ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกผื่นสาก
เราต่างทราบกันดีว่าเด็กทารกนั้นมีผิวที่บอบบางและแพ้ง่าย จึงมักพบว่า ลูกเป็นผื่นคันบ้าง เป็นผดร้อนบ้าง ผิวแห้งเป็นขุยบ้าง ซึ่งปัญหาผิวเด็กนั้นเกิดจากหลากหลายปัจจัย และปัญหาหนึ่งที่พบบ่อย นั่นคือ ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ ค่ะ เมื่อทารกมีผื่นสาก บ่งบอกว่าเป็นอะไรได้บ้าง แพ้ผ้าอ้อม แพ้อาหารหรือเปล่า จะมีวิธีสังเกตและดูแลลูกน้อยอย่างไร ไปติดตามพร้อมกันค่ะ
สรุป
- สาเหตุของอาการผิวสาก อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังทางพันธุกรรม หรือการแพ้ระคายเคือง เป็นต้น
- วิธีการดูแลเมื่อลูกมีผื่นผิวสาก ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น อย่าแช่น้ำหรืออาบน้ำนานเกินไป ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่มีสารเคมี เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ หลังอาบน้ำเช็ดตัวหมาด ๆ และทาโลชั่นบำรุงทันที
- หากอาการไม่ดีขึ้นควรพาลูกไปพบแพทย์ หากเป็นภูมิแพ้ คุณหมออาจแนะนำให้ทดสอบภูมิแพ้ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงว่าลูกแพ้อะไรต่อไป
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ บ่งบอกว่าเป็นอะไรได้บ้าง
- ทารกผื่นสาก เป็นผื่นผ้าอ้อมหรือเปล่า?
- ทารกผื่นสาก ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ เพราะอะไร
- ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ มีวิธีดูแลลูกยังไงบ้าง
- ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ อาบน้ำให้ลูกได้บ่อยแค่ไหน
- ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ จะแพ้อาหารหรือเปล่า สังเกตยังไงดี
- จะรู้ได้ยังไงว่าลูกแพ้อะไร แพทย์มีวิธีตรวจแบบไหนบ้าง
ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ บ่งบอกว่าเป็นอะไรได้บ้าง
ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เด็กที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนัง จะมีอาการผิวไม่เรียบ แห้งแตก ผิวสากคล้ายกระดาษทราย หรือเป็นขุย เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างผิว ทำให้ผิวสูญเสียน้ำได้ง่าย ผิวจึงแห้งและอักเสบได้ง่ายกว่าปกติ
- โรคผิวหนังทางพันธุกรรม ผิวแห้งแต่กำเนิด หรือเป็นโรคผิวหนังเป็นเกล็ดปลา เด็กที่เป็นโรคนี้ผิวจะแห้งเป็นขุย ลอกออกเป็นสะเก็ดคล้ายเกล็ดปลา มักเป็นบริเวณหน้าแข้ง แขน แก้ม และหน้าผาก
- การแพ้ระคายเคือง เป็นผื่นที่เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมี หรือน้ำหอม การแพ้ฝุ่นละออง หรือแพ้คลอรีนในสระว่ายน้ำ อาการมักเกิดผื่นคันทันทีหรือภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดการแพ้โดยตรง แต่หากผื่นคันเกิดจากสารก่อภูมิแพ้อาการอาจเกิดหลังจากสัมผัสในระยะเวลา 2-3 วัน
ทารกผื่นสาก เป็นผื่นผ้าอ้อมหรือเปล่า?
ผื่นผ้าอ้อม คือ ผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดบริเวณที่สวมใส่ผ้าอ้อม เนื่องจากผิวบริเวณนั้นมีการสัมผัสปัสสาวะและอุจจาระเป็นเวลานาน เกิดความอับชื้น รวมกับความเป็นกรด-ด่างของผิวหนัง และสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองที่อยู่ในอุจจาระ เมื่อมีการเสียดสี จึงมีอาการผิวหนังอักเสบและเป็นแผล หากทารกมีผื่นสากบริเวณที่สวมใส่ผ้าอ้อม ก็อาจเกิดการแพ้ระคายเคืองจากการใส่ผ้าอ้อมได้เช่นกัน
ทารกผื่นสาก ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ เพราะอะไร
หากลูกเป็นผื่นผ้าอ้อม คุณแม่ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกน้อยบ่อย ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง หรือทุกครั้งที่ลูกขับถ่าย เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมและการอับชื้นอันเป็นสาเหตุของการเกิดเป็นผื่นแพ้ และทุกครั้งก่อนเปลี่ยนผ้าอ้อมใหม่ ควรทำความสะอาดและทาครีมเพื่อป้องกันผิวไม่ให้เกิดการเสียดสี หรือถูกสารระคายเคืองโดยตรง
ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ มีวิธีดูแลลูกยังไงบ้าง
เมื่อลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ ลูกผิวแห้ง ควรอาบน้ำในอุณหภูมิปกติ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น ไม่อาบน้ำนาน หรือแช่น้ำนาน ควรใช้สบู่ แชมพู สูตรอ่อนโยน ไม่มีสารเคมี ไม่มีน้ำหอม ไม่มีสี ไม่มีสารหรือวัตถุกันเลีย ที่อาจระคายเคืองผิวบอบบางของเด็กแค่วันละครั้งตอนเย็น ควรทาโลชั่นบำรุงผิวหลังอาบน้ำและเช็ดตัวหมาด ๆ ทุกครั้ง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงหลีกเลี่ยงการอยู่บริเวณ ที่มีอากาศแห้งและเย็น หากลูกมีผิวแห้งสากมาก และมีอาการแสบ คัน อักเสบ ลอกเป็นขุย ควรพาลูกไปพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อรักษาให้ตรงจุด
ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ อาบน้ำให้ลูกได้บ่อยแค่ไหน
หากลูกเป็นผื่นผิวแห้งสาก ไม่ควรอาบน้ำบ่อย ในเด็กทารกควรอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง เพื่อชะล้างกลิ่นอับ คราบเหงื่อ และคราบนม การอาบน้ำบ่อยเกินไปยิ่งทำให้ผิวแห้ง โดยจะเลือกอาบช่วงไหนของวันก็ได้ ส่วนมากมักอาบก่อนมื้อให้นม จะทำให้ลูกสบายตัว ผ่อนคลาย กินนมได้ง่าย และหลับได้ยาว
ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ จะแพ้อาหารหรือเปล่า สังเกตยังไงดี
ผื่นแพ้อาหาร เป็นอาการที่เกิดจากภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่ออาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น แพ้นมวัว แพ้ไข่ แพ้แป้งสาลี แพ้ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเปลือกแข็ง แพ้ปลา อาหารทะเล กุ้ง ปู หอย ปลาหมึก โดยอาการทางผิวหนังจากการแพ้อาหารมักเกิดทันทีหรือหลังจากรับประทานอาหารไม่นาน เช่น เกิดผื่นลมพิษฉับพลัน ตาบวมปากบวม ผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบ ผื่นแพ้จากการสัมผัส หากมีอาการรุนแรง อาจแสดงอาการพร้อมกันหลายระบบทั้งทางผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
จะรู้ได้ยังไงว่าลูกแพ้อะไร แพทย์มีวิธีตรวจแบบไหนบ้าง
หากลูกมีอาการแพ้ เป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นเรื้อรัง ควรรับการทดสอบภูมิแพ้ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการแพ้ โดยการทดสอบภูมิแพ้สามารถทำได้ 2 วิธี
1. การทำสกินเทสต์ โดยการสะกิดผิว
คือการนำสารสกัดภูมิแพ้ต่าง ๆ มาหยดลงบนผิวหนังบริเวณหลัง หรือท้องแขน จากนั้นใช้ปลายเข็มสะกิดให้น้ำยาซึมเข้าสู่ใต้ผิวหนัง รอประมาณ 15-20 นาทีก็จะทราบผลทันที หากร่างกายแพ้สารชนิดใด จะแสดงอาการแพ้บริเวณนั้นให้เห็น การทดสอบวิธีนี้เด็กต้องหยุดยาแก้แพ้ก่อนมาทำทดสอบอย่างน้อย 7 วัน
2. การทดสอบโดยการเจาะเลือด
เพื่อตรวจค่าการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้โดยตรง สามารถตรวจได้ทั้งภูมิแพ้อาหาร เช่น นมวัว ไข่แดง ไข่ขาว แป้งสาลี ถั่ว และภูมิแพ้ทางอากาศ เช่น ไรฝุ่น ขนสุนัข ขนแมว เหมาะสำหรับเด็กที่ไม่สามารถทำการทดสอบโดยการสะกิดผิว เช่น เด็กที่ไม่สามารถหยุดยาแก้แพ้ได้ หรือเด็กที่มีผิวไวต่อการสะกิด โดยจะทราบผลตรวจภายใน 5-7 วัน
เมื่อลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่คอยหมั่นสังเกตอาการว่า ผื่นขึ้นหลังจากสัมผัสอะไรหรือเปล่า อาจเป็นได้ทั้งผื่นแพ้ผิวหนัง ที่เกิดจากโครงสร้างผิวของลูกน้อยเองทำให้ผิวแห้ง หรือเกิดจากการเสียดสี อับชื้น จากผ้าอ้อม หรือเกิดหลังรับประทานอาหารบางชนิด เมื่อทราบสาเหตุก็จะสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ หากไม่แน่ใจ ควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุและรับการรักษาที่ตรงจุดต่อไปค่ะ
ทั้งนี้ ทางเลือกที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงภูมิแพ้ในเด็ก คือ ให้ลูกทานนมแม่ตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต เพราะนมแม่ เป็นแหล่งรวมสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด อีกทั้งยังมีคุณสมบัติเป็น Hypo-Allergenic หรือ H.A. ช่วยลดความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ นอกจากนี้ โปรตีนในนมแม่บางส่วน ได้ถูกย่อยให้มีขนาดเล็กลง หรือที่เรียกว่า PHP (Partially Hydrolyzed Proteins) จึงง่ายต่อการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของลูกน้อย ยิ่งไปกว่านั้น นมแม่ยังมีทั้งพรีไบโอติก และโพรไบโอติกที่สำคัญ ได้แก่ พรีไบโอติกโอลิโกแซคคาไรด์ ซึ่งประกอบด้วย 5 ใยอาหารหลัก ที่สำคัญ (5 Oligosaccharide หรือ 5 HMO เช่น 2’FL, DFL, LNT, 6’SL และ 3’SL) ที่ช่วยลูกน้อยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันในเด็กเล็ก ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อต่าง ๆ รวมถึงมีโพรไบโอติกหลายชนิด เช่น B. lactis (บีแล็กทิส) ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ได้
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- ผื่นทารก ลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัว ปัญหาผิวผื่นทารกในเด็ก
- ผื่นขึ้นหน้าทารก ทำไงดี พร้อมวิธีแก้ผดผื่นบนใบหน้าทารก
- ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็ก ๆ คัน ลูกเป็นผื่น ดูแลลูกแบบไหนให้ถูกวิธี
- ผื่นคันในเด็ก ลูกมีผื่นคันขึ้นตามตัวแต่ไม่มีไข้ พร้อมวิธีดูแลลูก
- ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกมีผื่นสาก
- ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ ผื่นแพ้ในเด็กเกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแล
- ผื่นลมพิษในเด็ก เกิดจากอะไร ทำไมพ่อแม่ยุคใหม่ ควรใส่ใจเป็นพิเศษ
อ้างอิง:
- ผื่นแพ้ผิวหนังในเด็ก อย่ารอจนเรื้อรัง, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- โรคผิวหนังเกล็ดปลา โรคผิวหนังแห้งแต่กำเนิด (Ichthyosis vulgaris), หาหมอ
- โรคไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever), สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย
- โรคผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis), Pobpad
- ผื่นผ้าอ้อมในเด็ก เรื่องเล็กที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ, โรงพยาบาลพญาไท 3
- ผิวแห้ง... ปัญหาที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม, มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
- 8 เทคนิคอาบน้ำและดูแลผิวทารกแรกเกิดให้ถูกวิธี, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- ภาวะแพ้อาหารคืออะไร?, โรงพยาบาลสินแพทย์
- ตรวจภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือด (Blood Test Allergy) มีข้อดีอย่างไร, โรงพยาบาลพญาไท 2
อ้างอิง ณ วันที่ 3 มีนาคม 2567