อาการทารกหิวนม สัญญาณจากลูกน้อย ที่คุณแม่สังเกตเองได้
อาหารของทารกอย่างนมแม่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีสารอาหารกว่า 200 ชนิดที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก ทั้งยังมีสารอาหารที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกได้ การให้ทารกกินอิ่มนอนหลับจึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องดูแลมากเป็นพิเศษ เพราะทารกยังพูดไม่ได้ การแสดงออกว่าต้องการสิ่งใดของลูกจึงทำได้เพียงแต่ร้องพร้อมแสดงท่าทางต่าง ๆ ซึ่งอาการของทารกช่วยให้สังเกตได้ว่า ทารกกำลังหิวนมแม่ หรือ อิ่มแล้ว
เพราะทารกยังพูดไม่ได้ การแสดงออกว่าต้องการสิ่งใดของลูกจึงทำได้เพียงแต่ร้องพร้อมแสดงท่าทางต่าง ๆ ซึ่งอาการของทารกช่วยให้สังเกตได้ว่า ทารกกำลังหิวนมแม่ หรือ อิ่มแล้ว
เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ต้องดูแลลูก เพราะการเลี้ยงดูทารกสักคนให้เติบโตนั้น ต้องอาศัยความทุ่มเทและเสียสละเป็นอย่างยิ่ง นอกจากความรักและความเอาใจใส่แล้ว อาหารของทารกอย่างนมแม่ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีสารอาหารกว่า 200 ชนิดที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก ทั้งยังมีสารอาหารที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกได้ การให้ทารกกินอิ่มนอนหลับจึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องดูแลมากเป็นพิเศษ แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกหิวนมหรือลูกอิ่มแล้ว เรื่องนี้ต้องไขคำตอบจากอาการของทารกที่แสดงออกมา
นมแม่ อาหารชีวิตของลูกน้อย
จากการวิจัยพบว่า นมแม่ เปี่ยมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยปกป้องทารกจากการเจ็บป่วย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยมีสารที่สำคัญ เช่น สาร Lysozyme, สาร Secretary lgA, สาร Prebiotic (Oligosaccharide) และสาร Glycan ซึ่งร่างกายของแม่สามารถผลิตสารเหล่านี้ได้ใหม่ในทุก ๆ วัน การให้ทารกกินนมแม่เพียงอย่างเดียวจนครบ 6 เดือน จึงช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ อาทิ ท้องเสีย ปอดบวม โรคลำไส้อักเสบ ภูมิแพ้ และภาวะอ้วน

การให้นมลูกที่ดีที่สุดควรอาศัยหลัก 3 ดูด “ดูดเร็ว-ดูดบ่อย-ดูดถูกวิธี” ซึ่งต้องทำตั้งแต่หลังคลอด เพื่อให้น้ำนมแม่มาเร็ว มาไม่ขาด ลูกจะได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างต่อเนื่อง ดีต่อการเจริญเติบโตของทารก โดยเทคนิค 3 ดูด มีความสำคัญดังนี้
- ดูดเร็ว ทารกควรดูดนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด ภายหลังจากทารกคลอดออกมา เมื่อตัดสายสะดือและเช็ดคราบน้ำคร่ำแล้ว ลูกควรอยู่บนอกแม่ให้ได้โอบกอดเนื้อแนบเนื้อให้ร่างกายสัมผัสได้ถึงเสียงหัวใจเต้น โดยภายใน 40 นาทีถึง 1 ชั่วโมงหลังคลอด ทารกจะตื่นตัวมากที่สุด การดูดเร็วจะเป็นการกระตุ้นสัญชาตญาณการดูดนมแม่ของทารก ทั้งยังส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนโปรแลคติน ที่ช่วยกระตุ้นกระบวนการสร้างน้ำนม ทำให้ร่างกายของแม่ผลิตน้ำนมให้มาเร็วขึ้น
- ดูดบ่อย หลังจากการดูดนมแม่ครั้งแรกแล้ว ทารกควรเข้าเต้าบ่อย ๆ เพื่อดูดนมแม่ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง หรือทุกครั้งที่ลูกต้องการ สังเกตได้ว่าเมื่อลูกอิ่มแล้วจะอ้าปากคายหัวนมแม่ออกมา หากลูกนอนยาวเกิน 4 ชั่วโมงหลายครั้งอาจจำเป็นต้องปลุกลูกมาดูดนม โดยยอมให้ทารกที่อายุต่ำกว่า 1 เดือน นอนนานถึง 4 ชั่วโมงได้เพียง 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง แต่หลังจาก 1 เดือน ไม่จำเป็นต้องปลุกลูกให้ตื่นมากินนมอีก
- ดูดถูกวิธี การดูดนมแม่อย่างถูกวิธีจะทำให้ลูกกินอิ่ม น้ำนมแม่เกลี้ยงเต้าช่วยให้ร่างกายแม่ผลิตน้ำนมออกมาใหม่ได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของทารก โดยการให้ลูกดูดอย่างถูกวิธีนั้นสำคัญทั้งท่าอุ้มลูกและวิธีการดูดนมของทารก โดยแม่ต้องส่งหัวนม ลานนมเข้าปากลูก ให้ลูกอมหัวนมลึกถึงลานนม สังเกตได้จากทารกคางชิดเต้า จมูกเชิด ทั้งนี้ ใน 3-4 วันแรก เป็นช่วงเวลาสำคัญเพราะร่างกายของแม่จะผลิตน้ำนมเหลืองหรือโคลอสตรัม (Colostrum) ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสารอาหารสำคัญ แม่ควรให้ทารกดูดทั้ง 2 เต้า เพื่อกระตุ้นฮอร์โมนโปรแลคติน หลังผ่าน 10 วันไปแล้วจะเข้าสู่น้ำนมระยะที่ 3 แบ่งเป็นน้ำนมส่วนหน้าที่มีปริมาณน้ำตาลแลคโตสมากกว่า สำหรับน้ำนมส่วนหลังจะมีไขมันมากกว่า จึงควรให้ทารกดูดนมแม่จนเกลี้ยงเต้าในแต่ละครั้ง หากลูกดูดไม่เกลี้ยงเต้าในมื้อนั้นให้ดูดซ้ำที่เต้าเดิมก่อนในมื้อถัดไป เพื่อให้ร่างกายของลูกได้รับน้ำนมครบส่วน
เมื่อทารกดูดเร็ว ดูดบ่อย ดูดถูกวิธี จะช่วยให้แม่มีน้ำนมอย่างเพียงพอในการเลี้ยงลูก แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือแม่ต้องจับสัญญาณให้ได้ว่า เจ้าตัวน้อยกำลังหิวนมอยู่หรือเปล่า

อาการทารกหิวนม ที่บ่งบอกว่าลูกหิวนม
ช่วงวัยทารกโดยเฉพาะ 1 เดือนแรก แม่และลูกต้องอาศัยวันเวลาเพื่อค่อย ๆ เรียนรู้ ทำความรู้จักกันและกัน ลูกน้อยที่เพิ่งคลอดได้ไม่นานจะร้องไห้บ่อย ๆ บางครั้งอยากให้แม่โอบกอดเพื่อให้รู้สึกปลอดภัย บางครั้งขับถ่ายต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อม และบางครั้งทารกร้องเพราะหิวนม แม่จึงจำเป็นต้องคอยสังเกตสัญญาณของร่างกายทารกว่า เจ้าหนูกำลังร้องเพราะหิวนมแม่อยู่หรือเปล่า
เพราะทารกยังพูดไม่ได้ การแสดงออกว่าต้องการสิ่งใดของลูกจึงทำได้เพียงแต่ร้องพร้อมแสดงท่าทางต่าง ๆ ซึ่งอาการของทารกที่พอจะสังเกตได้ว่า ทารกกำลังหิวนมแม่ ได้แก่
• งอมือ
• กำมือ
• เอามือเข้าปาก
• ดูดนิ้วมือ
• อ้าปาก
• แลบลิ้น
• ดูดปาก
• หันหน้าเข้าหาเต้านมแม่
ส่วนอาการอยู่ไม่นิ่งหรือการร้องไห้ มักจะเป็นอาการสุดท้ายที่ทารกแสดงออกมาว่า กำลังหิวนม ซึ่งถ้าทารกเริ่มร้องไห้นั่นคืออาการที่ลูกหิวนมมาก ๆ จนรอต่อไปไม่ไหว การปล่อยให้ทารกร้องไห้ด้วยความหิวบ่อย ๆ ยังอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ของลูก หากลูกร้องไห้ด้วยความหิว แม่ควรอุ้มทารกโยกไปมาเพื่อให้ลูกสงบ พร้อมกับพูดคุยกับลูกเพื่อแสดงออกว่า แม่เข้าใจสื่อความหิวที่ลูกได้สื่อสารออกมา
แม่ ๆ อาจสงสัยว่า เมื่อลูกหิวนม ลูกกินแค่นี้จะพอหรือเปล่า แต่จริง ๆ แล้วกระเพาะของทารกนั้นไม่ได้มีขนาดใหญ่ โดยขนาดของกระเพาะทารกแรกเกิดในวันแรกจะจุได้เพียง 5-7 มิลลิลิตร หรือขนาดเท่ากับมะเขือเทศสีดา และใน 3 วันหลังคลอด กระเพาะน้อย ๆ จะขยายความจุได้ 1 ออนซ์ พอ ๆ กับขนาดของมะเขือเปราะ เมื่อร่างกายลูกเติบโตขึ้น กระเพาะอาหารของทารกก็จะขยายและยืดหยุ่นมากขึ้น เจ้าตัวน้อยที่เพิ่งเกิดได้ไม่นานจึงกินนมแม่ได้ไม่มาก แม้ว่าน้ำนมแม่จะมีน้อยในช่วงวันแรก ๆ หลังคลอด แต่นั่นก็เพียงพอแล้วต่อความต้องการของลูก และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ลูกน้อยร้องกินนมบ่อย ๆ

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกกินนมแม่อิ่มแล้ว
เมื่อคุณแม่มือใหม่เริ่มให้นมลูก ก่อนอื่นต้องสังเกตตั้งแต่การดูดนมแม่ หากได้ยินเสียงลูกกลืนนมและคางของลูกขยับอยู่ตลอด นั่นแสดงว่าลูกกำลังดูดนมแม่ รวมทั้งต้องคอยสังเกตให้ดีว่า ลูกดูดนมแม่อย่างต่อเนื่อง ไม่หลับระหว่างดูดนม และไม่ได้อมเต้าไว้เฉย ๆ หากลูกเผลอหลับระหว่างให้นมอยู่ ให้ใช้มือบีบเต้าเบา ๆ เพื่อให้น้ำนมพุ่งเข้าปากลูก เป็นวิธีการปลุกลูกอย่างนุ่มนวล
เมื่อลูกดูดนมจนอิ่มหนำแล้วอาการของทารกที่สังเกตได้ง่าย ๆ คือ
- หลังจากที่ลูกดูดนมแม่จนอิ่มแล้ว จะอ้าปากคายหัวนมแม่ออกมา
- ร่างกายของลูกจะผ่อนคลาย มือที่เคยกำไว้จะแบออกมา อาจเอามือไปวางไว้บนเต้านมของแม่ หรือแขนจะตกห้อยลง ไม่แสดงออกถึงแรงต้านที่ต้องการจะดูดนมแม่อีกต่อไป
- ก่อนทารกจะดูดนมแม่ท้องจะแฟบ แต่เมื่อดูดนมจนอิ่มแล้วท้องจะป่อง
หากร่างกายของทารกได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน กินนมแม่อย่างอิ่มหนำสม่ำเสมอ ลูกจะมีน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ ร่างกายแข็งแรง ขับถ่ายอย่างเหมาะสม โดยปริมาณอุจจาระทารกทุกวัยในแต่ละวัน ต้องมีปริมาณอย่างน้อย 2 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางของแกนทิชชู่ ซึ่งแกนทิชชู่โดยปกติแล้วจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร ทารกในวัยต่ำกว่า 1 เดือน จะอุจจาระวันละ 2-3 ครั้ง หากอายุเกิน 1 เดือนขึ้นไปจะอุจจาระไม่บ่อย เพราะลำไส้ของทารกทำงานได้ดีขึ้นจึงดูดซึมสารอาหารของนมแม่ไปใช้ได้ดีขึ้น ส่วนจำนวนครั้งของปัสสาวะ เด็กทุกอายุควรปัสสาวะ 6-9 ครั้งต่อวัน ให้สังเกตว่า ปัสสาวะเยอะและมีสีใส แสดงว่า น้ำนมแม่ที่ลูกกินในแต่ละวันนั้นเพียงพอแล้ว
การสังเกตอาการของทารกเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกได้อย่างรวดเร็ว เมื่อรู้ว่าลูกหิวก็โอบอุ้มเข้าอ้อมอกให้ลูกรับสัมผัสอันอบอุ่น รู้สึกผ่อนคลายและปลอดภัยเมื่อได้มองเข้าไปในแววตาของแม่ จนสร้างเป็นความรักความผูกพัน แต่ก็ต้องคอยสังเกตด้วยว่า ลูกอิ่มแล้วหรือยัง เพื่อไม่ให้ลูกได้รับนมแม่เกินพอดี เพราะจะทำให้ลูกแหวะนมหรือมีอาการ Overfeeding ได้ นอกจากนี้ ในขณะที่ให้นมอยู่ก็ต้องคอยสังเกตอาการของลูกเสมอว่าลูกรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัวอยู่หรือเปล่า เพื่อจับลูกเรอระหว่างการให้นมหรือท่าอุ้มเรอหลังการให้นม ลูกจะได้เติบโตอย่างแข็งแรง สุขภาพดี และได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนจากน้ำนมแม่
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ปั๊มนมอย่างไรให้ได้สารอาหารครบ
อ้างอิง
- ‘นมแม่’ ดีที่สุด ภูมิคุ้มกันที่ลูกควรได้รับ
- https://www.facebook.com/Thaibf/posts/1604431602997738/
- https://content.thaibf.com/news/detail/66#.YA1-O-gzZPY
- https://www.youtube.com/watch?v=jt1GQBZO2NI
- https://thaibf.com/กระเพาะอาหารของลูกแรกเ/#:~:text=เมื่อลูกโตขึ้นกระเพาะ,ประมาณเท่ากับขนาดไข่ไก่%20หรือ
แชร์ได้เลย
บทความแนะนำ

ปั๊มนมอย่างไรให้ได้สารอาหารครบ
ช่วงหกเดือนแรก น้ำนมของแม่สำคัญกับลูกน้อยอย่างมาก นอกจากมีประโยชน์ด้านร่างกาย ยังส่งผลต่อความฉลาดอีกด้วย น้ำนมแม่คือแหล่งของสารอาหารสำคัญ มากมาย ครบถ้วน รวมทั้ง สฟิงโกไมอีลิน หนึ่งในไขมันฟอสโฟไลปิด ซึ่งเป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญการสร้างไมอีลินในสมอง ไมอีลิน ช่วยให้การส่งสัญญาณประสาทได้ไว ส่งผลดีต่อ การพัฒนาสติปัญญาในเด็ก

15 เรื่องชวนสงสัย ที่แม่ให้นมอยากรู้
นมแม่ ประกอบด้วยสารอาหารสำคัญมากมายที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการที่ดี มีสมองที่เรียนรู้ไว จดจำแม่นยำ และประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันร่างกายให้กับทารกแรกเกิดซึ่งยังมีภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์นัก คุณแม่ให้นมจึงพยายามดูแลร่างกายและกินอาหารที่ดีที่สุด เพื่อให้ลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุดผ่านน้ำนมแม่ เราจึงรวบรวมเรื่องชวนสงสัยที่แม่ให้นมอยากรู้ มาฝากดังนี้