละ 6 แก้ว หรือมากกว่า
  • นอนหลับให้เต็มอิ่ม เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • ออกกำลังกายตามคำแนะนำของสูติแพทย์
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด 
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เช่น กาแฟ ชา โคล่า และเครื่องดื่มชูกำลัง
  • ควรเริ่มฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของสูติแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ดูแลตัวเองหลังผ่าคลอด ปฏิบัติตามคำแนะนำของสูติแพทย์
  • ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด สูติแพทย์เฝ้าระวังอาการของคุณแม่อย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่ความดันโลหิตจะสูงขึ้น หรืออาจเกิดอาการชักได้
  • ภายใน 2 สัปดาห์หลังคลอด ร่างกายของคุณแม่จะค่อย ๆ ฟื้นตัว แต่ยังคงต้องดูแลสุขภาพและติดตามอาการกับสูติแพทย์อย่างต่อเนื่อง 

 

การพบสูติแพทย์ตามนัด การตรวจสุขภาพ และการเฝ้าระวังตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงของ ภาวะครรภ์เป็นพิษ และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ นอกจากจะเป็นการดูแลสุขภาพของคุณแม่แล้ว ยังเป็นการมอบความรักและความใส่ใจให้กับลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพราะความรักจากแม่ส่งถึงลูกได้เสมอ เมื่อลูกเติบโตในครรภ์ที่แข็งแรงปลอดภัย และได้รับการดูแลอย่างดี ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการที่สมบูรณ์

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 

 

อ้างอิง:

  1. ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายของคุณแม่ตั้งครรภ์ , โรงพยาบาลสมิติเวช
  2. ภาวะครรภ์เป็นพิษภัยเงียบที่คุณแม่ต้องระวัง , โรงพยาบาลบางปะกอก3
  3. สารพันปัญหา “ภาวะครรภ์เป็นพิษ” , โรงพยาบาลนครธน
  4. อาการปวดข้อมือ ชา คล้ายเป็นเหน็บ ของคุณแม่มือใหม่หรือช่วงตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร ? , โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ kdms - ข้อดีมีสุข
  5. อาการระหว่างตั้งครรภ์ เรื่องสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้ , โรงพยาบาลพญาไท

อ้างอิง ณ วันที่ 12 มีนาคม 2568