วัคซีนเด็กแรกเกิด สำคัญแค่ไหน ลูกน้อยต้องฉีดอะไรบ้าง
แม้ในช่วงแรกเกิด เด็กแรกเกิดจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าเด็กแรกเกิดจะปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มีเป็นจำนวนมากได้ หากเป็นในยุคโบราณที่ยังไม่มีทั้งตัวยาสมัยใหม่และวัคซีนแล้ว อัตราการรอดชีวิตของเด็กทารกก็คงจะน้อยกว่า
สรุป
- แม้เด็กแรกเกิดจะมีภูมิคุ้มกันแต่กำเนิดและภูมิคุ้มกันที่ได้จากนมแม่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
- ปัจจุบันสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ได้กำหนดชนิดของวัคซีน และเวลาที่ควรได้รับวัคซีนเอาไว้ ซึ่งเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนควรได้รับ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
- นอกจากวัคซีนพื้นฐานแล้ว ก็ยังมีวัคซีนเสริม ที่ไม่ใช่วัคซีนพื้นฐาน ที่แต่ละโรงพยาบาล หรือแต่ละสถานพยาบาลมีแตกต่างกัน ซึ่งสามารถขอรับวัคซีนเพิ่มเติมได้เช่นกัน
- รายละเอียดให้สอบถามจากโรงพยาบาลที่ไปรับการคลอด หรือสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนใกล้บ้าน
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- วัคซีนเด็กแรกเกิด โดยทั่วไปแล้วต้องฉีดอะไรบ้าง และฉีดเมื่อไหร่
- ทำไม “นมแม่” จึงนับว่าเป็นวัคซีนชนิดแรกของเด็กทารก
- เด็กแรกเกิดอาจแพ้วัคซีนได้หรือไม่ และจะแสดงอาการอย่างไรบ้าง
- ตารางวัคซีนที่จำเป็นต้องได้รับ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ปี
- คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง เมื่อจะพาลูกไปฉีดวัคซีน
- ถ้าผิดนัดฉีดวัคซีน ควรทำอย่างไรดี
วัคซีนเด็กแรกเกิด โดยทั่วไปแล้วต้องฉีดอะไรบ้าง และฉีดเมื่อไหร่
โดยทั่วไปแล้ว ก่อนที่คุณแม่และลูกน้อยจะออกจากโรงพยาบาลเพื่อกลับบ้าน ก็จะได้รับวัคซีนพื้นฐานเลย ซึ่งตามที่สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กำหนดไว้ว่าให้เด็กได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ 1 (HB1) หากตรวจพบว่าคุณแม่เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอับเสบบี เมื่อเด็กมีอายุ 1 เดือน จะต้องไปรับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี 2 (HB2) ด้วย หลังจากนั้นเมื่อเด็กมีอายุ 2 เดือน จะได้รับวัคซีนรวม 5 โรค คอตีบ,บาดทะยัก,ไอกรน,ตับอักเสบบี,ฮิบ (DTwP-HB-Hib) และวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV) และวัคซีนโรต้า (Rota) โดยดำเนินการรับวัคซีนตามตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย แนะนำโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2567 เรื่อยไป ไปจนกว่าจะครบตามที่กำหนดไว้
ทำไม “นมแม่” จึงนับว่าเป็นวัคซีนชนิดแรกของเด็กทารก
เด็กทารก เมื่อคลอดออกมาแล้ว ก็จะได้รับภูมิคุ้มกันเริ่มแรกมาจากคุณแม่ผ่านนมแม่ และนมแม่เองก็มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม สฟิงโกไมอีลินพัฒนาการสมองสติปัญญา และการเจริญเติบโตของลูก ทั้งยังมีสารภูมิคุ้มกันและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลายชนิด โดยจุลินทรีย์ที่ดีบางชนิดสามารถส่งเสริมการพัฒนาภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย เช่น บีแล็กทิส (B. lactis) เป็นต้น ดังนั้น นมแม่ซึ่งเป็นอาหารมื้อแรกตามธรรมชาติของลูกน้อย จะเปรียบได้กับเป็นวัคซีนธรรมชาติชนิดแรกที่ลูกน้อยได้รับ
เด็กแรกเกิดอาจแพ้วัคซีนได้หรือไม่ และจะแสดงอาการอย่างไรบ้าง
ไม่ว่ายา อาหาร หรือวัคซีนใด ๆ ก็ตาม หากเป็นสารที่มนุษย์เราได้รับเข้าสู่ร่างกาย ก็มีความเสี่ยงที่จะแพ้ได้ ซึ่งไม่แตกต่างกับลูกน้อยที่ได้รับวัคซีน อาจจะมีอาการแพ้วัคซีนก็เป็นได้ โอกาสจะมากน้อยจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ดังนั้นทางสถานพยาบาลจะกำหนดให้เมื่อเด็กทารกได้รับวัคซีนแล้ว จึงให้รอดูอาการที่โรงพยาบาลก่อนเป็นเวลาอย่างต่ำ 30 นาที และเมื่อกลับบ้านแล้วให้สังเกตอาการต่อไปอีกเป็นเวลา 2-3 วัน หากลูกน้อยมีไข้ งอแง ไม่สบายตัว ไปจนถึงมีอาการรุนแรง ก็อาจจะเป็นอาการของการแพ้วัคซีนได้ ให้รีบพาลูกน้อยไปพบคุณหมอทันที
ตารางวัคซีนที่จำเป็นต้องได้รับ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 2 ปีครึ่ง
อายุ | วัคซีนที่ต้องได้รับ |
แรกเกิด | วัคซีนวัณโรค (BCG), วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (HBV1) |
1 เดือน | วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (HBV2) |
2 เดือน | วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) ,วัคซีนฮิบ (Hib-1), วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV1) และวัคซีนโรต้า (Rota1) |
4 เดือน | วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) ,วัคซีนฮิบ (Hib-2), วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV2) และวัคซีนโรต้า (Rota2) |
6 เดือน | วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) ,วัคซีนฮิบ (Hib-3), วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV3) และวัคซีนโรต้า (Rota3) |
9 - 12 เดือน | วัคซีนรวม หัด,คางทูม,หัดเยอรมัน (MMR1) และวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี ( JE1) |
18 เดือน | วัคซีนรวม คอตีบ,บาดทะยัก,ไอกรน (DTwP เข็มกระตุ้น 1), โปลิโอชนิดกิน (OPV กระตุ้น 1) และวัคซีนรวม หัด,คางทูม,หัดเยอรมัน (MMR2) |
2 – 2.5 ปี | ไข้สมองอักเสบเจอี (JE2) |
โดยในแต่ละสถานพยาบาล อาจจะมีวัคซีนเพิ่มเติมโรคอื่น ๆ ทำให้อาจจะไม่ตรงกับตารางข้างต้น ขอให้สอบถามจากสถานพยาบาลได้
คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง เมื่อจะพาลูกไปฉีดวัคซีน
คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมเอกสารประจำตัวของลูกน้อย เช่น เอกสารประวัติการรักษา สูติบัตร สมุดบันทึกการฉีดวัคซีนของเด็กเล็ก เป็นต้น รวมทั้งควรเตรียมผ้าอ้อม เครื่องใช้จำเป็นสำหรับเด็กเล็กมาด้วย เพราะบางครั้งการขอรับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐอาจจะต้องใช้เวลานาน
ถ้าผิดนัดฉีดวัคซีน ควรทำอย่างไรดี
ทางที่ดีที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ควรพาไปฉีดวัคซีนตามนัดทุกครั้ง แต่ถ้าหากผิดนัด แม้จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนใหม่ตั้งแต่ต้น แต่ให้สอบถามกับทางสถานพยาบาล เพราะอาจจะมีการปรับเปลี่ยนนัดใหม่ได้ รวมถึงได้รับวัคซีนตามกำหนดต่อได้เลย
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ การไปรับวัคซีน ถือเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายของลูกน้อย นอกจากจะช่วยให้เด็กแข็งแรง ยังเหมือนกับเป็นการไปพบคุณหมอตามกำหนดด้วย ดังนั้น อย่าหลงเชื่อความเชื่อที่ว่าเด็กไม่ควรรับวัคซีน เพราะวัคซีนป้องกันโรคสำหรับเด็กแรกเกิดนั้น ล้วนเป็นภูมิคุ้มกันโรคร้ายแรงที่อาจส่งผลถึงชีวิตของลูกน้อย ที่เทคโนโลยีทางการแพทย์ยุคปัจจุบันสามารถป้องกันได้ และอย่าลืมไปรับวัคซีนตามนัดด้วย เพื่อให้ได้รับภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคดีที่สุด
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- โพรไบโอติก (Probiotics) จุลินทรีย์ที่พบได้ในนมแม่ มีประโยชน์กับลูก
- พรีไบโอติก มีส่วนช่วยพัฒนาสมองในเด็กทารก
- 10 กิจกรรมฝึกสมองวัยซน เสริมพัฒนาการให้ลูกสมองไว
- อาหารบำรุงสมองเด็ก ให้ลูกฉลาด สมองไว เติบโตได้อย่างสมวัย
- โภชนาการสำหรับเด็ก 1-2 ขวบ กินอะไรให้ฉลาดและแข็งแรง
- โภชนาการสำหรับเด็ก 2-3 ขวบ กินอะไรให้ฉลาดและแข็งแรง
- พัฒนาการเด็ก 1-4 ปีแรก พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 2 ขวบ พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 3 ขวบ พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- นมกล่องเด็ก UHT เลือกนม UHT สำหรับเด็ก แบบไหนมีสารอาหารสำคัญ
- นมกล่องเด็ก 1 ขวบขึ้นไป นม UHT เด็ก 1 ขวบ เพื่อพัฒนาการสมองลูก
- นมสูตร 3 เพื่อการเจริญเติบโต นมผงสูตร 3 สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป
อ้างอิง:
- ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย แนะนำโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2567, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
- วัคซีนเด็กเสริมภูมิคุ้มกันให้เจ้าตัวเล็ก, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กแรกเกิด- 12 ปีที่พ่อแม่ต้องรู้, โรงพยาบาลเปาโล
อ้างอิง ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง