บล็อกหลัง คืออะไร การผ่าคลอดบล็อกหลัง ปลอดภัยไหม
การคลอดลูกด้วยวิธีผ่าคลอด จะมีขั้นตอนเพื่อช่วยลดความเจ็บปวดระหว่างการผ่าตัดที่เรียกว่าการบล็อกหลัง Spinal anesthesia เป็นการฉีดยาชาเข้าไปที่ช่องไขสันหลัง ซึ่งผู้ที่ดูแลทำการบล็อกหลังให้คุณแม่คือวิสัญญีแพทย์ ซึ่งวิสัญญีแพทย์จะมีหน้าที่ควบคุมดูแลการให้ยาชาระงับความรู้สึกกับคุณแม่ในช่วงก่อนผ่าตัด และตลอดการผ่าตัดจะเฝ้าระวังให้ในเรื่องของความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ ระดับออกซิเจนของคุณแม่ให้อยู่ในระดับที่เป็นปกติ รวมถึงหลังผ่าตัดคลอดเสร็จจะเช็คความปลอดภัยของคุณแม่อย่างละเอียดก่อนส่งกลับไปที่ห้องพักฟื้น
สรุป
- การบล็อกหลังผ่าคลอด คือการฉีดยาชาระงับความรู้สึก เพื่อช่วยลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นระหว่างการผ่าตัด
- การบล็อกหลัง Spinal anesthesia เป็นการฉีดยาชาเข้าไปที่ช่องไขสันหลังโดยวิสัญญีแพทย์ และหลังจากฉีดยาชาคุณแม่จะเริ่มไม่มีความรู้สึกตั้งแต่ช่วงกลางลำตัวไปจนถึงช่วงล่าง ไม่สามารถขยับร่างกายและขาทั้งสองข้างได้
- ผลข้างเคียงที่เกิดจากการบล็อกหลัง คุณแม่จะมีอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดหลัง และมีอาการคันผิวตามร่างกาย
- การบล็อกหลังเพื่อลดความเจ็บปวด สามารถทำได้กับคุณแม่ที่คลอดลูกด้วยวิธีการคลอดธรรมชาติ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- หลังจากฉีดยาบล็อกหลัง ยาชาจะออกฤทธิ์ทันทีหรือไม่
- คุณแม่คลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ สามารถบล็อกหลังได้หรือไม่
- บล็อกหลังผ่าคลอด ส่งผลถึงลูกน้อยในครรภ์หรือไม่
- ผลข้างเคียงหลังจากการบล็อกหลัง
- หลังจากบล็อกหลังผ่าคลอดเสร็จ ต้องติดตามอาการข้างเคียงภายในกี่ชั่วโมง
- กลุ่มเสี่ยง ที่ไม่แนะนำให้บล็อกหลังผ่าตัด
การบล็อกหลัง จะทำให้เกิดการชาขึ้น และไม่มีความรู้สึกตั้งแต่บริเวณช่วงกลางลำตัวล่างลงไปจนถึงขา ซึ่งทางวิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้ที่ทำการฉีดยาชาระงับความรู้สึกให้ทางช่องไขสันหลังของคุณแม่ โดยมีขั้นตอนดังนี้
- ก่อนการผ่าคลอด คุณแม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร
- พยาบาลสวนอุจจาระ และโกนขนตรงบริเวณหัวหน่าวให้คุณแม่
- เจาะเลือดนำไปตรวจก่อนการผ่าตัดคลอด
- เจาะหลังมือเปิดเส้นเพื่อใส่เข็มให้น้ำเกลือ
- เมื่อเข้ามาในห้องเตรียมผ่าตัดคลอด วิสัญญีแพทย์และพยาบาลจะจัดคุณแม่ให้อยู่ในท่านอนตะแคง คุณแม่นอนงอตัวโดยจะต้องก้มศีรษะลงจนคางชิดกับหน้าอก
- วิสัญญีแพทย์ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดผิวตรงบริเวณตำแหน่งที่จะลงเข็มฉีดยาชาเพื่อระงับความรู้สึก
- วิสัญญีแพทย์จะแทงเข็มฉีดยาชาระงับความรู้สึกเข้าไปที่หลังส่วนล่างจนลึกถึงช่องไขสันหลัง
- วิสัญญีแพทย์จะทำการทดสอบเช็คระดับความชา ซึ่งถ้าหากคุณแม่ไม่มีความรู้สึกใด ๆ คุณหมอก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดคลอด
หลังจากฉีดยาบล็อกหลัง ยาชาจะออกฤทธิ์ทันทีหรือไม่
วิสัญญีแพทย์จะใช้เวลาไม่นานในการแทงเข็มฉีดยาชาระงับความรู้สึกที่หลังให้กับคุณแม่ จากนั้นยาชาที่ฉีดเข้าไขสันหลังก็จะเริ่มค่อย ๆ ออกฤทธิ์จนร่างกายส่วนล่างของคุณแม่ไม่สามารถขยับได้ การบล็อกหลังผ่าคลอดจะทำให้เกิดความชาไม่มีความรู้สึกแค่เฉพาะจุด ซึ่งคุณแม่จะยังคงรู้สึกตัวรับรู้ตลอดเวลาที่อยู่ในห้องคลอด
คุณแม่คลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ สามารถบล็อกหลังได้หรือไม่
การบล็อกหลังให้กับคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติสามารถทำได้ หากคุณแม่รู้สึกเจ็บครรภ์หนักมากจนไม่สามารถทนได้ไหว สาเหตุอาจด้วยมาจากมดลูกบีบตัวรุนแรง ซึ่งทางการแพทย์จะมีวิธีระงับความเจ็บปวดระหว่างคลอดให้กับคุณแม่อยู่หลายวิธี และหนึ่งในนั้นก็จะระงับความเจ็บปวดให้คุณแม่คลอดธรรมชาติด้วยวิธีการบล็อกหลัง
บล็อกหลังผ่าคลอด ส่งผลถึงลูกน้อยในครรภ์หรือไม่
การบล็อกหลังผ่าคลอดเป็นการฉีดยาชาระงับความรู้สึกเฉพาะจุด ที่อยู่ในความดูแลของวิสัญญีแพทย์ซึ่งมีความปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์
ข้อดีของการบล็อกหลังผ่าคลอด
- คุณแม่ไม่มีความเจ็บปวดขณะผ่าคลอด
- หลังผ่าคลอดเสร็จคุณแม่อาจจะยังไม่รู้สึกเจ็บแผลในทันที
ข้อเสียของการบล็อกหลังผ่าคลอด
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนหลังคลอด
- คุณแม่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะหลังคลอดประมาณ 12 ชั่วโมง
- หลังผ่าคลอดมีอาการปวดหลัง
ผลข้างเคียงหลังจากการบล็อกหลัง
- ขาสองข้างขยับไม่ได้ 2-4 ชั่วโมง
- มีอาการปวดหลัง
- มีอาการปวดศีรษะ
- มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- มีอาการคันผิวตามร่างกาย
- ระบบหายใจผิดปกติ
- เกิดอาการความดันเลือดต่ำ
- ผิวหนัง และช่องไขสันหลังอาจมีการติดเชื้อ
หลังจากบล็อกหลังผ่าคลอดเสร็จ ต้องติดตามอาการข้างเคียงภายในกี่ชั่วโมง
เมื่อคุณหมอผ่าตัดคลอดให้คุณแม่เสร็จเรียบร้อย คุณแม่จะถูกย้ายจากห้องคลอดไปยังห้องสังเกตอาการในการติดตามสังเกตภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดหลังผ่าตัดคลอดอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง ภายใต้การดูจากวิสัญญีแพทย์อย่างใกล้ชิด หากไม่พบความผิดปกติใด ๆ แล้วก็จะย้ายคุณแม่กลับไปที่ห้องพักฟื้น คุณแม่ที่ผ่าคลอดลูกจะใช้เวลาพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 3 คืน 4 วัน จากนั้นคุณหมอก็จะอนุญาตให้คุณแม่กลับบ้านได้ และเมื่อกลับไปที่บ้านเพื่อป้องกันไม่ให้แผลผ่าตัดติดเชื้อ หรือเกิดการอักเสบขึ้น ห้ามโดนน้ำที่แผลผ่าตัด และคุณแม่ต้องไม่ทำกิจกรรมที่ต้องมีการเกร็งหน้าท้อง
กลุ่มเสี่ยง ที่ไม่แนะนำให้บล็อกหลังผ่าตัด
- เลือดมีการแข็งตัวไม่เป็นปกติ
- บริเวณหลังมีการติดเชื้อจนไม่สามารถใช้เข็มฉีดยา
- เกิดมีภาวะพร่องน้ำ และเลือด
- กะโหลกศีรษะมีความดันเกิดขึ้นภายใน
- ป่วยโรคระบบประสาท
- ป่วยโรคหัวใจ
คุณแม่ท้องหรือในบุคคลทั่วไปที่ไม่สามารถบล็อกหลังผ่าตัดได้ วิสัญญีแพทย์จะเปลี่ยนจากการบล็อกหลังมาเป็นการดมยาสลบ หลังคลอดลูก เมื่อคุณแม่กลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน แพทย์จะนัดเพื่อติดตามอาการหลังคลอดของคุณแม่ แผลผ่าคลอด ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ตามนัด หากคุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เกิดขึ้น จะได้รับการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างทันถ่วงที
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ผ่าคลอด กี่สัปดาห์ ท้องกี่สัปดาห์คลอด ถึงปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- คุณแม่ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ผ่าคลอดมีลูกได้กี่คน ผ่าคลอดบ่อยอันตรายไหม
- ออกกําลังกายหลังคลอด สำหรับคุณแม่หลังผ่าคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- ผ่าคลอด! ดมยาสลบหรือบล็อกหลังดี?, โรงพยาบาลศิครินทร์
- วิสัญญีแพทย์, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- ขั้นตอนการบล็อกหลัง, โรงพยาบาลวิภาวดี
- วิสัญญีเพื่อทุกชีวิตปลอดภัย, โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติ, โรงพยาบาลสมิติเวช
- ข้อดีข้อเสียของการคลอดแบบล็อกหลัง, โรงพยาบาลศิครินทร์
- ข้อเสียของการบล็อกหลัง, โรงพยาบาลวิภาวดี
- 8 วิธีดูแลแผลผ่าคลอดให้หายไว แผลสวย ทิ้งรอยแผลเป็นน้อย, โรงพยาบาลวิมุต
- ข้อห้ามของการบล็อกหลัง, โรงพยาบาลวิภาวดี
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติ, โรงพยาบาลสมิติเวช
อ้างอิง ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2566
บทความที่เกี่ยวข้อง