น้ำคาวปลา คืออะไร พร้อมวิธีดูแลตัวเองและขับน้ำคาวปลาหลังคลอด

น้ำคาวปลา คืออะไร พร้อมวิธีดูแลตัวเองและขับน้ำคาวปลาหลังคลอด

01.04.2024

น้ำคาวปลา คือของเหลวที่ขับออกมาทางช่องคลอดหลังจากคลอดลูก เป็นสิ่งที่คุณแม่ทุกคนต้องเจอหลังคลอด และเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่จะค่อย ๆ หมดไปเอง ประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด สำหรับคุณแม่ที่กำลังใกล้คลอด หรือคลอดลูกแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงขับน้ำคาวปลา วันนี้มีสาระความรู้ พร้อมคำแนะนำมาฝากคุณแม่มือใหม่ทุกท่านกันค่ะ

headphones

PLAYING: น้ำคาวปลา คืออะไร พร้อมวิธีดูแลตัวเองและขับน้ำคาวปลาหลังคลอด

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • น้ำคาวปลา คือของเหลวที่ขับออกมาทางช่องคลอดหลังจากคลอดลูก และจะค่อย ๆ หมดไปเองตามธรรมชาติ ประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด
  • น้ำคาวปลา มีลักษณะคล้ายประจำเดือน อาจมีกลิ่นเหม็นอับ และมีสีที่แตกต่างกันไปตามระยะเวลา
  • น้ำคาวปลาจะขับออกหมดเองตามธรรมชาติ

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

คุณแม่หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า หลังจากคลอดเสร็จแล้ว น้ำคาวปลาจะหมดไปเมื่อไหร่ และเราควรดูแลตัวเองอย่างไร  เพื่อให้น้ำคาวปลาหมดโดยเร็ว มาหาคำตอบไปพร้อมกันได้เลยค่ะ

 

น้ำคาวปลา คืออะไร เกิดขึ้นจากอะไร

น้ำคาวปลา คือของเหลวที่ถูกขับออกมาทางช่องคลอดหลังคลอด เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีลักษณะคล้ายกับประจำเดือน และอาจมีกลิ่นเหม็นอับ จึงเป็นที่มาของชื่อ “น้ำคาวปลา” โดยปริมาณและสีของน้ำคาวปลาที่ถูกขับออกมา แตกต่างกันออกไปตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น วิธีการคลอดลูก ระยะเวลาหลังคลอด เป็นต้น

 

ลักษณะและสีของน้ำคาวปลา ในแต่ละช่วง

สีและลักษณะของน้ำคาวปลาในแต่ละช่วงเวลาหลังคลอดนั้นมีความแตกต่างกัน ดังนี้

  • 1-3 วันหลังคลอด น้ำคาวปลาจะมีสีแดงเข้ม มีลักษณะเป็นลิ่มเลือดขนาดใหญ่ไม่เกินผลลูกพลัม เนื่องจากเป็นเซลล์ที่หลุดลอกออกมาจากโพรงมดลูก ส่วนประกอบส่วนใหญ่จึงเป็นเม็ดเลือด
  • 4-10 วันหลังคลอด น้ำคาวปลาจะมีสีชมพูหรือน้ำตาล เริ่มเหลวมากขึ้น เพราะมีปริมาณเม็ดเลือดน้อยลง
  • 7-14 วันหลังคลอด น้ำคาวปลาจะมีสีเหลือง เป็นเมือกเหลวคล้ายครีม และจะเริ่มใสขึ้นเรื่อย ๆ จนหมดไปในที่สุด 

 

คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติมักจะมีน้ำคาวปลามากกว่าคุณแม่ที่ผ่าคลอด หากผ่านมาหลายวันแล้วคุณแม่ยังมีน้ำคาวปลาที่มีสีแดงสด สีเขียว หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อหรืออาการอักเสบ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที

 

คุณแม่ที่ผ่าคลอด จะมีน้ำคาวปลาออกมาไหม

ไม่ว่าจะคลอดด้วยวิธีธรรมชาติหรือการผ่าคลอด คุณแม่หลังคลอดจะมีน้ำคาวปลาออกมาเองตามธรรมชาติ โดยพบว่าในช่วง 24 ชั่วโมงหลังคลอด คุณแม่ที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติมักจะมีน้ำคาวปลามากกว่าคุณแม่ที่ผ่าคลอด โดยในวันแรก ๆ หลังคลอด น้ำคาวปลาจะยังมีสีแดงสดเหมือนสีเลือด ก่อนที่สีจะค่อย ๆ อ่อนลง จนหมดไปในที่สุด

 

น้ำคาวปลาหลังคลอด ควรหมดไปเองตอนไหน

น้ำคาวปลามักจะค่อย ๆ ลดลงหลังจากคลอด 2-3 สัปดาห์ และมักจะหมดไปเองตามธรรมชาติหลังคลอด 4-6 สัปดาห์ หากพบว่าน้ำคาวปลายังคงถูกขับออกมานานเกินไป หรือสีของน้ำคาวปลายังคงมีสีแดงสด ไม่อ่อนหรือจางลง รวมไปถึงมีอาการผิดปกติอย่างเช่น รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย  คุณแม่ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที

 

คุณแม่มีน้ำคาวปลาหลังคลอด ควรรับมือแบบไหน

 

คุณแม่มีน้ำคาวปลาหลังคลอด ควรรับมือแบบไหน

1. ใช้ผ้าอนามัยสำหรับคุณแม่หลังคลอด

ที่โรงพยาบาลมักจะมีผ้าอนามัยขนาดใหญ่พิเศษสำหรับคุณแม่หลังคลอดโดยเฉพาะ เพื่อใช้ซับน้ำคาวปลาที่ถูกขับออกมาทางช่องคลอด โดยในช่วง 6 สัปดาห์หลังคลอด คุณแม่ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบถ้วยหรือแบบสอด เนื่องจากช่องคลอดและมดลูกยังไม่หายเป็นปกติ การใช้ผ้าอนามัยลักษณะนี้อาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้

 

2. เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ

คุณแม่ควรเตรียมผ้าอนามัยเอาไว้ล่วงหน้า เผื่อสำหรับใช้ในช่วงเวลาที่ร่างกายขับน้ำคาวปลา โดยเฉพาะผ้าอนามัยสำหรับผู้หญิงหลังคลอดจะมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เหมาะสำหรับการซึมซับของเหลวปริมาณมาก โดยควรรักษาความสะอาดด้วยการล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังเปลี่ยนผ้าอนามัย

 

3. รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ

คุณแม่ควรอาบน้ำวันละ 1-2 ครั้ง และรักษาความสะอาดมากเป็นพิเศษ เนื่องจากในช่วงเวลาหลังคลอด ช่องคลอด ปากมดลูกยังไม่หายเป็นปกติ จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูงกว่าปกติ หลีกเลี่ยงการแช่น้ำในอ่าง เนื่องจากหลังคลอดปากมดลูกจะเปิดเพื่อขับน้ำคาวปลาออกจากร่างกาย การแช่น้ำในอ่างอาจทำให้มีเชื้อโรคเข้าไปภายในโพรงมดลูกได้

 

ทำความสะอาดแผลฝีเย็บอย่างถูกวิธี

คุณแม่ควรหมั่นทำความสะอาดแผลฝีเย็บ และบริเวณรอบแผลให้สะอาดอยู่เสมอ เช็ดทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุกที่ทิ้งไว้จนเย็น ทุกครั้งหลังจากปัสสาวะและอุจจาระ โดยเช็ดจากด้านหน้าไปยังด้านหลัง หรือเช็ดจากช่องคลอดไปยังทวารหนักด้านหลัง ส่วนแผลผ่าคลอด ควรไปล้างแผลตามที่แพทย์นัด และใช้แผ่นกันน้ำปิดแผลเอาไว้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

 

น้ำคาวปลาแบบไหนผิดปกติ บ่งบอกถึงการติดเชื้อ

น้ำคาวปลาตามปกติจะมีสีแดงสดในช่วง 1-3 วันหลังคลอด ก่อนที่สีจะค่อย ๆ อ่อนลง จนหมดไปในที่สุด หากน้ำคาวปลามีสีแดงสดอยู่ตลอด สีไม่อ่อนลงเลย น้ำคาวปลาขับออกมาปริมาณมากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยใหม่ทุกชั่วโมง มีน้ำคาวปลาถูกขับออกมานานกว่า 6 สัปดาห์ น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นรุนแรง มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่กว่าลูกกอล์ฟออกมาพร้อมน้ำคาวปลาเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมง รู้สึกเป็นไข้ รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อยหรือท้องส่วนล่าง รู้สึกวิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม อาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงภาวะแทรกซ้อน ติดเชื้อ หรือตกเลือดได้ หากพบอาการผิดปกติ คุณแม่ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาทันที

 

อยากลองกินยาขับน้ำคาวปลา จะเป็นอันตรายไหม

น้ำคาวปลาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หลังคลอดมดลูกจะบีบรัดตัวเพื่อขับเยื่อบุที่ปกคลุมบริเวณโพรงมดลูกออกมาทางช่องคลอด ร่างกายของคุณแม่จะขับน้ำคาวปลาออกมาจนหมดไปเองภายใน 4-6 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อเร่งการขับน้ำคาวปลา สำหรับคุณแม่ที่ผ่าคลอด แพทย์จะเช็ดทำความสะอาดมดลูก นำชิ้นส่วนของรกออก ไม่ให้เหลือตกค้าง จึงทำให้คุณแม่ที่ผ่าคลอดหลงเหลือน้ำคาวปลาขับออกมาไม่มากเท่ากับคุณแม่ที่คลอดเองตามธรรมชาติ ทั้งนี้การใช้ยาทุกชนิด ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา

 

คุณแม่จึงไม่ควรซื้อยาขับน้ำคาวปลามารับประทานเอง เนื่องจากยาแต่ละยี่ห้อมีส่วนผสมที่แตกต่างกัน ออกฤทธิ์ต่างกัน อาจไม่เหมาะกับคุณแม่แต่ละคน และคุณแม่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อช่วยในการขับน้ำคาวปลา หากคุณแม่ต้องการให้น้ำคาวปลาหมดเร็วขึ้น สามารถทำได้โดยการหมั่นเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำเพื่อช่วยให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว น้ำคาวปลาจะได้ไหลออกมาได้สะดวกยิ่งขึ้น

 

การเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ ก็ช่วยขับน้ำคาวปลาได้

หากคุณแม่ต้องการขับน้ำคาวปลาให้เร็วขึ้น การเคลื่อนไหว ขยับร่างกาย เดินไปมา จะช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เลือดมาเลี้ยงบริเวณแผล ทำให้แผลติดดีขึ้น เมื่อเม็ดเลือดขาวสามารถไหลเวียนมาที่แผลได้ดี ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ ช่วยให้น้ำคาวปลาไหลได้สะดวกยิ่งขึ้น ช่วยให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบทางเดินอาหาร ฟื้นฟูกลับสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

 

โดยเฉพาะคุณแม่ที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติ  ควรขยับร่างกายหลังคลอดภายใน 24 ชั่วโมง รวมไปถึงการทำท่านอนคว่ำก้นสูง โดยการนอนคว่ำ ใช้หมอนรองบริเวณใต้ท้องน้อย ต่ำกว่าระดับสะดือ ประมาณวันละ 30 นาที เพื่อช่วยให้มดลูกกลับเข้าอู่ได้เร็วขึ้น ลดโอกาสในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ขับน้ำคาวปลาได้เพิ่มมากขึ้น ดูแลสุขภาพร่างกายของคุณแม่ให้มีความแข็งแรง โดยการออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับคุณแม่หลังคลอด คือการออกกำลังกายที่เน้นกระชับกล้ามเนื้อหน้าท้อง และกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน แต่ต้องแน่ใจว่าคุณแม่ไม่มีอาการอ่อนเพลีย ซีด หรือจะเป็นลม ควรมีคนช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิดในระยะแรก รวมทั้งควรออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์

 

น้ำคาวปลาเป็นสิ่งที่ร่างกายของเราผลิตขึ้นและขับออกมาเองหลังคลอด ก่อนที่จะค่อย ๆ หมดไปเองตามธรรมชาติ คุณแม่จึงไม่ต้องกังวล และไม่ต้องขวนขวายหาวิธีเร่งการขับน้ำคาวปลา เพราะร่างกายของเรามีกลไกในการขับน้ำคาวปลาที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว เพียงแค่ดูแลรักษาความสะอาด และหมั่นสังเกตดูการเปลี่ยนแปลงและอาการของตนเองอยู่เสมอ เพียงเท่านี้คุณแม่ก็สามารถมีสุขภาพหลังคลอดที่แข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือพร้อมที่จะวางแผนการมีลูกในอนาคตได้แล้วค่ะ

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 


อ้างอิง:

  1. น้ำคาวปลา ของเหลวหลังคลอดลูก, PobPad
  2. 13 คำถามยอดฮิตสำหรับคุณแม่หลังคลอด, โรงพยาบาลบางปะกอก
  3. 10 ความเชื่อ...จริง และ ไม่จริง กับคุณแม่หลังคลอด, โรงพยาบาลขอนแก่นราม
  4. ยาขับน้ำคาวปลา ควรกินไหม, Pobpad
  5. การดูแลหลังคลอด แบบผ่าตัดทางหน้าท้อง, โรงพยาบาลสมิติเวช
  6. กายภาพหลังการคลอดปกติ, โรงพยาบาลเอกชัย
  7. การดูแลสตรีระยะหลังคลอด (puerperium care), คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ้างอิง ณ วันที่ 30 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

คนท้องกินเครื่องดื่มเกลือแร่ได้ไหม คุณแม่แพ้ท้องจนไม่มีแรง รับมือแบบไหนดี

คนท้องกินเครื่องดื่มเกลือแร่ได้ไหม คุณแม่แพ้ท้องจนไม่มีแรง รับมือแบบไหนดี

คนท้องกินเครื่องดื่มเกลือแร่ได้ไหม คำถามที่คุณแม่ตั้งครรภ์อยากรู้ เมื่อมีอาการแพ้ท้องจนเหนื่อยอ่อน หมดแรง แต่ก็กังวลว่าการกินเครื่องดื่มเกลือแร่จะส่งผลกระทบกับลูกน้อยในครรภ์

ที่ตรวจไข่ตก ใช้ตรวจการตกไข่ ได้จริงไหม แม่นยำแค่ไหน พร้อมวิธีใช้งาน

ที่ตรวจไข่ตก ใช้ตรวจการตกไข่ ได้จริงไหม แม่นยำแค่ไหน พร้อมวิธีใช้งาน

ที่ตรวจไข่ตก แม่นยำแค่ไหน ทำไมถึงสำคัญสำหรับคนอยากมีลูก ที่ตรวจไข่ตกหรือชุดตรวจไข่ตก มีกี่แบบ ใช้งานยังไง ไปรู้จักที่ตรวจไข่ตก พร้อมวิธีการใช้งานที่ตรวจไข่ตกกัน

มีประจำเดือนแต่ท้อง เป็นไปได้ไหม ใช่เลือดล้างหน้าเด็กหรือเปล่า

มีประจำเดือนแต่ท้อง เป็นไปได้ไหม ใช่เลือดล้างหน้าเด็กหรือเปล่า

เมนส์มาน้อยท้องไหม ประจำเดือนมาวันเดียวแล้วหายไป แบบนี้ผิดปกติหรือเปล่า ว่าที่คุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่าแบบนี้คือตั้งครรภ์หรือแค่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไปหาคำตอบกัน

คนท้องกินวิตามินซีได้ไหม ส่งผลดีและผลเสียกับการตั้งครรภ์ยังไงบ้าง

คนท้องกินวิตามินซีได้ไหม ส่งผลดีและผลเสียกับการตั้งครรภ์ยังไงบ้าง

คนท้องกินวิตามินซีได้ไหม คุณแม่อยากบำรุงครรภ์และร่างกายให้แข็งแรง สามารถกินวิตามินซีได้ แต่ควรอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม หากมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์

มูกเลือดออกทางช่องคลอด คืออะไร มีมูกออกทางช่องคลอดปกติไหม

มูกเลือดออกทางช่องคลอด คืออะไร มีมูกออกทางช่องคลอดปกติไหม

มูกเลือดออกทางช่องคลอด อาจเป็น สัญญาณเตือนว่าคุณแม่ใกล้คลอดแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากภาวะน้ำเดิน ลักษณะมูกใสก่อนคลอด ยังบอกถึงปัญหาสุขภาพของคุณแม่ได้หลายอย่างอีกด้วย

แม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกน้อยจะเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กด้วยหรือไม่

แม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกน้อยจะเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กด้วยหรือไม่

คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ มักมีความกังวลว่า แม่เป็นโรคภูมิแพ้แล้วลูกจะเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กด้วยหรือเปล่า ไปดูสาเหตุพร้อมวิธีป้องกันเบื้องต้นกัน

รู้ทันโรคภูมิแพ้คนท้อง ลดความเสี่ยงคนท้องเป็นภูมิแพ้ตั้งแต่เริ่มท้อง

รู้ทันโรคภูมิแพ้คนท้อง ลดความเสี่ยงคนท้องเป็นภูมิแพ้ตั้งแต่เริ่มท้อง

คนท้องเป็นภูมิแพ้ กับ 2 สาเหตุหลักของโรคภูมิแพ้คนท้อง เพื่อให้คุณแม่หาวิธีป้องกันโรคภูมิแพ้ให้ลูกน้อยจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเสี่ยงลูกเป็นภูมิแพ้

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก