วิธีละลายนมแม่ ด้วยวิธีที่ถูกต้อง เมื่อลูกกินนมสต๊อก
น้ำนมแม่มีคุณค่ามหาศาล ประกอบไปด้วยสารอาหารมากมายที่ช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตของทารก รวมถึงเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ และด้วยคุณค่าทางสารอาหารที่เปี่ยมล้นในน้ำนมแม่ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) และยูนิเซฟ (UNICEF) จึงสนับสนุนให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด และควรให้นมแม่ต่อเนื่อง ควบคู่กับอาหารตามวัยตั้งแต่เดือนที่ 6 ไปจนถึงลูกอายุ 2 ขวบหรือนานกว่านั้น เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เจ้าตัวน้อยเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง
น้ำนมแม่...วัคซีนจากธรรมชาติ
ภายหลังจากการปฏิสนธิ ฮอร์โมนจากรกจะกระตุ้นรังไข่ให้มีการหลั่งฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะไปกระตุ้นเต้านม โดยเฉพาะต่อมน้ำนมและท่อน้ำนม ตลอดจนเพิ่มกระแสเลือดที่มาหล่อเลี้ยงเพื่อให้เต้านมพร้อมที่จะเป็นคุณแม่อย่างสมบูรณ์ นมแม่สร้างและผลิตจากเซลล์ที่บุอยู่ภายในกระเปาะขนาดเล็กของเนื้อเต้านม หล่อเลี้ยงจากเส้นเลือดบริเวณหน้าอก จนค่อย ๆ ผลิตน้ำนมทีละเล็กทีละน้อยแล้วเก็บสะสมอยู่ภายใน
เมื่อลูกน้อยดูดกระตุ้นจะทำให้น้ำนมที่เก็บไว้นั้นขับออกมาจากกระเปาะผ่านเส้นทางของท่อน้ำนมจนไหลออกมาที่หัวนม ขณะที่ทารกดูดนมจะเป็นการกระตุ้นต่อมใต้สมองให้สร้างฮอร์โมนโปรแลคตินที่จะกระตุ้นต่อมน้ำนมให้สร้างน้ำนม การดูดนมแม่ของทารกจึงช่วยให้ร่างกายของแม่ผลิตน้ำนมได้อย่างต่อเนื่อง

ประโยชน์นมแม่ เรียกได้ว่าเป็น วัคซีนหยดแรก ของชีวิตลูก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถให้นานกว่า 6 เดือนได้ยิ่งดี โดย 6 เดือนแรกของชีวิตเป็นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว (Exclusive breastfeeding: ECBF) เพราะน้ำนมแม่นั้นสร้างจากธรรมชาติ ย่อยง่าย ปลอดภัย เหมาะกับร่างกายของทารก ทั้งยังมีสารอาหารเพียงพอ ดีต่อระบบการย่อยและดูดซึมของทารกที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จากนั้นในช่วงวัย 6 เดือนขึ้นไป สามารถให้นมแม่ควบคู่กับอาหารชนิดอื่นตามวัยอย่างน้อย 2 ปี หรือนานกว่านั้นได้ยิ่งดี ยิ่งช่วยให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรง
น้ำนมแม่นั้นมีประโยชน์มหาศาล ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย เช่น ช่วยลดอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคท้องเสียจากการติดเชื้อ ลดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ลดความรุนแรงจากอาการป่วยด้วยโรคหลอดลมฝอยอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV และในสถานการณ์โรคระบาดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทางยูนิเซฟก็ยังสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะในน้ำนมของแม่มีสารภูมิคุ้มกันที่ปกป้องลูกน้อยจากการติดเชื้อ โดยสารภูมิคุ้มกันและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีอยู่ในน้ำนมแม่ จะช่วยให้ลูกน้อยสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ได้อีกด้วย
สำหรับสารอาหารที่สำคัญในน้ำนมแม่นั้น แตกต่างกันไปตามแต่ละระยะการผลิตน้ำนม 3 ระยะ ประกอบด้วย
- น้ำนมเหลืองหรือคอลอสตรัม (Colostrum) น้ำนมเหลืองเปี่ยมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน จะหลั่งออกมาในช่วง 1-3 วันหลังคลอด ส่วนประกอบสำคัญในน้ำนมเหลือง อุดมไปด้วยโปรตีน สารระบบภูมิคุ้มกัน เกลือแร่ วิตามิน A วิตามิน K รวมถึงสารช่วยการเจริญเติบโต แต่สิ่งที่มีปริมาณสูงมากและสำคัญมากกับทารกแรกเกิดคือ สารภูมิคุ้มกัน ได้แก่ secretary IgA, เม็ดเลือดขาว, ไลโซไซม์ (lysozyme), แลตโตเฟอริน (lactoferrin) และสารที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของแล็กโตบาซิลัสที่จะช่วยให้แบคทีเรียไม่สามารถอาศัยอยู่ในลำไส้ได้ (bifidus growth factor) น้ำนมแม่ในระยะนี้จะมีปริมาณแร่ธาตุ เช่น โซเดียม คลอไรด์ แมกนีเซียม ในปริมาณสูง เรียกได้ว่าเป็นระยะของน้ำนมที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่ร่างกายมากกว่าเร่งการเจริญเติบโต
- ระยะน้ำนมปรับเปลี่ยน (Transitional milk) ช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างน้ำนมเหลืองไปเป็นน้ำนมแม่ น้ำนมในระยะนี้จะมีลักษณะขาวขึ้น เกิดขึ้นในช่วง 5 วันจนถึง 2 สัปดาห์หลังคลอด น้ำนมแม่ระยะนี้จะมีสารอาหารเพิ่มขึ้นในปริมาณที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก
- ระยะน้ำนมแม่ (Mature milk) ในระยะสุดท้ายนี้จะมีสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง มีธาตุอาหารหลัก ได้แก่ โปรตีน ไขมัน และน้ำตาลแลคโตส แบ่งได้เป็น
- ส่วนที่ช่วยปกป้องร่างกายเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น อิมมูโนโกลบูลิน (immunoglobulins), เม็ดเลือดขาว (white blood cell), โปรตีนที่ช่วยต่อต้านเชื้อโรค ได้แก่ แลคโตเฟอริน (lactoferrin), ไลโซไซม์ (lysozyme), โปรเท็กทีฟ ลิปิด (protective lipids) และน้ำตาลโอลิโกแซคคาไรด์ (oligosaccharides)
- ส่วนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต (Maturation) เช่น growth factor : epidermal growth factor, nerve growth factor, insulin-like growth factor, transforming growth factor cytokines และ immunomodulator
- สารที่ช่วยระบบการย่อยและฮอร์โมนต่างๆ เช่น Bile salt Stimulated Lipase (BSSL), เอนไซม์และฮอร์โมนต่างๆ
- สารอาหารกลุ่มให้พลังงาน (macronutrient) ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน สารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน (micronutrient) ได้แก่ วิตามิน และเกลือแร่
การโอบกอดทารกขณะให้นมจากอ้อมอกแม่ นอกจากจะทำให้ลูกอิ่มท้องแล้ว ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ สร้างความผูกพันระหว่างแม่และลูก ซึ่งแม่ทุกคนย่อมอยากให้นมจากอ้อมอกของตัวเองทุกครั้งที่ลูกหิวนม แต่ด้วยภาระหน้าที่ของแม่หลายคนต้องกลับไปทำงาน หรือออกไปทำธุระนอกบ้าน การปั๊มนมเพื่อทำสต็อกนมแม่จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการให้ลูกได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่อง การเก็บรักษาน้ำนมแม่และวิธีละลายนมแม่ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อคงคุณค่าสารอาหารอย่างครบถ้วนที่สุด
การทำสต็อกนมแม่และการเก็บรักษานมแม่
หากคุณแม่อยากจะมีน้ำนมแม่มาทำสต็อกนมให้เพียงพอ ควรให้ลูกดูดนมจากเต้านมของคุณแม่บ่อย ๆ เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมมามาก และถ้ามีอาการคัดเต้านมมากควรให้ลูกดูดนมทั้งสองเต้า (ถ้าน้ำนมแม่เหลือแล้วค่อยเก็บสต็อกนมแม่) เมื่อร่างกายคุณแม่เริ่มมีน้ำนมแล้วให้เริ่มทำสต็อกนมแม่ด้วยการปั๊มนม (โดยปกติจะเป็นช่วงเช้าตอนตื่นนอนใหม่ ๆ เพราะร่างกายจะได้พักผ่อนเต็มที่ เต้านมจะผลิตน้ำนมได้เต็มที่) ให้ลูกเข้าเต้าจนอิ่มข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างหนึ่งปั๊มเก็บไว้ ปั๊มอย่างน้อย 15 นาที ในช่วงแรก ๆ น้ำนมอาจมีปริมาณไม่มาก ถ้ามีแค่ไม่กี่หยดก็เอาช้อนเล็ก ๆ แตะปลายช้อนทีละนิดแล้วป้อนลูก กรณีที่ลูกไม่อิ่มให้ดูดทั้งสองข้าง แล้วปั๊มต่อ 10-15 นาทีต่อข้างเพื่อกระตุ้นเต้านม ทำเรื่อยๆ ทุกวัน ร่างกายก็จะรับรู้ว่าต้องผลิตน้ำนมเพิ่ม น้ำนมที่ปั๊มก็จะได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากปั๊มนมเสร็จแล้ว คุณแม่ควรรู้วิธีเก็บน้ำนมและวิธีละลายนมแม่ที่ถูกต้อง ซึ่งคุณแม่สามารถเก็บไว้ในภาชนะสำหรับใส่อาหารก็ได้ แต่เพื่อความสะดวกต่อการจัดเก็บสต็อกนมแม่ควรเลือกใช้ถุงเก็บน้ำนมแม่ พร้อมเขียนกำกับวันที่และเวลาเพื่อสะดวกแก่การนำมาให้นมลูก เมื่อใส่ภาชนะเรียบร้อยแล้วต้องคำนึงถึงสถานที่เก็บและอุณหภูมิ ซึ่งจะมีผลต่อระยะเวลาในการเก็บน้ำนม
- วางไว้ในอุณหภูมิ 27-32 องศาเซลเซียส เก็บได้ 3-4 ชั่วโมง หากอุณหภูมิ 16-26 องศาเซลเซียส จะเก็บได้ 4-8 ชั่วโมง
- เก็บไว้ในกระติกใส่น้ำแข็ง อุณหภูมิประมาณ 15 องศาเซลเซียส เก็บได้ประมาณ 24 ชั่วโมง
- ใส่ตู้เย็นช่องธรรมดา อุณหภูมิประมาณ 0-4 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 3-8 วัน
- แช่ช่องแข็งตู้เย็นประตูเดียว เก็บได้ 2 สัปดาห์
- ช่องแช่แข็งตู้เย็น 2 ประตู อุณหภูมิประมาณ -4 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 4-6 เดือน แต่ถ้าเป็นช่องแช่แข็งเย็นจัดอุณหภูมิ -19 องศาเซลเซียส จะเก็บได้อย่างน้อย 6 เดือนและมากสุดถึง 1 ปี
ที่สำคัญ ก่อนการให้นมและหลังการให้นมทุกครั้ง แม่ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์ปั๊มนมแม่ ภาชนะบรรจุ และอุปกรณ์การป้อนนมทุกครั้งหลังใช้งาน
ไม่ใช่เพียงการเก็บรักษาน้ำนมแม่เท่านั้นที่มีความสำคัญ แต่การนำนมแม่ที่สต็อกไว้ในช่องแข็งมาละลาย ก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยคงคุณค่าสารอาหารไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งคุณแม่ควรรู้วิธีละลายนมแม่ที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน เพื่อคงคุณค่าของสารอาหารไว้ให้ครบถ้วนที่สุด

วิธีละลายนมแม่ ไม่ให้เสียคุณค่าสารอาหาร
วิธีละลายนมแม่ที่ถูกต้อง คุณแม่ควรนำน้ำนมสต็อกออกมาจากช่องแข็งให้แช่ในตู้เย็น นำมาไว้ในช่องธรรมดาล่วงหน้า 12 ชั่วโมง จากนั้นนำถุงเก็บน้ำนมแม่มาแกว่งเบา ๆ เพื่อให้ละลายเข้ากันแล้วป้อนทารก หรือนำมาแช่ในน้ำอุ่นเพื่อให้น้ำนมอุ่นขึ้นแล้วจึงป้อนให้ลูก
- วิธีละลายนมแม่ที่ดี ไม่ควรให้นมแช่แข็งละลายเองด้วยอุณหภูมิห้อง ควรแช่ในน้ำเปล่าอุณหภูมิปกติแล้วจึงนำไปแช่ในน้ำอุ่นก่อนป้อนทารก
- วิธีละลายนมแม่ ห้ามใช้น้ำร้อนหรือนำเข้าไมโครเวฟเด็ดขาด เพราะในน้ำนมแม่มีเซลล์ที่มีชีวิต
- นมที่เก็บในถุงเก็บนมแม่จะละลายเร็วกว่าภาชนะอื่น ๆ เมื่อนมที่แช่แข็งไว้ละลายแล้ว วิธีละลายนมแม่ที่ถูกต้องคือ ไม่ควรนำกลับไปแช่ใหม่
- น้ำนมสต็อกที่ละลายเรียบร้อยแล้ว สามารถเก็บในตู้เย็นได้ 24 ชั่วโมงเท่านั้น จึงควรให้ลูกกินภายใน 24 ชั่วโมง
- หากนำนมมาป้อนลูกแล้วเหลือจากการป้อนในมื้อนั้น สามารถเก็บให้ลูกกินได้ถึงมื้อต่อไปเท่านั้น ไม่ควรนำน้ำนมที่เหลือจากการป้อนนมลูกกลับไปแช่แข็งอีก
- น้ำนมแม่ที่แช่แข็ง เมื่อละลายแล้วอาจมีกลิ่นหืนซึ่งเป็นเรื่องปกติ ยกเว้นกลิ่นรุนแรงและมีรสเปรี้ยวควรนำไปทิ้ง
- ถ้าแช่สต็อกน้ำนมแม่ไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา ควรให้ลูกกินภายใน 3-8 วัน
หัวอกคนเป็นแม่รู้ดีว่า นมแม่แต่ละหยดนั้นมีคุณค่าสารอาหาร ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ดีต่อการเจริญเติบโตของทารก เมื่อต้องปั๊มทำนมสต็อกแล้ว ก็ควรจะรู้วิธีละลายนมแม่ที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เสียคุณค่าสารอาหาร เพื่อให้ในทุกหยดของน้ำนมแม่อุดมด้วยคุณประโยชน์มากที่สุด ไม่แตกต่างจากการที่ลูกน้อยกินนมจากอกแม่
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ปั๊มนมอย่างไรให้ได้สารอาหารครบ
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกกินนมแม่อิ่มแล้ว อาการของทารกที่บอกให้รู้
อ้างอิง
- https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/338/น้ำนมแม่/
- https://library.thaibf.com/bitstream/handle/023548404.11/156/TBCF-book-…
- https://www.breastfeedingthai.com/stock-น้ำนม.html
- https://www.breastfeedingthai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=4063…
- https://www.unicef.org/thailand/th/stories/การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างปล…
- https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=769
- นมแม่ วัคซีนหยดแรกเพื่อลูกรัก
- https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail…
แชร์ได้เลย
บทความแนะนำ

ปั๊มนมอย่างไรให้ได้สารอาหารครบ
ช่วงหกเดือนแรก น้ำนมของแม่สำคัญกับลูกน้อยอย่างมาก นอกจากมีประโยชน์ด้านร่างกาย ยังส่งผลต่อความฉลาดอีกด้วย น้ำนมแม่คือแหล่งของสารอาหารสำคัญ มากมาย ครบถ้วน รวมทั้ง สฟิงโกไมอีลิน หนึ่งในไขมันฟอสโฟไลปิด ซึ่งเป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญการสร้างไมอีลินในสมอง ไมอีลิน ช่วยให้การส่งสัญญาณประสาทได้ไว ส่งผลดีต่อ การพัฒนาสติปัญญาในเด็ก

15 เรื่องชวนสงสัย ที่แม่ให้นมอยากรู้
นมแม่ ประกอบด้วยสารอาหารสำคัญมากมายที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการที่ดี มีสมองที่เรียนรู้ไว จดจำแม่นยำ และประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันร่างกายให้กับทารกแรกเกิดซึ่งยังมีภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์นัก คุณแม่ให้นมจึงพยายามดูแลร่างกายและกินอาหารที่ดีที่สุด เพื่อให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุดผ่านน้ำนมแม่ เราจึงรวบรวมเรื่องชวนสงสัยที่แม่ให้นมอยากรู้ มาฝากดังนี้