ตรวจครรภ์ตอนไหนชัวร์สุด เช้าหรือเย็น ให้ผลแม่นยำกว่ากัน
คุณแม่ที่วางแผนตั้งครรภ์มักจะลุ้นกันแทบทุกเดือน ท้อง ไม่ท้อง และตรวจผลตั้งครรภ์ตอนไหน ตอนเช้าหรือตอนเย็นถึงจะแม่นยำที่สุด แล้วต้องตรวจซ้ำหรือไม่ ตรวจซ้ำอีกกี่ครั้ง ถึงมั่นใจ การตรวจการตั้งครรภ์มีทั้งตรวจด้วยตนเอง และการตรวจเลือด สารพัดคำถามที่เกิดขึ้นในใจ ท้องหรือไม่ ใช่หรือมั่ว กับคำถาม “ตรวจครรภ์” ที่ค้างคาใจคนอยากมีลูก
สรุป
ตรวจครรภ์ ในตอนเช้าและตรวจครรภ์ตอนเย็น ความเข้มข้นของฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ) หรือฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์มีความแตกต่างกัน โดยในช่วงเวลาเช้า ปัสสาวะมีความเข้มข้นของฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ) สูงสุดในเวลานี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากเกินไปเพราะมีผลต่อความเข้มข้นของฮอร์โมน
- ตรวจครรภ์ด้วยตนเอง VS ตรวจเลือด แบบไหนแม่นยำกว่ากัน การตรวจครรภ์ด้วยตนเองต้องตรวจซ้ำกี่ครั้งถึงจะมั่นใจว่าท้องแน่นอน และการตรวจเลือดได้ผลแม่นยำแค่ไหน
- สังเกตอาการ กำลังตั้งครรภ์หรือไม่ สังเกตได้จากอาการเหล่านี้ ประจำเดือนขาด คัดตึงเต้านม ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก และบางคนมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ตรวจครรภ์ตอนไหนชัวร์สุด
- ควรตรวจครรภ์ตอนไหน ให้ผลแม่นยำมากที่สุด
- ตรวจครรภ์ตอนไหน ให้ผลไม่ค่อยชัวร์
- อุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง
- สาเหตุที่ผลตรวจครรภ์คลาดเคลื่อนมีอะไรบ้าง
- ตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง รอนานไหม
- วิธีการอ่านผลการทดสอบ
- ตรวจครรภ์ด้วยการเจาะเลือด แม่นยำแค่ไหน
- ตรวจครรภ์กี่ครั้ง ถึงจะมั่นใจผลได้
- อาการคนท้องระยะแรก เป็นยังไง
สำหรับว่าที่คุณแม่ที่ตั้งใจและวางแผนตั้งครรภ์ หากประจำเดือนขาด ประจำเดือนไม่มาตามรอบ มักจะมีข้อสงสัยปะปนกับการ “ลุ้น” ว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ซึ่งช่วงเวลาการตรวจการตั้งครรภ์ มีผลต่อความแม่นยำในการตรวจครรภ์ ได้แก่ ช่วงเวลาเช้า เนื่องจากปัสสาวะมีความเข้มข้นของฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ) สูงสุดในเวลานี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากเกินไปเพราะมีผลต่อความเข้มข้นของฮอร์โมน
ตรวจครรภ์ตอนไหนชัวร์สุด
สำหรับว่าที่คุณแม่ที่ตั้งใจและวางแผนตั้งครรภ์ หากประจำเดือนขาด ประจำเดือนไม่มาตามรอบ มักจะมีข้อสงสัยปะปนกับการ “ลุ้น” ว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ซึ่งช่วงเวลาการตรวจการตั้งครรภ์ มีผลต่อความแม่นยำในการตรวจครรภ์ ได้แก่ ช่วงเวลาเช้า เนื่องจากปัสสาวะมีความเข้มข้นของฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ) สูงสุดในเวลานี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากเกินไปเพราะมีผลต่อความเข้มข้นของฮอร์โมน
ควรตรวจครรภ์ตอนไหน ให้ผลแม่นยำมากที่สุด
หากคู่รักมีเพศสัมพันธ์และต้องการมีบุตร กำลังสงสัยว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากประจำเดือนขาดหรือประจำเดือนไม่มาตามปกติ สามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตนเองหรือจะไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจการตั้งครรภ์
- โดยคุณหมอยึดตามวันแรกที่ประจำเดือนไม่มา
- หรือหากไม่มั่นใจช่วงเวลาการมีประจำเดือน สามารถตรวจได้หลังจากมีประจำเดือนแล้ว 21 วัน
- หากตั้งครรภ์ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตออกมาจากรก หลังจากที่ไข่ผสมกับอสุจิและเกิดการปฏิสนธิกันเกิดเป็นตัวอ่อนได้ประมาณ 6 วัน
- ระดับฮอร์โมนนี้จะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในทุก ๆ 2-3 วัน
- จึงทำให้สามารถตรวจการตั้งครรภ์ในช่วงแรกได้จากน้ำปัสสาวะ
ตรวจครรภ์ตอนไหน ให้ผลไม่ค่อยชัวร์
การตรวจการตั้งครรภ์ที่ให้ผลไม่แม่นยำ หรือให้ผลที่ไม่ชัวร์ อาจเกิดจากสาเหตุ ดังนี้
- ช่วงเวลาที่ตรวจรวดเร็วเกินไป เนื่องจากฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ) ในปัสสาวะยังไม่สูงพอที่จะสามารถตรวจได้ ผลการตรวจออกมาเป็นลบ คือ ไม่ตั้งครรภ์ ต้องรอเวลาอีกสักพักจึงตรวจซ้ำใหม่อีกครั้ง
- ค่าความไวของชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ที่ตรวจแต่ละยี่ห้อมีความไวต่อฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ) ต่างกัน หากที่ตรวจใดมีค่าความไวในการตรวจจับฮอร์โมนมีน้อย จะทำให้ออกมาเป็นลบได้
- ความเข้มข้นของน้ำปัสสาวะ หากน้ำปัสสาวะมีความเจือจางจากการดื่มน้ำมากเกินไปก่อนการตรวจ อาจส่งผลต่อความเข้มข้นของฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ) ทำให้ประสิทธิภาพในการตรวจการตั้งครรภ์ลดลง
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) หรือยาแก้แพ้ (Antihistamines)
อุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง
การตรวจครรภ์สามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่จำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป การตรวจการตั้งครรภ์ คือ การทดสอบหาฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่บ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์หรือไม่ ฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ) จากรกหลังจากที่ปฏิสนธิไปแล้ว 6 วัน ฮอร์โมนดังกล่าวจะมีความเข้มข้นขึ้นสูงสุดในช่วง 8-12 สัปดาห์ หลังจากมีเพศสัมพันธ์ การตรวจครรภ์ด้วยตนเองมีอุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ มีดังนี้
1. แบบแถบจุ่ม (Test Strip)
อุปกรณ์ตรวจการตั้งครรภ์แบบแถบจุ่ม เป็นอุปกรณ์ที่มีราคาถูก ในชุดตรวจการตั้งครรภ์แบบแถบจุ่ม (Test Strip) ประกอบด้วย แผ่นทดสอบตั้งครรภ์ และถ้วยตวง (ถ้วยตวงบางยี่ห้อไม่มีมาให้ในชุดผลิตภัณฑ์) วิธีการใช้งาน เก็บปัสสาวะลงในถ้วย นำแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์จุ่มลงในถ้วยตวง ทิ้งไว้ประมาณ 3 วินาที แล้วนำออกจากถ้วยตวงวางทิ้งไว้เพื่อรออ่านผลตั้งครรภ์ ประมาณ 5 นาที ระมัดระวังอย่าให้น้ำปัสสาวะเลยจากขีดลูกศรที่กำหนดไว้ในแผ่นทดสอบ อาจทำให้ผลคลาดเคลื่อนหรือไม่สามารถแสดงผลการทดสอบได้
2. แบบปัสสาวะแบบปล่อยผ่าน (Pregnancy Midstream Tests)
อุปกรณ์ตรวจสอบการตั้งครรภ์แบบปัสสาวะปล่อยผ่าน ในชุดอุปกรณ์ตรวจครรภ์แบบนี้ จะมีเพียงแท่งตรวจครรภ์ที่ใช้ในการทดสอบเพียงเท่านั้น วิธีการใช้ คือ ถอดฝาครอบออกแล้วถือแท่งตรวจโดยให้หัวลูกศรชี้ลงพื้น ปัสสาวะผ่านสังเกตบริเวณที่ต่ำกว่าลูกศรให้เปียกชุ่มประมาณ 30 วินาที จากนั้นนำมาวางไว้ รอผลตรวจการตั้งครรภ์ประมาณ 3-5 นาที
3. แบบหยด หรือแบบตลับ (Pregnancy Test Cassette)
อุปกรณ์ตรวจสอบการตั้งครรภ์แบบหยดหรือแบบตลับ (Pregnancy Test Cassette) ในชุดอุปกรณ์ตรวจครรภ์แบบนี้ ประกอบด้วย หลอดหยด ตลับตรวจครรภ์ และถ้วยตวงปัสสาวะ วิธีการใช้ คือ เก็บปัสสาวะที่ได้ลงในถ้วยตวง จากนั้นนำหลอดดูดปัสสาวะแล้วหยดลงในตลับตรวจครรภ์ประมาณ 3-4 หยด วางตลับทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที แล้วจึงอ่านผลตรวจครรภ์
สาเหตุที่ผลตรวจครรภ์คลาดเคลื่อนมีอะไรบ้าง
การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ซึ่งมีความแตกต่างกันไป ส่งผลต่อความแม่นยำในการตรวจครรภ์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้การตรวจครรภ์คลาดเคลื่อน ได้แก่
1. ระยะเวลาที่ตรวจรวดเร็วเกินไป
ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตรวจหาการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ) จะเกิดขึ้นหลังจากที่ปฏิสนธิไปแล้ว 6 วัน หากตรวจตั้งครรภ์เร็วเกินไป ผลที่ออกมามีโอกาสเป็นผลลบคือ ไม่ตั้งครรภ์ ดังนั้น ควรรอเวลาค่อยตรวจซ้ำ หรือตรวจในช่วงที่ประจำเดือนขาดไปแล้ว 10-14 วัน
2. ปัสสาวะเจือจาง
หากปัสสาวะมีความเจือจาง เท่ากับความเข้มข้นของฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ) ลดลงเช่นกัน ส่งผลให้ผลตรวจการตั้งครรภ์ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนได้
3. ประสิทธิภาพของชุดทดสอบการตั้งครรภ์
ชุดตรวจการตั้งครรภ์บางยี่ห้อ เพื่อตรวจหาความไวของฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ) นั้นมีความแตกต่างกันไป บางยี่ห้อตรวจจับค่าฮอร์โมนได้น้อย หรืออุปกรณ์ตรวจบางชิ้นเสื่อมคุณภาพ หรือหมดอายุ ทำให้ผลตรวจมีความคลาดเคลื่อนหรือได้ผลลบ หรือผลตรวจที่แสดงออกมา คือ ไม่ตั้งครรภ์
ตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง รอนานไหม
การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง หรือการตรวจการตั้งครรภ์โดยแพทย์ ควรเริ่มต้นตรวจได้ตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนขาดหรือภายใน 14-21 วัน หลังจากมีเพศสัมพันธ์ เพราะระดับฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ) จะมีความเข้มข้นในระดับสูงที่สามารถตรวจหาการตั้งครรภ์ได้
อุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง สามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่ แบบแถบจุ่ม (Test Strip) แบบปัสสาวะปล่อยผ่าน (Pregnancy Midstream Tests) แบบหยด หรือแบบตลับ (Pregnancy Test Cassette) อุปกรณ์ตรวจสอบการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง วิธีการตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเองทราบผลการตรวจได้รวดเร็วประมาณ 5-10 นาที เริ่มต้นจากการเก็บตัวอย่างปัสสาวะในช่วงเช้า หรือปัสสาวะแรกของวัน ซึ่งเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ) มีความเข้มข้นสูงสุด การทดสอบโดยชุดทดสอบต้องใช้อย่างถูกต้อง เช่น
- ใช้กระดาษทดสอบจุ่มปัสสาวะต้องไม่เกินขีดที่กำหนด ระยะเวลาประมาณ 5-10 วินาที
- ชุดแบบปัสสาวะผ่าน ต้องให้ปัสสาวะผ่านที่ดูดซับปัสสาวะให้ชุ่มแต่อย่าเกินขีดที่กำหนด
- ชุดปัสสาวะแบบหยด นำหลอดดูดปัสสาวะ แล้วหยดลงบนตลับพลาสติกที่มีตัว S จำนวน 3-6 หยด จากนั้นวางตลับไว้บนพื้นผิวที่แห้งและสะอาด ประมาณ 5 นาที
วิธีการอ่านผลการทดสอบ
- เมื่อครบตามกำหนดเวลา ผลลัพธ์ที่ปรากฏจะเป็นขีดสีแดงเข้มชัด ตรงกับตัวอักษร C หรือ T
- หากขึ้น 1 ขีด ตรงกับตัว C มีความหมายว่า ไม่ตั้งครรภ์
- หากขึ้น 2 ขีด ตรงกับตัว C และ T มีความหมายว่า ตั้งครรภ์
- ข้อควรสังเกต หากชุดตรวจตั้งครรภ์ไม่มีมาตรฐานหรือหมดอายุ และไม่สามารถแปลผลได้ คือ จะไม่ปรากฏขีดขึ้นที่ตัวอักษร C เลย
ตรวจครรภ์ด้วยการเจาะเลือด แม่นยำแค่ไหน
การตรวจการตั้งครรภ์ ทำได้หลายวิธี เช่น ตรวจครรภ์ด้วยตนเอง ตรวจครรภ์โดยห้องปฏิบัติการ ตรวจครรภ์โดยการอัลตราซาวด์ และตรวจการตั้งครรภ์ด้วยการเจาะเลือด ซึ่งวิธีการตรวจการตั้งครรภ์ด้วยการเจาะเลือดเป็นวิธีการที่ได้ผลแม่นยำที่สุด ระยะเวลาในการตรวจเจาะเลือดเพื่อตรวจหาการตั้งครรภ์ สามารถตรวจได้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์และมีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ต่างจากการตรวจปัสสาวะซึ่งผลการตรวจอาจยังไม่แสดง แต่การตรวจด้วยการเจาะเลือดจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการตรวจแบบอื่น ๆ
ตรวจครรภ์กี่ครั้ง ถึงจะมั่นใจผลได้
การตรวจครรภ์ด้วยตนเองเพียงครั้งเดียวอาจได้ผลไม่แน่นอนหรือผลมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอชซีจี (hCG ) หรือฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ยังมีระดับฮอร์โมนอยู่ในระดับต่ำกว่าความไวของชุดทดสอบการตั้งครรภ์ (ต่ำกว่า 20 mIU/ml.) ดังนั้น ตรวจการตั้งครรภ์ควรทำการตรวจซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ในอีก 2-3 วันถัดมา เพื่อรอให้ฮอร์โมนมีความเข้มข้นมากขึ้นและแสดงผลได้แม่นยำมากขึ้น
อาการคนท้องระยะแรก เป็นยังไง
นอกจากการตรวจการตั้งครรภ์แล้ว ข้อสังเกตว่าเรากำลังตั้งครรภ์หรือกำลังท้องอยู่หรือไม่ มีวิธีการสังเกตเบื้องต้น ดังนี้
- ประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาล่าช้า เนื่องจากร่างกายกำลังเกิดการปฏิสนธิหลังจากการมีเพศสัมพันธ์
- ผลจากการทำงานของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้แม่กำลังตั้งครรภ์เกิดอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เพราะอวัยวะหลายส่วนในร่างกายทำงานหนักขึ้นเพื่อบำรุงตัวอ่อนที่ฝังตัวในมดลูก เช่น หัวใจ ปอด ไต
- เวียนศีรษะ หน้ามืด ได้ง่าย เพราะระดับฮอร์โมนในร่างกายและความดันเลือดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อร่างกายมีการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิภายในร่างกายสูงขึ้นตามไปด้วย อาจทำให้แม่ท้องมีความรู้สึกคล้ายจะเป็นไข้
- มีตกขาวมากผิดปกติ เพราะระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมีการเปลี่ยนแปลง
- มีอาการตึงคัดเต้านม หัวนม คล้าย ๆ ช่วงก่อนที่จะมีประจำเดือนหรือมีอาการเสียวจี๊ด ๆ มักพบอาการดังกล่าวหลังจากที่ประจำเดือนเริ่มขาดไปประมาณ 1 สัปดาห์
- ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อสภาพจิตใจแม่ท้อง ทำให้มีอารมณ์หงุดหงิดง่ายแบบไม่มีสาเหตุได้
- ปัสสาวะบ่อยและมีอาการท้องผูก
- มีเลือดออกกะปริบกะปรอย คล้ายช่วงวันที่ประจำเดือนใกล้หมด เกิดขึ้นในระหว่างที่ตัวอ่อนฝังตัวในมดลูก
หากทราบผลการตรวจการตั้งครรภ์แล้ว พบว่า กำลังตั้งครรภ์ การดูแลสุขภาพตนเองนับตั้งแต่ตั้งครรภ์ไปจนไตรมาสสุดท้ายมีผลต่อการคลอด ซึ่งการคลอดเองตามธรรมชาติ ส่งผลดีต่อคุณแม่และทารก เพราะการคลอดแบบธรรมชาติทำให้ทารกได้รับจุลินทรีย์สุขภาพหลายสายพันธุ์จากคุณแม่ตั้งแต่แรกคลอด อาทิ B. lactis ที่เป็นจุลินทรีย์ในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียมที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกหลังคลอด
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาหารคนท้องไตรมาสแรก โภชนาการที่สำคัญสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- บล็อกหลังผ่าคลอด คืออะไร เรื่องที่คุณแม่ต้องรู้ เกี่ยวกับการบล็อกหลัง
- ผ่าคลอด กี่สัปดาห์ ท้องกี่สัปดาห์คลอด ถึงปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- คุณแม่ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ผ่าคลอดมีลูกได้กี่คน ผ่าคลอดบ่อยอันตรายไหม
- ออกกําลังกายหลังคลอด สำหรับคุณแม่หลังผ่าคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- ท้องไม่ท้อง รู้ให้แน่ ด้วยการตรวจครรภ์หาค่าเอชซีจี (hCG), โรงพยาบาลนครธน
- Pregnancy Test, โรงพยาบาลเพชรเวช
- ผลจากที่ตรวจครรภ์แม่นยำแค่ไหนกันนะ, โรงพยาบาลเปาโล
- ตรวจตั้งครรภ์ เร็วสุดกี่วัน จึงจะทราบผล, hellokhunmor
- 4 วิธีตรวจการตั้งครรภ์ ที่ผู้หญิงควรรู้, โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
- ตรวจครรภ์ : 7 วิธีการตรวจครรภ์ & ราคาและวิธีใช้ที่ตรวจครรภ์ !!, Medthai
- อาการคนท้องเดือนแรก สัญญาณเริ่มต้นว่ากำลังตั้งครรภ์, โรงพยาบาลศิครินทร์
- ตรวจครรภ์ตอนไหน, hellokhunmor
- ที่ตรวจครรภ์ให้คำตอบชัวร์หรือไม่, pobpad
อ้างอิง ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง