คุณแม่ท้อง 1 เดือน อาการตั้งครรภ์ 1 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ

คุณแม่ท้อง 1 เดือน อายุครรภ์ 1 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ

16.02.2024

คุณแม่ท้อง 1 เดือน คงเกิดหลากหลายความรู้สึก ทั้งยินดี ตื่นเต้น และตกใจ เมื่อรับรู้ว่ามีเจ้าตัวน้อยอยู่ในท้อง การดูแลสุขภาพตอนตั้งครรภ์ 1 เดือนนี้มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นช่วงที่ตัวอ่อนเพิ่งเริ่มเติบโต แล้วคุณแม่ควรเตรียมตัวอย่างไร เพื่อให้การตั้งครรภ์นี้ปลอดภัย ลูกในท้องเติบโตอย่างแข็งแรง

headphones

PLAYING: คุณแม่ท้อง 1 เดือน อายุครรภ์ 1 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ

อ่าน 9 นาที

 

สรุป

  • หากรู้สึกเบื่ออาหาร ประจำเดือนขาด อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะบ่อย มีเลือดออกเล็กน้อย อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า คุณแม่กำลังตั้งครรภ์
  • คุณแม่ท้อง 1 เดือน ควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรซื้อวิตามินบำรุงครรภ์มากินเอง ควรทานวิตามินภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
  • ทารกในครรภ์ 1 เดือน จะมีขนาดเท่าเมล็ดส้ม ความยาวเพียง 6 มิลลิเมตร

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณแม่ท้อง 1 เดือน

เมื่อคุณแม่ท้อง 1 เดือน หรือ ท้อง 4 สัปดาห์ อาจมีอาการบางอย่างแสดงออกมา ให้รับรู้ได้ว่ากำลังตั้งครรภ์ 1 เดือน ซึ่งบางอาการของคุณแม่จะคล้ายกับอาการก่อนมีประจำเดือน สำหรับสัญญาณที่บ่งบอกว่ากำลังจะกลายเป็นคุณแม่มือใหม่ มีดังนี้

  • ประจำเดือนไม่มา: หากประจำเดือนขาดไป มีความเป็นไปได้ว่า กำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคนที่ประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ ไม่เคยคลาดเคลื่อน หากรอบเดือนไม่มาตามปกติ ควรรอให้เลยช่วงที่มีประจำเดือนไปก่อนสัก 7 วัน จึงใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ตรวจหาฮอร์โมน hCG (Human Chorionic Gonadotropin) ที่ร่างกายของคนท้องจะหลั่งออกมา เมื่อเกิดการปฏิสนธิแล้วอย่างน้อย 6 วัน หรือเกิดการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว ซึ่งฮอร์โมน hCG มีความสำคัญต่อร่างกายแม่ท้องอย่างมาก เพราะจะช่วยเรื่องการเจริญเติบโตของตัวอ่อนภายในครรภ์ ทำให้รังไข่หยุดการตกไข่ ประจำเดือนจึงไม่มาในระหว่างการตั้งครรภ์
  • อ่อนเพลียง่ายกว่าปกติ: คุณแม่ท้อง 1 เดือน จะมีอาการอ่อนเพลียได้ง่าย เพราะร่างกายของคุณแม่กำลังเตรียมตัวให้เจ้าตัวน้อยเจริญเติบโตภายในครรภ์ ร่างกายจึงผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) มามากขึ้น หลอดเลือดจะเกิดการหย่อนตัว ระดับความดันโลหิตต่ำลง อีกทั้งมดลูกยังต้องการเลือดมากขึ้น รวมถึงอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย ล้วนทำงานหนักขึ้นเช่นกันเพื่อดูแลลูกน้อยของคุณแม่
  • รู้สึกเบื่ออาหาร: จากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายของคนท้อง 1 เดือน ยังทำให้คุณแม่รู้สึกเบื่ออาหาร หรือมีความชอบอาหารบางชนิดที่แตกต่างจากเดิม และอาจอยากลองกินอาหารใหม่ ๆ ที่ไม่เคยลอง คุณแม่บางคนจะอยากกินของที่ไม่เคยชอบกินมาก่อน อยากลองของแปลก รวมถึงของเปรี้ยว ๆ จำพวกผลไม้หรือของหมักดอง
  • มีอาการคลื่นไส้อาเจียน: คุณแม่อายุครรภ์ 1 เดือน จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเกิดขึ้น หรือเรียกว่า อาการแพ้ท้อง ส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก หรือ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ จากนั้นจะดีขึ้น แต่ถ้าคลื่นไส้อาเจียนบ่อยจนไม่อาจดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้ จะส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ ระดับเกลือแร่ในเลือดลดลง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • เลือดออกเล็กน้อยคล้ายกับมีประจำเดือน: เมื่อเกิดการฝังตัวของตัวอ่อน อาจทำให้เกิดเลือดออกเล็กน้อยได้คล้ายกับการมีประจำเดือน
  • ปัสสาวะบ่อย: ตั้งครรภ์ 1 เดือน เป็นช่วงที่มดลูกโตขึ้นไปกดกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงฮอร์โมนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณเชิงกราน ส่งผลให้ปัสสาวะมากกว่าปกติ คุณแม่ตั้งครรภ์จึงมักจะปวดปัสสาวะบ่อยทั้งในเวลากลางวัน และอยากลุกมาเข้าห้องน้ำในระหว่างที่นอนหลับตอนกลางคืน

 

ตรวจครรภ์อย่างไรให้ทราบผลแน่ชัด

  • ใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์: การตรวจครรภ์เบื้องต้น หากคุณแม่สงสัยว่าท้อง 1 เดือน สามารถตรวจครรภ์ได้ด้วยตนเอง โดยเลือกซื้อชุดตรวจการตั้งครรภ์จากร้านยาที่น่าเชื่อถือ ภายใต้การดูแลของเภสัชกร ซึ่งชุดทดสอบการตั้งครรภ์ควรเลือกที่มีคุณภาพ แล้วนำมาตรวจอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 2-3 วัน หากประจำเดือนขาดควรรอให้พ้นช่วงมีประจำเดือน 7 วันก่อนจึงค่อยตรวจ
  • พบแพทย์เฉพาะทาง: เนื่องจากชุดทดสอบการตั้งครรภ์ อาจจะไม่สามารถให้ผลได้ 100 % และควรเข้าพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจครรภ์จากแพทย์ด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ที่แม่นยำมากขึ้น

 

ตั้งครรภ์ 1 เดือน ขนาดทารกในครรภ์เท่าเมล็ดส้ม

ตัวอ่อนในครรภ์ 1 เดือน จะมีขนาดประมาณเมล็ดส้ม ความยาวของตัวอ่อน 1 เดือนจะราว ๆ 6 มิลลิเมตร

 

สิ่งที่ต้องหยุดทำทันที เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ 1 เดือน

  • สูบบุหรี่: การสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เกิดผลร้ายต่อเจ้าตัวน้อย เพราะการสูบบุหรี่ทำให้เส้นเลือดหดตัว ทารกในครรภ์จะได้รับสารอาหารน้อย และยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งลูกได้ อีกทั้งส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของลูก เช่น เพิ่มโอกาสการเกิดปากแหว่งเพดานโหว่ ส่งผลต่อสมองสติปัญญา และทำให้ลูกป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ
  • ดื่มแอลกอฮอล์: เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผ่านทางรกและสายสะดือได้ ส่งผลต่ออวัยวะของทารก เช่น หัวใจ ไต และสมอง พิษของแอลกอฮอล์ยังสะสมในทารกได้นาน หากดื่มในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์จะอันตรายมาก เนื่องจากเป็นช่วงที่ตัวอ่อนสร้างเซลล์ประสาทและสมอง มีการสร้างอวัยวะ จึงส่งผลต่อความผิดปกติของทารกได้ และยังเสี่ยงต่อการแท้งอีกด้วย
  • ออกกำลังอย่างหักโหม: การออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหม เมื่อท้อง 1 เดือน ควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เดิน ว่ายน้ำ หรือเล่นโยคะสำหรับคนท้อง
  • การใช้สารเสพติด: หากใช้สารเสพติดหรือใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์ จะเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ทารกเสียชีวิตในครรภ์ เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด รวมถึงเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

 

อาหารที่คุณแม่ท้อง 1 เดือน ควรเริ่มรับประทาน

โภชนาการที่เหมาะสมสำหรับแม่ท้อง 1 เดือน ควรเลือกรับประทานอาหารสำหรับคนท้อง ที่มีความหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ เลือกรับประทานอาหารที่มีกรดโฟลิกสูง ช่วยในการสร้างเซลล์สมองและอวัยวะของทารกในครรภ์

 

การดูแลตัวเองของคุณแม่ท้อง 1 เดือน

  • คุณแม่ควรเลือกรับประทานอาหารสำหรับคนท้องที่ดีมีประโยชน์ อาหารต้องปรุงสุก สะอาด
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารไขมันสูง หรืออาหารกึ่งสำเร็จรูป
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
  • การมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างตั้งครรภ์ 1 เดือนแรก ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน

 

คุณแม่ท้อง 1 เดือน สามารถเริ่มทานวิตามินบำรุงครรภ์ได้เลยหรือไม่

ก่อนทานวิตามินสำหรับคนท้อง 1 เดือน คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอก่อน ไม่ควรซื้อมาทานเอง โดยเฉพาะอาหารเสริม เพราะทุกอย่างที่คุณแม่ทานเข้าไป จะส่งผลต่อลูกในท้อง

 

อย่าลืมไปฝากครรภ์กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เมื่อคุณแม่ทราบแล้วว่า ตั้งครรภ์ 1 เดือน ควรรีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด ก่อน 12 สัปดาห์ เพื่อตรวจคัดกรองความเสี่ยงของคุณแม่ท้อง และจะได้รับคำแนะนำในการดูแลขณะตั้งครรภ์อย่างเหมาะสมอีกด้วย

 

การดูแลสุขภาพร่างกายของคุณแม่เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ 1 เดือน คุณแม่ควรรีบฝากครรภ์ ให้แพทย์ได้ตรวจร่างกาย ตรวจครรภ์ของคุณแม่ พร้อมรับฟังคำแนะนำในการดูแลตัวเองตอนท้อง 1 เดือน เพื่อให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตได้ดี และมีสุขภาพที่แข็งแรง

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. อาการคนท้องเดือนแรก สัญญาณเริ่มต้นว่ากำลังตั้งครรภ์, โรงพยาบาลศิครินทร์
  2. ท้องหรือไม่ดูอย่างไร (ฉบับ Update ปี 2567), โรงพยาบาลเพชรเวช
  3. 5 อาการที่พบบ่อยในคนท้อง, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  4. อาการคนท้อง ระยะแรก ยืนยันว่าคุณตั้งครรภ์แล้วแน่ๆ, สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย
  5. พัฒนาการของทารกในครรภ์, ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  6. กรมอนามัย ชี้ ดื่มเบียร์ขณะตั้งครรภ์เสี่ยงกระทบพัฒนาการ รุนแรงถึงแท้งลูก, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  7. หญิงท้องสูบบุหรี่ “เสี่ยงแท้ง” เด็กในท้องปากแหว่ง “เพดานโหว่”, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  8. ออกแรงกายสำหรับสตรีตั้งครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล
  9. แพทย์เตือนแม่เสพยาขณะตั้งครรภ์ระวังลูกผิดปกติเกิดภาวะวิกฤติเสี่ยงตายทั้งคู่, กรมการแพทย์
  10. คุณแม่ตั้งครรภ์กับความเสี่ยงในไตรมาสแรก, โรงพยาบาลสมิติเวช
  11. วิตามิน ยา อาหารเสริม จำเป็นแค่ไหนสำหรับแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
  12. ฝากครรภ์เร็ว ฝากครรภ์คุณภาพ ฝากก่อน 12 สัปดาห์, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

อ้างอิง ณ วันที่ 4 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

ลูกแฝด เกิดจากอะไร ตั้งครรภ์แฝดเสี่ยงอันตรายจริงไหมต้องระวังอะไรบ้าง

ลูกแฝด เกิดจากอะไร ตั้งครรภ์แฝดเสี่ยงอันตรายจริงไหมต้องระวังอะไรบ้าง

ลูกแฝด เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่อยากมีลูกแฝดด้วยวิธีธรรมชาติ ต้องทำอย่างไร ตั้งครรภ์แฝดอันตรายไหม มีเรื่องอะไรบ้างที่คุณแม่ต้องระวังเป็นพิเศษ

ทำกิ๊ฟ คืออะไร การทำกิ๊ฟ GIFT ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วไหม

ทำกิ๊ฟ คืออะไร การทำกิ๊ฟ GIFT ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วไหม

การทำกิ๊ฟ คืออะไร คุณแม่มีลูกยากอยากทำกิ๊ฟ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง การทำกิ๊ฟมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ค่าใช้จ่ายแพงไหม ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร

อยากได้ลูกชายทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกชาย

อยากได้ลูกชายทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกชาย

อยากได้ลูกชาย ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ทำยังไงได้บ้าง อยากมีลูกชายด้วยวิธีธรรมชาติทำได้จริงไหม พร้อมวิธีคำนวณวันตกไข่ นับวันตกไข่ ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม คุณแม่หลังคลอดมีเพศสัมพันธ์เลยทันทีจะเป็นอันตรายหรือเปล่า มีเพศสัมพันธ์ตอนไหนปลอดภัยกับคุณแม่ที่สุด ไปดูกัน

อยากได้ลูกสาวทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกสาว

อยากได้ลูกสาวทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกสาว

อยากได้ลูกสาว ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ทำยังไงได้บ้าง อยากมีลูกสาวด้วยวิธีธรรมชาติทำได้จริงไหม พร้อมวิธีคำนวณวันตกไข่ นับวันตกไข่ ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

มดลูกหย่อนอันตรายไหม คุณแม่ควรรับมือยังไง เมื่อมดลูกหย่อน

มดลูกหย่อนอันตรายไหม คุณแม่ควรรับมือยังไง เมื่อมดลูกหย่อน

มดลูกหย่อน คืออะไร อาการมดลูกหย่อนเป็นแบบไหน มีทั้งหมดกี่ระยะ เกิดขึ้นกับช่วงวัยไหนบ้าง รักษาให้หายขาดได้ไหม พร้อมวิธีป้องกันมดลูกหย่อนในผู้หญิง

ฝังยาคุมดีไหม ได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์ ฝังยาคุมมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

ฝังยาคุมดีไหม ได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์ ฝังยาคุมมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

ฝังยาคุมเพื่อคุมกำเนิดได้ผลดีแค่ไหน การฝังยาคุมกำเนิด เหมาะกับใคร มีข้อดีข้อเสียยังไง ฝังยาคุมอยู่ได้นานกี่ปี ปลอดภัยไหม มีผลข้างเคียงหรือเปล่า

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก