คลอดธรรมชาติ มีขั้นตอนการคลอดลูกอย่างไร พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

คลอดธรรมชาติ มีขั้นตอนการคลอดลูกอย่างไร พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

01.04.2024

วิธีการคลอดลูก ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คุณแม่มือใหม่มีความกังวล และอาจตัดสินใจยากในการเลือกวิธีคลอดว่าจะคลอดตามธรรมชาติ หรือวิธีการผ่าคลอดดีกว่ากัน หากคุณแม่มีความกังวล ขอแนะนำให้คุณแม่ปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ถึงแนวทางการคลอดที่คุณหมอวางแผนให้แก่คุณแม่ ซึ่งมีความปลอดภัยทั้งสำหรับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์มากที่สุด แต่ถ้าหากคุณแม่เองมีสุขภาพแข็งแรง ลูกในครรภ์มีพัฒนาการสมบูรณ์ อยู่ในท่าทางที่เหมาะสม ก็สามารถที่จะรอการคลอดแบบธรรมชาติได้เลย เพราะผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนจะมีน้อยกว่า แผลสมานเร็วกว่าเนื่องจากเป็นแผลเล็ก การฟื้นตัว ลุกนั่ง หรือการให้นมลูกก็สามารถทำได้ทันทีหลังคลอดเลยด้วย

headphones

PLAYING: คลอดธรรมชาติ มีขั้นตอนการคลอดลูกอย่างไร พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • คุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่ควรกังวลเกี่ยวกับวิธีคลอดเพราะก่อนถึงกำหนดคลอด แพทย์ผู้ดูแลจะมีการวางแผนการคลอดที่เหมาะสมให้กับคุณแม่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของคุณแม่และลูกในครรภ์เป็นอันดับแรก
  • คลอดแบบธรรมชาติ คุณแม่มีแผลคลอดที่มีขนาดเล็ก ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่าง ๆ และเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ลูกด้วยเชื้อแบคทีเรียที่ดี หรือ Probiotic ตามธรรมชาติจากบริเวณช่องคลอด

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

คลอดลูกเอง คลอดลูกธรรมชาติ หรือผ่าคลอด คุณแม่สามารถเลือกได้ไหม ?

คุณแม่ มือใหม่ หรือคุณแม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ใน “การคลอด” มักจะสงสัยว่า ควรเลือกคลอดแบบไหนดี หรือเป็นวิธีคลอดที่เหมาะสม เรื่องนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรกังวลมากเกินไป เพราะก่อนถึงกำหนดคลอด แพทย์ผู้ดูแลจะมีการวางแผนการคลอดที่เหมาะสมให้กับคุณแม่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของคุณแม่และลูกในครรภ์เป็นอันดับแรก ซึ่งโดยทั่วไปการคลอดธรรมชาติ คุณแม่จะไม่สามารถกำหนดวันหรือเวลาที่จะคลอดได้ และคุณแม่บางคนอาจจะมีอาการปวดท้องคลอดที่ยาวนานจนกว่าปากมดลูกจะเปิดกว้างพอสำหรับการคลอดลูก แต่ภายหลังคลอดแล้ว คุณแม่จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเพราะแผลจากการคลอดธรรมชาติเป็นเพียงแผลเล็กเท่านั้น ส่วนการผ่าคลอด เป็นวิธีที่เหมาะกับคุณแม่ที่ไม่สามารถคลอดเองได้ตามธรรมชาติ หรือมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งการผ่าตัดคลอดจะใช้ระยะเวลาในการคลอดสั้นกว่าการคลอดธรรมชาติ และมีขนาดแผลหรือรอยแผลเป็นที่ต่างกับการคลอดธรรมชาติ แต่จะรอฟื้นตัวหลังคลอดนานกว่าคลอดธรรมชาติ เพราะแผลมีขนาดใหญ่มากกว่า

 

คลอดธรรมชาติ มีกี่แบบ

คลอดแบบธรรมชาติหรือ Natural birth หรือเรียกอีกอย่างว่า Active birth

การคลอดด้วยการเบ่งคลอดลูกออกทางช่องคลอด ไม่มีการผ่าตัด โดยเมื่อลูกในครรภ์อยู่ในท่ากลับหัวและอายุครรภ์ประมาณ 37-42 สัปดาห์ และลูกเคลื่อนตัวลงมาอยู่อุ้งเชิงกราน ซึ่งพร้อมสำหรับการคลอดธรรมชาติ

 

คลอดลูกในน้ำ

คลอดลูกในน้ำ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งนิยมในต่างประเทศ เนื่องจากจะช่วยลดความเจ็บปวดในขณะคลอดด้วยการแช่ในน้ำอุ่น ทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย และอาจทำให้การคลอดลูกราบรื่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งการคลอดในน้ำอาจจะมีความเสี่ยงและข้อควรระวัง จึงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด รวมถึงควรเป็นสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วย โดยคุณหมอจะต้องประเมินสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนก่อน โดยการเตรียมคลอด การคลอดวิธีนี้ จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการเตรียมการให้ถูกต้องและเหมาะสม

 

ข้อดีของการคลอดธรรมชาติ

  • แผลคลอดมีขนาดเล็ก คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ท้องแรก หรือปากมดลูกอาจไม่กว้างและยืดหยุ่นเพียงพอสำหรับการคลอดลูก คุณหมอจะช่วยในระหว่างการเบ่งคลอดโดยการกรีดฝีเย็บเพื่อช่วยในการขยายปากช่องคลอด ซึ่งจะเป็นแผลขนาดไม่ใหญ่มากนัก ประมาณ 2-4 เซนติเมตร ซึ่งขึ้นกับขนาดของทารกและสรีระของคุณแม่เองด้วย
  • คุณแม่ฟื้นตัวรวดเร็ว การคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ทำให้เกิดแผลขนาดเล็ก จึงทำให้คุณแม่หลังคลอดส่วนใหญ่ฟื้นตัวไว สามารถลุกขึ้นนั่ง หรือเดินได้ทันทีหลังคลอด รวมถึงให้นมลูกได้ทันทีโดยไม่ได้เจ็บปวดมากนัก เนื่องจากเป็นการคลอดแบบตามธรรมชาติ เหมือนคนสมัยโบราณที่สามารถคลอดธรรมชาติและดูแลลูกได้ทันทีหลังคลอด
  • ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้ ในระหว่างการคลอดที่มดลูกบีบตัวและทารกเคลื่อนที่ผ่านช่องคลอด ซึ่งในกระบวนการนี้ตามธรรมชาติแล้วจะเป็นการช่วยรีดน้ำออกจากช่องอกของลูก ลดความเสี่ยงต่อภาวะการหายใจเร็วการเหนื่อยหอบได้
  • เสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ลูก การที่ลูกเคลื่อนตัวผ่านช่องคลอด พบว่า จากการศึกษาที่บริเวณช่องคลอดของคุณแม่จะมีเชื้อแบคทีเรียที่ดี หรือ Probiotics ตามธรรมชาติ ซึ่งช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ลูกน้อยทันที และมีภูมิอย่างต่อเนื่องหลังคลอด

 

คลอดธรรมชาติ ต้องบล็อกหลังไหม

คุณแม่อาจจะประเมินความอดทนต่อความเจ็บปวดของตนเอง หรือปรึกษาคุณหมอเพื่อร่วมกันวางแผนคลอดให้มีความปลอดภัยและคุณแม่รู้สึกมั่นใจมากที่สุดได้ คุณแม่แต่ละคนอาจพบประสบการณ์การคลอดธรรมชาติที่แตกต่างกันไป แล้วแต่ระยะเวลาในการบีบตัวของมดลูกจนถึงเวลาคลอด หรือความอดทนต่อความเจ็บปวดที่ไม่เท่ากัน รวมถึงท่าทางและขนาดของทารกในครรภ์ที่จะเป็นตัวบอกว่าการคลอดจะยากหรือง่ายมากน้อยเพียงใด ซึ่งด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน มีตัวช่วยมากมายที่จะช่วยให้คุณแม่ที่ต้องการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติคลายความเจ็บปวดระหว่างคลอดลูกลงได้ ตามนี้ค่ะ

  • การฉีดยาลดปวดเข้าหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ
  • การฉีดยาชาเข้าที่ฝีเย็บ
  • การบล็อกหลัง โดยวิสัญญีแพทย์ เพื่อลดความเจ็บปวดตั้งแต่ระหว่างเจ็บท้องคลอดไปจนถึงการตัดฝีเย็บ

 

คลอดธรรมชาติ มีขั้นตอนอะไรบ้าง

เราจะสามารถแบ่งขั้นตอนการคลอดธรรมชาติได้เป็น 3 ช่วงขั้นตอนด้วยกัน ดังนี้

  • ส่งสัญญาณเตือน การเจ็บครรภ์ก่อนคลอด จะเริ่มต้นจนถึงปากมดลูกเปิดขยายเต็มที่ ใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมงสำหรับท้องแรก (ท้องถัดมาอาจจะเร็วขึ้น) โดยจะเริ่มเจ็บครรภ์มากขึ้นเรื่อย ๆ และถี่ขึ้นจากช่วงแรกทุก 5 นาที ซึ่งปากมดลูกเปิดขยายไม่เกิน 7 เซนติเมตร เป็นทุก ๆ 0.5-3 นาที ในช่วงปากมดลูกเปิดขยายประมาณ 8-10 เซนติเมตร ซึ่งคุณแม่อาจลดความเจ็บปวดด้วยการควบคุมลมหายใจให้ดี
  • เบ่งคลอดลูก เป็นระยะที่ปากมดลูกเปิดขยายเต็มที่ พร้อมสำหรับการเบ่งคลอด ซึ่งคุณแม่จะรู้สึกถึงแรงดันช่วงล่างหรือที่เรียกว่า ลมเบ่ง และจะรู้สึกอยากเบ่งคลอดตามธรรมชาติ โดยคุณหมอจะแจ้งให้เริ่มเบ่งได้เมื่อเกิดการหดตัวของมดลูก ซึ่งแรงเบ่งของคุณแม่จะดันให้ลูกนำศีรษะเคลื่อนที่ลงอุ้งเชิงกรานและลงไปในช่องคลอดในที่สุด และร่างกายของลูกก็จะคลอดออกมาได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยค่ะ
  • คลอดรก หลังจากคลอดลูกออกมาแล้ว ร่างกายจะทำการคลอดรกและเยื่อหุ้มเซลล์ออกมาตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องเบ่งแรงเท่าคลอดลูก และคุณหมอจะตรวจเช็กว่ารกคลอดออกมาหมดหรือไม่ เพื่อป้องกันอาการเลือดออกหรือติดเชื้อ

 

คลอดลูกเอง ใช้เวลาพักฟื้นกี่วัน

  

คลอดลูกเอง ใช้เวลาพักฟื้นกี่วัน

โดยทั่วไปหากคุณแม่เลือกวิธีคลอดลูกแบบธรรมชาติ ทางโรงพยาบาลจะกำหนดให้พักฟื้นที่โรงพยาบาลจำนวน 2 คืน ซึ่งระหว่างพักฟื้น คุณหมอและพยาบาลจะคอยช่วยตรวจเช็กสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อย ถึงภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อาทิ เลือดออกทางช่องคลอดหลังคลอด การแข็งตัวของมดลูก ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมน รวมถึงภาวะตัวเหลืองของลูก เป็นต้น ทั้งนี้คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติยังสามารถให้นมลูกได้โดยทันทีหลังคลอด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นน้ำนมของคุณแม่ และแนะนำให้นำลูกมาเข้าเต้าทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทั้งนี้มีข้อควรระวังเกี่ยวกับแผลฝีเย็บเล็กน้อย คือควรงดมีเพศสัมพันธ์หลังคลอดประมาณ 4-6 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูก โดยควรกลับมาตรวจแผลหลังคลอดและให้คุณหมอประเมินและยืนยันอีกครั้งว่าแผลหายดีและปิดสนิทแล้ว และคุณแม่ควรงดออกกำลังกายหลังคลอดประมาณ 6 สัปดาห์ และให้เริ่มออกกำลังกายแบบเบา ๆ ไปก่อน เช่น โยคะ การเดิน เป็นต้น

 

ปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้คลอดธรรมชาติไม่ได้

การคลอดธรรมชาติต้องอาศัยความแข็งแรงสมบูรณ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ และสุขภาพของทารกในครรภ์ประกอบร่วมกัน โดยหากเมื่อมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ อาจส่งผลให้คุณแม่ไม่สามารถคลอดธรรมชาติตามที่คาดหวังไว้ได้

  • ตรวจพบภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อชีวิตของคุณแม่และลูกในครรภ์ได้
  • ภาวะรกเกาะต่ำ อาจเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่เคยผ่าตัดมดลูก หรือทำการผ่าคลอดในท้องแรก หรืออาจเคยมีประวัติรกเกาะต่ำ
  • ทารกในครรภ์มีขนาดโต หรือท่าทางของทารกในครรภ์ไม่เหมาะสมกับการคลอดธรรมชาติ เช่น เด็กไม่กลับหัว เป็นต้น
  • คุณแม่ตั้งครรภ์มีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ หรือโรงมะเร็งปากมดลูก ซึ่งอาจมีผลเสียและเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ

 

คลอดลูกโดยการผ่าคลอด มีข้อดีอะไรบ้าง

  • กำหนดวันเวลาในการคลอดลูกได้ โดยปกติคุณหมอจะให้คุณแม่สามารถกำหนดวันนัดคลอดลูกด้วยวิธีผ่าคลอด หลังอายุครรภ์ครบ 38 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อให้ลูกในครรภ์มีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรง และลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนในการหายใจของเด็ก ซึ่งคุณแม่สามารถกำหนดวันคลอดโดยดูฤกษ์ที่ดีได้ แต่อาจจะต้องให้คุณหมอช่วยประเมินความพร้อมที่เหมาะสมและมีความปลอดภัยมากที่สุดด้วย
  • ลดความเจ็บปวดในการรอคลอด คุณแม่บางท่านอาจจะต้องรอปากมดลูกเปิดกว้างเต็มที่สำหรับการคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติยาวนานหลายชั่วโมง หรืออาจจะยาวนานมากกว่า 12 ชั่วโมง ซึ่งส่งผลต่อความเจ็บปวดของคุณแม่ แต่การผ่าคลอดคุณแม่ไม่ต้องรอปากมดลูกเปิด สามารถกำหนดวันเวลาทำการผ่าคลอดได้ทันที ซึ่งการผ่าคลอดก็ใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมงเท่านั้น และคุณแม่ก็พร้อมที่จะได้พบเจอกับลูกน้อยแล้วค่ะ
  • หลีกเลี่ยงความเสี่ยงการยืดหย่อนของเชิงกราน การเบ่งคลอดในระหว่างการคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ แรงเบ่งนั้นอาจส่งผลต่อการยืดของกระบังลมของเชิงกราน หรือเส้นเอ็นยึดได้ ซึ่งการผ่าคลอดคุณแม่ไม่จำเป็นต้องทำการเบ่งคลอด ทำให้ลดภาวะเสี่ยงนี้ได้

 

ปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้คลอดธรรมชาติไม่ได้

 

การตัดสินใจที่ดีที่สุดของคุณแม่ในการเลือกวิธีการคลอดลูก คือ ควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ และให้คุณหมอช่วยประเมินสุขภาพของทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกในครรภ์ รวมถึงศึกษาข้อดีและข้อเสียของการคลอดในแต่ละวิธี โดยเลือกแนวทางที่คุณแม่รู้สึกมั่นใจ คลายความกังวล และรู้สึกปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีการคลอดมากมาย และมีเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อช่วยลดความเจ็บปวดลงได้ ทั้งการคลอดแบบธรรมชาติหรือผ่าคลอด และยังช่วยให้การคลอดราบรื่นมากยิ่งขึ้นด้วยนะคะ

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. คลอดธรรมชาติ กับ ผ่าคลอด แบบไหนดีกว่ากัน, โรงพยาบาลเปาโล
  2. “คลอดธรรมชาติ Vs ผ่าคลอด” เลือกแบบที่ใช่! สำหรับคุณ, โรงพยาบาลพญาไท
  3. ข้อควรรู้เกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติ, โรงพยาบาลสมิติเวช
  4. “การคลอดลูกในน้ำ” ทางเลือกหนึ่งของการคลอดวิถีธรรมชาติ, โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์
  5. เตรียมพร้อม... คุณแม่ใกล้คลอดแบบธรรมชาติ, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
  6. คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้! เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนผ่าคลอด, โรงพยาบาลพญาไท

อ้างอิง ณ วันที่ 26 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

คนท้องกินวิตามินซีได้ไหม ส่งผลดีและผลเสียกับการตั้งครรภ์ยังไงบ้าง

คนท้องกินวิตามินซีได้ไหม ส่งผลดีและผลเสียกับการตั้งครรภ์ยังไงบ้าง

คนท้องกินวิตามินซีได้ไหม คุณแม่อยากบำรุงครรภ์และร่างกายให้แข็งแรง สามารถกินวิตามินซีได้ แต่ควรอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม หากมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์

มูกเลือดออกทางช่องคลอด คืออะไร มีมูกออกทางช่องคลอดปกติไหม

มูกเลือดออกทางช่องคลอด คืออะไร มีมูกออกทางช่องคลอดปกติไหม

มูกเลือดออกทางช่องคลอด อาจเป็น สัญญาณเตือนว่าคุณแม่ใกล้คลอดแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากภาวะน้ำเดิน ลักษณะมูกใสก่อนคลอด ยังบอกถึงปัญหาสุขภาพของคุณแม่ได้หลายอย่างอีกด้วย

แม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกน้อยจะเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กด้วยหรือไม่

แม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกน้อยจะเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กด้วยหรือไม่

คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ มักมีความกังวลว่า แม่เป็นโรคภูมิแพ้แล้วลูกจะเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กด้วยหรือเปล่า ไปดูสาเหตุพร้อมวิธีป้องกันเบื้องต้นกัน

รู้ทันโรคภูมิแพ้คนท้อง ลดความเสี่ยงคนท้องเป็นภูมิแพ้ตั้งแต่เริ่มท้อง

รู้ทันโรคภูมิแพ้คนท้อง ลดความเสี่ยงคนท้องเป็นภูมิแพ้ตั้งแต่เริ่มท้อง

คนท้องเป็นภูมิแพ้ กับ 2 สาเหตุหลักของโรคภูมิแพ้คนท้อง เพื่อให้คุณแม่หาวิธีป้องกันโรคภูมิแพ้ให้ลูกน้อยจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเสี่ยงลูกเป็นภูมิแพ้

โฟเลต คืออะไร อาหารที่มีโฟเลตสูงมีอะไรบ้างที่ดีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์

โฟเลต คืออะไร อาหารที่มีโฟเลตสูงมีอะไรบ้างที่ดีต่อคุณแม่ตั้งครรภ์

โฟเลต คืออะไร อาหารที่มีโฟเลตสูงช่วยลดความเสี่ยงในการแท้งและลดความเสี่ยงทารกพิการตั้งแต่ในครรภ์ คุณแม่ควรทานอาหารที่มีโฟเลตสูงก่อนท้อง เพื่อสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรง

คุณแม่ปวดหน่วงท้องน้อยขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง

คุณแม่ปวดหน่วงท้องน้อยขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง

ปวดหน่วงท้องน้อยตั้งครรภ์ อันตรายไหม หากคุณแม่ปวดหน่วงน้องท้องน้อยตั้งครรภ์และมีอาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ จะสังเกตได้อย่างไร คุณแม่ควรรู้อะไรบ้าง ไปดูกัน

ท้องไตรมาส 3 คุณแม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง มีอะไรที่คุณแม่ควรรู้

ท้องไตรมาส 3 คุณแม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง มีอะไรที่คุณแม่ควรรู้

คุณแม่ท้องไตรมาส 3 ร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด คุณแม่ท้องไตรมาส 3 ควรรู้อะไรก่อนบ้าง สัญญาณอะไรที่บ่งบอกว่าคุณแม่ใกล้คลอดแล้ว ไปดูกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก