ทารกอุจจาระเป็นเม็ดมะเขือ ทำไงดี พร้อมวิธีดูแลลูกน้อย
การขับถ่ายของทารกช่วยบอกได้ว่าตอนนี้หนูน้อยมีสุขภาพดีแค่ไหน ? เพราะทารกยังพูดไม่ได้ร่างกายเลยใช้การขับถ่ายบอกสุขภาพของลูกน้อยแทน แล้วอาการทารกอุจจาระเป็นเม็ดมะเขือเป็นอาการที่ปกติไหม เกิดขึ้นจากอะไร มาดูเคล็ดลับช่วยให้ลูกถ่ายง่ายไม่ถ่ายเป็นก้อนแข็งที่ช่วยให้คุณแม่สบายใจ ลูกน้อยสบายท้องกันค่ะ
สรุป
- อาการทารกอุจจาระเป็นเม็ดมะเขือ เป็นหนึ่งในอาการท้องผูกในเด็ก เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ลูกกินผักผลไม้ที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย มีความเครียด หรือเกิดจากการใช้ยาบางประเภทที่ทำให้เด็กเกิดการถ่ายแข็งเป็นเม็ดมะเขือขึ้น
- วิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องผูกในเด็ก คุณแม่ต้องเริ่มจากการฝึกพฤติกรรมเรื่องการกินและการขับถ่ายให้ลูกน้อย โดยการให้ลูกกินผักผลไม้อย่างมะละกอ ลูกพรุน ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเปล่าให้เพียงพอ และไม่ควรปล่อยให้ลูกกลั้นอุจจาระ ถ้าลูกมีอาการท้องผูกอยู่บ่อย ๆ คุณแม่ควรให้ลูกน้อยกินนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างต่อเนื่อง เพราะนมแม่เป็นนมที่ย่อยง่าย และปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับโปรตีนในนมที่ย่อยได้ง่าย
- หากลูกน้อยมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ ถ่ายแล้วมีมูกเลือดปน พร้อมมีไข้สูง รวมถึงอาการคลื่นไส้ และอาเจียนคุณแม่ต้องรีบพาลูกไปหาหมอทันที เพราะสัญญาณของลำไส้อักเสบที่พบได้บ่อยในเด็ก
อาการของทารกอุจจาระเป็นเม็ดมะเขือ หรือเม็ดเล็ก ๆ คล้ายกระสุน เป็นลักษณะอาการของเด็กท้องผูก เนื่องจากอุจจาระแห้งและเคลื่อนที่ผ่านลำไส้ได้ยาก ทำให้อาจมีอุจจาระค้างในลำไส้เป็นเวลานาน ลูกน้อยจึงถ่ายอุจจาระเป็นเม็ดมะเขือและบางครั้งถ่ายออกมาก็มีเลือดปนมาด้วย ทำให้ลูกน้อยถ่ายอุจจาระได้ลำบากจนต้องออกแรงเบ่งมากกว่าปกติ ลูกน้อยจึงมักร้องไห้งอแงขณะเบ่งอุจจาระเพราะรู้สึกเจ็บ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- สาเหตุที่ทำให้ทารกท้องผูก
- วิธีป้องกันไม่ให้ลูกท้องผูก
- ทำไมนมแม่ ถึงย่อยง่ายกว่านมผง
- ทารกอุจจาระเป็นเม็ดแบบไหน ที่ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์
- ลำไส้อักเสบในทารก เกิดจากอะไร
- ลำไส้อักเสบในทารก มีอาการอย่างไร
สาเหตุที่ทำให้ทารกท้องผูก
- ในเด็กที่เริ่มทานอาหารตามวัย อาจทานอาหารที่มีกากใยน้อยเกินไปทำให้อุจจาระแข็งหรือทารกถ่ายแข็ง เพื่อไม่ให้ลูกน้อยเกิดอาการท้องผูก คุณแม่จึงควรให้ลูกทานผักและผลไม้อยู่เป็นประจำ
- เกิดจากพฤติกรรมการขับถ่ายของลูกน้อยที่ชอบกลั้นอุจจาระอยู่บ่อย ๆ
- การใช้ยาบางชนิดของลูกน้อยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้ หรือยับยั้งการทำงานของระบบประสาทก่อให้เกิดอาการท้องผูกในเด็ก เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาธาตุเหล็ก เป็นต้น
- ความผิดปกติทางสรีระของระบบทางเดินอาหารตั้งแต่แรกเกิด เช่น ทวารหนักที่เล็กเกินไป ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เป็นต้น
- สาเหตุทางใจ เช่น ความเครียด อาการกลัวในจิตใจจากการถูกบังคับให้ลูกน้อยนั่งกระโถนเร็วเกินไป
- ลูกน้อยดื่มนมผงที่ย่อยยาก หรือคุณแม่กินนมวัวหรืออาหารที่มีโปรตีนมากเกินไปทำให้ลูกน้อยกลายเป็นเด็กถ่ายยาก
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกท้องผูก
- พาลูกกินผักและผลไม้เป็นประจำ: พ่อแม่ควรชวนลูกกินผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง เช่น กล้วยสุก มะละกอ ลูกพรุน เป็นต้น หากเจ้าตัวเล็กไม่ชอบกินผักหรือผลไม้ คุณแม่ควรเริ่มจากให้ลูกกินผักผลไม้ในปริมาณน้อยก่อนและค่อยไปเพิ่มให้ลูกดื่มน้ำเพิ่มแทน เพื่อให้ลูกถ่ายได้ง่ายยิ่งขึ้น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ: น้ำดื่มจะช่วยให้ลูกน้อยขับถ่ายได้สะดวก โดยเด็กที่มีอายุ 6-11 เดือน ควรดื่มน้ำวันละ 800- 1,200 มิลลิลิตร/วัน ส่วนเด็กที่อายุระหว่าง 1-3 ปี ควรดื่มน้ำวันละ 1,000-1,500 มิลลิลิตร/วัน นอกจากนี้คุณแม่อาจให้ลูกน้อยกินน้ำผลไม้ หรือโยเกิร์ตเพื่อช่วยให้สามารถขับถ่ายได้ดียิ่งขึ้น
- สร้างนิสัยขับถ่ายที่ดีให้ลูกน้อย: เมื่อลูกน้อยมีอายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป คุณแม่ควรเริ่มฝึกวินัยการขับถ่ายด้วยกระโถนให้ลูกน้อยในทุก ๆ วัน เพื่อป้องกันอาการกลั้นอุจจาระในเด็ก
- ให้ลูกน้อยกินนมแม่เพียงอย่างเดียว: เนื่องจากนมแม่เป็นนมที่ย่อยได้ง่ายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับโปรตีนในนมที่ย่อยง่ายได้
- นวดท้องให้ลูกน้อย: การบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องด้วยการนวด หรือการยกขาทารกขึ้นลงจะช่วยขับลมในท้องของลูกน้อยได้ดี ทั้งยังช่วยให้เด็กขับถ่ายได้คล่องมากขึ้น
ทำไมนมแม่ ถึงย่อยง่ายกว่านมผง
ในนมแม่ มีสารอาหารที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการเสริมสร้างร่างกาย สมอง และภูมิคุ้มกันในทารกกับ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติที่ย่อยง่ายทำให้ลูกน้อยที่กินนมแม่ท้องอืดและท้องผูกได้ยากกว่าเด็กที่กินนมผง คือ
- นมแม่มีไขมันที่ย่อยง่าย: ในนมแม่อุดมไปด้วยไขมันสายยาวที่ย่อยง่าย และกรดไขมันจำเป็นที่ช่วยในการเสริมสร้างสมองและระบบประสาทให้แก่ทารก
- นมแม่มีแลคโตส (Lactose): ความพิเศษของคาร์โบไฮเดรตชนิดแลคโตส คือ สามารถดึงน้ำมาช่วยสร้างน้ำนมทำให้ในนมแม่มีน้ำอยู่จำนวนมาก ลูกน้อยจึงได้รับปริมาณน้ำที่มากเพียงพอจากการกินนมแม่โดยไม่ต้องดื่มน้ำเพิ่มแต่อย่างใด
ทารกอุจจาระเป็นเม็ดแบบไหน ที่ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์
- ลูกน้อยถ่ายไม่ออกมาหลายวัน
- ถ่ายอุจจาระเป็นก้อนใหญ่แข็งหรือเป็นเม็ด มีเลือดปน
- งอแงเมื่อต้องขับถ่าย
- อุจจาระเล็ดกางเกง
- ปวดท้องอยู่บ่อย ๆ
ลำไส้อักเสบในทารก เกิดจากอะไร
โรคลำไส้อักเสบในทารกที่พบได้ในทารกและเด็กเล็กมีอยู่ 2 สาเหตุ
- ติดเชื้อในลำไส้: โรคลำไส้อักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียในลำไส้เด็ก แล้วทำให้ลูกน้อยมีอาการท้องร่วงตามมา
- เกิดจากลูกน้อยแพ้โปรตีน: ในกลุ่มของสาเหตุโรคแพ้โปรตีนในเด็กส่วนมากเป็นเพราะเด็กมีอาการแพ้โปรตีนนมวัว ส่วนการแพ้โปรตีนจากไข่หรือถั่วในเด็กพบได้น้อยกว่า ซึ่งอาการแพ้เหล่านี้เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดอาการลำไส้อักเสบได้
- ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง: เมื่อร่างกายของลูกน้อยมีระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ ทำให้ลำไส้เกิดการติดเชื้อจนกลายเป็นโรคลำไส้อักเสบในที่สุด
ลำไส้อักเสบในทารก มีอาการอย่างไร
อาการลำไส้อักเสบเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ลักษณะของอาหารจึงมีความคล้ายคลึงกับโรคทางเดินอาหารในเด็กอื่น สำหรับโรคลำไส้อักเสบในทารก มีลักษณะดังนี้
- ลูกน้อยถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ
- ถ่ายแล้วมีมูกเลือดปน
- มีไข้สูง
- หากเกิดการติดเชื้อจะไอและมีน้ำมูกไหล
- คลื่นไส้ และอาเจียน
- เด็กมีอาการอ่อนเพลีย ซึม
- หากขาดน้ำมาก ๆ จะปากแห้ง แต่ตัวเย็น
พฤติกรรมและอาการต่าง ๆ ของทารกเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรใส่ใจเพราะลูกน้อยยังไม่สามารถสื่อสารหรือบอกเล่าอาการเจ็บป่วยของตัวเองได้ ดังนั้น เมื่อลูกน้อยมีการขับถ่ายคุณแม่ต้องคอยสังเกตลักษณะอุจจาระของลูกน้อย และพยายามดูแลเจ้าตัวเล็กด้วยการให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ ทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง และฝึกให้ลูกขับถ่ายเป็นเวลาอยู่เสมอเพื่อที่เด็กจะได้ห่างไกลจากโรคท้องผูก รวมถึงการดูแลความสะอาดเป็นประจำ นอกจากนั้น คุณแม่ควรให้ลูกน้อยรับนมแม่เพียงอย่างเดียว เพราะนมแม่เป็นนมที่ย่อยง่าย และสามารถขอคำปรึกษาจากคุณหมอเกี่ยวกับโปรตีนในนมที่ย่อยง่าย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- ลูกอ้วก ไม่มีไข้ ท้องเสีย เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ รับมืออย่างไรดี
- อาการทารกท้องอืด พร้อมวิธีป้องกันและวิธีดูแลทารกท้องอืด
- สีอุจจาระทารก สีแบบไหนปกติ สีแบบไหนที่คุณแม่ต้องระวัง
- ลูกอุจจาระสีเขียวอันตรายไหม อึทารกสีเขียวบ่งบอกอะไรได้บ้าง
- ลูกท้องเสียให้กินอะไรดี ลูกท้องเสียกี่วันหาย อาการแบบไหนเรียกรุนแรง
- ทารกไม่ถ่ายกี่วันผิดปกติ ทารกตดบ่อย ลูกน้อยควรกินอะไรให้ขับถ่ายง่าย
- ทารกอุจจาระมีมูก ลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด แบบไหนที่ต้องระวัง
- วิธีนวดท้องให้ทารกถ่าย สำหรับลูกน้อยที่ท้องผูก ไม่ยอมถ่ายหลายวัน
- ลูกปวดท้องตรงสะดือเป็น ๆ หาย ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกปวดท้อง
อ้างอิง:
- ท้องผูกในเด็ก เรื่อง (ไม่) เล็ก ที่พ่อแม่ต้องรู้!, โรงพยาบาลศิครินทร์
- เด็กท้องผูก นอกจากเสียสุขภาพร่างกายแล้วยังส่งผลถึงสภาพจิตใจ, โรงพยาบาลสมิติเวช
- สังเกตยังไง...ว่าลูกกำลังมีภาวะท้องผูก, โรงพยาบาลพญาไท
- อาหารสำหรับเด็กท้องผูก, สมาคมกุมารเวชศาสตร์ทางเดินอาหารและตับแห่งประเทศไทย
- Breastmilk, cow's milk and formula: Differences in composition, มหาวิทยาลัยมหิดล
- เมื่อเจ้าตัวเล็กท้องผูก จะทำอย่างไรดี, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
- ที่ลูกน้อยร้องไห้จ้า...อาจเป็นเพราะ 5 โรคลำไส้ในเด็กเล็กนี้, โรงพยาบาลพญาไท
- “ลำไส้อักเสบ” โรคที่คนส่วนใหญ่คิดว่าแค่อาการท้องเสียธรรมดา, โรงพยาบาลนครธน
- ลักษณะของอุจจาระและการขับถ่าย บอกได้ถึงภาวะสุขภาพ, โรงพยาบาลพญาไท
อ้างอิง ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2566
บทความที่เกี่ยวข้อง