เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะอันตราย ที่คุณแม่ท้องต้องรับมือ
คุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นอันตรายทั้งต่อตัวคุณแม่ และยังส่งผลกระทบถึงลูกน้อยในครรภ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์คุณแม่ต้องดูแลตัวเองและระวังในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้การตั้งครรภ์ปลอดภัยตลอด 40 สัปดาห์
สรุป
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์เกิดเพราะฮอร์โมนในร่างกายช่วงตั้งครรภ์สร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อการทำงานของอินซูลินมีปัญหา จึงส่งผลให้ค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
- เมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนจะต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองหาภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- อันตรายหากมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ในคุณแม่อาจเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษและคลอดก่อนกำหนด ในทารกอาจมีการเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์ หรือคลอดออกมาแล้วมีพัฒนาการล่าช้า
- ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะหายเป็นปกติ หลังจากคุณแม่คลอดลูกแล้ว
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ สัญญาณเตือนที่คุณแม่สังเกตได้
- ใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ควรตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ตอนไหน
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ส่งผลกับลูกในท้องยังไงบ้าง
- ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่งผลกระทบอันตรายต่อตัวทารก
- คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นเบาหวาน ควรรับประทานอาหารอย่างไร
- หากเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ออกกำลังกายแบบไหนได้บ้าง
- เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ถ้าไม่รีบไปปรึกษาแพทย์จะเป็นอย่างไร
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ หายขาดได้หรือไม่
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) เกิดขึ้นจากที่รกในครรภ์มีการสร้างฮอร์โมนขึ้นมาในการต่อต้านฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ในร่างกาย อินซูลินทำหน้าที่เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อระบบการทำงานของอินซูลินถูกรบกวนจึงส่งผลทำให้น้ำตาลในเลือดมีระดับที่สูงขึ้น นั่นจึงทำให้คุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ สัญญาณเตือนที่คุณแม่สังเกตได้
คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นที่บอกถึงว่าอาจมีภาวะแทรกซ้อนเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่
- ปัสสาวะบ่อยมากกว่าปกติ
- มีอาการเหนื่อย อ่อนเพลียตลอดเวลา
- การมองเห็นของดวงตาพร่ามัวทั้งสองข้าง
- น้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์
- ริมฝีปากแห้งมาก
- รู้สึกกระหายน้ำมาก ดื่มน้ำบ่อย
- แผลต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์จะหายช้า
ใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
การตั้งครรภ์ไม่ว่าจะในครรภ์แรก หรือครรภ์ที่สอง ที่สาม คุณแม่อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ขึ้นได้
- คุณแม่มีอายุมากขณะตั้งครรภ์ (30 ปีขึ้นไป)
- มีน้ำหนักเกินก่อนการตั้งครรภ์
- มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเบาหวาน (เครือญาติฝั่งคุณแม่)
- ในครรภ์แรกคุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน
- มีน้ำตาลในปัสสาวะสูง
- ครรภ์แรกคลอดลูกมีน้ำหนัก 4 กิโลกรัม
- มีประวัติทารกเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์ หรือเสียชีวิตระหว่างคลอด
ควรตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ตอนไหน
เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ครบระหว่าง 24 สัปดาห์ และ 28 สัปดาห์ แพทย์ที่ดูแลครรภ์คุณแม่จะนัดเพื่อตรวจหาเบาหวานขณะตั้งครรภ์ การตรวจหาเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีรายละเอียดการตรวจดังนี้
ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร
การตรวจเพื่อหาค่าระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแม่ตั้งครรภ์ สำหรับการตรวจครั้งแรก จะไม่มีการงดน้ำ งดอาหารก่อนมาตรวจ 8 ชั่วโมง โดยมีขั้นตอนการตรวจ คือ คุณแม่ดื่มน้ำตาล 50 กรัม หลังดื่มน้ำตาลครบ 1 ชั่วโมง จะมีการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจหาค่าระดับน้ำตาลในเลือด ระดับน้ำในเลือดที่ปกติต้องไม่เกิน 140 มิลลิกรัมต่อเดชิลิตร
งดน้ำ งดอาหาร
การตรวจในครั้งที่สองจะมีขึ้นในกรณีที่ตรวจระดับน้ำตาลครั้งแรกเกิน 140 มิลลิกรัมต่อเดชิลิตร ในครั้งที่สองของการตรวจคุณแม่มีการงดน้ำ งดอาหารมาก่อน 8 ชั่วโมง การตรวจครั้งสองนี้คุณแม่ต้องดื่มน้ำตาล 100 กรัม โดยมีขั้นตอนการตรวจ คือ เจ้าหน้าที่พยาบาลทำการเจาะเลือดให้คุณแม่ 4 ครั้ง
- เจาะเลือดครั้งที่ 1: ก่อนดื่มน้ำตาล
- เจาะเลือดครั้งที่ 2: หลังดื่มน้ำตาล 1 ชั่วโมง
- เจาะเลือดครั้งที่ 3: หลังดื่มน้ำตาล 2 ชั่วโมง
- เจาะเลือดครั้งที่ 4: หลังดื่มน้ำตาล 3 ชั่วโมง
หากพบความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือดจำนวน 2 ค่าขึ้นไปเกิน 140 มิลลิกรัมต่อเดชิลิตร คุณแม่จะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องจากแพทย์เฉพาะทางต่อมไร้ท่อพร้อมไปกับสูติแพทย์ที่ดูแลการตั้งครรภ์ไปตลอดการตั้งครรภ์ จนถึงคลอดลูก
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ส่งผลกับลูกในท้องยังไงบ้าง
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่งผลกระทบอันตรายต่อตัวคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่
- ความดันโลหิตสูง
- ครรภ์เป็นพิษ
- หลังคลอดคุณแม่มีโอกาสเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
- ตกเลือดหลังคลอด
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่งผลกระทบอันตรายต่อตัวทารก ได้แก่
- มีน้ำหนักมาก ตัวใหญ่ขณะอยู่ในครรภ์
- มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด
- หลังคลอดมีระดับน้ำตาลในเลือดไม่ปกติ เสี่ยงที่จะต่ำ หรือสูง
- อาจมีพัฒนาการที่ช้า
- มีโอกาสเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นเบาหวาน ควรรับประทานอาหารอย่างไร
เมื่อคุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จำเป็นต้องควบคุมการรับประทานอาหารไปจนตลอดอายุครรภ์
- เพื่อคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ตามเกณฑ์
- เพื่อลดการฉีดอินซูลิน
เพื่อให้คุณแม่และทารกในครรภ์มีสุขภาพที่ดี
การคุมอาหารเมื่อมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่ถูกต้อง
- รับประทานอาหาร 3-5 มื้อต่อวัน ในปริมาณที่เหมาะสม
- เปลี่ยนจากรับประทานข้าวขาวมาเป็นข้าวกล้อง หรือข้าวไรซ์เบอร์รี่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลายได้โภชนาการสารอาหารครบ 5 หมู่
- เน้นรับประทานอาหารกลุ่มโปรตีน และผักใบเขียวที่มีกากใยเพิ่มขึ้น และงดผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง
- อาหารจำพวกไขมันสูง หรือขนมหวาน น้ำอัดลม ควรงดอย่างเด็ดขาด
- เลือกนมจืดพร่องมันเนย แทนนมรสหวาน หรือนมเปรี้ยว
หากเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ออกกำลังกายแบบไหนได้บ้าง
หากคุณแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ก็สามารถออกกำลังกายให้มีสุขภาพที่ดีตลอดการตั้งครรภ์ได้ แต่เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ควรได้รับการยืนยันจากแพทย์ที่ดูแลครรภ์ของคุณแม่แต่ละท่านก่อนว่าสามารถออกกำลังกายได้ สำหรับการออกกำลังกายที่แนะนำ ได้แก่
- การเดินเบาๆ เป็นประจำ
- การว่ายน้ำ
เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ถ้าไม่รีบไปปรึกษาแพทย์จะเป็นอย่างไร
หากคุณแม่มีอาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์แล้วไม่ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา หรือไม่ทำตามคำแนะนำจากแพทย์หลังจากตรวจพบเบาหวาน อันตรายร้ายแรงที่เสี่ยงเกิดขึ้นได้ ดังนี้
- ทารกเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์
- ทารกในครรภ์มีพัฒนาการการเจริญเติบโตไม่เป็นไปตามเกณฑ์
- ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ทารกมีแคลเซียม และแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
- ทารกมีระบบทางเดินหายใจผิดปกติ
- ตัวเหลืองหลังคลอด
- คลอดออกมาพิการ
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ หายขาดได้หรือไม่
โดยปกติแล้วหลังคลอดลูก ภาวะเบาหวานที่แทรกซ้อนขึ้นขณะตั้งครรภ์จะหายเป็นปกติ หลังคลอด 6 สัปดาห์จะมีการนัดตรวจเลือดเพื่อวัดค่าระดับน้ำตาล หากค่าน้ำตาลปกติ แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่ตรวจเลือดเพื่อดูค่าระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกปี เบาหวานขณะตั้งครรภ์ถึงจะหายได้หลังคลอด ก็ยังแนะนำให้คุณแม่ดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ และใส่ใจดูแลเรื่องการรับประทานอาหารสำหรับคนท้อง เพื่อสุขภาพที่ดีและลดโอกาสการที่จะป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ขึ้นในอนาคต
เพื่อให้การตั้งครรภ์ของคุณแม่มีคุณภาพตลอดการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ แนะนำคุณแม่ฝากครรภ์ทันที และพบแพทย์ทุกครั้งที่มีการนัดตรวจติดตามพัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งกับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- น้ำคร่ำ คืออะไร น้ำคร่ำรั่ว อาการแบบไหน สัญญาณใกล้คลอดที่ต้องรับมือ
- อาการท้องแข็งบ่อย ลูกโก่งตัวบ่อย อันตรายหรือไม่ ทำไมคุณแม่ต้องรู้
- เลือดล้างหน้าเด็กสีอะไร เลือดล้างหน้าเด็กสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาหารคนท้องไตรมาสแรก โภชนาการที่สำคัญสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคอันตรายของคุณแม่มือใหม่, โรงพยาบาลเพชรเวช
- เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายอย่างไร, โรงพยาบาลนครธน
- คัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล
- ขั้นตอนการตรวจคัดกรองเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์, คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ผอมก็เป็นได้, โรงพยาบาลพญาไท
- เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ อันตรายต่อแม่และลูกน้อย, โรงพยาบาลนครธน
อ้างอิง ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2566
บทความที่เกี่ยวข้อง