ท้องนอกมดลูก การตั้งครรภ์นอกมดลูก ที่คุณแม่ต้องระวัง
ท้องนอกมดลูก เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คุณแม่ต้องยุติการตั้งครรภ์ คุณแม่จึงควรให้ความสำคัญกับการสังเกตอาการในแต่ละวันของตนเอง หากพบอาการผิดปกติ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
สรุป
- ท้องนอกมดลูก คือการที่ตัวอ่อนฝังตัวในตำแหน่งที่ผิดปกตินอกโพรงมดลูก เช่น ท่อนำไข่ ช่องท้อง ปากมดลูก เป็นต้น
- ท้องนอกมดลูกเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คุณแม่ต้องยุติการตั้งครรภ์
- หลังจากท้องนอกมดลูก คุณแม่สามารถตั้งครรภ์ใหม่ได้ ภายใต้การดูแลและให้คำปรึกษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ท้องนอกมดลูก อันตรายแค่ไหน อาการท้องนอกมดลูกที่คุณแม่ต้องระวัง
- ท้องนอกมดลูก คืออะไร?
- เช็กก่อนวางแผนตั้งครรภ์ คุณแม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงท้องนอกมดลูกไหม
- “เลือดออกทางช่องคลอด” อาการที่บ่งบอกว่า คุณแม่ท้องนอกมดลูก
- ท้องนอกมดลูก พบได้บ่อยขนาดไหน?
- การดูแลตัวเองหลังการรักษาอาการท้องนอกมดลูก
- หลังการรักษา จะสามารถตั้งครรภ์ได้ไหม
ท้องนอกมดลูก อันตรายแค่ไหน อาการท้องนอกมดลูกที่คุณแม่ต้องระวัง
รังไข่ของคุณแม่จะทำหน้าที่ผลิตไข่ ส่งออกมาผ่านท่อนำไข่เพื่อปฏิสนธิกับอสุจิ ก่อนที่จะเคลื่อนตัวมาฝังที่มดลูก ในกรณีที่เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือ ท้องนอกมดลูก คือการที่ไข่ปฏิสนธิกับอสุจิแล้ว ไม่เคลื่อนมาฝังตัวที่มดลูก แต่ไปฝังตัวที่บริเวณอื่นแทน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวอ่อนในครรภ์ไม่สามารถพัฒนาและเติบโตไปเป็นทารกได้ หากปล่อยเอาไว้ จนตัวอ่อนเจริญเติบโตภายในท่อนำไข่ จนท่อนำไข่แตก อาจทำให้คุณแม่มีอาการตกเลือด จนเสี่ยงเสียชีวิตได้ หากคุณแม่สังเกตเห็นความผิดปกติ และได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าท้องนอกมดลูก คุณแม่จึงควรได้รับการรักษาทันที ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยา หรือการผ่าตัด
ท้องนอกมดลูก คืออะไร?
การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือ ท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) คือภาวะตั้งครรภ์ผิดปกติ โดยตัวอ่อนจะฝังตัวในตำแหน่งที่ผิดปกติ บริเวณอื่นที่ไม่ใช่โพรงมดลูก เช่น ท่อนำไข่ ปีกมดลูก ช่องท้อง เป็นต้น จนทำให้ตัวอ่อนพัฒนาและเติบโตไปเป็นทารกไม่ได้ ซึ่งมักจะพบอาการผิดปกติหลังจากเริ่มตั้งครรภ์ไปแล้ว สัปดาห์ที่ 7 ถึง สัปดาห์ที่ 8 อาการผิดปกติที่คุณแม่สามารถสังเกตได้ ได้แก่ อาการปวดท้องเฉียบพลัน วิงเวียนศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ มีเลือดออกที่อวัยวะเพศ เป็นต้น
เช็กก่อนวางแผนตั้งครรภ์ คุณแม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงท้องนอกมดลูกไหม
1. อายุ
คุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเกิดการท้องนอกมดลูก เนื่องจากระบบสืบพันธุ์ของคุณแม่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัย จนมีประสิทธิภาพลดลง จนเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการผิดปกติได้
2. ประวัติการตั้งครรภ์
คุณแม่ที่มีประวัติการตั้งครรภ์แบบท้องนอกมดลูกมาก่อน หรือเป็นผู้ที่มีบุตรยากมีประวัติของการใช้ยาคุมฉุกเฉิน หรือมีการคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัย มีความเสี่ยงที่จะเกิดท้องนอกมดลูกได้
3. ความผิดปกติของท่อนำไข่
ท้องนอกมดลูกที่พบส่วนใหญ่ ตัวอ่อนมักจะไปฝังตัวที่บริเวณท่อนำไข่ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการท้องนอกมดลูกเช่นนี้ อาจเกิดมาจากความผิดปกติของท่อนำไข่ ที่อาจมีลักษณะผิดรูป จนทำให้ตัวอ่อนเคลื่อนไปที่โพรงมดลูกไม่ได้ ตัวอ่อนจึงฝังตัวที่บริเวณท่อนำไข่แทน ซึ่งท่อน้ำไข่ที่ผิดปกตินี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ทำให้อุ้งเชิงกรานอักเสบ และเกิดพังผืดบริเวณท่อนำไข่ คุณแม่มีพังผืดหรือรอยแผลที่เกิดจากการผ่าตัด คุณแม่มีประวัติการทำหมัน หรือการแก้หมัน เป็นต้น
4. เคยผ่าตัดทางนรีเวช
คุณแม่ที่เคยผ่าตัดช่องท้อง ท่อนำไข่ หรืออุ้งเชิงกรานมาก่อน มีโอกาสที่จะเกิดรอยแผล หรือพังผืด ซึ่งทำให้ท่อนำไข่ผิดรูปจากปกติ ขัดขวางการเคลื่อนตัวของตัวอ่อน จนทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวที่โพรงมดลูกได้ และกลายเป็นท้องนอกมดลูก
5. มีประวัติติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
คุณแม่ที่มีประวัติการติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน ไม่ว่าจะจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคอื่น ๆ อาจทำให้ท่อนำไข่ของคุณแม่ผิดรูป หรือเกิดพังผืด จนทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเคลื่อนตัวผ่านท่อนำไข่ไปฝังตัวที่โพรงมดลูกตามปกติ
“เลือดออกทางช่องคลอด” อาการที่บ่งบอกว่า คุณแม่ท้องนอกมดลูก
คุณแม่สามารถสังเกตอาการผิดปกติที่บ่งบอกถึงภาวะท้องนอกมดลูกได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดศีรษะ คอ ไหล่ อุ้งเชิงกราน และบริเวณทวารหนัก เจ็บท้อง หรือท้องน้อย รู้สึกบีบรัดภายในช่องท้องข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง เป็น ๆ หาย ๆ สลับไปมาตลอดเวลา มีอาการวิงเวียน หน้ามืด เป็นลม มีเลือดออกจากช่องคลอดปริมาณมาก ไปจนถึงการเกิดภาวะช็อก ซึ่งอาจเกิดจากมีเลือดออกในช่องท้อง จนกระบังลมระคายเคือง หรือบางคนอาจรุนแรงจนถึงขั้นที่ท่อนำไข่แตก จนเสียเลือดจำนวนมาก
ท้องนอกมดลูก พบได้บ่อยขนาดไหน?
ท้องนอกมดลูกพบได้ไม่บ่อย เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 1-2 ของการตั้งครรภ์ โดยคุณแม่สามารถดูแลสุขภาพของตัวเองเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดท้องนอกมดลูกได้
การดูแลตัวเองหลังการรักษาอาการท้องนอกมดลูก
ภาวะท้องนอกมดลูกสามารถรักษาได้หลายวิธี หากคุณแม่หมั่นสังเกตอาการของตนเอง และรีบปรึกษาแพทย์เมื่อพบอาการผิดปกติ แพทย์ก็จะสามารถดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด คุณแม่ไม่ควรละเลยอาการผิดปกติต่าง ๆ และไม่ควรรอให้อาการผิดปกติเหล่านั้นมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หรือรอให้อายุครรภ์เพิ่มมากขึ้นจนยากที่จะรักษา เพราะเสี่ยงที่อวัยวะภายในจะฉีกขาด และเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หลังจากได้รับการรักษาแล้ว คุณแม่ควรให้เวลาตัวเองในการพักผ่อนร่างกายและจิตใจ ลดความเครียด วิตกกังวล และความเศร้าจากการสูญเสีย หลีกเลี่ยงการโทษตัวเอง หรือมองว่าตัวเองเป็นคนผิด เพราะภาวะท้องนอกมดลูกนั้นเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ
หลังการรักษา จะสามารถตั้งครรภ์ได้ไหม
คุณแม่ที่เคยมีประวัติของภาวะท้องนอกมดลูกมาก่อน สามารถตั้งครรภ์ใหม่ได้ โดยการเว้นช่วงเวลาก่อนตั้งครรภ์ครั้งใหม่ประมาณ 3-6 เดือน คุณแม่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะท้องนอกมดลูกได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย และไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจทำให้ท่อนำไข่ผิดรูปได้
แม้ว่าภาวะท้องนอกมดลูกจะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครตั้งตัว และไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้น แต่โอกาสในการเกิดท้องนอกมดลูกมีต่ำมาก และคุณแม่ยังสามารถดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้อีกด้วย หมั่นสังเกตอาการของตนเอง ไม่นิ่งนอนใจเมื่อพบอาการผิดปกติ และหมั่นปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที เพียงเท่านี้คุณแม่ก็สามารถตั้งครรภ์ให้มีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจได้แล้วค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- บล็อกหลังผ่าคลอด คืออะไร เรื่องที่คุณแม่ต้องรู้ เกี่ยวกับการบล็อกหลัง
- ผ่าคลอด กี่สัปดาห์ ท้องกี่สัปดาห์คลอด ถึงปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- คุณแม่ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ผ่าคลอดมีลูกได้กี่คน ผ่าคลอดบ่อยอันตรายไหม
- ออกกําลังกายหลังคลอด สำหรับคุณแม่หลังผ่าคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- ท้องนอกมดลูก หนึ่งในสาเหตุที่คุณแม่ต้องยุติการตั้งครรภ์, โรงพยาบาลศิครินทร์
- ท้องนอกมดลูก, โรงพยาบาลเปาโล
- คุณแม่ควรระวัง การตั้งครรภ์นอกมดลูก, โรงพยาบาลพญาไท
อ้างอิง ณ วันที่ 23 มกราคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง