ลูกอุจจาระสีเขียวอันตรายไหม ทารกอุจจาระสีเขียว บอกอะไรได้บ้าง
โดยปกติเด็กแรกเกิดจะมีการขับถ่ายภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากคลอด และอุจจาระครั้งแรกลักษณะจะเหนียวข้น อึทารกมีสีเทาปนดำ และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม เขียวปนเหลือง และสีเหลือง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มือใหม่บางท่านอาจตกใจเมื่อพบอุจจาระของลูกน้อยสีเทาออกดำในครั้งแรก แต่จริงๆ แล้วเรียกว่า ขี้เทา (Meconium) หลังจากนั้น ในวันถัดๆ มาอุจจาระจะเริ่มมีสีเขียวลดลง และออกสีเหลืองมากขึ้น โดยขึ้นกับปริมาณน้ำนมที่ได้รับว่าเพียงพอหรือไม่ในแต่ละวันด้วย
PLAYING: ลูกอุจจาระสีเขียวอันตรายไหม ทารกอุจจาระสีเขียว บอกอะไรได้บ้าง
สรุป
- ลูกน้อยขับถ่ายครั้งแรกหลังจากคลอด มีลักษณะเหนียวข้น สีเขียวปนเทาหรือดำ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นกระบวนการขับถ่ายของเสียจากลำไส้ใหญ่ของเด็กตามธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า ขี้เทา (Meconium)
- โดยปกติ หากพบกว่าลูกอุจจาระสีเขียว ถือเป็นปกติ แต่หากมีอาการร่วมด้วย อาทิ มีกลิ่นเหม็น มีเมือกหรือเลือดเจือปน ร่วมกับมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก หรือมีผื่นขึ้นบริเวณผิวหนัง และลูกน้อยมีอาการซึม รับประทานอาหารได้น้อยลง ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- อุจจาระของเด็กแรกเกิด เริ่มเปลี่ยนสีตอนไหน
- ทารกกินนมแม่แล้ว แต่อุจจาระยังเป็นสีเขียวอยู่ เป็นเพราะอะไร
- ลูกน้อยอุจจาระเป็นสีเขียว อึทารกสีเขียว เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
- อาการร่วมที่อาจบ่งชี้ว่า ลูกน้อยที่ติดเชื้อไวรัส ลำไส้อักเสบ
- อาการร่วมแบบไหน ที่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์
อุจจาระแรกหลังคลอดของเด็กแรกเกิด เรียกว่า ขี้เทา (Meconium) หรือของเสียที่อยู่ในสำไส้ใหญ่ของลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยเด็กจะเริ่มมีอุจจาระตามธรรมชาติตั้งแต่อยู่ในครรภ์คุณแม่ประมาณ 2-3 เดือนแรก ซึ่งขี้เทาจะมีส่วนประกอบหลายอย่าง มีลักษณะเหนียวข้น สีเขียวปนเทา หรือออกดำ โดยปกติเด็กจะไม่มีการขับถ่ายขี้เทาเมื่อตอนที่ยังอยู่ในครรภ์คุณแม่ แต่อาจมีกรณีผิดปกติที่เด็กขับถ่ายขี้เทาออกมาซึ่งจะปนอยู่ในน้ำคร่ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายแก่ลูกน้อยในครรภ์ได้
อุจจาระของเด็กแรกเกิด เริ่มเปลี่ยนสีตอนไหน
สีอุจจาระทารกหรืออุจจาระของเด็กแรกเกิดจะมีสีเขียวปนเทา หรือเทาปนดำในช่วงแรก และจะเริ่มเป็นเขียวปนเหลืองมากขึ้น จนเป็นสีเหลืองในท้ายที่สุด และมีลักษณะเหลวขึ้น มีน้ำเจือปนมากขึ้น ซึ่งหากได้รับปริมาณน้ำนมแม่ที่เพียงพอ อาจใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน โดยเด็กอาจจะขับถ่ายประมาณ 3-6 ครั้งต่อวัน และปริมาณต่อครั้งเพิ่มขึ้นตามด้วย
ทารกกินนมแม่แล้ว แต่อุจจาระยังเป็นสีเขียวอยู่ เป็นเพราะอะไร
โดยปกติเมื่อเด็กอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป อาจมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการขับถ่าย จากช่วงแรกมีการขับถ่ายวันละ 3-6 ครั้ง หรืออุจจาระทันทีหลังได้รับน้ำนมแม่ และอุจจาระมีสีเหลืองทองมากขึ้น ซึ่งถือว่าเด็กได้รับน้ำนมปริมาณเพียงพอ ซึ่งพอเด็กโตขึ้นมากกว่า 6 สัปดาห์ ในบางครั้งคุณแม่อาจพบว่าลูกมีอุจจาระปนสีเขียวได้อีก และมีลักษณะข้นเหนียวขึ้นจากเดิม รวมถึงลดจำนวนอุจจาระลงเป็น 1-2 ครั้งต่อวันเท่านั้น ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งบางครั้งอุจจาระสีเขียวอาจเกิดจากอาหาร ผัก ผลไม้บางชนิดที่คุณแม่ได้รับเข้าไป
ลูกน้อยอุจจาระเป็นสีเขียว อึทารกสีเขียว เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
- อาจเกิดจากอาหารการกินของคุณแม่ที่ให้นมลูก อาทิ ผักใบเขียว ผลไม้บางชนิด น้ำผลไม้ หรือวิตามินต่าง ๆ เป็นต้น เมื่อลูกกินนมแม่เข้าไปจึงอาจมีสีเขียวเจือปนได้
- การได้น้ำนมจากแม่ที่ไม่สมดุลกัน โดยปกติน้ำนมแม่จะแบ่งการผลิตน้ำนมในแต่ละช่วงออกเป็น 2 ส่วน คือ น้ำนมส่วนหน้าที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลสูง แต่มีไขมันต่ำ และน้ำนมส่วนหลังซึ่งมีไขมันสูงขึ้น ในบางครั้งลูกอาจดูดนมไม่นานพอจึงทำให้ได้รับแค่น้ำนมส่วนหน้าที่มีน้ำตาลสูงเท่านั้น ส่งผลต่ออุจจาระมีสีเขียว เหลว และอาจมีฟองได้
- ลูกมีอาการท้องเสียหรือมีการติดเชื้อไวรัสบางชนิด ซึ่งจะมีลักษณะของอุจจาระมีกลิ่นเหม็น มีเมือกร่วมด้วย
- แพ้สารอาหารบางชนิด อาจมีอาการหายใจลำบาก อุจจาระมีสีเขียวและมีเมือก หรือมีผื่นผิวหนัง
- การได้รับนมไม่เพียงพอ อาจทำให้ลูกขับถ่ายลดลง สังเกตได้จากน้ำหนักตัวลดลง
อาการร่วมที่อาจบ่งชี้ว่า ลูกน้อยที่ติดเชื้อไวรัส ลำไส้อักเสบ
- ถ่ายบ่อยกว่าปกติ ซึ่งหากลูกขับถ่ายมากกว่าวันละ 1-2 ครั้ง และมีลักษณะเหลวมาก อาจทำให้ลูกซึมผิดปกติเพราะร่างกายขาดน้ำ
- อุจจาระมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ สีปนเขียว และมีอาการไข้ มีน้ำมูก และไอร่วมด้วย
- มีเมือกติดออกมาด้วย บางครั้งอาจมีเลือดปนออกมาด้วย
อาการร่วมแบบไหน ที่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์
คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตลูกน้อย ทั้งในส่วนของร่างกาย มีผื่นผิวหนัง ตัวเหลือง การขับถ่ายที่ลดน้อยลง ลักษณะของอุจจาระมีสีเขียวหรือลูกอุจจาระสีเขียวขี้ม้าเหม็น เหลวมากกว่าปกติ มีมูกเลือดเจือปน มีไข้ น้ำมูก และไอ รวมถึงพฤติกรรมที่ดูซึม ง่วงนอนบ่อยขึ้น รับประทานนมแม่ได้น้อยลง อาการเหล่านี้คุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่รีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกวิธีโดยทันทีค่ะ
คุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่า ลูกมีอุจจาระสีเขียวอันตรายไหม อุจจาระเป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นตามกระบวนการตามธรรมชาติของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์คุณแม่ ซึ่งเป็นการขับของเสียออกมาจากร่างกายและเก็บไว้ที่ลำไส้ใหญ่ เมื่อเด็กคลอดออกมา จะเกิดการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย โดยในช่วงแรกจะมีเขียวเข้ม หรือเขียวปนเทาดำ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นศึกษา และคอยสังเกตุลักษณะของอุจจาระของลูกน้อยในแต่ละช่วงวัย เพื่อเป็นการบอกลักษณะสุขภาพของลูกได้นั่นเอง
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- ลูกอ้วก ไม่มีไข้ ท้องเสีย เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ รับมืออย่างไรดี
- อาการทารกท้องอืด พร้อมวิธีป้องกันและวิธีดูแลทารกท้องอืด
- สีอุจจาระทารก สีแบบไหนปกติ สีแบบไหนที่คุณแม่ต้องระวัง
- ลูกท้องเสียให้กินอะไรดี ลูกท้องเสียกี่วันหาย อาการแบบไหนเรียกรุนแรง
- ทารกไม่ถ่ายกี่วันผิดปกติ ทารกตดบ่อย ลูกน้อยควรกินอะไรให้ขับถ่ายง่าย
- ทารกอุจจาระเป็นเม็ดมะเขือ อุจจาระเป็นเม็ด พร้อมวิธีป้องกันเบื้องต้น
- ทารกอุจจาระมีมูก ลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด แบบไหนที่ต้องระวัง
- วิธีนวดท้องให้ทารกถ่าย สำหรับลูกน้อยที่ท้องผูก ไม่ยอมถ่ายหลายวัน
- ลูกปวดท้องตรงสะดือเป็น ๆ หาย ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกปวดท้อง
อ้างอิง:
- “ลักษณะทั่วไปของทารกแรกเกิด” สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้..เพื่อดูความผิดปกติ, โรงพยาบาลพญาไท
- ภาวะสูดสำลักขี้เทาในเด็กแรกเกิด ตอนที่ 1, คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- อุจจาระของทารกที่กินนมแม่, มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
- อุจจาระของทารกที่กินนมแม่, พบแพทย์ (PobPad)
- ที่ลูกน้อยร้องไห้จ้า...อาจเป็นเพราะ 5 โรคลำไส้ในเด็กเล็กนี้, โรงพยาบาลพญาไท
อ้างอิง ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2566