ลูกถ่ายวันละ 3-4 ครั้งปกติไหม ลูกถ่ายบ่อย อันตรายแค่ไหน
การขับถ่ายอุจจาระ ลักษณะที่เปลี่ยนไปของอุจจาระนั้น สามารถบ่งบอกสุขภาพของลูกได้ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ลูกผิดปกติ หรือมีอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ เกิดขึ้น การสังเกตการขับถ่ายของลูกน้อย สีของอุจจาระ การจดจำลักษณะของอุจจาระของลูกนั้นเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อาจละเลย ทำให้ทราบว่าร่างกายของลูกนั้นมีปัญหาสุขภาพอื่นหรือไม่
สรุป
- สำหรับเด็กวัยทารก จนกระทั่งเด็กโต (ซึ่งไม่รวมเด็กเล็กที่กินนมแม่) หากมีความถี่ของการถ่ายอุจจาระ 3 ครั้งขึ้นไป ถ่ายเป็นน้ำปริมาณมาก 1 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นมูกเลือด 1 ครั้งภายในเวลา 24 ชั่วโมง การถ่ายอุจจาระของเด็กในลักษณะนี้ ตามความหมายขององค์การอนามัยโลกแล้ว คืออาการท้องเสีย ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์
- ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว อาจขับถ่ายอุจจาระหลายวันครั้ง หรือวันละหลาย ๆ ครั้ง ทารกบางรายอาจไม่ขับถ่ายอุจจาระนาน 5-10 วัน โดยทารกไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ดูดนมได้ดี น้ำหนักขึ้นตามปกติ
- ลูกขับถ่ายบ่อย ถ่ายกะปริบกะปรอย อาจพิจารณาจากลักษณะของอุจจาระว่ามีเนื้อดี หรือเหลว เป็นน้ำออกมากกว่ากากอุจจาระ มีมูก เลือด มากกว่า 1 ครั้งหรือไม่ ลูกมีอาการ ปวดท้อง ไม่ร่าเริง งอแง ซึม มีไข้ ร่วมด้วยไหม หากลูกถ่ายกะปริบกะปรอย มีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ไม่ควรชะล่าใจ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์
- นอกจากการขับถ่ายบ่อยแล้ว สีของอุจจาระนั้นยังบ่งบอกสุขภาพของลูกได้ อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าเกิดความผิดปกติที่ระบบทางเดินอาหารของลูก หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ลูกถ่ายวันละ 3-4 ครั้งปกติไหม
- ลูกน้อยแต่ละช่วงวัย ควรถ่ายวันละกี่ครั้ง
- ลูกถ่ายกะปริบกะปรอยวันละ 3-4 ครั้ง เพราะอะไร
- ลูกถ่ายกะปริบกะปรอยแบบไหน เริ่มเป็นอันตราย
- สีของอุจจาระ บ่งบอกถึงความผิดปกติของลูกได้
- อาการร่วม เมื่อลูกถ่ายกะปริบกะปรอย
- วิธีดูแลลูกน้อยอย่างถูกต้อง ป้องกันลูกถ่ายกะปริบกะปรอย
ลูกถ่ายวันละ 3-4 ครั้งปกติไหม
สำหรับทารกแรกคลอด จะถ่ายอุจจาระวันละ 3-6 ครั้ง อาจถ่ายเกือบทุกครั้งที่กินนม ในช่วงหลังคลอดภายใน 24 ชั่งโมง จะถ่ายอุจจาระสีเทาปนดำที่เรียกว่า ขี้เทา ต่อมาเมื่อกินนมแล้วขี้เทาจะเปลี่ยนเป็นสีอุจจาระปกติภายใน 4-5 วัน โดยสีของขี้เทาจะเปลี่ยนสีจากสีเทาเข้มเป็นสีเขียว เขียวเหลือง และเป็นสีเหลืองในที่สุด
สำหรับเด็กวัยทารก จนกระทั่งถึงวัยเด็กโต (ซึ่งไม่รวมเด็กเล็กที่กินนมแม่ เด็กเล็กที่กินนมแม่มักจะถ่ายบ่อย แต่อุจจาระจะเป็นลักษณะเป็นเนื้อดี) หากมีความถี่ของการถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะถ่ายเหลวไปจากเดิม ถ่ายอุจจาระถี่ 3 ครั้งขึ้นไป ถ่ายเป็นน้ำปริมาณมาก 1 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นมูกเลือด 1 ครั้งภายในเวลา 24 ชั่วโมง การถ่ายอุจจาระของเด็กในลักษณะนี้ ตามความหมายขององค์การอนามัยโลกแล้ว คือ อาการลูกท้องเสีย ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์
ลูกน้อยแต่ละช่วงวัย ควรถ่ายวันละกี่ครั้ง
การขับถ่ายอุจจาระในเด็กเล็ก เป็นปัญหาสุขภาพที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจและสังเกตเป็นพิเศษ ทารกแต่ละคนก็มีความถี่ในการขับถ่ายแตกต่างกันไป ซึ่งการขับถ่ายของทารกจะมีการขับถ่ายตามช่วงวัย ดังนี้
- วัยแรกเกิดถึง 6 สัปดาห์ เด็กทารกแรกคลอดบางคนอาจมีการขับถ่ายมากถึง วันละ 8-10 ครั้ง ในบางคนอาจมีการขับถ่ายวันเว้นวัน
- ทารกวัยแรกเกิดถึง 3 เดือน จะขับถ่ายอุจจาระวันละ 2-3 ครั้ง ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว อาจอุจจาระหลายวันครั้ง หรือวันละหลายครั้ง แต่ในบางรายอาจไม่อุจจาระนาน 5-10 วัน โดยทารกไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ น้ำหนักขึ้นตามปกติ ดูดนมได้ดี
- วัย 3 เดือนขึ้นไป ถึง 6 เดือน อาจขับถ่ายอุจจาระวันละ 2-4 ครั้ง
- วัย 6 เดือนขึ้นไป อาจขับถ่ายวันละ 1-2 ครั้ง หรือ 5-28 ครั้งต่อสัปดาห์
ลูกถ่ายกะปริบกะปรอยวันละ 3-4 ครั้ง เพราะอะไร
โดยปกติเด็กแรกเกิดจะถ่ายอุจจาระเกือบทุกครั้งที่กินนม เด็กทารกแรกเกิดถึง 3 เดือน อาจขับถ่ายวันละ 2-3 ครั้ง หรือ 5-40 ครั้งต่อสัปดาห์ อายุ 3-6 เดือน อาจขับถ่ายวันละ 2-4 ครั้ง และอายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจขับถ่ายวันละ 1-2 ครั้ง หรือ 5-28 ครั้งต่อสัปดาห์ เด็กทารกอาจจะไม่ได้ขับถ่ายทุกวัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นอาการท้องผูกเสมอไป ให้สังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย หากลูกน้อยขับถ่ายบ่อย 3-4 ครั้ง ถ่ายเป็นน้ำ 1 ครั้งขึ้นไป หรือทารกถ่ายเป็นมูกเลือด 1 ครั้งภายในเวลา 24 ชั่วโมง การอุจจาระของเด็กในลักษณะนี้ อาจทำให้มีอาการท้องเสียได้ ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์
ลูกถ่ายกะปริบกะปรอยแบบไหน เริ่มเป็นอันตราย
การที่ลูกถ่ายบ่อย ๆ ถ่ายกะปริบกะปรอย คุณพ่อคุณแม่อาจพิจารณาจากลักษณะของอุจจาระว่ามีเนื้อดี หรือเหลวเป็นน้ำออกมากกว่ากาก อุจจาระมีมูกเลือดมากกว่า 1 ครั้ง หรือมีลักษณะต่างไปจากเดิมจากที่เคยขับถ่ายเป็นประจำไหม ลูกงอแง ปวดท้อง ไม่ร่าเริง ซึม มีไข้ อาเจียนร่วมหรือเปล่า หากลูกถ่ายกะปริบกะปรอย มีอาการร่วมเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์
สีของอุจจาระ บ่งบอกถึงความผิดปกติของลูกได้
สีอุจจาระของทารกเปลี่ยนไปจากชนิดอาหารที่ลูกทาน และอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าเกิดความผิดปกติที่ระบบทางเดินอาหารของลูก หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่า สีอุจจาระของลูกเปลี่ยนไป มีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์
- อุจจาระสีเหลือง เป็นสีอุจจาระปกติ แต่หากอุจจาระเป็นสีเหลือง มีกลิ่นเหม็น มีความมัน อาจเป็นสัญญาณของภาวะการดูดซึมสารอาหารของร่างกายผิดปกติได้
- อุจจาระสีน้ำตาล เป็นสีอุจจาระปกติ อุจจาระที่มีสีค่อนไปทางสีน้ำตาลเกิดจากน้ำดีในตับทำหน้าที่ระหว่างการย่อยอาหาร อุจจาระสีน้ำตาลนี้ บ่งบอกถึงการทำงานระบบทางเดินอาหาร และระบบย่อยอาหารที่เป็นปกติ มีสุขภาพที่ดี
- อุจจาระสีเขียว อาจเกิดจากการทานยา หรืออาหารบางชนิด เช่น ธาตุเหล็กที่ผสมในนม, ผักโขม, อาหารที่ใส่สีผสมอาหารสีเขียว นอกจากนี้ อุจจาระสีเขียว ของลูกน้อย อาจเกิดจากการที่เด็กมีภาวะท้องร่วง ซึ่งอุจจาระสีเขียวนี้เกิดจากภาวะที่อาหารผ่านลำไส้ไปอย่างรวดเร็ว ทำให้แบคทีเรียในลำไส้ไม่สามารถทำปฏิกิริยากับบิลิรูบินในน้ำดี และดูดซึมกลับได้
- อุจจาระสีเหลืองซีด หรือสีขาว เกิดจากการอุดตันในท่อน้ำดี ทำให้ไม่มีน้ำดีในอุจจาระ มักพบได้ในเด็กที่เป็นโรคท่อน้ำดีตีบตัน ทารกจะมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อุจจาระสีขาว เหลืองซีด พบได้ในทารกอายุ 2 สัปดาห์ขึ้นไป หากไม่ได้รับการผ่าตัดก่อนอายุ 2 เดือน อาจทำให้ตับที่มีน้ำดีคั่งอยู่มีการอักเสบ ทำให้ทารกตับแข็ง เสี่ยงเสียชีวิตได้ อีกสาเหตุที่ทำให้อุจจาระสีเหลืองซีด อาจเกิดจากการทานยาบางชนิด จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุ
- อุจจาระสีแดง เกิดจากการมีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง คือ ลำไส้เล็กส่วนปลาย ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก อุจจาระเป็นเลือดสีแดง มีสาเหตุหลายอย่าง เช่น ภาวะลำไส้กลืนกัน แผลในลำไส้ หรือโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หากอุจจาระมีมูกเลือดปนด้วย อาจเกิดจากการอักเสบของผนังลำไส้ การติดเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจเกิดจากการทานยาและอาหารที่ทำให้อุจจาระมีสีแดง เช่น ยาปฏิชีวนะ cefdinir หรือทานมะเขือเทศ แก้วมังกรสีแดง บีทรูท
- อุจจาระสีดำ อาจเป็นเพราะทานยา หรือทานอาหารที่ทำให้อุจจาระมีสีดำ เช่น ธาตุเหล็ก องุ่นดำ บลูเบอร์รี่ แต่หากสีอุจจาระสีดำคล้ายยางมะตอย มีกลิ่นเหม็นคาว อาจส่งสัญญาณว่า เกิดแผลในทางเดินอาหาร มีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน ซึ่งทั้งนี้อาจเกิดจากเนื้องอก การอักเสบ หรือภาวะหลอดเลือดโป่งพอง
อาการร่วม เมื่อลูกถ่ายกะปริบกะปรอย
เด็กเล็กเป็นช่วงวัยที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจและดูแลเป็นพิศษ เพราะเป็นช่วงวัยที่เปราะบาง อาการร่วมต่าง ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตลูก หากลูกถ่ายกะปริบกะปรอย มีดังนี้
- มีไข้ ปวดศีรษะ ลูกอาเจียน หรือชัก
- กินนมและอาหารได้น้อยลงไม่เหมือนเดิม
- อ่อนเพลีย ซึม ไม่ร่าเริง
- ปวดท้อง งอแง
- น้ำหนักลดลง ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม
- มีภาวะขาดน้ำ เบ้าตาลึก กระหม่อมบุ๋ม
- เหนื่อยหอบ ริมฝีปากแห้ง
- ถ่ายอุจจาระเหลว มีน้ำออกมามากกว่ากาก 3 ครั้งขึ้นไป ต่อวัน
- ถ่ายเป็นมูกเลือด หรือถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 10 ครั้ง ต่อวัน
วิธีดูแลลูกน้อยอย่างถูกต้อง ป้องกันลูกถ่ายกะปริบกะปรอย
การป้องกันดูแลหากลูกขับถ่ายกะปริบกะปรอย มีวิธีดูแลดังนี้
- สร้างภูมิต้านทานให้ลูก ด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- ให้วัคซีนป้องกันโรคท้องเสียจากเชื้อโรต้า ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
- ถ่ายอุจจาระในที่ที่ถูกสุขลักษณะ
- คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ดูแลควรล้างมือก่อนหยิบจับอาหาร ปรุงอาหารให้ลูก หรือล้างมือหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือหลังการเข้าห้องน้ำ
- ให้ลูกทานอาหารที่สุกสะอาดไม่มีแมลงวันตอม
- ล้างผัก ผลไม้ ที่ประกอบอาหารให้ลูกให้สะอาด
- หากจะเก็บอาหารควรเก็บไว้ในตู้เย็น ก่อนให้ลูกทานควรอุ่นให้ร้อนเสมอ
- ทำความสะอาดของใช้ลูกทุกอย่างให้สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรคสะสม
- สอนให้เด็ก ๆ ล้างมือให้เป็นนิสัย เช่น ก่อนทานอาหาร หรือ หลังเข้าห้องน้ำ
- กำจัดขยะเพื่อไม่ให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน
การสังเกตการขับถ่ายอุจจาระ ลักษณะหรือสีอุจจาระทารก มีความสำคัญมาก ๆ กับการดูแลสุขภาพของลูก นอกจากจะบ่งบอกโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรละเลยที่จะหมั่นสังเกตการขับถ่ายของลูก เพื่อจะได้ทราบถึงภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และจะได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างทันเวลา
นอกจากนี้คุณแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะในนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด มีจุลินทรีย์สุขภาพ บีแล็กทิส (B. lactis) และ 2’FL ซึ่งเป็น HMO (โอลิโกแซกคาไรด์ที่พบในนมแม่) ซึ่งจุลินทรีย์สุขภาพ บีแล็กทิส (B. lactis) เป็นหนึ่งในจุลินทรีย์สุขภาพในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และยังเป็นโพรไบโอติก ที่สามารถส่งต่อเพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ลูกน้อย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- ลูกท้องผูก ลูกท้องอืดไม่ถ่ายทำไงดี พร้อมวิธีนวดท้องให้ทารกถ่าย
- ทารกท้องอืด ลูกไม่สบายท้อง ทำยังไงดี พร้อมวิธีแก้ทารกท้องอืด
- ทารกท้องเสีย ทารกถ่ายเหลว อุจจาระทารกท้องเสีย อันตรายไหม
- ลูกอุจจาระแข็งทําไงดี ลูกถ่ายแข็งเป็นก้อน พร้อมวิธีดูแลลูกน้อย
- ลูกถ่ายไม่ออกร้องไห้ ลูกท้องผูกทำไงดี พร้อมวิธีดูแลลูกถ่ายยาก
- ทารกไม่ถ่ายกี่วันผิดปกติ ทารกตดบ่อย พร้อมวิธีแก้ทารกไม่ถ่าย
- สีอุจจาระทารก ลักษณะอุจจาระทารกปกติหรือผิดปกติ แบบไหนต้องระวัง
- ลูกอุจจาระสีเขียวอันตรายไหม ทารกอุจจาระสีเขียว บอกอะไรได้บ้าง
- ทารกอุจจาระเป็นเม็ดมะเขือ พร้อมวิธีป้องกันเมื่อทารกอุจจาระเป็นเม็ด
- ทารกอุจจาระมีมูก ลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด แบบไหนที่ต้องระวัง
- ลูกท้องเสียให้กินอะไรดี ลูกท้องเสียกินอะไรได้บ้าง แบบไหนเรียกรุนแรง
- ลูกปวดท้องตรงสะดือเป็น ๆ หาย ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลลูกน้อย
อ้างอิง:
- “ลักษณะทั่วไปของทารกแรกเกิด” สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้..เพื่อดูความผิดปกติ, โรงพยาบาลพญาไท
- โรคท้องเสียในเด็ก, แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข
- ท้องผูกในเด็ก เรื่อง (ไม่) เล็ก ที่พ่อแม่ต้องรู้!, โรงพยาบาลศิครินทร์
- ทารกท้องผูก คุณแม่ควรทำอย่างไร, pobpad
- ท้องผูกในเด็ก, โรงพยาบาลขอนแก่น ราม
- สีอุจจาระ บอกสุขภาพ, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- สีของอุจจาระสำคัญอย่างไร, สมาคมกุมารเวชศาสตร์ทางเดินอาหารและตับแห่งประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
- ลูกน้อยท้องเสียบ่อย ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก, โรงพยาบาลบางปะกอก 3
- 4 อาการสำคัญของโรคท้องเสียในเด็กที่ต้องรีบมาพบแพทย์, โรงพยาบาลนครธน
- 6 วิธีรับมือเมื่อลูกท้องเสีย, โรงพยาบาลบางปะกอก
- อุจจาระบอก(โรค)อะไรได้บ้าง, โรงพยาบาลสมิติเวช
อ้างอิง ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง