ทารกคลอดก่อนกำหนด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด

ทารกคลอดก่อนกำหนด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด

31.03.2024

หญิงตั้งครรภ์ที่คลอดตามกำหนดคลอดจะอยู่ในช่วงอายุครรภ์ 37-40 สัปดาห์ แต่การคลอดก่อนกำหนดนั้นจะเกิดขึ้นก่อน 37 สัปดาห์ ซึ่งผลกระทบการคลอดก่อนกำหนด อาจไม่มีผลกับแม่ท้องมากนัก แต่จะมีผลโดยตรงกับทารกเนื่องจากคลอดออกมาก่อนที่ร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายยังทำงานไม่เต็มที่ หรือยังไม่มีความพร้อมที่จะออกมาดูโลก เช่น น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ การทำงานของระบบต่าง ๆ ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน ระบบการหายใจ และอวัยวะส่วนอื่น ๆ ที่ยังทำงานไม่สมบูรณ์ อาจมีผลทำให้ทารกเสียชีวิตหรือเกิดความพิการได้

headphones

PLAYING: ทารกคลอดก่อนกำหนด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด

อ่าน 8 นาที

 

สรุป

  • คลอดก่อนกำหนด คือ การคลอดทารกก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่ทารกจะเสียชีวิตหรือพิการ เพราะอวัยวะภายในร่างกายและระบบต่าง ๆ ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์
  • ปัจจัยจากแม่ที่ส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด เช่น มีความเครียด มีโรคประจำตัว ไขมัน ความดัน เบาหวาน โรคหัวใจ หรือมีภาวะติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ ติดเชื้อช่องคลอดและทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ การทำงานหนักมากเกินไป ล้วนส่งผลให้แม่ท้องคลอดก่อนกำหนดได้
  • การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด ต้องดูแลด้านสุขภาพอย่างรอบด้าน เช่น ดูแลและติดตามระบบการหายใจ การควบคุมอุณหภูมิ ตรวจเลือดตามความจำเป็น ดูแลการได้รับโภชนาการที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายทารก โดยทางโรงพยาบาลจะดูแลทารกจนกว่าน้ำหนักตัวมากกว่า 2,000 กรัม จึงจะสามารถกลับบ้านได้

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เมื่อไรเรียกคลอดก่อนกำหนด

คลอดก่อนกำหนด คือ การคลอดทารกที่เกิดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่ทารกจะเสียชีวิตหรือพิการ เพราะอวัยวะภายในร่างกายและระบบต่าง ๆ ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ปกติแล้วการคลอดก่อนกำหนดอันตรายมักจะเกิดกับตัวทารกมากกว่าตัวคุณแม่ ซึ่งการคลอดก่อนกำหนดมีปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากตัวคุณแม่ เช่น แม่ท้องอายุต่ำกว่า 16 ปี หรือแม่ท้องอายุมากกว่า 35 ปี และปัจจัยจากตัวทารกเอง เช่น ทารกมีความพิการแต่กำเนิดหรือเป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิด 

 

คลอดก่อนกำหนดเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง

1. การคลอดก่อนกำหนดที่มีสาเหตุจากแม่

การคลอดก่อนกำหนด ปัจจัยเสี่ยงหรือสาเหตุหลักมักจะเกิดจากคุณแม่ โดยมีปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • อายุของแม่ท้อง แม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยหรืออายุมาก ส่งผลต่อการคลอดก่อนกำหนด ได้แก่ แม่ท้องที่อายุน้อยเกินไป คือ มีอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือแม่ท้องที่อายุมากเกินไป คือ มีอายุมากกว่า 35 ปี ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
  • แม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน
  • แม่ท้องมีประวัติเคยคลอดก่อนกำหนด
  • แม่ท้องที่ตั้งครรภ์แฝด มดลูกขยายตัวมากเกินไป หรือมีภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ
  • ปากมดลูกสั้น ซึ่งเป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของแม่ท้อง
  • ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ในขณะที่ตั้งครรภ์มดลูกขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และติดเชื้อตามมา ส่งผลให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้
  • ช่องคลอดอักเสบ
  • แม่ท้องดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด
  • ฟันผุหรือเหงือกอักเสบ

 

2. การคลอดก่อนกำหนดที่มีสาเหตุจากลูก

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด นอกจากเกิดจากแม่ท้องแล้ว ปัจจัยจากทารกในครรภ์ก็ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน คือ

  • ทารกเป็นโรคทางพันธุกรรมบางชนิดหรือทารกมีความพิการ
  • ทารกในครรภ์เติบโตช้า
     
คลอดก่อนกำหนด ทารกในครรภ์เสี่ยงอะไรบ้าง

 

ทารกคลอดก่อนกำหนด ส่งผลอะไรบ้าง

 คลอดก่อนกำหนด ที่คลอดตั้งแต่อายุครรภ์ต่ำกว่า 37 สัปดาห์ การพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายทารกยังเจริญเติบโตและพัฒนาไม่เต็มที่ คลอดก่อนกำหนดส่งผลต่อทารก ดังนี้

ระบบทางเดินหายใจ

  • เนื่องจากการทำงานของปอดไม่สมบูรณ์ ภาวะหายใจลำบากเกิดจากการขาดสารลดแรงตึงผิวเป็นปัญหาของระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะคลอดในช่วงอายุครรภ์น้อย ๆ โอกาสเกิดปัญหาระบบหายใจยิ่งเพิ่มมากขึ้น สารลดแรงตึงผิว (Surfactant) คือ สารที่เป็นตัวพยุงทำให้ถุงลมในปอดไม่แฟบเมื่อหายใจออก และเกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซได้ปกติ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดสารลดแรงตึงผิวยังทำงานได้ไม่เต็มที่ การแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนในระบบหายใจทำได้ไม่ดี หายใจลำบาก สังเกตเวลาที่ลูกน้อยหายใจ ได้แก่ ทารกจะหายใจเร็ว อกบุ๋ม จมูกบาน ตัวเขียว
  • ภาวะหยุดหายใจ เมื่อทารกอยู่ในครรภ์ทารกไม่ต้องหายใจเองหรืออาจจะหายใจเองบ้างในบางครั้ง แต่เมื่อคลอดออกมาแล้ว โดยเฉพาะแรกคลอด ทารกคลอดก่อนกำหนดจะนอนนิ่ง ๆ หรือบางคนเงียบไปเลย ในช่วงที่หลับจะมีภาวะหยุดหายใจ เนื่องจากศูนย์ควบคุมการหายใจยังทำงานได้ไม่เต็มที่
     

ระบบหัวใจและหลอดเลือด

  • ภาวะเส้นเลือดหัวใจเกิน สำหรับทารกที่คลอดปกติ เส้นเลือดหัวใจจะเป็นทางลัดผ่านของเลือดจากหัวใจห้องล่างขวาไปยังหลอดเลือดแดงใหญ่ของร่างกาย ซึ่งไปเลี้ยงส่วนล่างของลำตัว เมื่อทารกคลอดออกมาแล้วหลอดเลือดหัวใจจะหดตัวเล็กลงจนปิด แต่สำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด เส้นเลือดนี้จะยังคงเปิดอยู่ จึงมีลักษณะคล้ายการเกิดรูรั่วในหัวใจ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
  • ภาวะเลือดออกในโพรงสมอง มักเกิดในทารกที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม ภาวะเลือดออกในสมอง สามารถเกิดขึ้นได้หลังคลอด เพราะสมองทารกแรกคลอดโดยเฉพาะคลอดก่อนกำหนดจะเปราะบางมาก
  • ภาวะติดเชื้อ ทารกคลอดก่อนกำหนดเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายจนถึงช่วงขวบปีแรก เพราะระบบกลไกการป้องกันการติดเชื้อยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรคที่ได้รับจากคุณแม่ยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น คุณแม่ต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ
  • ภาวะลำไส้เน่า เกิดจากภาวะลำไส้ขาดเลือด เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของทารกที่เกิดมามีขนาดตัวเล็กมาก ยิ่งตัวเล็กมากเท่าไรโอกาสเกิดภาวะลำไส้เน่ายิ่งเพิ่มมากขึ้น
  • น้ำหนักตัวน้อย ทารกคลอดก่อนกำหนดมักจะมีน้ำหนักน้อย ซึ่งต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้ได้รับโภชนาการที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายทารก  
  • การมองเห็น ทารกคลอดก่อนกำหนด ทำให้เส้นเลือดจอประสาทตาทำงานยังไม่สมบูรณ์ มีความเปราะบางและแตกง่ายกว่าปกติ ทำให้มีเลือดออกได้ง่าย อาจเกิดแผลในจอประสาทตา จอประสาทตาหลุด ส่งผลต่อการมองเห็นของทารกต่อไป
  • การได้ยิน เด็กคลอดก่อนกำหนด มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินสูงกว่าปกติ ดังนั้นทารกต้องได้รับการตรวจการได้ยินก่อนออกจากโรงพยาบาล และควรได้รับวัคซีนซ้ำเมื่อทารกมีอายุ 3-6 เดือน
  • ภาวะโลหิตจาง ร่างกายของทารกจะสะสมธาตุเหล็กในปริมาณที่น้อย มีโอกาสเกิดภาวะโลหิตจางตามธรรมชาติได้ง่าย
  • มีพัฒนาการล่าช้า โดยเฉพาะในช่วง 2 ขวบปีแรก หลังจากนั้นหากได้รับการกระตุ้นพัฒนาการจะเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนเด็กทั่วไป

 

ทารกคลอดก่อนกำหนด แพทย์จะให้การดูแลแบบไหน

 สิ่งสำคัญสำหรับการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด คือ ต้องระวังเรื่องภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ คุณหมอแนะนำดังนี้

  • ร่วมพูดคุยรายละเอียดภาวะต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นของทารกกับคุณพ่อคุณแม่
  • ดูการหายใจและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพราะมีทารกบางรายอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
  • ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้เหมาะสม
  • ตรวจเลือดตามความจำเป็น
  • สนับสนุนให้ทารกได้รับนมแม่ เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียมและสฟิงโกไมอีลิน ที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • ดูแลทารกจนกว่าน้ำหนักตัวจะขึ้นถึง 2,000 กรัมถึงจะให้กลับบ้านได้ 

 

วิธีดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดสำหรับคุณพ่อคุณแม่

การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ มีแนวทางดังนี้

  • จัดสถานที่ สภาพแวดล้อมให้สะอาด มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีเสียงรบกวน
  • ควรให้ทารกได้ดูดนมแม่บ่อย ๆ แม้ว่าทารกจะนอนหลับเสียเป็นส่วนใหญ่ คุณแม่ควรปลุกให้ทารกดูดนมอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้ทารกน้อยได้รับสารอาหารจากนมแม่อย่างเพียงพอ
  • หลังจากให้ทารกดูดนมแม่เรียบร้อย ควรระมัดระวังไม่ให้ทารกแหวะนมหรือสำรอกนมออกมา จัดท่าทางให้ทารกเรอออกมาเพื่อไล่ลมในท้อง ช่วยลดอาการท้องอืด
  • ทารกคลอดก่อนกำหนดจะมีภาวะตัวเย็นได้ง่าย ทำให้ลูกไม่สบายบ่อย ๆ หากทารกน้อยมีอาการไข้ มีน้ำมูก หรือเสมหะ ต้องรีบพาไปพบคุณหมอโดยด่วน
  • ปกติแล้วเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักจะมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กคลอดตามกำหนดประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งทารกคลอดก่อนกำหนดแต่ละคนจะมีปัจจัยแตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการทารกได้ด้วยการเปิดเพลงเบา ๆ หรือแขวนโมบายกรุ๊งกริ๊งไว้ให้ลูกน้อยมอง หรืออยากไขว่คว้า จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทารกได้
  • ไม่ควรพาทารกน้อยไปสถานที่แออัด หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก ก่อนอุ้มทารกคุณพ่อคุณแม่ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง รวมถึงแจ้งและทำความเข้าใจกับญาติ ๆ หรือผู้มาเยี่ยมเนื่องจากทารกน้อยเป็นทารกคลอดก่อนกำหนด โอกาสเสี่ยงติดเชื้อจะมีมากกว่าทารกที่คลอดปกติทั่วไป เพราะเชื้อโรคอาจแฝงมากับผู้มาเยี่ยมได้
  • สังเกตการขับถ่ายหากมีอาการผิดปกติ เช่น ถ่ายเป็นมูก ถ่ายเหลว หรือมีกลิ่นผิดปกติ หรือความผิดปกติของผิวหนัง เช่น เกิดตุ่มพองโดยไม่ทราบสาเหตุ ผิวหนังแห้ง ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุ
  • พาทารกน้อยไปพบคุณหมอตามกำหนดการตรวจสุขภาพตรงเวลา สม่ำเสมอตามนัด เพื่อติดตามดูแลรักษาต่อเนื่อง 

 

การดูแลตัวเองสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด

 จากสถิติ ประเทศไทยมีเด็กคลอดก่อนกำหนดประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ มีปัจจัยที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ดังนี้

  • ควรตรวจสุขภาพอยู่เสมอ เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หากตรวจพบความผิดปกติในร่างกายที่เกิดขึ้น และรักษาหรือควบคุมโรคก่อนการตั้งครรภ์
  • หากตรวจพบว่าตั้งครรภ์ ควรรีบฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด เพราะการตรวจครรภ์ด้วยการอัลตราซาวด์ ภายใน 2 เดือนแรก จะช่วยยืนยันอายุครรภ์ได้ดีที่สุด และควรแจ้งคุณหมอหากตนเองมีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด เช่น เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดในท้องที่ผ่านมา หรือมีบุคคลในครอบครัวมีประวัติคลอดก่อนกำหนด
  • แม่ท้องที่มีอายุครรภ์ประมาณ 18-22 สัปดาห์ ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด หากคุณหมอตรวจพบว่า คุณแม่มีปากมดลูกสั้น แพทย์จะให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ใช้สอดในช่องคลอดเพื่อป้องกันไม่ให้ปากมดลูกสั้นลง จากข้อมูลพบว่า การให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ถึง 45 เปอร์เซ็นต์ หากให้ฮอร์โมนแล้วยังเกิดความเสี่ยง คุณหมออาจใช้วิธีใช้ห่วงซิลิโคน (Pessary) เข้าไปรัดปากมดลูก หรือเย็บปากมดลูก

 

คุณแม่เลือกฝากครรภ์ที่ไหนดี

หากคุณแม่ทราบว่าตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด ข้อควรคำนึงถึงวิธีการเลือกฝากครรภ์เพื่อความสบายใจและความปลอดภัย ดังนี้

  1. มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
  2. ทีมแพทย์พยาบาลสามารถให้คำแนะนำได้อย่างใกล้ชิด
  3. มีเครื่องมือครบครัน มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย 

 

ประโยชน์ของการฝากครรภ์ ที่คุณแม่ควรรู้

  • คุณแม่ได้รับคำแนะนำในการดูแลตนเองอย่างถูกต้องทั้งทางร่างกายและจิตใจ คุณหมอจะให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพและตอบคำถามที่คุณแม่สงสัย หรือข้อควรปฏิบัติที่ถูกต้องขณะตั้งครรภ์จนถึงคลอด
  • เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของทารกในครรภ์ รวมถึงการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดอันตรายต่อแม่ท้องและทารกในครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ โรคโลหิตจาง เป็นต้น รวมถึงตรวจดูท่าทางของทารกในครรภ์ หรือตรวจดูความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับทารกและหาแนวทางรักษาต่อไป
  • คุณหมอจะทำการตรวจดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นเพื่อลดอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปโดยปกติและคลอดลูกออกมาอย่างปลอดภัย หากเกิดโรคแทรกซ้อนจะทำการรักษาโดยด่วนเพื่อให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด
  • ช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับทารก เพราะการฝากครรภ์ช่วยลดอัตราการแท้ง การคลอดลูกก่อนกำหนด หรือคลอดลูกแล้วเสียชีวิต ป้องกันทารกในครรภ์ไม่ให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ เพื่อให้ทารกมีสุขภาพที่แข็งแรง พร้อมออกมาดูโลกด้วยความปลอดภัย

การคลอดก่อนกำหนด เกิดจากปัจจัยทั้งแม่ท้องและปัจจัยจากทารก อย่างไรก็ตามหากทราบว่าตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด และเข้ารับการตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอตามที่นัด เพราะคุณหมอจะให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจระหว่างตั้งครรภ์ และตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ 

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. เด็กคลอดก่อนกำหนด ดูแลรักษาถูกวิธี พัฒนาการดีสมวัย, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  2. คุณแม่ตั้งครรภ์มีโอกาสเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  3. ภาวะ “คลอดก่อนกำหนด”, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  4. คลอดก่อนกำหนด, โรงพยาบาลเปาโล
  5. ปัญหาของเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะตัวเหลือง หายใจลำบาก ต้องทำอย่างไร, โรงพยาบาลวิภาวดี
  6. เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการคลอดก่อนกำหนด, โรงพยาบาลสมิติเวช
  7. ฝากครรภ์ครั้งแรกต้องทำอย่างไร ตอบข้อสงสัยคุณแม่มือใหม่, โรงพยาบาลนครธน

อ้างอิง ณ วันที่ 30 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

คนท้องกินวิตามินซีได้ไหม ส่งผลดีและผลเสียกับการตั้งครรภ์ยังไงบ้าง

คนท้องกินวิตามินซีได้ไหม ส่งผลดีและผลเสียกับการตั้งครรภ์ยังไงบ้าง

คนท้องกินวิตามินซีได้ไหม คุณแม่อยากบำรุงครรภ์และร่างกายให้แข็งแรง สามารถกินวิตามินซีได้ แต่ควรอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม หากมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์

มูกเลือดออกทางช่องคลอด คืออะไร มีมูกออกทางช่องคลอดปกติไหม

มูกเลือดออกทางช่องคลอด คืออะไร มีมูกออกทางช่องคลอดปกติไหม

มูกเลือดออกทางช่องคลอด อาจเป็น สัญญาณเตือนว่าคุณแม่ใกล้คลอดแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากภาวะน้ำเดิน ลักษณะมูกใสก่อนคลอด ยังบอกถึงปัญหาสุขภาพของคุณแม่ได้หลายอย่างอีกด้วย

แม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกน้อยจะเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กด้วยหรือไม่

แม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกน้อยจะเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กด้วยหรือไม่

คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ มักมีความกังวลว่า แม่เป็นโรคภูมิแพ้แล้วลูกจะเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กด้วยหรือเปล่า ไปดูสาเหตุพร้อมวิธีป้องกันเบื้องต้นกัน

รู้ทันโรคภูมิแพ้คนท้อง ลดความเสี่ยงคนท้องเป็นภูมิแพ้ตั้งแต่เริ่มท้อง

รู้ทันโรคภูมิแพ้คนท้อง ลดความเสี่ยงคนท้องเป็นภูมิแพ้ตั้งแต่เริ่มท้อง

คนท้องเป็นภูมิแพ้ กับ 2 สาเหตุหลักของโรคภูมิแพ้คนท้อง เพื่อให้คุณแม่หาวิธีป้องกันโรคภูมิแพ้ให้ลูกน้อยจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเสี่ยงลูกเป็นภูมิแพ้

โฟเลต คืออะไร อาหารที่มีโฟเลตสูงมีอะไรบ้างที่ดีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์

โฟเลต คืออะไร อาหารที่มีโฟเลตสูงมีอะไรบ้างที่ดีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์

โฟเลต คืออะไร อาหารที่มีโฟเลตสูงช่วยลดความเสี่ยงในการแท้งและลดความเสี่ยงทารกพิการตั้งแต่ในครรภ์ คุณแม่ควรทานอาหารที่มีโฟเลตสูงก่อนท้อง เพื่อสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรง

คุณแม่ปวดหน่วงท้องน้อยขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง

คุณแม่ปวดหน่วงท้องน้อยขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง

ปวดหน่วงท้องน้อยตั้งครรภ์ อันตรายไหม หากคุณแม่ปวดหน่วงน้องท้องน้อยตั้งครรภ์และมีอาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ จะสังเกตได้อย่างไร คุณแม่ควรรู้อะไรบ้าง ไปดูกัน

ท้องไตรมาส 3 คุณแม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง มีอะไรที่คุณแม่ควรรู้

ท้องไตรมาส 3 คุณแม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง มีอะไรที่คุณแม่ควรรู้

คุณแม่ท้องไตรมาส 3 ร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด คุณแม่ท้องไตรมาส 3 ควรรู้อะไรก่อนบ้าง สัญญาณอะไรที่บ่งบอกว่าคุณแม่ใกล้คลอดแล้ว ไปดูกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก