หลังคลอดธรรมชาตินอนท่าไหน ต้องใช้เวลาพักฟื้นกี่วัน
ช่วงหลังคลอดคุณแม่ต้องก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมากมาย ทั้งยังต้องใช้เวลาในการปรับตัวและฟื้นฟูร่างกายเพื่อให้สุขภาพและร่างกายของคุณแม่กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม สำหรับคุณแม่มือใหม่อาจมีเรื่องมากมายที่เกิดขึ้นจนคุณแม่รับมือไม่ทัน โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด หากคุณแม่คนไหนที่กำลังเผชิญปัญหาในการเลี้ยงลูกและดูแลตัวเอง ลองมาดูคำแนะนำดี ๆ เพื่อคุณแม่หลังคลอดกันค่ะ
สรุป
- คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติจะใช้เวลาพักฟื้นได้เร็วกว่าคุณแม่ผ่าคลอดจึงใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน โดยปกติแล้วแผลฝีเย็บของคุณแม่จะหายดีในระยะเวลาประมาณ 7 วัน แต่ในระหว่างนี้คุณแม่อาจรู้สึกปวดมดลูกบ้างเพราะต้องรอประมาณ 4-6 สัปดาห์ กว่าที่มดลูกจะเข้าอู่
- หากคุณแม่พบว่าแผลฝีเย็บมีอาการบวมแดง เจ็บปวด เวลาปัสสาวะรู้สึกแสบขัด มีไข้สูงรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเกิดอาการแผลฝีเย็บติดเชื้อได้
- แม่หลังคลอดสามารถเดินได้ภายในวันแรกหลังคลอด โดยพยายามเดินแยกขาออกเล็กน้อย อย่าเดินหนีบขาเพราะอาจทำให้แผลฝีเย็บเกิดการอักเสบ หรือปริแยกได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- คุณแม่คลอดธรรมชาติ ใช้เวลาพักฟื้นนานไหม
- แผลฝีเย็บหลังคลอดหายช้าไหม
- อาการเจ็บแผลฝีเย็บแบบไหนผิดปกติ
- วิธีทำความสะอาดแผลฝีเย็บ ให้หายไวและไม่ติดเชื้อ
- หลังคลอดธรรมชาตินอนท่าไหนดีที่สุด
- หลังคลอดธรรมชาติ กี่วันถึงจะเดินได้
- 5 วิธีดูแลตัวเองของคุณแม่หลังคลอดธรรมชาติ
คุณแม่คลอดธรรมชาติ ใช้เวลาพักฟื้นนานไหม
คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติจะใช้เวลาพักฟื้นได้เร็วกว่าคุณแม่ผ่าคลอด เพราะการคลอดธรรมชาติเป็นการคลอดลูกผ่านช่องคลอดที่ขนาดแผลประมาณ 2-4 เซนติเมตรเท่านั้น ส่งผลให้คุณแม่เจ็บไม่นานจึงสามารถลุกนั่ง ยืน หรือเดินได้ หลังจากคลอดลูกน้อย และฟื้นตัวเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว แต่ในระหว่างนี้คุณแม่อาจรู้สึกปวดมดลูกบ้าง เพราะต้องรอประมาณ 4-6 สัปดาห์กว่าที่มดลูกจะเข้าอู่หรือกลับสู่ตำแหน่งอุ้งเชิงกราน
แผลฝีเย็บหลังคลอดหายช้าไหม
คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติจะมีแผลฝีเย็บเล็ก ๆ จากการใช้ไหมละลายในการเย็บจึงใช้เวลาในการฟื้นตัวได้รวดเร็ว โดยปกติแล้วแผลฝีเย็บของคุณแม่จะหายดีในระยะเวลาประมาณ 7 วัน แต่คุณแม่อาจจะรู้สึกเจ็บต่อไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนไหมละลายจะสลายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์ ทำให้คุณแม่ไม่ต้องเสียเวลาไปตัดไหมที่โรงพยาบาล หากคุณแม่ต้องการให้แผลหายเร็วควรดูแลทำความสะอาดแผลฝีเย็บเป็นอย่างดี โดยล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าจากด้านหน้าไปทางด้านหลังแล้วซับให้แห้งทันที ไม่ควรแช่น้ำในอ่าง และพยายามเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ
สำหรับคุณแม่ที่ต้องการอยู่ไฟหลังคลอดต้องระมัดระวังอย่างมาก โดยเฉพาะคุณแม่ที่เย็บแผลไหมละลาย เพราะการนั่งไฟด้วยไม้กระดาน การประคบร้อน หรือการสัมผัสกับความร้อนโดยตรง อาจทำให้แผลฝีเย็บเกิดการปริแตกได้
อาการเจ็บแผลฝีเย็บแบบไหนผิดปกติ
ช่วงหลังคลอดคุณแม่ควรสังเกตอาการของตัวเอง และแผลฝีเย็บเพื่อดูว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ หากคุณแม่พบว่ามีอาการดังต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที คือ
- บวมแดงที่เกิดจากอาการอักเสบและติดเชื้อ
- เจ็บปวดมากบริเวณแผลฝีเย็บ หรือบริเวณท้องน้อย
- มีไข้สูงไม่ทราบสาเหตุ
- แผลแตก ปริ บวมแดง หรือมีหนอง
- มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมา
- ปัสสาวะแสบขัดที่อาจเกิดจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- ปวดศีรษะบ่อย ๆ เพราะอาจเกิดจากความดันโลหิตที่สูงมากกว่าปกติ
- น้ำคาวปลาผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น สีแดงสดไม่จางลง หรือมีก้อนเลือดออกมาด้วยหลังคลอดลูกไปแล้ว 15 วัน
- คลำแล้วยังพบมดลูกหน้าท้อง หลังจากคลอดลูกน้อยไปแล้ว 2 สัปดาห์
วิธีทำความสะอาดแผลฝีเย็บ ให้หายไวและไม่ติดเชื้อ
- เมื่อคุณแม่เข้าห้องน้ำให้เช็ดทำความสะอาดจากบริเวณด้านหน้าไปทางด้านหลัง ห้ามเช็ดย้อนโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อบริเวณแผลฝีเย็บ และไม่ควรใช้สายฉีดชำระเพราะอาจทำให้เกิดแผลอักเสบได้ จากนั้นเช็ดให้แห้งทันที
- เนื่องจากช่วงหลังคลอดคุณแม่มักมีน้ำคาวปลาไหลออกอยู่ตลอดเวลา คุณแม่จึงต้องหมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ ทุก 3-4 ชั่วโมง เพื่อลดการติดเชื้อ
- แม่หลังคลอดสามารถอาบน้ำได้ปกติแต่ไม่ควรแช่น้ำ เพราะอาจทำให้เชื้อโรคไหลเข้าไปยังส่วนลึกของแผลฝีเย็บได้ และควรซับแผลให้แห้งหลังจากอาบน้ำทุกครั้ง
หลังคลอดธรรมชาตินอนท่าไหนดีที่สุด
ท่านอนสำหรับคุณแม่หลังคลอดที่ช่วยให้ลดอาการเจ็บปวดจากแผลฝีเย็บได้ดีที่สุด คือ ท่านอนตะแคงด้านซ้าย ตามมาด้วยท่านอนหงาย หากคุณแม่ต้องการให้นมลูกแล้วรู้สึกปวดแผลฝีเย็บมาก ๆ สามารถให้นมลูกโดยใช้ท่านอนตะแคงได้เช่นกัน หากคุณแม่ต้องการนั่งแนะนำให้คุณแม่นั่งพับเพียบ หรือนั่งห้อยขาบนเก้าอี้แทนการนั่งขัดสมาธิ เพื่อป้องกันไม่ให้แผลฝีเย็บปริแตก
หลังคลอดธรรมชาติ กี่วันถึงจะเดินได้
คุณแม่หลังคลอดธรรมชาติสามารถเดินได้เลยภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด แต่ในช่วงแรกคุณแม่อาจเริ่มจากการขยับตัวก่อน เช่น ลุกนั่ง หรือลุกยืนให้ลำไส้ได้กลับมาทำงานให้เร็วที่สุด เมื่อคุณแม่แน่ใจแล้วว่าไม่มีอาการมึนศีรษะให้ค่อย ๆ เริ่มเดิน โดยเริ่มจากการเดินแยกขาเล็กน้อย หลีกเลี่ยงการเดินหนีบแผลเพราะอาจทำให้เกิดการเสียดสีกันของแผล ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บแผลได้ ในระหว่างนี้คุณแม่อาจรู้สึกถึงอาการตึงแผลได้ แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะอาการตึงที่แผลแสดงว่าแผลกำลังสมานตัวได้ดี และอีกประมาณ 7 วัน แผลฝีเย็บของคุณแม่จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายสนิทไปในที่สุด
5 วิธีดูแลตัวเองของคุณแม่หลังคลอดธรรมชาติ
- พักผ่อนให้เพียงพอ: หลังคลอด คุณแม่ควรพักผ่อนให้เต็มที่ พยายามปรับการใช้ชีวิตให้เหมาะสม พยายามอย่าหักโหมมากเกินไป และควรหาเวลางีบในระหว่างวัน เพื่อไม่ให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยล้าเกินไปในระหว่างที่ต้องดูแลลูกน้อย
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด: หลังคลอด คุณแม่ต้องเร่งบำรุงและฟื้นฟูร่างกาย โดยหลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัด อาหารหมักดอง อาหารที่มีไขมันสูง โดยเลือกทานไขมันพืชแทนไขมันสัตว์ เช่น ถั่วเหลืองที่มีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย และควรเลี่ยงน้ำหวานโดยทานเป็นน้ำผลไม้แทนจะดีต่อสุขภาพของคุณแม่มากที่สุด
- รับประทานอาหารบำรุงน้ำนม: เพราะโภชนาการของคุณแม่ส่งผลต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ และสติปัญญาของลูกน้อย คุณแม่จึงต้องเน้นทานอาหารที่หลากหลาย เน้นอาหารที่มีวิตามิน แร่ธาตุ โปรตีน แคลเซียม และโฟเลตที่มีอยู่มากในเนื้อสัตว์ เนื้อปลาบางชนิด เครื่องในสัตว์ นม ไข่ และผลไม้ และดื่มน้ำให้ได้วันละ 1-2 ลิตร เพื่อช่วยในการกระตุ้นการสร้างน้ำนม
- เน้นสารอาหารที่มีประโยชน์: คุณแม่หลังคลอดควรเน้นเรื่องการทานอาหารเป็นพิเศษ โดยคุณแม่ต้องพยายามทานอาหารให้ได้ปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวัน ทานธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่หลังคลอด
- ออกกำลังกายเบา ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์: คุณแม่ที่ทำการคลอดแบบธรรมชาติสามารถออกกำลังกายได้หลังจากคลอดบุตรไปแล้วประมาณ 6 สัปดาห์ โดยควรเริ่มจากการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การยืดกล้ามเนื้อ โยคะ การเดิน สำหรับการออกกำลังกายที่หนักขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ดูแล เนื่องจากร่างกายของคุณแม่แต่ละคนต้องการฟักพื้นในระยะเวลาที่แตกต่างกันไป
ร่างกายของคุณแม่หลังคลอดเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก คุณแม่จึงต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ช่วยฟื้นฟูร่างกาย และสร้างน้ำนมให้ลูกน้อย ออกกำลังกายให้เหมาะสมโดยอาจขอคำแนะนำจากคุณหมอ หากรู้สึกเหนื่อยเกินไปคุณแม่ควรขอให้คุณพ่อหรือคนใกล้ชิดช่วยดูแลลูกน้อยหรือทำงานบ้าน เพื่อที่คุณแม่จะได้ไม่เหนื่อยล้าเกินไป
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- น้ำคร่ำ คืออะไร น้ำคร่ำรั่ว อาการแบบไหน สัญญาณใกล้คลอดที่ต้องรับมือ
- อาการท้องแข็งบ่อย ลูกโก่งตัวบ่อย อันตรายหรือไม่ ทำไมคุณแม่ต้องรู้
- เลือดล้างหน้าเด็กสีอะไร เลือดล้างหน้าเด็กสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาหารคนท้องไตรมาสแรก โภชนาการที่สำคัญสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- การผ่าคลอดและคลอดธรรมชาติ ต่างกันยังไง พร้อมขั้นตอนเตรียมผ่าคลอด
- ผ่าคลอดใช้เวลากี่นาที พร้อมข้อดี-ข้อเสีย คลอดเองกับผ่าคลอด
- แผลผ่าคลอดกี่วันหาย พร้อมวิธีดูแลรอยแผลผ่าคลอดให้ฟื้นตัวไว
- แผลฝีเย็บหลังคลอด แผลคลอดธรรมชาติ ดูแลยังไงให้ปลอดภัย
- หลังผ่าคลอดกินอะไรได้บ้าง คนผ่าคลอดห้ามกินอะไรบ้างช่วยให้แผลหายเร็ว
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติ, โรงพยาบาลสมิติเวช
- การดูแลตัวเองหลังคลอดที่คุณแม่ต้องรู้, โรงพยาบาลเปาโล
- การดูแลฝีเย็บ, โรงพยาบาลพนมสารคาม
- The Most Comfortable Posture at First Postnatal Day in Women With Episiotomy for Breastfeeding and Routine Activities, National Library of Medicine
- การดูแลหลังคลอด แบบผ่าตัดทางหน้าท้อง, โรงพยาบาลสมิติเวช
- คู่มือมารดาหลังคลอด และการดูแลทารก สำหรับคุณแม่, กรมอนามัย
- โภชนาการแม่หลังคลอดระยะให้นมลูก, โรงพยาบาลนครธน
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติ, โรงพยาบาลสมิติเวช
อ้างอิง ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง