ผ่าคลอดกี่สัปดาห์ ท้องกี่สัปดาห์คลอดถึงปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
การคลอดลูกมีอยู่ 2 รูปแบบคือการคลอดธรรมชาติ และการผ่าตัดคลอด ในคุณแม่ที่ต้องผ่าคลอด แพทย์จะวินิจฉัยจากความพร้อมทางสุขภาพของคุณแม่ก่อน หากระหว่างตั้งครรภ์มีภาวะแทรกซ้อนทำให้ไม่สามารถคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติได้ แพทย์ก็จะวางแผนการคลอดให้คุณแม่ด้วยวิธีการผ่าตัดคลอด
PLAYING: ผ่าคลอดกี่สัปดาห์ ท้องกี่สัปดาห์คลอดถึงปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
สรุป
- การผ่าคลอดที่ปลอดภัยต่อลูกน้อยในครรภ์ จำเป็นต้องดูที่ความพร้อมของคุณแม่และความแข็งแรงของทารกในครรภ์ แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่สามารถผ่าคลอดได้ที่อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ขึ้นไป
- ปัจจัยที่เสี่ยงต่อการผ่าคลอดก่อนกำหนด ได้แก่ การตั้งครรภ์แฝด มีภาวะครรภ์เป็นพิษ มีโรคความดันโลหิตสูง การติดเชื้อและการอักเสบ หรือการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น
- เพื่อป้องกันไม่ให้แผลผ่าคลอดเกิดการอักเสบ ติดเชื้อ ในหนึ่งสัปดาห์แรกหลังผ่าคลอด ต้องระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ
ทางการแพทย์กำหนดการคลอดที่ปลอดภัยต่อตัวคุณแม่ และทารกในครรภ์มีการพัฒนาร่างกาย อวัยวะต่าง ๆ แข็งแรงสมบูรณ์แล้วอยู่ที่ 38 สัปดาห์ขึ้นไป สามารถที่จะผ่าคลอด หรือคลอดธรรมชาติได้
- การผ่าคลอดในคุณแม่ครรภ์แรก คือการผ่าคลอดที่เรียกว่า (Primary Caesarean Section)
- การผ่าคลอดในคุณแม่ครรภ์คลอดซ้ำครั้งที่สอง คือการผ่าคลอดที่เรียกว่า (Repeat Caesarean Section)
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ผ่าคลอดกี่สัปดาห์ อายุครรภ์กี่สัปดาห์เหมาะกับการผ่าคลอด
- คุณแม่ผ่าคลอดได้ตั้งแต่กี่สัปดาห์
- คุณแม่ผ่าคลอด กี่สัปดาห์ดีที่สุด
- ปัจจัยที่ทำให้คุณแม่ต้องผ่าคลอดก่อนกำหนด
- การผ่าคลอด มีข้อดีอย่างไร
- การบล็อกหลัง ช่วยอะไรคุณแม่ผ่าคลอดได้บ้าง
- การเตรียมตัวสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด
- แผลผ่าคลอด ต้องดูแลอย่างไร
ผ่าคลอดกี่สัปดาห์ อายุครรภ์กี่สัปดาห์เหมาะกับการผ่าคลอด
อายุครรภ์ที่เหมาะสมสำหรับการคลอดลูกน้อย คือคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ระหว่าง 37-40 สัปดาห์ ส่วนจะเป็นการคลอดธรรมชาติหรือการผ่าคลอดนั้น จะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ หากคุณแม่เป็นคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และทารกในครรภ์ไม่ได้มีขนาดใหญ่จนเกินไป แพทย์จะแนะนำให้คุณแม่คลอดแบบธรรมชาติมากกว่าผ่าคลอด เพราะดีต่อการฟื้นตัวของลูกน้อย และทารกจะได้รับสารภูมิคุ้มกันธรรมชาติจากช่องคลอดของแม่
คุณแม่ผ่าคลอดได้ตั้งแต่กี่สัปดาห์
โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะพยายามยื้อให้ทารกอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ให้นานที่สุด เพื่อให้ระบบต่างๆ ในร่างกายของทารกพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด และรอจนกำหนดคลอดที่เหมาะสม คือ ระหว่างอายุครรภ์ 37-40 สัปดาห์
คุณแม่ผ่าคลอด กี่สัปดาห์ดีที่สุด
การคลอดที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ใกล้คลอด ไม่ว่าจะเป็นการคลอดธรรมชาติหรือการผ่าคลอด ช่วงเวลาที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับการคลอด คือช่วงระหว่างอายุครรภ์ 37-40 สัปดาห์ เพราะทารกได้อยู่ในครรภ์จนครบกำหนดการตั้งครรภ์ มีระบบอวัยวะและพัฒนาการที่สมบูรณ์ พร้อมออกมาเจอโลกกว้าง
ปัจจัยที่ทำให้คุณแม่ต้องผ่าคลอดก่อนกำหนด
การผ่าคลอดก่อนกำหนดมีเกิดได้จากหลายปัจจัยที่เกิดจากตัวคุณแม่ และทารกในครรภ์
- คุณแม่มีโรคประจำตัวก่อนการตั้งครรภ์ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
- มีประวัติการคลอดลูกก่อนกำหนดจากครรภ์แรก
- การตั้งครรภ์แฝด
- มีปัญหาช่องปาก เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ
- การติดเชื้อและการอักเสบ เช่น กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ ระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ
- การเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ
- ความเครียด
การผ่าคลอด มีข้อดีอย่างไร
การคลอดลูกด้วยวิธีผ่าคลอดที่อยู่ในการดูแลจากทีมแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่อย่างใด ซึ่งการผ่าคลอดก็มีข้อดี ได้แก่
- คุณแม่สามารถที่จะกำหนดฤกษ์ วัน เวลาคลอดได้
- ไม่เจ็บครรภ์คลอด
- ไม่มีภาวะสายสะดือกดทับในระหว่างการคลอด
- สามารถเตรียมตัวล่วงหน้าสำหรับการคลอดได้
- หลังคลอดสามารถทำหมันได้ทันที
- ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้
- มีปัญหาทางเพศสัมพันธ์หลังคลอดค่อนข้างน้อย
การบล็อกหลัง ช่วยอะไรคุณแม่ผ่าคลอดได้บ้าง
การบล็อกหลังก่อนการผ่าคลอด จะช่วยให้คุณแม่ไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะผ่าคลอด และคุณแม่ยังได้พบหน้าลูกน้อยหลังคลอดในทันทีที่ผ่าคลอดเสร็จการบล็อกหลัง เป็นการฉีดยาชาระงับความรู้สึกเฉพาะจุดให้กับคุณแม่ โดยที่วิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้ฉีดยาชาให้ตรงบริเวณหลังเข้าไปที่ช่องไขสันหลัง เมื่อยาชาออกฤทธิ์จะทำให้ร่างกายตั้งแต่ช่วงกลางลำตัวไปจนถึงขาทั้งสองข้างของคุณแม่ไม่มีความรู้สึก ซึ่งในขณะที่ผ่าคลอดจะไม่รู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดแต่อย่างใด
- ช่วยในการระงับปวดได้ภายใน 1-2 นาที
- จะมีอาการปวดแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่า และยังคงรู้สึกตัว สามารถพูดคุย โต้ตอบได้
การเตรียมตัวสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด
เพื่อให้การคลอดปลอดภัยที่สุดกับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ คุณแม่ที่ต้องผ่าคลอดจำเป็นต้องเตรียมพร้อมในเรื่องดังต่อไปนี้
- เก็บกระเป๋าเตรียมไปคลอด: เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ไตรมาสสาม คุณแม่สามารถเริ่มเตรียมเก็บกระเป๋าของใช้เตรียมคลอด สำหรับเตรียมไปคลอดได้ เสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว และเอกสารที่ต้องใช้ในการคลอดลูก ควรมีพร้อมไว้ในกระเป๋า
- งดอาหาร งดน้ำ: ก่อนวันนัดหมายเพื่อการคลอด คุณแม่จะได้รับการแนะนำให้งดอาหาร และน้ำมาก่อนผ่าตัดประมาณ 8 ชั่วโมง
- ตรวจเลือด: เมื่อมาถึงโรงพยาบาล คุณแม่จะได้รับการเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจดูสุขภาพของเลือด ว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด ความเข้มข้นของเลือด
- เจาะเส้นเลือด: ก่อนเข้าห้องคลอด เจ้าหน้าที่พยาบาลจะมาเจาะหาเส้นเลือดดำที่หลังมือ เพื่อให้สารน้ำกับคุณแม่
- สวนอุจจาระ: ก่อนการผ่าตัด เจ้าหน้าที่พยาบาลจะสวนอุจจาระให้กับคุณแม่
- โกนขน: ก่อนการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง เจ้าหน้าที่พยาบาลจะโกนขนตรงบริเวณหัวหน่าว และทำความสะอาด
- ใส่สายสวนปัสสาวะ: ระหว่างผ่าตัดคุณแม่อาจปัสสาวะออกมา ก่อนการผ่าตัดจึงจำเป็นต้องได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะ
การผ่าตัดคลอดคุณแม่ไม่ต้องรอให้ปากมดลูกเปิดเหมือนกับการคลอดธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อถึงเวลานัดหมายในการคลอด แพทย์ก็จะเข้าสู่กระบวนการผ่าคลอดให้คุณแม่ได้ทันที ซึ่งจะใช้เวลาผ่าคลอดอยู่ที่ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
แผลผ่าคลอด ต้องดูแลอย่างไร
หลังจากคุณแม่ผ่าคลอดเสร็จ จะอยู่พักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน เพื่อที่แพทย์จะได้ติดตามอาการหลังผ่าคลอดอย่างใกล้ชิด และหากไม่พบความผิดปกติใด ๆ ที่แทรกซ้อนขึ้นมา ก็จะอนุญาตให้คุณแม่กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน
แผลผ่าคลอดจะยาวประมาณ 4-6 นิ้ว แผลผ่าคลอดจะใช้เวลาในการสมานกันที่ตรงผิวชั้นนอกใช้เวลา 1 สัปดาห์ และแผลผ่าตัดตรงบริเวณผิวชั้นในจะสมานกันดีใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์
- ระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ: หลังผ่าคลอด สัปดาห์แรกคุณแม่ต้องระวังไม่ให้แผลผ่าตัดโดนน้ำ เพื่อจะได้ไม่มีการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด
- ทำความสะอาดแผล: แผลผ่าตัดหากสมานดีแล้ว ก็สามารถโดนน้ำได้ แต่คุณแม่ต้องเช็ดทำความสะอาดแผลผ่าตัด 2-3 ครั้งต่อวันด้วยน้ำเกลือ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์: การสมานแผลผ่าคลอดให้หายเร็ว และฟื้นฟูร่างกายหลังคลอด คุณแม่ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารกลุ่มโปรตีน และควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทหมักดอง แอลกอฮอล์
- ทาบำรุงผิว: แผลผ่าตัดที่สมานผิวแห้งดีแล้ว คุณแม่สามารถทาบำรุงผิวรอบแผลผ่าตัดด้วยโลชั่น หรือออยล์ทาผิว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว
น้ำนมแม่ มีประโยชน์กับลูกที่ผ่าคลอด นมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่ครบถ้วนทั้งสารอาหารพัฒนาการเจริญเติบโต สารอาหารพัฒนาสมอง ในนมแม่มีสฟิงโกไมอีลิน ดีเอชเอ และโพรไบโอติกซึ่งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน แนะนำคุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่แรกคลอดจนให้ได้อย่างน้อย 6 เดือน
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- บล็อกหลังผ่าคลอด คืออะไร เรื่องที่คุณแม่ต้องรู้ เกี่ยวกับการบล็อกหลัง
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- คุณแม่ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ผ่าคลอดมีลูกได้กี่คน ผ่าคลอดบ่อยอันตรายไหม
- ออกกําลังกายหลังคลอด สำหรับคุณแม่หลังผ่าคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- 5 ข้อดีของการ “ผ่าคลอด” ที่คุณแม่ควรทราบ, โรงพยาบาลเปาโล
- สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้เกี่ยวกับการผ่าคลอด, โรงพยาบาลสมิติเวช
- คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้! สัญญาณเตือนแบบไหน..ที่เสี่ยง ‘คลอดก่อนกำหนด’, โรงพยาพบาลพญาไท
- คลอดเองหรือผ่าคลอด...วิธีไหนดี?, โรงพยาบาลพญาไท
- ตอบข้อสงสัย คลอดแบบไหนดี คลอดปกติ VS ผ่าคลอด, โรงพยาบาลนครธน
- ข้อแตกต่างของการผ่าคลอดและการคลอดตามธรรมชาติ, โรงพยาบาลเมดพาร์ค
- ผ่าคลอด! ดมยาสลบหรือบล็อกหลังดี?, โรงพยาบาลศิครินทร์
- การเตรียมพร้อมก่อนรับการฉีดยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่เข้าช่องน้ำไขสันหลัง (Spinal anesthesia), โรงพยาบาลวิภาวดี
- สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้เกี่ยวกับการผ่าคลอด, โรงพยาบาลสมิติเวช
- 8 เคล็ดลับดูแลแผลผ่าคลอดให้แผลสวย หายไว ฟื้นตัวเร็ว, โรงพยาบาลวิมุต
- คุณแม่ตั้งครรภ์กับการทำฟัน ช่วงเวลาไหนเหมาะสมที่สุด, โรงพยาบาลนครธน
อ้างอิง ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2566