วิธีกระตุ้นให้ลูกดิ้น เมื่อลูกดิ้นน้อยลงและลูกไม่ดิ้นแต่โก่งตัว
การดิ้นของลูกเป็นสัญญาณว่า ลูกน้อยในครรภ์คุณแม่ยังแข็งแรงดี คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่า ลูกยังดิ้นอยู่หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย บทความนี้จะแนะนำวิธีสังเกตอาการลูกดิ้น แบบไหนถือว่าปกติ แบบไหนต้องรีบไปพบแพทย์ ลูกไม่ดิ้นแต่โก่งตัว เป็นแบบไหน อันตรายหรือไม่ รวมถึง วิธีนับลูกดิ้น และวิธีกระตุ้นลูกดิ้นง่าย ๆ
สรุป
- คุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นในช่วงอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ และจะดิ้นมากที่สุดช่วงอายุครรภ์ 30-32 สัปดาห์
- ลูกไม่ดิ้นแต่โก่งตัว คุณแม่จะรู้สึกว่าท้องแข็ง ท้องโย้ไปข้างใดข้างหนึ่ง ภาวะเช่นนี้ไม่เป็นอันตราย ถือเป็นการเคลื่อนไหวตามปกติของทารก
- ลูกควรดิ้นไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง และไม่ต่ำกว่า 8 ครั้งใน 2 ชั่วโมง หากลูกดิ้นน้อยกว่านี้ ควรไปพบแพทย์
- ลูกดิ้นน้อยลง อาจเกิดจากความเครียดของคุณแม่ ภาวะน้ำคร่ำน้อย หรือสายสะดือผูกเป็นปม ทำให้ออกซิเจนไหลเวียนไม่สะดวก อาจทำให้ลูกเสียชีวิตจากการขาดออกซิเจนได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ลูกจะเริ่มดิ้นเดือนไหน และช่วงไหนที่ดิ้นมากที่สุด
- วิธีนับลูกดิ้น ที่คุณแม่ควรรู้เอาไว้
- ลูกไม่ดิ้นแต่โก่งตัว เป็นแบบไหน
- ลูกไม่ดิ้นแต่โก่งตัว ถือว่าอันตรายไหม
- ลูกไม่ดิ้น หรือดิ้นน้อยลง เกิดจากอะไรได้บ้าง
- ลูกไม่ดิ้นหลังกินข้าว ปกติไหม
- ลูกไม่ดิ้นกี่ชั่วโมง ต้องไปหาหมอ
- ลูกไม่ดิ้น และคุณแม่มีอาการร่วมแบบนี้ ต้องไปหาหมอ
- ลูกดิ้นน้อย คุณแม่ช่วยกระตุ้นได้นะ
ลูกจะเริ่มดิ้นเดือนไหน และช่วงไหนที่ดิ้นมากที่สุด
ลูกน้อยในครรภ์คุณแม่จะเริ่มมีการเคลื่อนไหวไปมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์ แต่คุณแม่จะยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหว เนื่องจากลูกน้อยยังเป็นตัวอ่อนที่ตัวเล็กมาก โดยคุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นเมื่ออายุครรภ์อยู่ในช่วง 16-20 สัปดาห์ สำหรับคุณแม่ท้องแรกอาจสังเกตลูกดิ้นได้ประมาณสัปดาห์ที่ 20 เป็นต้นไป บางคนจะรู้สึกเหมือนเส้นประสาทกระตุกเบา ๆ ซึ่งการดิ้นของลูกน้อยรวมไปถึง การขยับตัว เตะ ต่อย กระทุ้ง โก่งตัว พลิกตัว และม้วนตัว
การดิ้นของลูกน้อยจะชัดเจนและบ่อยขึ้นตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น และดิ้นได้สูงสุดเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 30-32 สัปดาห์ โดยมีอัตราการดิ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 375-700 ครั้งต่อวัน จนมาถึงช่วงใกล้คลอด เมื่อลูกน้อยตัวโตขึ้นจนเต็มโพรงมดลูก จะเป็นช่วงที่ลูกดิ้นน้อยลง เนื่องจากพื้นที่ในการดิ้นลดลงนั่นเอง
วิธีนับลูกดิ้น ที่คุณแม่ควรรู้เอาไว้
คุณแม่ควรนับลูกดิ้น วันละ 1-2 เวลา เช่น นับตอนเช้า 1 ครั้ง และนับตอนเย็น 1 ครั้ง โดยเริ่มนับเมื่ออายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 หรือ 28 สัปดาห์เป็นต้นไป เมื่อรู้สึกว่าลูกกระแทก 1 ครั้ง นับเป็นลูกดิ้น 1 ครั้ง เมื่อลูกกระแทกอีก 1 ครั้ง นับเป็นลูกดิ้น 2 ครั้ง โดยลูกควรดิ้นอย่างน้อย 4 ครั้งต่อ 1 ชั่วโมง หากในชั่วโมงแรก ลูกดิ้นไม่ถึง 4 ครั้ง ให้เริ่มนับใหม่ในชั่วโมงถัดไป หากชั่วโมงที่ 2 ลูกยังดิ้นไม่ถึง 4 ครั้ง ให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดความผิดปกติขึ้นกับลูกน้อยในครรภ์
ลูกไม่ดิ้นแต่โก่งตัว เป็นแบบไหน
ลูกไม่ดิ้นแต่โก่งตัว เมื่อลูกน้อยในท้องคุณแม่โก่งตัวชนเข้ากับผนังมดลูก ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ของลูกน้อย เช่น หัว ศอก ไหล่ เข่า มือ เท้า หรือ ก้น ปรากฏนูนบนหน้าท้องคุณแม่ คุณแม่จะรู้สึกว่าท้องแข็ง ท้องโย้ไปข้างใดข้างหนึ่ง ภาวะเช่นนี้ไม่เป็นอันตราย ถือเป็นการเคลื่อนไหวตามปกติของทารก
ลูกไม่ดิ้นแต่โก่งตัว ถือว่าอันตรายไหม
ลูกไม่ดิ้นแต่โก่งตัว คุณแม่จะรู้สึกว่าท้องแข็งขึ้นในบริเวณที่ลูกโก่งตัว ไม่ถือว่าอันตราย แต่หากคุณแม่รู้สึกว่าท้องแข็ง ทั่วท้องจนรู้สึกเจ็บ อึดอัด หายใจไม่สะดวก เป็นสัญญาณว่ามดลูกกำลังบีบรัดตัว และมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้ ให้คุณแม่สังเกตดูว่าหาก ท้องแข็ง 1 ครั้ง นานประมาณ 10 นาที ติดต่อกัน 4-5 ครั้ง เป็นชุด ๆ แบบนี้เรื่อย ๆ ควรรีบไปพบแพทย์เร็วที่สุด เพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
ลูกไม่ดิ้น หรือดิ้นน้อยลง เกิดจากอะไรได้บ้าง
ลูกไม่ดิ้น หรือลูกดิ้นน้อยลง อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เมื่อไรก็ตามที่ลูกดิ้นน้อยลง มักเกิดร่วมกับภาวะขาดออกซิเจน ซึ่งเป็นภาวะที่อันตราย เช่น คุณแม่มีความเครียด หรืออาจเกิดจากน้ำคร่ำน้อย หรือสายสะดือผูกเป็นปม ทำให้ออกซิเจนและการไหลเวียนของเลือดภายในรก เพื่อส่งไปยังลูกน้อยในครรภ์ลดลงหรือไม่เพียงพอ อาจทำให้ลูกน้อยเสี่ยงเสียชีวิตจากการขาดออกซิเจนได้
ลูกไม่ดิ้นหลังกินข้าว ปกติไหม
โดยปกติแล้วลูกน้อยจะดิ้นมากขึ้น หลังจากคุณแม่รับประทานอาหาร เนื่องจากทารกไวต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้น เมื่อน้ำตาลในเลือดของคุณแม่เพิ่มขึ้นหลังจากรับประทานอาหาร ลูกน้อยในครรภ์มักจะตื่นตัวและมีแนวโน้มที่จะดิ้นมากขึ้น แต่หากลูกไม่ดิ้น อาจเป็นช่วงเวลาที่ลูกน้อยกำลังหลับ โดยวงจรการหลับตื่นของลูกน้อยในครรภ์จะอยู่ประมาณ 20-40 นาที ก็จะตื่นและกลับมาดิ้นอีกครั้ง คุณแม่ควรคอยสังเกตให้ดี
ลูกไม่ดิ้นกี่ชั่วโมง ต้องไปหาหมอ
ในกรณีที่ลูกดิ้นปกติ คุณแม่ควรนับลูกดิ้นได้ไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งใน 1 ชั่วโมง และไม่ต่ำกว่า 8 ครั้งใน 2 ชั่วโมง หากลูกดิ้นน้อยกว่านี้ ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจเพิ่มเติม และคุณแม่ควรนับลูกดิ้นเองเช่นนี้ทุกวันไปจนกว่าจะคลอด
ลูกไม่ดิ้น และคุณแม่มีอาการร่วมแบบนี้ ต้องไปหาหมอ
หากคุณแม่สังเกตว่า ลูกไม่ดิ้น หรือลูกดิ้นน้อยกว่า 8 ครั้งภายใน 2 ชั่วโมง โดยที่ตัวคุณแม่เองก็เริ่มมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอด อาการเช่นนี้ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว
ลูกดิ้นน้อย คุณแม่ช่วยกระตุ้นได้นะ
เวลาที่คุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง เกิดความผิดปกติอะไรหรือไม่ ให้คุณแม่ลองกระตุ้นให้ลูกดิ้นด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- ดื่มน้ำเย็น การดื่มน้ำเย็นช่วยกระตุ้นให้ลูกน้อยตื่นตัว และเริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้ง
- เปลี่ยนท่านอน ท่านอนหงายจะทำให้คุณแม่รู้สึกถึงการดิ้นของทารกได้มากขึ้น หรืออาจนอนตะแคงซ้ายเป็นท่าที่ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
- เปิดเพลงให้ฟัง ทารกมักจะดิ้นเวลาได้ยินเสียงเพลง โดยเฉพาะเพลงที่ลูกคุ้นเคย เช่น เพลงกล่อมเด็ก เสียงสวดมนต์ หรือเพลงที่มีจังหวะสนุก ก็สามารถช่วยให้ลูกตื่นขึ้นมาขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอีกครั้ง
- ชวนลูกพูดคุยบ่อย ๆ การได้ยินเสียงที่คุ้นเคย โดยเฉพาะเสียงของคุณพ่อและคุณแม่ จะทำให้ลูกน้อยขยับร่างกายเพื่อตอบสนองต่อเสียงของคุณพ่อคุณแม่
- หลังรับประทานอาหาร คุณแม่ได้รับสารอาหารหรือน้ำตาลเข้าไปสักพัก ลูกก็จะเริ่มดิ้นมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ควรทานหวานมากจนเกินไป หรือบ่อยเกินไป เนื่องจากอาจเสี่ยงภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
- กดท้องเบา ๆ เพื่อเรียกลูก โดยคุณแม่ใช้มือกดท้องด้านใดด้านหนึ่งเบา ๆ และสังเกตว่า ลูกน้อยมีการตอบสนองกลับมา แสดงว่าลูกรับรู้การทักทายของคุณแม่แล้ว
หากทำตามวิธีข้างต้นแล้ว ลูกน้อยยังไม่มีการตอบสนอง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็กอย่างละเอียด เพราะการดิ้นของทารกในครรภ์เป็นสัญญาณบ่งบอกความสมบูรณ์แข็งแรงของลูกน้อย คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการ หมั่นกระตุ้นให้ลูกดิ้น และนับลูกดิ้นเป็นประจำไปจนกว่าจะคลอด หากสังเกตว่าลูกดิ้นน้อยลง หรือไม่มั่นใจ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- คุณแม่ท้อง 2 เดือน อาการตั้งครรภ์ 1 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ
- คุณแม่ท้อง 2 เดือน อาการตั้งครรภ์ 2 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ
- คุณแม่ท้อง 3 เดือน อาการตั้งครรภ์ 3 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ
- คุณแม่ท้อง 4 เดือน อาการตั้งครรภ์ 4 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ
- คุณแม่ท้อง 5 เดือน อาการตั้งครรภ์ 5 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ
- คุณแม่ท้อง 6 เดือน อาการตั้งครรภ์ 6 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ
- คุณแม่ท้อง 7 เดือน อาการตั้งครรภ์ 7 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ
- คุณแม่ท้อง 8 เดือน อาการตั้งครรภ์ 8 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ
- คุณแม่ท้อง 9 เดือน อาการตั้งครรภ์ 9 เดือน เป็นแบบไหน พร้อมวิธีรับมือ
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- น้ำคร่ำ คืออะไร น้ำคร่ำรั่ว อาการแบบไหน สัญญาณใกล้คลอดที่ต้องรับมือ
- อาการท้องแข็งบ่อย ลูกโก่งตัวบ่อย อันตรายหรือไม่ ทำไมคุณแม่ต้องรู้
- เลือดล้างหน้าเด็กสีอะไร เลือดล้างหน้าเด็กสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาหารคนท้องไตรมาสแรก โภชนาการที่สำคัญสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- ลูกไม่ดิ้น…สัญญาณอันตรายที่คุณแม่ควรเฝ้าระวัง!, โรงพยาบาลเปาโล
- คุณแม่รู้ไหม ลูกดิ้น..บอกอะไรได้มากกว่าที่คิด, โรงพยาบาลเปาโล
- การดิ้นของทารกในครรภ์ สัญญาณที่คุณแม่ควรรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก
- นับลูกดิ้นอย่างไร...ให้รู้ว่าทารกปลอดภัยนะ, โรงพยาบาลพญาไท
- ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงอันตรายแค่ไหน, โรงพยาบาลพญาไท
- What You Should Know About Fetal Movement but Never Thought to Ask, Dr. Inga Zilberstein
- คำแนะนำการตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์ โดยมารดา, โรงพยาบาลรามคำแหง
อ้างอิง ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง