ลูกปวดท้องตรงสะดือเป็น ๆ หาย ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแล
อาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ คืออาการที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่อาการปวดท้องตรงสะดือเป็น ๆ หาย ๆ ในเด็กมีความน่าเป็นห่วงกว่า เนื่องจากลูกน้อย ยังไม่สามารถบอกถึงอาการปวดท้องหรือตำแหน่งของการปวดท้องได้อย่างชัดเจน พ่อแม่จึงต้องคอยสังเกตอาการลูกดูว่าเด็กมีอาการอื่นนอกจากอาการปวดท้องหรือไม่ เพราะอาการปวดท้องแต่ละแบบบ่งบอกถึงอาการของโรคที่แตกต่างกัน
สรุป
- อาการปวดท้องตรงสะดือเป็น ๆ หาย ๆ ในเด็กเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ทั้งจากความเครียด อารมณ์ ความรู้สึกของเด็ก และการรับประทานอาหารที่ไม่ตรงเวลา
- เมื่อไหร่ที่ลูกปวดท้องตรงสะดือเป็น ๆ หาย ๆ แล้วย้ายมาบริเวณด้านขวาล่างและปวดท้องมากขึ้น พร้อมกับมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ลูกอ้วกแต่ไม่มีไข้ เบื่ออาหารหรือไม่กินนม อาจเป็นสัญญาณของโรคไส้ติ่งอักเสบให้คุณพ่อคุณแม่รีบพาลูกน้อยไปพบคุณหมอทันที
- หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกน้อยปวดท้องจากอะไร ให้สังเกตสัญญาณอันตรายที่ควรรีบพาไปพบคุณหมอ เช่น ปวดท้องรุนแรง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีไข้และอาเจียน ถ่ายเป็นเลือด อาเจียนเป็นสีเขียว ตัวเหลือง ตาเหลือง เป็นต้น
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- เด็กที่เป็นไส้ติ่งอักเสบ จะมีอาการอย่างไร
- ลูกปวดท้องแบบเฉียบพลัน มีอาการอย่างไร
- ปวดท้องแบบเฉียบพลัน เป็นโรคอะไรได้บ้าง
- ลูกปวดท้องแบบเรื้อรัง มีอาการอย่างไร
- ปวดท้องแบบเรื้อรัง เป็นโรคอะไรได้บ้าง
- ลูกปวดท้องแบบไหน ต้องรีบพาไปพบแพทย์
- ความเครียดของเด็ก ส่งผลให้ปวดท้องได้
- วิธีดูแลทารกปวดท้อง ที่พ่อแม่ช่วยทำได้
เมื่อลูกน้อยมีอาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดท้องตรงสะดือเป็น ๆ หาย ๆ อาจเกิดขึ้นจากการทานอาหารของลูกน้อย เพราะบริเวณทางเดินอาหารของคนเรามีเส้นประสาทความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับสมองอยู่ โดยเฉพาะบริเวณกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กที่จะมีความรู้สึกไวเป็นพิเศษ เมื่อลูกน้อยกินข้าวไม่ตรงเวลา หรือกินอาหารที่มีรสชาติจัดอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง รวมถึงความเครียดของเด็กที่อาจส่งผลให้ลูกน้อยรู้สึกปวดท้องบริเวณสะดือเป็น ๆ หาย ๆ นั่นเอง
ส่วนอีกสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยเกิดอาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการปวดท้องตรงใต้สะดือ อาจเกิดจากโรคไส้ติ่งอักเสบ เพียงแต่อาการของโรคนี้จะไม่เป็น ๆ หาย ๆ แต่จะยิ่งปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเด็กบางคนอาจรู้สึกปวดตั้งแต่รอบสะดือแล้วย้ายไปยังบริเวณท้องล่างขวา เมื่อใช้มือกดแล้วลูกน้อยจะยิ่งรู้สึกเจ็บจี๊ดเพิ่มมากขึ้น ร่วมถึงยังมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ทารกท้องเสีย อาเจียน เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกน้อยมีอาการปวดท้อง ควรสังเกตอาการของลูกว่ามีอาการปวดท้องเฉียบพลันบริเวณด้านล่างขวาขึ้นไปเรื่อย ๆ หรือไม่ เนื่องจากลูกน้อยไม่สามารถบอกถึงอาการเจ็บปวดได้ที่ชัดเจนได้ หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกน้อยมีอาการปวดท้องที่รุนแรงให้รีบมาพบแพทย์ทันที
เด็กที่เป็นไส้ติ่งอักเสบ จะมีอาการอย่างไร
อาการไส้ติ่งอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย เมื่อคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีอาการปวดท้องมากขึ้นอย่าชะล่าใจ เพราะหากปล่อยให้ลูกน้อยปวดท้องตรงสะดือเป็น ๆ หาย ๆ โดยเฉพาะบริเวณท้องขวาล่างอาจทำให้เกิดไส้ติ่งแตกจนทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่วทั้งร่างกายได้อย่างรวดเร็วจนนำไปสู่การเสียชีวิตในเด็กได้ พ่อแม่จึงควรสังเกตสัญญาณของโรคไส้ติ่งอักเสบในเด็กให้ดี โดยมีลักษณะอาการ ดังนี้
- ปวดท้องฉับพลัน ปวดท้องจนตัวงอเดินไม่ไหว
- ปวดท้องมากขึ้นเรื่อย ๆ ภายใน 6-24 ชั่วโมง
- ปวดบริเวณรอบสะดือ แล้วอาจย้ายไปปวดบริเวณด้านขวาล่างของท้อง
- มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ทารกท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ทารกท้องผูก ถ่ายเหลว บางรายท้องเสียติดต่อกัน 2-3 วัน
- ลูกน้อยมีไข้ตัวร้อน
- ลูกน้อยมักมีอาการเบื่ออาหาร หรือไม่กินนม
- เมื่อกดบริเวณหน้าท้องแล้วลูกเกร็งต้าน และปวดทรมานแม้กดเพียงเล็กน้อย
ลูกปวดท้องแบบเฉียบพลัน มีอาการอย่างไร
หากลูกมีอาการปวดท้องเฉียบพลันร่วมกับอาการอื่น ๆ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที โดยอาการที่ต้องสังเกต ได้แก่
- ปวดท้องรุนแรงจนลูกไม่สามารถทำกิจกรรมตามปกติ
- มีไข้ร่วมด้วย
- อาเจียนหรือเด็กท้องเสียอย่างรุนแรง
- ท้องบวม แข็ง หรือกดแล้วเจ็บ
- อุจจาระมีเลือดปน
- ซึมผิดปกติ หรือร้องไห้งอแงไม่หยุด
ปวดท้องแบบเฉียบพลัน เป็นโรคอะไรได้บ้าง
โรคที่เกิดจากการปวดท้องฉับพลันในเด็กมีหลายสาเหตุ โดยมักมีอาการปวดท้องร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน ดังนี้
- ลูกปวดท้องเฉียบพลันจากการติดเชื้อในทางเดินอาหาร: มีลักษณะอาการปวดท้อง ถ่ายเหลวพร้อมอาเจียน และมีไข้
- ลูกปวดท้องเฉียบพลันจากโรคไส้ติ่งอักเสบ: มีลักษณะอาการปวดท้องบริเวณ ด้านล่างขวาขึ้นเรื่อย ๆ หรือปวด บริเวณรอบสะดือแล้วค่อยย้ายมาที่ด้านล่างขวา ของท้อง มีไข้ และ อาเจียน
- ลูกปวดท้องเฉียบพลันจากโรคลำไส้กลืนกัน: มีลักษณะอาการ ร้องไห้พร้อมปวดท้อง อาเจียนเป็นสีเขียวมีน้ำดีปน และ ถ่ายเป็นมูกเลือด
- ลูกปวดท้องเฉียบพลันจากโรคลำไส้อักเสบและอาหารเป็นพิษ: มีลักษณะอาการ ปวดท้องพร้อมถ่ายเหลว จะ มีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้
- ลูกปวดท้องเฉียบพลันจากโรคเส้นเลือดในลำไส้อักเสบ: มีลักษณะอาการ ปวดท้องรุนแรงจนตัวงอ ไม่มีไข้ แต่ มีผื่นขึ้นเป็นจ้ำ ๆ ตามร่างกาย
ลูกปวดท้องแบบเรื้อรัง มีอาการอย่างไร
อาการปวดท้องเรื้อรังในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวัง หากพบว่าลูกมีอาการเหล่านี้ให้รีบพาไปหาหมอ คือ
- ลูกปวดท้องมากติดต่อกัน 7-14 วัน หรือนานนับเดือนจนรบกวนการเรียนหรือทำกิจกรรม
- ปวดท้องจนนอนไม่ได้ทำให้ตื่นขึ้นมากลางดึกบ่อย ๆ
- ท้องอืดบวม
- มีอาการเบื่ออาหาร ทานอาหารน้อย
- น้ำหนักตัวลด
- คลื่นไส้ อาเจียน เรอเปรี้ยว
- ท้องผูก ท้องเสียเป็น ๆ หาย ๆ
- ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือซีด
- มีไข้ และอ่อนเพลีย
ปวดท้องแบบเรื้อรัง เป็นโรคอะไรได้บ้าง
อาการปวดท้องแบบเรื้อรังในเด็กมักเกิดจากการปวดท้องติดต่อกันนาน ๆ ร่วมกับอาการอื่น ๆ คือ
- ลูกปวดท้องแบบเรื้อรังจากโรคกรดไหลย้อน มีลักษณะอาการ คือ ลูกน้อยมักมีอาการปวดท้อง พร้อมกับอาการเรอเปรี้ยว อาเจียน และแสบร้อนกลางอก
- ลูกปวดท้องแบบเรื้อรังจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบ มีลักษณะอาการ คือ เด็กมักปวดท้องพร้อมกับอาการแน่นหน้าอกบริเวณลิ้นปี่ และทานข้าวได้น้อยลงเป็นประจำ
- ลูกปวดท้องแบบเรื้อรังจากโรคลำไส้อักเสบ มีลักษณะอาการ คือ เด็กมักมีอาการท้องเสียเป็น ๆ หาย ๆ อยู่บ่อย ๆ
- ลูกปวดท้องแบบเรื้อรังจากโรคเกี่ยวกับน้ำดีหรือตับ มีลักษณะอาการ คือ ลูกปวดท้องนาน ๆ พร้อมกับอาการตัวเหลือง ตาเหลืองอย่างชัดเจน
- ลูกปวดท้องแบบเรื้อรังจากโรคไม่มีปมประสาทลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง มีลักษณะอาการเด่น ๆ คือ ลูกน้อยมีอาการท้องผูกเรื้อรังนาน ๆ
ลูกปวดท้องแบบไหน ต้องรีบพาไปพบแพทย์
เมื่อเด็กมีอาการปวดท้อง อาจเป็นเพียงอาการทั่วไปหรือสัญญาณของโรคร้ายแรง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด โดยอาการที่ควรระวังและพาลูกไปพบแพทย์ทันที ได้แก่
1. ปวดท้องรุนแรงหรือปวดบ่อยครั้ง
หากลูกปวดท้องจนไม่สามารถทำกิจกรรมปกติได้ หรืออาการปวดเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์
2. ปวดท้องจนตื่นกลางดึก
อาการปวดที่รบกวนการนอนหลับอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น ลำไส้อุดตันหรือโรคไส้ติ่งอักเสบ
3. เบื่ออาหาร ทานอาหารได้น้อยลง
การเบื่ออาหารร่วมกับอาการปวดท้อง อาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อหรือภาวะลำไส้อักเสบ
4. น้ำหนักลดหรือไม่เพิ่มตามเกณฑ์
หากลูกน้ำหนักลดลงอย่างผิดปกติหรือไม่เพิ่มตามช่วงวัย ควรตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม
5. ท้องแข็งผิดปกติ
ท้องที่บวม แข็ง หรือกดแล้วเจ็บ เป็นสัญญาณเตือนของปัญหาในระบบทางเดินอาหาร
6. มีไข้ร่วมกับอาเจียน
โดยเฉพาะเมื่ออาเจียนเป็นสีเขียวหรือมีน้ำดีปน ซึ่งอาจบ่งบอกถึงลำไส้อุดตัน
7. ขับถ่ายผิดปกติ
เช่น ท้องผูกอย่างรุนแรง ถ่ายเหลวหลายครั้ง หรือถ่ายมีเลือดปน อาจแสดงถึงโรคลำไส้อักเสบหรือการติดเชื้อ
8. ตาเหลือง ตัวเหลือง หรือมีอาการซีด
อาจเกี่ยวข้องกับภาวะโลหิตจางหรือตับทำงานผิดปกติ
ความเครียดของเด็ก ส่งผลให้ปวดท้องได้
คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่าบางครั้งความเครียดอาจส่งผลให้ลูกน้อยปวดท้องได้ เนื่องจากทางเดินอาหารมีเส้นประสาทที่เชื่อมโยงไปยังสมองอยู่ เมื่อลูกน้อยมีความเครียด ความวิตกกังวล หรือมีเรื่องให้ไม่พอใจ เช่น การบังคับให้กินข้าว หรือการทำกิจกรรมบางอย่างก็อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ลูกน้อยปวดท้องขึ้นมา ซึ่งอาการปวดท้องลักษณะนี้จะมีความแตกต่างกับการปวดท้องที่เกิดจากโรคอื่น เพราะไม่มีเวลาปวดที่แน่นอน และอาจมีการย้ายไปปวดตำแหน่งอื่น ๆ เรื่อย ๆ เมื่อเด็กเป็นแล้วยังสามารถเล่นได้ น้ำหนักไม่ลด ไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น ท้องเสีย หรืออาเจียน เหมือนกับโรคที่เกิดทางร่างกาย
วิธีดูแลทารกปวดท้องเบื้องต้นที่พ่อแม่ช่วยทำได้
1. สังเกตอาการปวดท้องของลูกน้อย
หากลูกมีอาการปวดท้อง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
2. ปรับพฤติกรรมการกินของลูก
เพื่อป้องกันอาการปวดท้องไม่ให้เกิดซ้ำหรือรุนแรงขึ้น
3. สังเกตลักษณะของอาการปวดท้อง
เช่น ปวดรุนแรงต่อเนื่องหรือเป็น ๆ หาย ๆ มีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ไข้, ถ่ายเหลว, ซีด หรือเกิดจากการ ประสบอุบัติเหตุ
4. รีบไปพบแพทย์ทันที
หากลูกปวดมาก โดยเฉพาะบริเวณ ท้องด้านขวาล่าง และหลีกเลี่ยงการให้ลูกทานยาแก้ปวดใด ๆ ก่อนพบแพทย์
คุณแม่อาจต้องใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมในลูกน้อย เพื่อดูว่าเจ้าตัวเล็กมีอาการเจ็บปวดอย่างไรบ้าง เช่น ร้องไห้งอแงไหม ปวดมากจนตัวงอหรือเปล่า ไม่อยากเล่น ไม่อยากอาหารหรือกินนมบ้างไหม การขับถ่ายเป็นอย่างไร เพราะหากลูกน้อยมีอาการเหล่านี้พร้อมกับอาการอาเจียนเป็นสีเขียว สีอุจจาระทารก เป็นสีดำหรือมีเลือดปน คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพราะอาจเป็นสัญญาณของการปวดท้องที่ร้ายแรงขึ้นได้ค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Heath check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- จุกหลอก ดีกับลูกน้อยจริงไหม จุกนมหลอก ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง
- ทารกตัวเหลือง เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกตัวเหลือง
- สายสะดือทารก สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน พร้อมวิธีทำความสะอาด
- วิธีห่อตัวทารกที่ถูกต้อง ให้ลูกน้อยสบายตัว เหมือนอยู่ในท้องแม่
- เด็กทารกสะอึก เกิดจากอะไร วิธีไหนที่ช่วยบรรเทาอาการลูกสะอึก
- ทารกไม่ยอมนอน ลูกร้องไห้งอแง นอนหลับยาก พร้อมวิธีรับมือ
- ตารางการนอนของทารก 0-1 ปี ทารกควรนอนวันละกี่ชั่วโมง
- ทารกนอนสะดุ้ง เกิดจากอะไร พร้อมวิธีแก้ลูกนอนสะดุ้งและวิธีรับมือ
- ลูกหัวแบน ทารกหัวแบน คุณแม่ทำอย่างไรได้บ้าง พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น
- วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด อาการทารกเป็นไข้ ทารกตัวร้อน พร้อมวิธีวัดไข้
อ้างอิง:
- สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้ เมื่อลูกน้อยหรือเด็กปวดท้องบ่อย, โรงพยาบาลวิมุต
- ปวดท้องแบบนี้ สัญญาญของไส้ติ่งอักเสบชัวร์, โรงพยาบาลเปาโล
- เมื่อลูกไส้ติ่งอัดเสบ, โรงพยาบาลเปาโล
- เมื่อลูกปวดท้อง พ่อแม่อย่าชะล่าใจ! เพราะอาจร้ายแรงกว่าที่คิด, โรงพยาบาลพญาไท
- ภาวะปวดท้องเรื้อรัง, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
- อาการปวดท้องในเด็กที่ควรพามาพบแพทย์ทันที, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
- อาการปวดท้องในเด็ก ปวดแบบไหนบอกโรคอะไร, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อ้างอิง ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2566
บทความที่เกี่ยวข้อง