แม่มือใหม่เตรียมผ่าคลอด พร้อมขั้นตอนการผ่าคลอดที่ควรรู้
เมื่อคุณหมอแจ้งว่าต้องผ่าคลอด คุณแม่ย่อมตื่นเต้นเป็นเรื่องธรรมดา นับวันรอพร้อมหาข้อมูลเตรียมผ่าตัดคลอด ศึกษาด้วยว่าขั้นตอนการผ่าคลอดและวิธีดูแลแผลผ่าคลอด หลังผ่าคลอดแล้วจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งจะตั้งท้องเป็นครรภ์แรก
หลังจากอยู่ในท้องแม่มานานก็ถึงเวลาที่เจ้าตัวน้อยจะออกมาดูโลกกว้างใบนี้แล้ว ซึ่งตามปกติคุณหมอจะให้คุณแม่คลอดธรรมชาติ ยกเว้นมีข้อบ่งชี้ต้องผ่าตัดคลอด ซึ่งจะคำนึงถึงความปลอดภัยของคุณแม่และความปลอดภัยของลูกเป็นสำคัญ เมื่อคุณหมอแจ้งว่าต้องมีการผ่าคลอด คุณแม่ย่อมตื่นเต้นเป็นเรื่องธรรมดา นับวันรอพร้อมหาข้อมูลเตรียมผ่าคลอด เอาไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ตอนนี้ได้เลย
ครรภ์แบบไหน ที่คุณแม่ต้องเตรียมผ่าคลอด

หากคุณแม่ฝากครรภ์ไว คุณหมอจะตรวจร่างกายอย่างละเอียด สอบถามถึงโรคประจำตัว เพื่อพิจารณาความเสี่ยงว่า คุณแม่สามารถให้กำเนิดลูกได้เองด้วยการคลอดธรรมชาติหรือไม่ โดยคุณหมอจะนัดมาตรวจครรภ์เป็นประจำ เพื่อเช็คร่างกายดูความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ การฝากครรภ์และตรวจครรภ์จึงมีความสำคัญอย่างมาก ไม่ควรเลื่อนนัดบ่อย ๆ สำหรับข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดคลอด คุณหมอจะพิจารณาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นและปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้
- ทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติหรืออยู่ในภาวะคับขัน
- ลูกในท้องอยู่ในท่าผิดปกติ เช่น ท่าก้นหรือท่าขวาง
- ตั้งครรภ์แฝด แต่ทารกคนแรกไม่ยอมกลับหัว หรือไม่อยู่ในท่าศีรษะ
- แม่ไม่สามารถคลอดเองได้ เพราะอุ้งเชิงกรานแคบ หรือการผิดสัดส่วนระหว่างทารกกับอุ้งเชิงกราน
- พบเนื้องอกอยู่ในจุดสำคัญ เช่น อุ้งเชิงกราน ปากมดลูกหรือช่องคลอด ทำให้ขัดขวางช่องทางคลอดไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้
- มีโรคที่เป็นอันตราย เช่น มีเชื้อเอดส์ หรือเป็นเริมที่อวัยวะเพศในช่วงเจ็บท้องคลอด รวมถึงมีความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือมีอาการครรภ์เป็นพิษ
- แม่เคยผ่าตัดคลอดมาก่อน
- พบภาวะสายสะดือย้อย ภาวะรกเกาะต่ำ หรือภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
เมื่อคุณหมอพบความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายของทั้งแม่และลูกแล้ว จะทำการนัดผ่าคลอดซึ่งจะนัดผ่าตัดคลอดหลังคุณแม่มีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ขึ้นไป
คุณแม่เตรียมผ่าคลอดเลยได้ไหม ทำไมต้องรอ 37 สัปดาห์
อายุครรภ์ที่ทางการแพทย์เรียกว่า ครบกำหนด จะนับตั้งแต่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถึงก่อน 42 สัปดาห์ แล้วทำไมต้องรอถึง 37 สัปดาห์? นั่นก็เพราะทารกที่คลอดหลัง 37 สัปดาห์จะมีโอกาสรอดชีวิตสูง เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อชีวิตต่ำ ถ้าคลอดก่อนหน้านั้นจะเรียกว่า ทารกคลอดก่อนกำหนด
สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปกติ ไม่ได้ท้องแฝด ไม่พบภาวะผิดปกติที่ต้องระวัง คุณหมออาจจะรอให้อายุครรภ์ครบกำหนดสมบูรณ์ที่ 39 สัปดาห์ขึ้นไปแต่ไม่เกิน 41 สัปดาห์ จะปลอดภัยกับลูกน้อยมากกว่า เพราะความเสี่ยงที่ลูกต้องเผชิญ เช่น การมีปัญหาการหายใจ การปรับตัวกับอุณหภูมิ หรือการติดเชื้อ ในทารกที่คลอดตอนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์จะพบปัญหาราว 15% แต่ถ้าผ่าคลอดในช่วงที่ครบกำหนดสมบูรณ์ ความเสี่ยงเหล่านี้ก็จะลดลง
เตรียมผ่าคลอดครั้งแรก เตรียมตัว เตรียมใจ อย่างไรดี?
คุณแม่มือใหม่ต้องตื่นเต้นมาก ๆ ยิ่งใกล้ถึงวันคลอดเท่าไหร่ หัวใจก็เต้นไม่เป็นจังหวะ ทั้งความรู้สึกตื้นตันที่จะได้เห็นหน้าลูกรักครั้งแรก ความรู้สึกกลัวที่จะต้องขึ้นเตียงผ่าตัด ความรู้สึกกังวลว่าทารกจะแข็งแรงไหม คำถามมากมายจะถาโถมเข้ามา คุณแม่จึงควรเตรียมผ่าคลอดและเตรียมใจเสียแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะการเตรียมใจก่อนไปผ่าตัดคลอดที่สำคัญไม่แพ้การเตรียมตัว คุณแม่ต้องพยายามทำใจให้สบาย ไม่เครียด ฝึกหายใจเข้าลึก ๆ ผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ เพื่อให้ความรู้สึกกลัวและกังวลนั้นจางหายไป ส่วนการเตรียมตัวนั้นต้องเตรียมทั้งข้าวของเครื่องใช้ เตรียมเอกสารสำคัญ และเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดคลอด

นับถอยหลังสู่วันผ่าคลอด แม่ต้องพกอะไรไปบ้าง
เมื่อใกล้ถึงวันเตรียมผ่าคลอด คุณแม่ควรรีบจัดกระเป๋าเตรียมของก่อนคลอดไว้ล่วงหน้า โดยแบ่งออกเป็น
- ของใช้จำเป็นสำหรับคุณแม่ ได้แก่ สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แชมพู หวี ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้าที่เปิดปิดได้ง่าย ยกทรงสำหรับให้นมลูก ผ้าอนามัยชนิดแถบกาว และถุงเก็บน้ำนมแม่
- ของใช้จำเป็นสำหรับลูก ได้แก่ ชุดทารกสำหรับใส่กลับบ้าน 1 ชุด หมวก ถุงมือ ถุงเท้า ผ้าห่อตัว ผ้าอ้อมสําหรับทารกแรกเกิด ผ้าเช็ดน้ำลาย และอุปกรณ์อาบน้ำทารก
- เอกสารสำคัญ ได้แก่ สมุดฝากครรภ์ บัตรโรงพยาบาล สำเนาบัตรประชาชนทั้งคุณพ่อคุณแม่ สำเนาทะเบียนบ้าน ในบางโรงพยาบาลต้องเตรียมเอกสารสำหรับการแจ้งเกิด จึงควรเตรียมชื่อลูกทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเอาไว้ด้วย
เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนขั้นตอนการผ่าคลอด
ใจพร้อมแล้ว ร่างกายก็ต้องเตรียมผ่าคลอด หลังจากที่สูติแพทย์ได้กำหนดวันผ่าตัดคลอดแล้ว จะนัดมานอนที่โรงพยาบาลล่วงหน้า 1 วันเพื่อเตรียมตัว ซึ่งในคืนก่อนผ่าตัดจะต้องงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง และงดดื่มน้ำตามที่แพทย์กำหนด คุณหมอจะให้คำแนะนำถึงการผ่าตัดคลอด มีการตรวจร่างกาย เจาะเลือด และต้องเซ็นเอกสารยินยอมเข้ารับการผ่าตัด จากนั้นจะทำความสะอาดและโกนขนบริเวณที่ต้องผ่าตัดคือสะดือและท้องน้อย รวมทั้งให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อช่วยให้การผ่าตัดง่ายขึ้น
เมื่อถึงเวลาผ่าตัด รวมถึงขั้นตอนการผ่าคลอด จะให้ยาระงับความรู้สึก โดยมีอยู่ 2 วิธีคือ
- ฉีดยาชาเข้าบริเวณไขสันหลัง ทำให้มีการชาเฉพาะส่วนล่างตั้งแต่เหนือเอวเล็กน้อยจนถึงปลายเท้า
- ดมยาสลบ เหมาะกับกรณีฉุกเฉินเพราะยาสลบจะไปกดการหายใจของทารก หลังจากให้ยาแล้ว คุณหมอก็จะลงมีดผ่าตัดคลอด ซึ่งการผ่าตัดคลอดก็มีทั้งแบบผ่าคลอดแนวตั้งกับผ่าคลอดแนวนอน
หลังผ่าคลอดต้องเจออาการอะไรบ้าง คุณแม่มีวิธีรับมืออย่างไร
หลังจากทำการผ่าตัดคลอดแล้ว คุณแม่จะต้องอยู่โรงพยาบาลอย่างน้อย 2-3 วัน โดยหลังผ่าคลอด 24 ชั่วโมง ต้องงดน้ำและอาหารจนกว่าลำไส้จะเริ่มทำงาน แต่จะได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำแทน หลังจากการผ่าคลอดสิ่งที่คุณแม่ต้องเจอแน่ ๆ ได้แก่
- ปวดแผลผ่าคลอด ภายหลังการผ่าตัดจะต้องประเมินความเจ็บของแผล หากคุณแม่รู้สึกปวดแผลผ่าคลอดมาก ๆ สามารถขอยาแก้ปวดได้ โดยยาแก้ปวดจะให้ทางหลอดเลือดดำเพื่อบรรเทาอาการปวดแผล
- คลื่นไส้ อาเจียน คุณแม่บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังการผ่าตัด หรือรู้สึกคันตามเนื้อตัว ซึ่งคุณหมอก็จะจัดยาให้ตามความเหมาะสม
หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย คุณหมอจะให้เริ่มจิบน้ำ รับประทานอาหารเหลว ก่อนจะให้เริ่มทานอาหารอ่อน ๆ แล้วรอให้ร่างกายแม่พักฟื้นประมาณ 2-3 วันจึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ โดยคุณหมอจะนัดมาดูแผลผ่าตัดคลอดราว ๆ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด และนัดตรวจหลังคลอดเมื่อครบ 6 สัปดาห์

ดูแลตัวเองอย่างไรหลังผ่าคลอด
หลังขั้นตอนการผ่าคลอด อาการอื่น ๆ ของร่างกายแม่จะทยอยเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ที่สำคัญคือคุณแม่ต้องคอยสังเกตร่างกายตัวเองให้ดีว่ามีความผิดปกติหรือไม่ พร้อมกันนั้นก็ต้องดูแลร่างกายหลังผ่าคลอดให้ดีตามคำแนะนำของคุณหมอ
- คุณหมอจะปิดแผลผ่าตัดด้วยพลาสเตอร์ชนิดกันน้ำให้ หากแผลมีน้ำเข้า หรือพบว่ามีเลือดออกให้รีบไปทำแผล
- อาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดร่างกายได้ตามปกติ และคอยสังเกตแผลผ่าคลอดเป็นประจำ
- ร่างกายของแม่จะขับน้ำคาวปลาออกมา โดยใน 3-4 วันแรก น้ำคาวปลาจะออกมาเป็นเลือดสด แต่สีจะค่อย ๆ เปลี่ยนไป กลายเป็นสีน้ำตาลออกดำ แล้วเปลี่ยนเป็นน้ำสีขาวออกเหลือง โดยน้ำคาวปลามักจะหมดภายใน 4 สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 6 สัปดาห์หลังคลอด
- เลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด ไม่ควรกินของหมักดอง หมั่นดื่มน้ำบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการรับประทานเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ และพยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
คุณหมอจะนัดตรวจหลังคลอดเมื่อครบ 6 สัปดาห์ โดยจะดูแผลฝีเย็บ เช็คน้ำคาวปลา ตรวจประเมินปากมดลูก การเข้าอู่ของมดลูก พร้อมกับให้คำแนะนำการวางแผนคุมกำเนิด
อาการอันตรายหลังผ่าคลอด ที่คุณแม่ต้องมาโรงพยาบาล
แม้ว่าคุณหมอจะนัดดูอาการอีก 6 สัปดาห์หลังคลอด แต่ถ้าคุณแม่มีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที โดยอาการที่พบได้บ่อยหลังผ่าตัดคลอด เช่น
- มีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส
- ปวดศีรษะมาก หนาวสั่น
- มีก้อนเลือดออกจากช่องคลอด หรือเลือดสด ๆ ออกทางช่องคลอดภายใน 1 ชั่วโมงชุ่มผ้าอนามัย 1 แผ่น
- น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น
- ปวดท้องน้อย
- มีรอยบวมแดงที่แผลผ่าคลอด แผลปริ ไม่ติดกัน หรือมีเลือดซึม
หลังผ่าคลอดคุณแม่ต้องหมั่นดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะผักผลไม้ที่ช่วยในการขับถ่าย ลดปัญหาการเจ็บรอยแผลผ่าคลอดในตอนเบ่ง พร้อมทั้งคอยสังเกตร่างกาย หากพบว่ามีอาการผิดปกติ รู้สึกไม่สบาย อย่านิ่งนอนใจให้รีบไปพบแพทย์ทันที
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง