10 กิจกรรมฝึกสมองวัยซน เสริมพัฒนาการให้ลูกสมองไว
เด็กในวัยเรียนรู้ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มปลูกฝังกระบวนความคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการความรู้สึกของตนเอง การปรับตัวในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้จักการแก้ไขปัญหา และดำเนินชีวิตด้วยความเข้าใจอย่างมีความสุข ทั้งหมดนี้ คือการฝึกทักษะทางสมองให้กับเด็กในวัย 3-6 ปีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากสมองส่วนหน้าที่ควบคุมความคิด ความรู้สึก และการตัดสินใจเพื่อลงมือกระทำ มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
สรุป
- EF หรือ Executive Functions เป็นทักษะที่สำคัญในการดำเนินการชีวิตให้ประสบความสำเร็จ ตรงตามเป้าหมาย โดยเป็นการฝึกฝนการบริหารจัดการตนเอง ทั้งด้านอารมณ์ความคิด ความรู้สึก และการกระทำของลูกน้อย
- กิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง ด้วยการเล่นที่เน้นการเคลื่อนที่ การเล่นที่เน้นการสื่อสารและการใช้ภาษา และการเล่นกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์
- รวบรวม 10 กิจกรรมที่ช่วยฝึกสมองของลูกน้อยวัยซน กระตุ้นพัฒนาการในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การร้องเพลงช่วยพัฒนาทักษะด้านการใช้ภาษา การเล่นของเล่นฝึกสมาธิและกระตุ้นจินตนาการ หรือการสำรวจธรรมชาติรอบตัวฝึกการช่างสังเกตและให้ความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เป็นต้น
ทักษะ EF สิ่งที่ควรสอนลูกตั้งแต่ยังเล็ก
EF หรือ Executive Functions เป็นทักษะในการบริหารจัดการตนเอง ทั้งด้านอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก และการกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายความสำเร็จในเรื่องต่าง ๆ ของการดำเนินชีวิต ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกน้อยด้วยวิธีการง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน แต่เน้นความต่อเนื่องและให้ถึงเป้าหมายที่ชัดเจน อาทิ
- การฝึกให้ลูกน้อยทำงานบ้านง่าย ๆ การช่วยพับผ้าเก็บใส่ตู้ หรือการช่วยล้างจานชามของตนเอง เพื่อช่วยฝึกฝนความรับผิดชอบ สอนให้เข้าใจเหตุและผลที่ต้องทำงานบ้าน
- การเล่นบทบาทสมมุติให้เด็กแสดงเลียนแบบตัวละครที่กำหนด หรือการฝึกให้เด็กเล่านิทาน ช่วยพัฒนากระตุ้นจินตนาการ และฝึกการสังเกต จดจำลักษณะของตัวละครนั้น ๆ
- กิจกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และมีขั้นตอนที่ชัดเจน อาทิ การปั้นแป้งโดว์เป็นสัตว์หรือสิ่งของ หรือการพับกระดาษเป็นรูปต่าง ๆ
เด็กวัยหัดเดิน กิจกรรมพัฒนาสมอง มีพัฒนาการอะไรบ้าง
การเล่นเป็นการกระตุ้นพัฒนาการทางสมองที่สำคัญ ช่วยเสริมสร้างจินตนการ ความรู้ อารมณ์ รู้จักคิดวิเคราะห์ และตัดสินใจลงมือกระทำในสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเราได้รวบรวมกิจกรรมฝึกสมองสำหรับเด็กวัยหัดเดิน มาให้แล้วค่ะ
- การเล่นที่เน้นการเคลื่อนที่ คุณพ่อคุณแม่อาจหากรวยหรือกำหนดจุดต่าง ๆ ให้ลูกวัยหัดเดินลองเดินตามจุดที่กำหนด ซึ่งอาจเป็นเส้นทาง ซิกแซก โค้งไปมา หรือฝึกการทรงตัว ปีนป่าย และให้ลูกได้วิ่งเล่นบนพื้นหญ้าหรือพื้นทรายด้วย ซึ่งเป็นการฝึกการใช้ประสาทสัมผัส ในการบังคับแขนหรือขาของตนเอง
- การเล่นที่เน้นการสื่อสารและการใช้ภาษา ในการอ่านนิทานซึ่งมีทั้งภาพประกอบและตัวอักษร โดยคุณพ่อคุณแม่อาจใช้นิ้วชี้ตามตัวอักษรที่อ่านออกเสียง หรือชี้รูปเมื่อพูดถึงตัวละครในนิทาน ฝึกถามตอบจากเรื่องราวในนิทานกับลูก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้และการจดจำของเด็ก
- การเล่นกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ โดยการชวนต่อจิ๊กซอว์หรือเลโก้ การเล่นบทบาทสมมุติ หาอุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์แบบง่าย เช่นการทำลาวาภูเขาไฟ โดยผสมเบกกิ้งโซดา น้ำส้มสายชู และน้ำยาล้างจาน ถ้ามีสีต่าง ๆ ก็สามารถใส่ลงในปล่องภูเขาไฟที่จำลองขึ้น
10 กิจกรรมฝึกสมองเด็กวัยซน กระตุ้นพัฒนาการสมอง
1. เสียงเพลง
การร้องเพลง เป็นทางลัดในการพัฒนาทักษะด้านการใช้ภาษาพร้อมกันหลายด้าน ทั้งการอ่าน ฟัง พูด นอกจากนี้ยังช่วยฝึกฝนความจำ ทำให้เด็ก ๆ อารมณ์ดี ได้เต้นตามจังหวะดนตรี และยังเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูกอีกด้วย
2. เล่นของเล่น
ของเล่นที่แนะนำสำหรับเด็กวัยซน ควรเป็นของเล่นเสริมพัฒนาการเด็ก ที่มีขั้นตอน ฝึกการใช้สมาธิให้จดจ่อกับของเล่นนานขึ้น มีการคิดวิเคราะห์ เช่น จิ๊กซอว์ เลโก้
3. เล่นเกมปริศนา
เป็นเกมที่กระตุ้นพัฒนาการ ฝึกความจำ เช่น การเล่นบอร์ดเกมสำหรับเด็ก ซึ่งเด็กจะต้องจดจำกฎเกณฑ์ในการเล่น พยายามหาวิธีเพื่อที่จะชนะ รู้จักการชนะและการแพ้ ช่วยฝึกฝนการควบคุมอารมณ์
4. ถามตอบกับลูก
คุณพ่อคุณแม่อาจสอบถามเรื่องราวชีวิตประจำวัน อาทิ เรื่องราวในโรงเรียนในแต่ละวัน การเล่นนอกบ้าน เพื่อช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก และช่วยฝึกสมองในการจดจำ นึกคิดเรื่องต่าง ๆ หากมีการทำผิด คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยสอนให้ลูกเข้าใจวิธีการในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วย
5. ใช้ชีวิตกับธรรมชาติ
วัยแห่งการสำรวจนี้ คงมีเรื่องตื่นเต้นไม่น้อยเมื่อได้พบเจอสิ่งแปลกใหม่ ให้ลูกได้ลองสังเกตธรรมชาติรอบตัวที่หลากหลาย ไม่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง แต่สอนให้รู้จักสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร
6. ดูหนังสือภาพ
การอ่านหนังสือนิทานหรือการดูหนังสือภาพ เป็นการช่วยปลูกฝังทักษะการอ่าน และเสริมสร้างจินตนาการมากมายได้จากนิทานเล่มโปรดของลูกรัก คุณพ่อคุณแม่อาจกำหนดเวลาชวนลูกอ่านหนังสืออย่างน้อยวันละ 15 นาที นอกจากนี้อาจฝึกให้ลูกหารูปภาพตามคำบอกเล่าเพื่อฝึกการช่างสังเกตและจดจำ
7. เล่นจ้องตากับลูก
การจ้องตาระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูกเป็นการสื่อสารและแสดงออกทางความรักอย่างนึง เด็กจะรู้สึกมีความสุข สนุกสนาน รวมถึงเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์กับลูกน้อยและทำให้การสื่อสารระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูกดีขึ้นด้วย
8. เล่นกับเพื่อน ๆ
คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ออกไปพบปะพูดคุยกับเพื่อนแปลกหน้า ฝึกการเข้าร่วมสังคม ฝึกวิธีแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมไปถึงการเคารพกฎกติกาส่วนรวม อาทิ สนามเด็กเล่นส่วนกลาง ซึ่งต้องรู้จักการรอคอยที่จะเล่น ให้คนที่มาก่อนได้เล่นก่อน สร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น
9. บริหารความจำด้วยเกมจับคู่
ช่วยฝึกทักษะการช่างสังเกตและจดจำ โดยเลือกรูปภาพที่สะดุดตาหรือที่เด็กมีความสนใจ สีสันสดใสสวยงาม โดยคุณพ่อคุณแม่ช่วยเล่นในช่วงแรก และเริ่มต้นจากเกมจับคู่ที่มีจำนวนภาพยังไม่เยอะ และไม่ยากจนเกินไป หลังจากนั้นเริ่มปล่อยให้ลูกได้ทดลองเล่นเอง แล้วค่อยเพิ่มระดับความยากและซับซ้อนมากขึ้นเพื่อฝึกฝนการแก้ไขปัญหา
10. การเล่นบทบาทสมมุติ
เป็นการเล่นที่กระตุ้นพัฒนาการสมองด้านความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด ให้ลูกได้แสดงตามบทบาทที่ได้รับ และมีการจำลองสถานการณ์ อาทิ เล่นบทบาทของคุณหมอและคนไข้ หรือการจำลองร้านอาหารเล่นบทบาทเป็นเชฟ แล้วสอบถามเมนูต่าง ๆ ที่คิดขึ้นเอง นอกจากความสนุกแล้ว ยังสามารถสอดแทรกความรู้ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับบทบาทสมมุตินั้น ๆ ได้
กิจกรรมฝึกสมองเด็กทั้ง 10 กิจกรรม ถือเป็นกิจกรรมพัฒนาสมอง ที่จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี นอกเหนือไปจากกิจกรรมฝึกสมองต่าง ๆ ที่สรรหาให้แก่ลูกน้อยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมคำนึงถึงสุขภาพของลูกน้อย การออกกำลังกายที่เหมาะสม นอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ โภชนาการที่ดีมีสารอาหารครบถ้วน และหมั่นพูดคุยกับลูก พยายามทำความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ที่ลูกแสดงออกทางคำพูดและความรู้สึก คอยให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษาที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ลูกน้อยเติบโตอย่างสมบูรณ์แบบ แข็งแรงทั้งกายและใจค่ะ
อ้างอิง:
- EF ฝึกทักษะสมองพัฒนาสมาธิเด็ก, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- การเรียนรู้ Active Learning เพื่อส่งเสริมทักษะ Executive Functions (EF), มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทากับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
- คู่มือพัฒนาทักษะสมอง EF Executive Functions, สสส. และ สถาบัน RLG
- เคล็ดลับอ่านหนังสือให้ลูกฟัง สำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
อ้างอิง ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566