ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ ลูกแพ้เหงื่อตัวเอง เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแล
อย่าเพิ่งตกใจไปหากลูกน้อยมีผื่นขึ้นเมื่อเหงื่อออก เพราะอาการเหล่านี้สามารถดูแลและรักษาได้ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจกำลังสงสัยว่าลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อด้วยหรือเปล่า บทความนี้จะพาไปรู้จักกับอาการลูกแพ้เหงื่อตัวเองที่พบได้บ่อย พร้อมวิธีสังเกตและข้อปฏิบัติที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบกัน
สรุป
- ผื่นแพ้เหงื่อ คือ ผื่นที่เกิดขึ้นเมื่อเหงื่อออก มักพบในเด็กเล็ก เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เหงื่อออกมาก ต่อมเหงื่ออุดตัน มักพบในทารก เรียกว่า ผดร้อน, ภูมิแพ้ผิวหนัง, โรคเซ็บเดิร์ม หรือผื่นจากความอับชื้น เกิดบริเวณที่สวมใส่ผ้าอ้อม
- วิธีดูแลลูกน้อย เมื่อลูกมีผื่นแพ้เหงื่อ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงพาลูกไปในที่อากาศร้อน ควรอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก อาบน้ำเย็นและใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
- คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงสบู่ แชมพู และโลชั่นที่มีน้ำหอม เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง ที่เกิดจากสารเคมีได้ หากมีผื่นขึ้นบริเวณร่างกาย คุณแม่สามารถทายาแก้คันให้ลูกได้ หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ คืออะไร
- สาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ และผื่นอื่น ๆ ที่อาจพบได้ในลูกน้อย
- วิธีสังเกตอาการลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อว่าเป็น ‘ผดร้อน’ หรือ ‘ภูมิแพ้’
- ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ ถือว่าเป็นโรคภูมิแพ้ไหม
- ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ อันตรายไหม
- ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อแบบไหน ควรพาไปพบแพทย์
- เคล็ดลับวิธีดูแลลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อและข้อควรปฏิบัติ
- ลูกเคยมีอาการภูมิแพ้หรือมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวมาก่อน ควรดูแลลูกให้ปลอดภัย
ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ คืออะไร
ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ มักถูกใช้เรียกรวม ๆ ยามคุณพ่อคุณแม่เห็นผดผื่นขึ้นบนตัวลูกน้อยเวลาที่เหงื่อออก โดยเฉพาะบริเวณสัมผัสกับเหงื่อตรง ๆ หรือบริเวณที่มักจะเกิดการอับชื้นจากเหงื่อ แต่ความจริงแล้วการมีผดผื่นขึ้นตามร่างกายของลูกน้อยเมื่อเหงื่อออกนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาการที่มาจากสาเหตุต่างกันก็ย่อมมีวิธีการดูแลที่ต่างกันไปด้วย ผดผื่นจากเหงื่อบางชนิดสามารถหายเองเมื่อลูกน้อยโตขึ้น แต่บางชนิดก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์
สาเหตุที่ทำให้ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ และผื่นอื่น ๆ ที่อาจพบได้ในลูกน้อย
1. ผื่นจากต่อมเหงื่อ หรือ ผดร้อน (Heat rash หรือ Miliaria หรือ Sweat rash)
เป็นอาการลูกแพ้เหงื่อตัวเองที่มีสาเหตุจากต่อมเหงื่ออุดตันหรืออักเสบ พบได้บ่อยในทารกช่วง 1-3 สัปดาห์หลังคลอด เพราะต่อมเหงื่อยังพัฒนาไม่สมบูรณ์และเกิดการอุดตันได้ง่าย ทำให้เหงื่อที่ร่างกายขับออกมา ไหลย้อนกลับเข้าไปในชั้นผิวหนังจนเกิดอาการระคายเคือง คัน และกลายเป็นผื่น โดยเฉพาะบริเวณรอยพับต่าง ๆ เช่น รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับ ผื่นชนิดนี้สามารถพบในเด็กเล็กและผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยมีสาเหตุจากอากาศร้อนจัด การออกกำลังกายอย่างหนัก หรือการใส่เสื้อผ้ารัดแน่น โดยทั่วไปผื่นจากต่อมเหงื่อจะหายได้เองและมักจะไม่มีอันตราย แต่ควรปรึกษาคุณหมอ หากที่บริเวณผื่นมีหนอง พบการอักเสบ หรือเป็นติดต่อกันหลายวัน
2. ผื่นจากโรคภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis)
ทารกเป็นผื่นแดง อาจเกิดมาจากอากาศ สารเคมีในเครื่องใช้อย่าง สบู่ ผงซักฟอก ครีม หรือการที่ทารกแพ้อาหารบางชิด รวมไปถึงเหงื่อที่ร่างกายผลิตขึ้นด้วย ทำให้เกิดผื่นแดงคันขึ้นในบริเวณที่สัมผัสกับสารกระตุ้นนั้น ๆ เป็นอาการที่พบได้ในทุกช่วงวัย ในเด็กมักพบตั้งแต่อายุ 2-3 เดือน โดยเฉพาะเด็กที่เป็นภูมิแพ้หรือมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว ถือเป็นอาการควรได้ตรวจวินิจฉัยและดูแลจากแพทย์
3. ผื่นจากต่อมไขมัน หรือ โรคเซ็บเดิร์ม (seborrheic dermatitis)
พบได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน ผื่นชนิดนี้ไม่ได้เกิดจากเหงื่อแต่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไขมัน ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยผื่นชนิดนี้มีลักษณะเด่นคือจะเป็นขุยหรือสะเก็ดเหลืองขึ้นบริเวณหน้าผาก เปลือกตา ร่องจมูก รวมไปถึงรักแร้และขาหนีบของเด็ก ควรพาไปพบแพทย์เพื่อได้รับคำแนะนำด้านการรักษาให้ผื่นหายได้ และมักจะหายขาดเมื่อเด็กอายุเกิน 1 ขวบ
4. ผื่นจากความอับชื้น หรือ ผื่นผ้าอ้อม (Diaper dermatitis หรือ Nappy rash)
พบมากในเด็กอายุ 9-12 เดือน ผื่นชนิดนี้มีลักษณะเด่นคือจะขึ้นเฉพาะบริเวณที่สวมใส่หรือสัมผัสกับผ้าอ้อม เกิดจากการสัมผัสปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเวลานาน ทำให้ผิวหนังอับชื้นรวมถึงได้รับสารระคายเคืองต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณแก้มก้นหรือส่วนนูนอื่น ๆ ที่สัมผัสกับผ้าอ้อม ผื่นชนิดนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อย ๆ และเลือกใช้ผ้าอ้อมที่ที่มีคุณสมบัติดูดซับได้ดี
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าการที่ลูกแพ้เหงื่อตัวเองนั้นเกิดจากสาเหตุใด ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม ให้คุณหมอได้ทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษาอย่างตรงจุด
วิธีสังเกตอาการลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อว่าเป็น ‘ผดร้อน’ หรือ ‘ภูมิแพ้’
จะเห็นได้ว่าอาการลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อนั้นแท้จริงแล้วเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางชนิดก็อาจมีอาการแสดงคล้ายกันจนสร้างความสับสนให้คุณพ่อคุณแม่ได้ โดยเฉพาะการแพ้เหงื่อที่เกิดจากผดร้อน (Heat rash) และแพ้เหงื่อจากภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เราจึงมีวิธีการสังเกตเบื้องต้นมาให้ดังนี้ค่ะ
- บริเวณที่เกิดผื่น: ผื่นแพ้เหงื่อที่เกิดจากภูมิแพ้สามารถเกิดได้ทั่วร่างกาย แต่พบมากบริเวณเข่า ข้อศอก มือ และบริเวณศีรษะ ในขณะที่ผดร้อนมักเกิดขึ้นบริเวณข้อพับของร่างกายหรือจุดที่มีการเสียดสีกับเสื้อผ้า
- ช่วงเวลาที่เกิดผื่น: หากลูกน้อยมีผื่นขึ้นเฉพาะเวลาที่เหงื่อออกมาก เจออากาศร้อนชื้น สวมใส่เสื้อผ้าหนาหรือรัดรูป โดยที่ไม่มีอาการภูมิแพ้ใด ๆ ปรากฏมาก่อน และไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว มีความเป็นไปได้ว่าผื่นนั้นเกิดจากผดร้อน
- ปัจจัยกระตุ้น: มีปัจจัยกระตุ้นหลายอย่างที่มีผลต่อภูมิแพ้ผิวหนังผื่นทารก เช่น เกสรดอกไม้ สารเคมี อาหาร ความเครียด หากลูกน้อยเคยมีผื่นขึ้นจากการสัมผัสสิ่งเหล่านี้มาก่อน ก็มีความเป็นไปได้ว่าการแพ้เหงื่อนั้นเกิดจากภูมิแพ้ด้วย
ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ ถือว่าเป็นโรคภูมิแพ้ไหม
ผื่นแพ้เหงื่อเกิดได้จากหลายสาเหตุ ผื่นบางชนิดถือเป็นหนึ่งในภูมิแพ้ โดยอาการแพ้เหงื่อสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่เฉพาะกับเด็กเท่านั้น คนที่มีประวัติเป็นภูมิแพ้ หรือมีคนในครอบครัวเป็นภูมิแพ้ เช่น หอบหืด แพ้อากาศ แพ้อาหาร เป็นต้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดผื่นแพ้เหงื่อ คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาให้ถูกต้อง ทันท่วงที
ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ อันตรายไหม
คนแต่ละคนเกิดอาการแพ้เหงื่อที่รุนแรงในระดับที่แตกต่างกัน มีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นที่แตกต่างกัน มีระยะเวลาในการเกิดอาการ รวมไปถึงวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน จึงทำให้ความอันตรายของโรคนี้ในคนแต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาให้ถูกต้อง
ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อแบบไหน ควรพาไปพบแพทย์
ถ้าลูกมีผื่นขึ้นหรือผื่นเห่ออยู่เรื่อย ๆ เป็น ๆ หาย ๆ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ควรปล่อยให้มีอาการเกิดขึ้นบ่อยจนเป็นเรื้อรัง คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัย ซักประวัติ ตรวจสอบว่าเป็นโรคอะไรให้ชัดเจน เพื่อรับการรักษาได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด
เคล็ดลับวิธีดูแลลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อและข้อควรปฏิบัติ
- หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหนาเกินไปหรือเสื้อรัดแน่น เมื่อลูกแพ้เหงื่อตัวเอง ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าหรืออาบน้ำทันทีเมื่อเสื้อชุ่มเหงื่อหรือหลังออกกำลังกาย
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะในวันที่มีฝุ่นจิ๋วสูงมาก ๆ ด้วย หลีกเลี่ยงวันที่แดดจัดหรืออยู่สถานที่ที่มีอากาศร้อน ป้องกันอาการลูกแพ้เหงื่อตัวเอง
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำร้อนจัด เมื่อต้องอาบน้ำให้ลูกน้อย ใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวและไม่มีน้ำหอม จากนั้นควรทาโลชั่นทุกครั้งเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวลูกน้อย
ลูกเคยมีอาการภูมิแพ้หรือมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวมาก่อน ควรดูแลลูกให้ปลอดภัย
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก หรือน้ำหอมที่มีสารเคมี
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นหรือแมลงชุกชุม
- ถ้าแพ้อาหารชนิดใด ควรหลีกเลี่ยงเฉพาะอาหารที่แพ้เท่านั้น สำหรับอาหารกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดการแพ้ เช่น แป้งสาลี ถั่ว ไข่ และอาหารทะเล ควรให้เริ่มทานตามอายุที่แพทย์แนะนำ
- ควรให้ลูกน้อยได้รับนมแม่อย่างเดียว ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม เพราะนมแม่มีคุณสมบัติเป็น Hypo-Allergenic หรือ H.A. อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้หลายชนิด มากกว่านั้นแล้วโปรตีนในนมแม่บางส่วน ได้ถูกย่อยให้มีขนาดเล็กลง หรือที่เรียกว่า PHP (Partially Hydrolyzed Proteins ) ซึ่งง่ายต่อการดูดซึมเข้าร่างกายของลูกน้อย นอกจากนั้นแล้ว นมแม่ยังมีพรีไบโอติกโอลิโกแซคคาไรด์ใยอาหารหลักที่สำคัญ ที่ช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งโอลิโกแซคคาไรด์ ประกอบด้วยใยอาหารหลากหลายชนิด ซึ่ง 5 ใยอาหารหลัก (5 Oligosaccharide หรือ 5 HMO เช่น 2’FL, DFL, LNT, 6’SL และ 3’SL ) มีส่วนช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันในเด็กเล็ก รวมทั้งนมแม่มีโพรไบโอติกหลายชนิด เช่น B.lactis (บีแล็กทิส) ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้
โดยหากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าสาเหตุที่ลูกแพ้เหงื่อตัวเองหรือลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อนั้นเกิดจากภูมิแพ้หรือไม่ สามารถตรวจเช็คความเสี่ยงการเกิดภูมิแพ้เบื้องต้นได้ที่ S-Mom Club
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- ผื่นทารก ลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัว ปัญหาผิวผื่นทารกในเด็ก
- ผื่นขึ้นหน้าทารก ทำไงดี พร้อมวิธีแก้ผดผื่นบนใบหน้าทารก
- ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็ก ๆ คัน ลูกเป็นผื่น ดูแลลูกแบบไหนให้ถูกวิธี
- ผื่นคันในเด็ก ลูกมีผื่นคันขึ้นตามตัวแต่ไม่มีไข้ พร้อมวิธีดูแลลูก
- ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกมีผื่นสาก
- ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ ผื่นแพ้ในเด็กเกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแล
- ผื่นลมพิษในเด็ก เกิดจากอะไร ทำไมพ่อแม่ยุคใหม่ ควรใส่ใจเป็นพิเศษ
- ผื่นแพ้อาหารทารก พร้อมวิธีป้องกันลักษณะผื่นแพ้อาหารทารก
อ้างอิง:
- What’s heat rash and what does it look like?, healthline
- What to know about heat rash in babies., medicalnewstoday
- โรคภูมิแพ้ผิวหนัง, โรงพยาบาลบางปะกอก
- ผื่นผ้าอ้อมในเด็ก เรื่องเล็กที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ, โรงพยาบาลพญาไท
- โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน” ไม่อันตราย ไม่ติดต่อ, โรงพยาบาลราชวิถี
- โรคเซ็บเดิร์ม, โรงพยาบาลสมิติเวช
- ‘ผื่นต่อมไขมันอักเสบ’ รักษาหายได้, ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
- มารู้จักโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็กแบบเจาะลึกกัน, โรงพยาบาลพญาไท
- "ผื่นแพ้เหงื่อ"ภัยผิวหนังจากความร้อน, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- ลักษณะของผื่นปิวหนังในเด็ก แบบไหน เป็นอะไร, โรงพยาบาลรามคำแหง
อ้างอิง ณ วันที่ 2 มีนาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง