ลูกท้องผูก ลูกท้องอืดไม่ถ่ายทำไงดี พร้อมวิธีนวดท้องให้ทารกถ่าย
“ลูกท้องอืดไม่ถ่ายทำไงดี” เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำเอาคุณพ่อคุณแม่หลายคนเครียดไม่น้อย เพราะต้องปวดใจกับการที่ลูกน้อยทรมานทุกครั้งที่ท้องอืด ถ่ายไม่ออก เราจะมาเจาะลึกเรื่องของอาการท้องผูกของลูก ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ท้องผูกต่างจากท้องอืดอย่างไร และต้องไม่ถ่ายนานแค่ไหนถึงจะเรียกว่าท้องผูก รวมถึงเรามีวิธีการที่จะช่วยดูแลอาการท้องผูกของลูก เช่น วิธีนวดท้องให้ทารกถ่าย และอีกหลากหลายวิธีมาบอกกัน
PLAYING: ลูกท้องผูก ลูกท้องอืดไม่ถ่ายทำไงดี พร้อมวิธีนวดท้องให้ทารกถ่าย
สรุป
- หากลูกถ่ายอุจจาระน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีอุจจาระแข็งร่วมกับมีอาการเจ็บปวดในเวลาถ่าย ต้องเบ่งถ่ายมาก หรือมีเลือดปนถึงแม้ว่าอาจจะอุจจาระทุกวัน หรือวันละ 2-3 ครั้งก็ตาม ก็ถือว่าลูกท้องผูกได้เช่นกัน
- อาการที่อาจแสดงว่าลูกท้องผูก คือไม่ได้ขับถ่ายติดต่อกันนานกว่า 2-3 วัน ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระมากกว่าปกติ หรืออาจมีเลือดปนมากับอุจจาระ
- วิธีนวดท้องให้ทารกถ่าย เพื่อกระตุ้นการขับถ่ายให้ลูก ให้ใช้ปลายนิ้วกดลงไปเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ ตรงท้องส่วนล่างด้านซ้ายของลูกซึ่งอยู่ใต้สะดือเล็กน้อยราว 3 นิ้วมือ นวดประมาณ 3 นาที อย่างสม่ำเสมอ หมั่นนวดวันละหลาย ๆ ครั้งจนกว่าลูกจะถ่ายได้ปกติ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- อาการแบบไหนคืออาการลูกท้องอืดและท้องผูก
- ลูกท้องอืด ท้องผูก จะมีอาการอย่างไร?
- วิธีนวดท้องให้ทารกถ่าย ขั้นตอนการนวดท้อง กระตุ้นการขับถ่ายให้ลูก
- รู้ไหมว่า “การออกกำลังกาย” ก็ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายให้ลูกน้อยได้นะ
- ลูกท้องอืด ท้องผูก ควรรับประทานอะไรดี?
- มาฝึกนิสัยการขับถ่ายให้ลูกกันเถอะ
อาการท้องอืดเป็นอาการเริ่มต้น หรืออาการที่บ่งบอกให้คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตแล้วว่าลูกอาจจะมีอาการท้องผูกตามมา เรามาดูกันก่อนว่าลูกมีอาการเหล่านี้หรือไม่ โดย อาการที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้
- ปวดท้อง งอแง
- เรอบ่อย มีกลิ่นปาก
- ท้องโตเป็นพัก ๆ ผายลมบ่อย
- ท้องผูก
อาการแบบไหนคืออาการลูกท้องอืดและท้องผูก
หากลูกที่ทานนมแม่จะถ่ายบ่อยเป็นปกติอยู่แล้ว คือ อาจถ่ายทุกครั้งหลังจากทานนมแม่ หลังอายุ 6 สัปดาห์จะถ่ายน้อยลงเป็นวันละ 3-5 ครั้ง และไม่จำเป็นว่าเด็กจะต้องถ่ายทุกวัน
แต่หากลูกถ่ายอุจจาระน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีอุจจาระแข็งร่วมกับมีอาการเจ็บปวดในเวลาถ่าย ต้องเบ่งถ่ายมาก หรือมีเลือดปน ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะอุจจาระทุกวัน หรือวันละ 2-3 ครั้งก็ตาม ก็ถือว่าลูกท้องผูกได้เช่นกัน
ลูกท้องอืด ท้องผูก จะมีอาการอย่างไร?
คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องสังเกตอาการที่อาจแสดงว่าลูกท้องผูกหรือมีอาการท้องอืด
- ไม่ค่อยถ่าย หากสังเกตว่าลูกไม่ได้ขับถ่ายติดต่อกันนานกว่า 2-3 วัน อาจเป็นสัญญาณของอาการท้องผูกได้
- ต้องออกแรงเบ่ง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่าลูกต้องออกแรงเบ่งอุจจาระมากกว่าปกติหรือไม่ หรือรู้สึกหงุดหงิดและร้องไห้เวลาขับถ่ายหรือไม่ หากมีอาการเหล่านี้ อาจจะแสดงว่าลูกท้องผูกอยู่
- ถ่ายมีเลือดปน อาการท้องผูกอาจมีเลือดปนมากับอุจจาระได้ เนื่องจากผนังทวารหนักฉีกขาดจากการออกแรงเบ่งอุจจาระ
- ไม่กินอาหาร ลูกกินยากและมักรู้สึกอิ่มเร็ว เพราะเขาอึดอัดและไม่สบายท้องจากอาการท้องผูกนั่นเอง
- ท้องแข็ง ท้องตึง แน่น หรือแข็ง ซึ่งเป็นอาการท้องอืดที่เกิดขึ้นร่วมกับท้องผูก
วิธีนวดท้องให้ทารกถ่าย ขั้นตอนการนวดท้อง กระตุ้นการขับถ่ายให้ลูก
การนวดท้องเพื่อช่วยกระตุ้นลำไส้ เป็นวิธีนวดท้องให้ทารกถ่ายที่ช่วยบรรเทาอาการลูกท้องอืด ท้องผูกและยังช่วยให้ลูกผ่อนคลายความอึดอัด จากอาการท้องอืดได้อีกด้วย นวดได้ง่าย ๆ 3 ขั้นตอนตามนี้
- โดยใช้ปลายนิ้วกดลงไปเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ ตรงท้องส่วนล่างด้านซ้ายของลูก ซึ่งอยู่ใต้สะดือราว 3 นิ้วมือ
- นวดประมาณ 3 นาที อย่างสม่ำเสมอ แล้วลองสังเกตดูว่าลูกผ่อนคลายขึ้นหรือไม่
- หมั่นนวดวันละหลาย ๆ ครั้งจนกว่าลูกจะถ่ายอุจจาระได้ปกติ
รู้ไหมว่า “การออกกำลังกาย” ก็ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายให้ลูกน้อยได้นะ
ลูกท้องอืดไม่ถ่ายทำไงดี? ง่าย ๆ แค่การขยับร่างกายนั่นเอง เพราะแค่ขยับเท่ากับการออกกำลังกายแล้ว เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยเร่งการย่อยอาหาร และส่งผลให้ร่างกายสามารถลำเลียงของเสียออกไปได้โดยเร็ว ในเด็กเล็กคุณพ่อคุณแม่อาจฝึกลูกให้ถีบจักรยานกลางอากาศ ส่วนในเด็กที่โตขึ้นหน่อยอาจชวนกันทำกิจกรรมหรือเล่นเกมที่ต้องขยับตัวมากขึ้น หรือพากันไปออกกำลังกายบ้าง ก็จะช่วยให้ระบบขับถ่ายของลูกดีขึ้นได้
ลูกท้องอืด ท้องผูก ควรรับประทานอะไรดี?
หากลูกอายุน้อยกว่า 6 เดือน การดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียว ทำให้ไม่ค่อยมีอาการท้องผูก เพราะในนมแม่ มีสารอาหารมากว่า 200 ชนิด อีกทั้งนมแม่ยังมีโพรไบโอติก (Probiotics) หรือแบคทีเรียในลำไส้ชนิดที่มีประโยชน์ และพรีไบโอติก (Prebiotics) ซึ่งคืออาหารที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตและเสริมความแข็งแรงให้กับแบคทีเรียชนิดดังกล่าว อีกทั้งยังมี เช่น ดีเอชเอ โอเมก้า และสฟิงโกไมอีลิน อีกด้วย แต่สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ที่เริ่มหัดกินอาหารอื่นร่วมกับนมแม่ได้แล้ว จึงควรปรับการกินอาหารของเด็กเพื่อป้องกันปัญหาท้องผูก ดังนี้
- ดื่มน้ำเปล่ามากขึ้น เพราะน้ำจะช่วยให้ร่างกายชุ่มชื้นและกระตุ้นการขับถ่ายให้ดีขึ้น สม่ำเสมอขึ้น และอาจให้เด็กดื่มน้ำลูกพรุนหรือน้ำลูกแพร์เจือจาง (เพื่อลดความหวาน) ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ได้ในอีกทางหนึ่ง
- ควรให้เด็กกินอาหารที่มีเส้นใยมากขึ้น เช่น บรอกโคลี ธัญพืชที่ผ่านการปรุงสุก ผลไม้ เช่น ลูกพรุน แอปเปิ้ลแบบปอกเปลือก
มาฝึกนิสัยการขับถ่ายให้ลูกกันเถอะ
อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ลูกมีสุขภาพการขับถ่ายที่ดีนั่น คือการฝึกนิสัยการขับถ่ายให้ลูกนั่นเอง โดยเริ่มต้นง่ายๆ
- เริ่มฝึกให้ลูกบอกความต้องการได้ ด้วยคำง่ายๆ เช่น "ฉี่" หรือ "อึ" เมื่อต้องการขับถ่าย โดยในช่วงแรก คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องสังเกตและสอบถามลูกก่อน เมื่อลูกแสดงอาการที่จะปวดถ่าย งอแง หรือจับผ้าอ้อม แล้วย้ำคำว่า "ฉี่" หรือ "อึ" เพื่อให้ลูกเรียนรู้ถึงการบอกความต้องการของตัวเอง
- ลดการใส่ผ้าอ้อมลง จากทั้งวัน เป็นเฉพาะตอนกลางคืน หรือเมื่อต้องเดินทาง
- เริ่มให้ลูกนั่งกระโถน โดยเริ่มให้ลูกสนใจในการขับถ่ายด้วยการให้เขาเลือกกระโถนเอง เพื่อช่วยให้ลูกสนใจมากขึ้น โดยกำหนดการถ่ายหนัก-เบา ให้เป็นเวลา เช่น ทุกเช้าต้องนั่งกระโถนถ่ายอุจจาระ
- เมื่อฝึกลูกนั่งกระโถนจนชินแล้ว ให้เริ่มเปลี่ยนเป็นนั่งชักโครกโดยใช้ฝารองสำรับเด็ก และมีเก้าอี้รองขาเพื่อกันลูกพลัดตกหกล้ม
- ต้องไม่ตำหนิหรือหงุดหงิดใส่ เมื่อลูกถ่ายรดกางเกง เพื่อไม่ให้เขารู้สึกผิด แต่ให้ชมเชยเมื่อลูกขับถ่ายอย่างถูกต้อง
อาการท้องผูกของลูกนั้นป้องกันได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และกากใยสูง ที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตอาการของลูก หากท้องอืดบ่อยๆ และขับถ่ายน้อย หรือถ่ายลำบากต้องรีบปรับเรื่องการกินและกิจกรรมของลูก และอาจลองนวดเพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้กับลูก เพื่อลดความเจ็บปวดและช่วยให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น เพียงเท่านี้เรื่องท้องผูกของลูกก็จะเป็นเรื่องเล็กที่คุณพ่อคุณแม่รับมือได้แน่นอน
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- ลูกอ้วก ไม่มีไข้ ท้องเสีย เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ รับมืออย่างไรดี
- สีอุจจาระทารก สีแบบไหนปกติ สีแบบไหนที่คุณแม่ต้องระวัง
- ลูกท้องเสียให้กินอะไรดี ลูกท้องเสียกี่วันหาย อาการแบบไหนเรียกรุนแรง
- ทารกไม่ถ่ายกี่วันผิดปกติ ทารกตดบ่อย ลูกน้อยควรกินอะไรให้ขับถ่ายง่าย
- ทารกอุจจาระเป็นเม็ดมะเขือ อุจจาระเป็นเม็ด พร้อมวิธีป้องกันเบื้องต้น
- ทารกอุจจาระมีมูก ลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด แบบไหนที่ต้องระวัง
- ลูกปวดท้องตรงสะดือเป็น ๆ หาย ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกปวดท้อง
อ้างอิง:
- ทารกท้องผูก คุณแม่ควรทำอย่างไร, พบแพทย์
- หยุดอาการปวดท้องเรื้อรังของเด็กๆ แบบตรงจุด, โรงพยาบาลสมิติเวช
- ‘ท้องผูกในเด็ก’ ปัญหาเรื้อรัง…ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม, โรงพยาบาลไทยนครินทร์
- ท้องผูกในเด็ก, โรงพยาบาลขอนแก่นราม
- การฝึกขับถ่ายของลูกน้อย, ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
อ้างอิง ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2566