แผลฝีเย็บหลังคลอด ดูแลอย่างไรให้ปลอดภัย แผลหายเร็ว
คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติต้องเผชิญกับความเจ็บปวดแผลฝีเย็บหลังคลอด ทำให้การเดิน การนั่ง และการเข้าห้องน้ำมีความยากลำบาก กว่าแผลฝีเย็บจะเข้าสู่ภาวะปกติอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติจึงต้องดูแลแผลฝีเย็บให้ถูกวิธีเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและช่วยให้แผลฝีเย็บหายเร็วยิ่งขึ้นด้วย
1. รู้จัก แผลฝีเย็บ แผลคลอดธรรมชาติ คืออะไร?
แผลฝีเย็บ เกิดขึ้นจากการที่ฝีเย็บผิวหนังที่อยู่ระหว่างปากช่องคลอดกับทวารหนักฉีกขาดในระหว่างคลอด ทั้งแบบเกิดขึ้นเองและจากการกรีด เพื่อขยายช่องคลอดให้คุณแม่สามารถคลอดได้ ช่วยลดระยะเวลาในการคลอด รวมถึงลดการเกิดอันตรายของทารกในขณะคลอดด้วย
2. ลักษณะของแผลฝีเย็บ เป็นอย่างไร
แผลฝีเย็บขึ้นอยู่กับการตัดฝีเย็บในระหว่างคลอด ซึ่งส่งผลต่อความเจ็บปวดและระยะเวลาของแผลฝีเย็บด้วย โดยทั่วไปแล้วการตัดฝีเย็บที่นิยมใช้กันมี 2 วิธี คือ
- Median episiotomy: เป็นการตัดฝีเย็บที่เริ่มจากบริเวณกึ่งกลางด้านล่างของช่องคลอดและกรีดลงไปประมาณ 1 ซม. เหนือทวารหนัก เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากเพราะสามารถทำได้ง่ายและยังเย็บติดได้ง่าย แผลฝีเย็บหายได้เร็ว และเจ็บปวดแผลน้อยกว่าวิธีอื่น
- Mediolateral episiotomy: เป็นการตัดฝีเย็บเป็นแนวเฉียงทำมุม 45 องศาจากบริเวณกึ่งกลางด้านล่างของช่องคลอดลงไปเหนือทางทวารหนักประมาณ 2-5 ซม. วิธีนี้อาจทำให้แผลฝีเย็บหายช้ากว่าวิธีแรก
หลังจากที่ฝีเย็บถูกกรีดแล้ว คุณหมอจะทำหารเย็บปิดแผลให้สนิทด้วยไหมที่เป็นทั้งแบบไหมละลายหรือไหมชนิดตัด

คลอดธรรมชาติ ต้องอยู่โรงพยาบาลกี่วัน?
คุณแม่หลังคลอดธรรมชาติจะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลาประมาณ 2 วัน เพื่อดูอาการแผลฝีเย็บหลังคลอด หลังจากนั้นสามารถกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ โดยปกติแล้วแผลฝีเย็บจะหายภายในประมาณ 7 วัน แต่คุณอาจจะรู้สึกเจ็บนานถึง 2 สัปดาห์ และกลับเป็นปกติในระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์
คุณแม่หลังคลอด ดูแลแผลฝีเย็บได้อย่างไรบ้าง
ในช่วงนี้คุณแม่หลังคลอดธรรมชาติจะต้องดูแลแผลฝีเย็บด้วยการล้างทำความสะอาดฝีเย็บอย่างถูกวิธี เพื่อเพื่อลดการติดเชื้อ บวมแดง และอาการคัน โดยมีวิธีดูแลแผลฝีเย็บดังต่อไปนี้
- คุณแม่หลังคลอดควรทำความสะอาดฝีเย็บทุกครั้งหลังปัสสาวะหรืออุจจาระ โดยผ้าแห้งหรือกระดาษชำระจากด้านหน้าไปด้านหลัง ด้านหน้าบริเวณปากช่องคลอด ไปทางด้านหลังบริเวณทวารหนักโดยการใช้น้ำสะอาดหรือน้ำสบู่
- หลีกเลี่ยงการล้างชำระด้วยสายฉีดชำระโดยตรง เพราะอาจทำให้แผลฝีเย็บปริออกจากกัน และอาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปอยู่ส่วนลึกของบาดแผลด้วย
- เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ ทุก 3 ชม. ใน 2-3 วันแรกหลังคลอด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่สวมเสื้อผ้าที่คับแน่นจนเกินไป
- บริหารช่องคลอดด้วยการขมิบก้นแบบ kegel exercises โดยเริ่มจากการขมิบแล้วเกร็งไว้ 10 วินาที จากนั้นผ่อนคลาย ทำแบบนี้ 30 ครั้ง เพื่อให้แผลฝีเย็บสมานตัวเร็วขึ้น
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จดกว่าแผลฝีเย็บจะหายดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ และการฉีกขาดซ้ำของฝีเย็บ

คันแผลฝีเย็บ แผลฝีเย็บบวม ดูแลแบบไหนถึงดี?
อาการคันแผลฝีเย็บเกิดขึ้นจากการที่เนื้อเยื่อที่ฝีเย็บได้รับการซ่อมแซมจึงเกิดการคันระคายเคืองจนไปถึงอาการเจ็บปวดบวม หากคุณแม่รู้สึกปวดแผลฝีเย็บควรนั่งบนเบาะรองนั่งหรือเบาะห่วงยาง และไม่ควรนั่งทับแผลฝีเย็บโดยตรงนานเกิน 30 นาที หากจำเป็นต้องนั่งพื้นควรนั่งพับเพียบไปด้านใดด้านหนึ่ง หรือนั่งบนเบาะห่วงยาง เพื่อลดการกดทับบริเวณฝีเย็บ และลดอาการบวม และอาจใช้การประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมบริเวณแผลฝีเย็บด้วย
วิธีบรรเทาอาการปวดแผลฝีเย็บ
อาการปวดแผลฝีเย็บมีหลายระดับขึ้นอยู่กับระดับการฉีกขาดของฝีเย็บ และการทนความเจ็บปวดของคุณแม่ โดยทั่วไปแล้วอาการเจ็บแผลฝีเย็บมักเกิดขึ้นในระยะ 1-2 วันแรกหลังคลอด และปวดยาวไปถึง 2-3 เดือนหลังคลอดเลยก็มี สำหรับวิธีบรรเทาอาการปวดฝีเย็บ ได้แก่
- ทานยาพาราเซตตามอนเพื่อลดอาการปวดแผลฝีเย็บทุก 4-6 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
- ประคบเย็นบริเวณแผลฝีเย็บในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด นานครั้งละ 15 นาที
หากแผลฝีเย็บอักเสบจนเป็นหนอง หรือแผลฝีเย็บปริแยก หรือไหมเย็บหลุด คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันที และควรเข้ารับการตรวจร่างกายหลังคลอดเพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่หลังคลอด
สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ไม่สามารถคลอดธรรมชาติเองได้และมีแพลนจะผ่าคลอดเจ้าตัวเล็ก คุณแม่สามารถเข้าไปศึกษาและอ่านบทความ การเตรียมตัวผ่าคลอด และ การดูแลแผลหลังผ่าคลอดที่ถูกต้องสำหรับคุณแม่มือใหม่ได้เลย
เอกสารอ้างอิง:
- สร้อย อนุสรณ์ธีรกุล และสมจิตร เมืองพิล, ป้องกันการติดเชื้อแผลฝีเย็บหลังคลอด: วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ
- พัชรา สมชื่อ และคณะ, การจัดการความเจ็บปวดแผลฝีเย็บหลังคลอด: วารสารโรงพยาบาลมหาสารคาม
- งานวิจัยเรื่องแผ่นพับความรู้การดูแลตนเองในการป้องกันการติดเชื้อแผลฝีเย็บ ในหญิงหลังคลอดของโรงพยาบาลสอยดาว จ. จันทบุรี ปี 2559
- เยาวลักษณ์ รพีพัฒนา, รพ.สมิติเวช
- รพ.เปาโล
อ้างอิง ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2566