ลาคลอดได้กี่วัน สวัสดิการและสิทธิลาคลอดประกันสังคม ที่คุณแม่ควรรู้

ลาคลอดได้กี่วัน สวัสดิการและสิทธิลาคลอดประกันสังคมหลังคลอด

31.03.2024

ใกล้ถึงช่วงเวลาสำคัญที่คุณแม่จะได้เจอทารกน้อยกันแล้ว เชื่อว่าคุณแม่กำลังตื่นเต้นมากแน่ ๆ นอกจากจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อคลอดลูกน้อย คุณแม่สาย Working Women ก็ต้องไม่ลืมเคลียร์งานต่าง ๆ เพื่อส่งต่อสำหรับช่วงลาคลอด และต้องไม่ลืมที่จะเช็กสิทธิและสวัสดิการของตัวเองด้วย ทั้งสิทธิจากบริษัทและประกันสังคม

headphones

PLAYING: ลาคลอดได้กี่วัน สวัสดิการและสิทธิลาคลอดประกันสังคมหลังคลอด

อ่าน 11 นาที

 

สรุป

  • คุณแม่ควรทำความความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการจากการลาคลอด เพื่อใช้สิทธิและเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ที่ทำงานบริษัท รับราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ
  • วางแผนการลาคลอดสำหรับคุณแม่เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ และข้อควรรู้สำหรับคุณแม่ในการลาคลอดจะได้รับเงินช่วยเหลือ เงินเดือนอย่างไรบ้าง เพื่อให้คุณแม่และคุณพ่อวางแผนการเงิน และเตรียมเบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

วันนี้เราชวนคุณแม่มาทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมกันว่าจริง ๆ แล้วลาคลอดได้กี่วัน สิทธิและสวัสดิการสำหรับคนท้องที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับมีอะไรบ้าง เพื่อวางแผนลาคลอดได้แบบสบายใจหายห่วง และดูแลลูกน้อยได้อย่างเต็มที่

 

คุณแม่ ลาคลอดได้กี่วัน?

คุณแม่หลายคนอาจจะเข้าใจผิดอยู่ว่าสามารถลาคลอดได้ 90 วัน แต่จริง ๆ แล้วตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 43 กำหนดให้ลูกจ้างหญิงหรือคุณแม่ที่ต้องการลาคลอดมีสิทธิลาได้ 98 วัน โดยนับรวมวันลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดเข้าไปด้วย รวมเป็น 98 วัน ได้แก่ 

  • ลาคลอดก่อนคลอด 45 วัน
  • ลาคลอดหลังคลอด 45 วัน

 

สำหรับการลาคลอด 98 วันนี้จะต้องลาต่อเนื่องกัน และนับรวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ด้วย อย่างไรก็ตาม สิทธิลาคลอด 98 วันนี้ อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับข้อบังคับหรือสัญญาจ้างของแต่ละบริษัท ซึ่งหากบริษัทมีสวัสดิการหรือสิทธิลาคลอดมากกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมาย พนักงานหญิงก็จะได้รับสิทธิลาคลอดตามข้อบังคับหรือสัญญาจ้างของบริษัทนั้น ๆ

 

คุณแม่จึงต้องวางแผนการคลอดให้ดี ทั้งการผ่าคลอดแบบปกติและการวางแผนผ่าคลอด อาจจะเลือกลา 1 วันก่อนถึงวันกำหนดคลอด หรือลาจากวันที่คาดว่าจะนอนโรงพยาบาลเตรียมคลอด และการลาคลอดควรแจ้งล่วงหน้า 30 วัน

 

สิทธิประกันสังคมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

ตามสิทธิประกันสังคม คุณแม่จะได้รับเงินช่วยเพิ่มเติมสำหรับค่าฝากครรภ์ และตรวจครรภ์ เป็นจำนวนเงิน 1,500 บาท โดยจะรวมทั้งค่าอัลตราซาวด์ วัคซีน หรือค่ายาต่าง ๆ คุณแม่สามารถยื่นขอเบิกก่อนหรือหลังคลอดก็ได้ ซึ่งจะแบ่งการจ่ายเงิน ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายให้ไม่เกิน 500 บาท
  • ครั้งที่ 2 อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายให้ไม่เกิน 300 บาท
  • ครั้งที่ 3 อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายให้ไม่เกิน 300 บาท
  • ครั้งที่ 4 อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายให้ไม่เกิน 200 บาท
  • ครั้งที่ 5 อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 40 สัปดาห์ จ่ายให้ไม่เกิน 200 บาท

 

ลาคลอดประกันสังคม สิทธิและสวัสดิการการลาคลอด

 

สิทธิและสวัสดิการการลาคลอดสำหรับคุณแม่

มาเช็กกันว่าคุณแม่แต่ละท่านจะได้รับค่าคลอดจากบริษัทและหน่วยงานที่สังกัดกันเท่าไหร่บ้าง

 

สิทธิลาคลอดของคุณแม่ที่เป็นพนักงานบริษัท

คุณแม่ที่เป็นพนักงานบริษัทจะได้รับเงินเดือนจากบริษัท 100 เปอร์เซ็นต์ สูงสุด 45 วันแรก ส่วนเงินเดือนอีก 45 วันหลังคลอด จะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากสำนักงานประกันสังคมในอัตรา 50 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้าง

 

สิทธิลาคลอดของคุณแม่ที่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ

คุณแม่ที่ทำงานรัฐวิสาหกิจสามารถลาคลอดได้ 60 วัน โดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ และสามารถได้รับเงินตามปกติ คุณแม่ที่ทำงานสังกัดรัฐวิสาหกิจสามารถเบิกเงินช่วยเหลือการคลอดได้ครั้งละ 400 บาท ซึ่งส่วนนี้คุณแม่เบิกค่าใช้จ่ายได้ตามระเบียบพนักงานรัฐวิสาหกิจได้เลย ไม่รวมค่ารักษาพยาบาล 

  • คุณแม่จะได้รับเงินค่าช่วยเหลือเลี้ยงดูลูก 50 บาท ต่อคน ต่อเดือน
  • หากคุณแม่ต้องการขอลากิจเพื่อเลี้ยงลูกเกินกว่าที่ลาคลอดได้ 60 วัน ซึ่งจะได้รับเงินเดือนตามปกติ จะสามารถลาได้ไม่เกิน 30 วันทำการ ส่วนนี้คุณแม่จะไม่ได้รับเงินเดือน

 

สิทธิลาคลอดของคุณแม่ที่รับราชการ

คุณแม่ที่เป็นพนักงานราชการ มีสิทธิลาได้ 90 วัน โดยไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ (นับรวมวันหยุดราชการด้วย) ได้รับค่าตอบแทนระหว่างลาคลอดบุตรจากส่วนราชการ 45 วัน และอีก 45 วัน ได้รับจากประกันสังคม

 

สิทธิลาคลอดของคุณแม่ประกอบอาชีพอิสระ

คุณแม่ที่ทำอาชีพอิสระ ทำงานฟรีแลนด์ หรือเป็นแม่บ้าน สามารถใช้เวลาเลี้ยงลูกน้อยได้เต็มที่ สามารถรับสิทธิ์จากบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง 30 บาทได้ หากคุณแม่สมัครใจจ่ายประกันสังคม คุณแม่จะได้รับค่าคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์บุตรได้

 

นอกจากนี้ หากคุณพ่อเป็นพนักงานบริษัท หรือราชการและมีการจ่ายประสังคม สามารถเบิกได้ โดยคุณพ่อมีการนำส่งเงินสมทบมาแล้ว 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนคลอดบุตร โดยจะได้รับเงินค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายกรณีคลอดบุตรจำนวน 13,000 บาท

 

สิทธิลาคลอด ที่ได้รับจากสำนักงานประกันสังคม

คุณแม่ที่ส่งเงินประกันสังคม เมื่อตั้งครรภ์คุณแม่จะสามารถใช้สิทธิเบิกค่ารักษาได้ โดยแบ่งเป็น 5 รายการ ดังนี้

  • คุณแม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับฝากครรภ์เป็นวงเงินรวม 1,500 บาท
  • คุณแม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายสำหรับการคลอดเป็นวงเงิน 15,000 บาท ต่อครั้ง
  • คุณแม่สามารถเบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนเฉลี่ย (สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน)
  • คุณแม่สามารถเบิกค่าชดเชยกรณีแท้งบุตรได้ ต้องอายุครรภ์ไม่น้อยกว่า 28 สัปดาห์
  • คุณแม่สามารถเบิกเงินช่วยเหลือเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ 800 บาทต่อเดือน (ตั้งแต่เกิดจนถึง 6 ปี)

 

สิทธิประกันสังคมเบิกค่าคลอดบุตร

  • การเบิกประกันสังคม สำหรับพนักงานที่ตั้งครรภ์จะสามารถเบิกสิทธิประกันสังคมได้ เมื่อคุณแม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน และภายใน 15 เดือนก่อนการคลอด ทางประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์อยู่ที่ 15,000 บาท
  • การลาคลอด 90 วันที่คุณแม่จะได้รับเงินเดือนตามปกติ 45 วันแรกแล้ว คุณแม่ยังมีสิทธิรับเงินเดือนในระหว่างการหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร โดยจะเบิกได้ในวงเงิน 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือน นับจาก 45 วันหลัง จะมีกรณีพิเศษหากเป็นบุตรคนที่ 3 คุณแม่จะไม่ได้สิทธินี้
  • นอกจากนี้ หากทั้งคุณแม่และคุณพ่อ เป็นผู้ประกันตนประกันสังคมทั้งคู่ สามารถเลือกใช้สิทธิการเบิกคลอดบุตรของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ โดยไม่จำกัดจำนวนบุตรและครั้ง

 

หลังคลอดยังได้รับเงินช่วยเหลือ จากเงินอุดหนุนบุตร

หลังคลอดแล้วคุณแม่สามารถเบิกเงินเพื่อเลี้ยงดูลูกน้อยจากทางประกันสังคมได้ด้วย เป็นวงเงิน 800 บาท ต่อเดือน ตั้งแต่เกิดจนถึง 6 ปี โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ คุณแม่จะต้องจ่ายประกันสังคมมามากกว่า 12 เดือนแล้ว ภายในเวลา 36 เดือน หากเป็นกรณีตั้งครรภ์แฝดคุณแม่สามารถเบิกได้ 1,200 บาทต่อเดือน

 

สิทธิลาคลอดสำหรับคุณแม่และการเตรียมตัวก่อนคลอด

 

การเตรียมตัวก่อนคลอดสำหรับคุณแม่

การเตรียมสัมภาระล่วงหน้า คุณแม่สามารถเริ่มจัดได้ตั้งแต่ช่วงเข้าเดือนที่ 8 หรือเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยให้คุณแม่พร้อมที่จะไปโรงพยาบาลได้ทันที ของใช้ต่าง ๆ เอกสารที่คุณแม่และคุณพ่อต้องเตรียมพร้อมมีดังนี้

1. ของใช้เตรียมคลอด

ใกล้เข้ามาแล้ว คุณแม่และคุณพ่อเตรียมของพร้อมสำหรับเจ้าตัวเล็กแล้วหรือยัง มาเช็คลิสต์กันว่าของใช้เตรียมคลอด สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ และลูกน้อยต้องมีอะไรบ้าง

  • ควรแยกกระเป๋าสำหรับของลูกน้อย คุณแม่ และคุณพ่อให้พร้อมสำหรับช่วงที่อยู่โรงพยาบาล
  • คาร์ซีท ที่นั่งแสนสบายและอบอุ่นเพื่อรับลูกน้อยกลับบ้านให้ปลอดภัยหายห่วง
  • เตรียมเอกสารใบนัดต่าง ๆ ให้ครบถ้วน

 

2. ของใช้เมื่อคุณแม่ต้องนอนโรงพยาบาล

คุณแม่ควรเตรียมของใช้ต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนคลอดอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องการเตรียมของเมื่อถึงวันคลอด ของใช้หลัก ๆ ที่คุณแม่ควรเตรียมไว้ ได้แก่

  • เสื้อผ้า: ควรเลือกเสื้อผ้าที่ใส่สบายและสวมง่าย ช่วยให้คุณแม่คล่องตัวเวลาเดินและสามารถให้นมลูกได้ง่าย ๆ ด้วย
  • บราให้นม: เพื่อความสะดวกในการให้นมลูกน้อยได้ตลอดเวลา คุณแม่ควรเลือกซื้อช่วงไตรมาสที่สาม หรือใกล้ ๆ วันคลอด เพื่อให้ขนาดบราพอดี ใส่สบาย ไม่หลวม หรือแน่นเกินไป เพราะอาจทำให้คุณแม่เจ็บหน้าอกได้
  • แผ่นซับน้ำนม: ป้องกันคราบน้ำนมที่อาจไหลซึมเปื้อนเสื้อผ้า และช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายตัวได้ด้วย
  • กางเกงชั้นใน: คุณแม่ไม่ควรเลือกใช้แบบที่รัดแน่นจนเกินไป ควรเลือกแบบที่ใส่แล้วรู้สึกสบายที่สุด
  • ผ้ารัดหน้าท้อง: ช่วงคลอดลูกแรก ๆ คุณแม่จะเจอกับการปวดแผลคลอดการมีแผ่นรัดหน้าท้องก็จะช่วยกระชับเอวและพยุงสรีระให้คุณแม่เคลื่อนไหวได้สะดวกสบายขึ้น
  • แผ่นอนามัย: หลังจากคลอดลูกน้อยแล้ว คุณแม่จะมีน้ำคาวปลาขับออกมาคล้าย ๆ ประจำเดือน ทางโรงพยาบาลอาจจัดเตรียมไว้ให้ แต่คุณแม่ก็ควรเตรียมแบบที่ตัวเองใช้เป็นประจำไปด้วย ใส่แล้วรู้สึกสบายใจและมั่นใจ
  • เครื่องสำอาง: พกเครื่องสำอางเล็ก ๆ น้อย ๆ ติดกระเป๋าไว้เติมให้หน้าดูสดใส ถ่ายรูปกับเจ้าตัวเล็กและครอบครัวแบบสวย ๆ
  • ของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ: เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน แปรงสีฟัน โฟมล้างหน้า หวี ครีมบำรุงผิว เพื่อความสะดวกสบายทั้งคุณแม่และคุณพ่อ บางครั้งของใช้ที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้อาจจะไม่ครบ หรือใครที่แพ้ง่ายก็จะได้สบายใจเลือกใช้ของที่เราเลือกเอง
  • ชุดสวมกลับบ้าน: อาจเป็นชุดที่เคยใส่ขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้คุณแม่สวมใส่แล้วรู้สึกสบายคล่องตัว
  • รองเท้า: เลือกแบบส้นเตี้ยหรือรองเท้าแตะที่ช่วยให้คุณแม่เดินได้สะดวกที่สุด

 

3. ของเด็กอ่อน

กระเป๋าน้อยใบแรกของลูกน้อยที่อัดแน่นความห่วงใยจากคุณแม่ สิ่งของต่าง ๆ ที่คุณแม่ควรจะเตรียมไปเพื่อต้อนรับลูกน้อย มีดังนี้

  • เสื้อผ้าเด็กอ่อน: ควรเลือกเนื้อผ้าที่ไม่ระคายผิว ใช้เชือกผูกหรือกระดุมที่ง่ายต่อการสวมใส่ ปราศจากเหลี่ยมคมที่จะบาดผิว คุณแม่ควรเตรียมหมวก ถุงมือ ถุงเท้าเพื่อให้ความอบอุ่นและป้องกันเล็บข่วนหน้าของลูกน้อย เตรียมให้พร้อมเพียงพอสำหรับใช้ในโรงพยาบาล ซักให้เรียบร้อยพร้อมใช้งานด้วยน้ำยาซักผ้าเฉพาะของเด็กอ่อน
  • ผ้าอ้อม: คุณแม่ควรเตรียมไว้หลาย ๆ ผืนเลยเพื่อใช้ทำความสะอาดลูกน้อย หรือใช้รองอุ้มเพื่อป้องกันผิวทารกน้อยสัมผัสกับตัวผู้ใหญ่โดยตรง ที่สำคัญควรเลือกผ้าที่มีความอ่อนนุ่ม ไม่บาดผิวลูกน้อย และมีสีอ่อน ๆ ให้มองเห็นสิ่งแปลกปลอมที่อาจติดมากับผ้าได้ง่าย
  • ผ้าอ้อมสำเร็จรูป: คุณแม่ควรเลือกเป็นสำหรับทารกแรกเกิด หรือแบบเทป เพื่อความกระชับและสะดวกในการสวมใส่ สามารถขยับให้พอดีกับทารกได้ง่าย
  • ผ้าห่มหรือผ้าห่อตัว: คุณแม่ควรเลือกผ้าเนื้อนุ่มที่ค่อนข้างหนาจากผ้าอ้อม เพื่อช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกอุ่นสบาย และรู้สึกมั่นคงเมื่อถูกอุ้ม
  • ผ้าเช็ดตัว: สำหรับเช็ดตัวทารกหลังอาบน้ำ คุณแม่ควรเลือกผ้าแบบเนื้อนิ่มที่ซับน้ำได้ดีและเลือกเนื้อผ้าที่ไม่บาดผิวของลูกน้อย
  • ทิชชู่เปียกและสำลี: ของใช้สำหรับทำความสะอาดลูกน้อย ความสะอาดสำหรับลูกน้อยสำคัญที่สุด นอกจากจะใช้เช็ดทำความสะอาดก้นทารกน้อยแล้ว คุณแม่ยังสามารถใช้ทำความสะอาดเต้านมได้ด้วย คุณแม่ควรเลือกซื้อแบบชนิดที่ปราศจากน้ำหอมหรือสารที่เป็นอันตรายต่อผิวที่บอบบางของลูก
  • วาสลีน หรือครีมทาบำรุงสำหรับทารก: คุณแม่ควรเลือกที่เป็นเฉพาะของเด็กเท่านั้น เพราะผิวของทารกน้อยยังบอบบางมาก ๆ ใช้สำหรับทาบาง ๆ บริเวณก้นก่อนใส่ผ้าอ้อมเพื่อป้องกันผดผื่น หรือก้นแดง
  • แชมพูอาบน้ำ-สระผม และฟองน้ำธรรมชาติ: คุณแม่ควรเตรียมของใช้ยาสระผม-อาบน้ำ ที่ปราศจากน้ำหอม ไม่มีสารอันตราย สำหรับอาบน้ำให้ลูกน้อยแรกเกิด

 

เตรียมเอกสารแจ้งเกิด สำหรับลูกน้อย

เอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เอกสารหรือสมุดฝากครรภ์ ใบนัดแพทย์ บันทึกการตั้งครรภ์ เอกสารประกันสุขภาพ รวมถึงชื่อลูกน้อย เพื่อใช้สำหรับแจ้งเกิด

 

เอกสารแจ้งเกิด สามารถยื่นได้ต่อนายทะเบียน ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่เด็กเกิด หรือที่สำนักงานทะเบียนราษฎร์ที่บิดามารดามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยสามารถแจ้งเกิดได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เด็กเกิด เอกสารใช้สำหรับแจ้งเกิดมีดังนี้

  • หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ออกโดยสถานพยาบาลที่ลูกเกิด
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งเกิด หรือหนังสือรับรองการมอบอำนาจ กรณีที่ผู้แจ้งเกิดไม่ใช่บิดามารดาของเด็ก

 

เอกสารการแจ้งเกิด ที่ต้องใช้เพิ่มเติม มีดังนี้

  • สำเนาทะเบียนบ้านของบิดามารดา กรณีเกิดในท้องที่
  • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้แจ้งเกิด กรณีแจ้งเกิดนอกท้องที่
  • รูปถ่ายของเด็ก กรณีเด็กอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์
  • เอกสารแสดงตนของพยานบุคคล กรณีแจ้งเกิดนอกท้องที่

 

ขั้นตอนการแจ้งเกิด

  1. เตรียมเอกสารแจ้งเกิดให้ครบถ้วน
  2. ติดต่อขอรับแบบคำร้องแจ้งการเกิดที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่เด็กเกิด หรือที่สำนักงานทะเบียนราษฎร์ที่บิดามารดามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
  3. กรอกแบบคำร้องแจ้งการเกิดให้ครบถ้วน
  4. นำเอกสารแจ้งเกิดและแบบคำร้องแจ้งการเกิดไปยื่นต่อนายทะเบียน
  5. นายทะเบียนจะตรวจสอบเอกสารและลงนามในแบบคำร้องแจ้งการเกิด
  6. นายทะเบียนจะออกสูติบัตรให้แก่เด็ก

 

เงินก้อนฉุกเฉิน

สำหรับการลาคลอด คุณแม่ควรวางแผนการเงินล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด โดยอาจคำนวณค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ค่าจ้างพี่เลี้ยง หรือค่าเดินทาง คุณแม่ควรวางแผนค่าใช้จ่ายล่วงหน้าและเตรียมเงินก้อนฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 3-6 เดือน เพื่อให้มีค่าใช้จ่ายเพียงพอสำหรับช่วงลาคลอด โดยอาจเก็บเงินออมไว้เอง หรือแยกเงินก้อนนี้สำหรับลูกน้อยเท่านั้น

 

การเตรียมตัวก่อนคลอดจะช่วยให้คุณแม่มั่นใจได้ว่าจะสามารถดูแลตัวเองและลูกน้อยได้อย่างสบายใจในช่วงลาคลอด เพื่อให้คุณแม่ได้มีความสุขกับการเป็นคุณแม่แบบเต็มที่ ใช้เวลากับลูกน้อยอย่างคุ้มค่า แนะนำว่าให้คุณแม่วางแผนการเงิน การเลี้ยงดู และวางแผนการลาคลอดไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. ลาคลอด ได้กี่วัน สิทธิและสวัสดิการ ที่แม่ตั้งครรภ์ควรรู้, JobsDB
  2. ค่าคลอดบุตรประกันสังคม สิทธิประโยชน์ที่คุณแม่มือใหม่ต้องรู้, KTC
  3. เอกสารเตรียมคลอด พ่อแม่มือใหม่ควรรู้ ก่อนเก็บกระเป๋าไปโรงพยาบาล, KTC
  4. สิทธิยามท้องของแม่ทำงาน, Prosoft HCM
  5. ข้อควรรู้เกี่ยวกับ สิทธิการลาของข้าราชการ, ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๕๕
  6. 5 คำถามเคลียร์ชัด สิทธิกรณีคลอดบุตรที่สามีได้รับ, TIGERSOFT
  7. คุณแม่ตั้งครรภ์ มีสิทธิเบิกประกันสังคม อะไรได้บ้าง?, โรงพยาบาลบางปะกอก
  8. เก็บกระเป๋าเตรียมตัวไปคลอด, โรงพยาบาลสมิติเวช
  9. ว่าที่คุณแม่มือใหม่ เตรียมตัวก่อนคลอดอย่างไร ให้พร้อม!, โรงพยาบาลเปาโล
  10. การเกิด, สำนักบริหารทะเบียน กรมการปกครอง

อ้างอิง ณ วันที่ 27 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

คนท้องกินโยเกิร์ตได้ไหม ควรกินแบบไหน อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินโยเกิร์ตได้ไหม ควรกินแบบไหน อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินโยเกิร์ตได้ไหม คุณแม่ท้องอยากกินโยเกิร์ต เพื่อบำรุงสุขภาพครรภ์ โยเกิร์ตดีกับลูกในท้องหรือเปล่า กินเท่าไหร่ถึงพอดีและปลอดภัยกับคุณแม่และลูกในครรภ์

คนท้องกินสลัดผักได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินสลัดผักได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินสลัดผักได้ไหม กินผักสดบ่อย จะอันตรายกับลูกในครรภ์ไหม ประโยชน์ของผักสลัดมีอะไรบ้าง ผักประเภทไหนที่คนท้องควรเลี่ยง ไปดูกันว่าคนท้องกินผักอะไรได้บ้าง

คนท้องทาเล็บได้ไหม ทาเล็บบ่อย อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องทาเล็บได้ไหม ทาเล็บบ่อย อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องทาเล็บได้ไหม คุณแม่ท้องทาเล็บบ่อย จะเป็นอันตรายกับลูกหรือเปล่า สารเคมีในน้ำยาทาเล็บ ส่งผลอะไรกับคุณแม่และลูกในท้องบ้าง อยากทำเล็บต้องระวังอะไร

แผลฝีเย็บไม่ติดกัน แผลสมานไม่สนิท เกิดจากอะไร

แผลฝีเย็บไม่ติดกัน แผลสมานไม่สนิท เกิดจากอะไร

แผลฝีเย็บไม่ติดกัน เกิดจากอะไรได้บ้าง คุณแม่แผลเย็บหลังคลอดไม่ติด แผลจะอักเสบไหม อันตรายกับคุณแม่หลังคลอดหรือเปล่า พร้อมวิธีดูแลแผลฝีเย็บไม่ติดกัน

คนท้องกินน้ำขิงได้ไหม มีประโยชน์ยังไง อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินน้ำขิงได้ไหม มีประโยชน์ยังไง อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินน้ำขิงได้ไหม คุณแม่ท้องอยากกินน้ำขิง เพื่อบำรุงสุขภาพครรภ์ น้ำขิงดีกับลูกในท้องหรือเปล่า กินเท่าไหร่ถึงพอดีและปลอดภัยกับคุณแม่และลูกในครรภ์

หยุดกินยาคุม 1 เดือน จะท้องไหม ว่าที่คุณแม่เลิกกินยาคุมกี่เดือนท้องได้

หยุดกินยาคุม 1 เดือน จะท้องไหม ว่าที่คุณแม่เลิกกินยาคุมกี่เดือนท้องได้

หยุดกินยาคุม 1 เดือน จะท้องไหม เลิกกินยาคุมกี่เดือนท้อง กินยาคุมมานาน เสี่ยงมีลูกยากจริงไหม ว่าที่คุณแม่ควรทำอย่างไร ถ้าอยากมีลูกเร็วหลังหยุดยาคุม

อาการท้องลด หนึ่งในสัญญาณเตือนคุณแม่ใกล้คลอด

อาการท้องลด หนึ่งในสัญญาณเตือนคุณแม่ใกล้คลอด

ท้องลด คืออะไร อาการท้องลดขณะตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นตอนไหน อาการท้องลดของคุณแม่ คือสัญญาณใกล้คลอดจริงไหม หลังเกิดอาการท้องลด นานแค่ไหนถึงจะคลอด ไปดูกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก