ทารกท้องเสียมีสาเหตุจากอะไร อุจจาระทารกท้องเสียมีลักษณะอย่างไร
การขับถ่ายของลูก เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่คุณแม่ต้องคอยใส่ใจและหมั่นสังเกต เพราะหากมีอาการผิดปกติ เช่น ทารกท้องเสีย อุจจาระร่วง ก็อาจเป็นอันตรายต่อลูกได้ ในวันนี้เราจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องอาหารท้องเสียในทารก ว่าเกิดจากอะไร มีวิธีดูแลเบื้องต้นอย่างไรบ้าง
สรุป:
- คุณแม่ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ประกอบกับอาการทารกท้องเสีย จะได้รู้ว่า ลูกกำลังไม่สบาย ต้องพาไปหาหมอทันที
- ลักษณะอุจจาระของทารกท้องเสีย มักจะมีลักษณะเหลวใส มีน้ำออกมามากกว่ากากอุจจาระ และมีปริมาณขับถ่ายเยอะมากจนผิดปกติ
- หากทารกที่ท้องเสียมีอาการ เช่น มีไข้สูง อาเจียน ริมฝีปากแห้ง หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยหอบ ถ่ายเป็นมูก หรือมูกเลือดควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมได้ทันท่วงที
เด็กท้องเสียมักเกิดจากสาเหตุใด?
อาการท้องเสียในทารกนั้น สามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือพยาธิ เป็นต้น ซึ่งทารกจะได้รับเชื้อต่าง ๆ เหล่านี้จากการสัมผัสกับสิ่งสกปรก หรือสิ่งปนเปื้อน และยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกได้แก่
- เด็กที่กินนมแม่
อาการท้องเสียที่พบได้ในเด็กที่กินนมแม่นั้น อาจเกิดจากการปนเปื้อนในอาหารที่คุณแม่ให้นมรับประทานมา หรือจากการที่คุณแม่รับประทานยาปฏิชีวนะบางชนิดที่อาจก่อให้เกิดอาการท้องเสียแบบอ่อน ๆ ได้
- เด็กที่กินนมผง
สำหรับเด็กที่กินนมผงนั้น จะมีโอกาสพบอาการท้องเสียได้บ่อยกว่าเด็กที่กินนมแม่ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ นมผงนั้นเป็นนมวัว ซึ่งแน่นอนว่านมวัวนั้น ย่อยยากกว่านมแม่ และอาจเกิดอาการแพ้โปรตีนในนมวัวซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียตามมาได้เช่นกัน
แบบไหนที่เรียกได้ว่าทารกท้องเสีย
เนื่องจากอุจจาระของทารกนั้น ไม่ได้เป็นก้อนเหมือนกับผู้ใหญ่เสียทีเดียว อีกทั้งยังมีปริมาณในการขับถ่ายต่อวันค่อนข้างเยอะ การสังเกตลักษณะของอุจจาระ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการเฝ้าดูว่า ลูกของเรามีอาการท้องเสียหรือไม่ โดยในเบื้องต้นสามารถสังเกตได้จากอาการผิดปกติเช่น ถ่ายเหลวใสเป็นน้ำมากกว่ากากใยเกิน 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน ลูกมีอาการงอแง ซึม ไม่ร่าเริง ถ่ายเป็นมูกเลือด อาจมีไข้และอาเจียนร่วมด้วย เป็นต้น
เด็กทารกท้องเสียและภาวะขาดน้ำ อาจส่งผลถึงชีวิต
สาเหตุที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจกับอาการท้องเสียในทารกเป็นพิเศษนั้น นอกจากจะเป็นอาการเจ็บป่วยที่ทำให้ลูกทรมานแล้ว การที่ลูกน้อยท้องเสียยังอาจส่งผลร้ายแรงถึงชีวิตได้ หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที โดยภาวะที่เป็นอันตรายจากการท้องเสียนั่นก็คือ ภาวะขาดน้ำ เพราะการขับถ่ายที่มากผิดปกติ จะทำให้ร่างกายของทารกสูญเสียน้ำมากเกินไป จนส่งผลต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ลูกท้องเสีย VS ลูกถ่ายเหลว เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง?
ความแตกต่างระหว่างทารกท้องเสีย กับทารกถ่ายเหลวนั้น อาจดูเหมือนว่าแยกกันได้ยาก แต่จริง ๆ มีความแตกต่างที่ชัดเจน จนสามารถแยกได้ เช่น ถ่ายเหลวที่ไม่ท้องเสียจะมีกากใยปนมามากกว่า ในขณะที่อุจจาระของทารกท้องเสียจะมีลักษณะเป็นน้ำเหลวใส และในบางกรณีก็อาจจะมีมูกเลือดปนมาในอุจจาระของทารกท้องเสียด้วย
วิธีสังเกตุอาการทารกท้องเสีย คุณแม่ควรพิจารณาจากอะไร?
อย่างแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องพิจารณาจากลักษณะของอุจจาระลูก ว่าเป็นแค่การถ่ายเหลวปกติทั่วไป หรือว่าเป็นอุจจาระของทารกท้องเสีย นอกจากนี้ก็ต้องคอยสังเกตจากอาการของลูก ว่าลูกมีไข้หรือไม่ งอแงผิดปกติหรือเปล่า มีอาการอาเจียนไหม ลูกไม่ยอมกินนมรึเปล่า กินนมได้น้อยลงหรือไม่ เป็นต้น
ลักษณะอุจจาระทารกท้องเสียเป็นอย่างไร?
ลักษณะอุจจาระของทารกท้องเสียนั้น มักจะมีลักษณะเหลวใส มีน้ำออกมามากกว่ากากอุจจาระ และมีปริมาณขับถ่ายเยอะมากจนผิดปกติ นอกจากนี้อาจมีการถ่ายเป็นมูกหรือมูกเลือดอีกด้วย
คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกน้อยที่มีอาการท้องเสียอย่างไร?
วิธีการดูแลลูกน้อยที่มีอาการท้องเสีย คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ให้ลูกดื่มนมแม่ต่อได้ เพราะในน้ำนมแม่มีประโยชน์ต่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกแข็งแรงสู้เชื้อโรคได้ เพราะในน้ำนมแม่นั้นมีสารอาหารกว่า 200 ชนิด ช่วยเสริมสร้างร่างกาย อาทิ จุลินทรีย์สุขภาพในนมแม่ B. lactis ที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของสุขภาพทางเดินอาหาร รวมไปถึงสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการทำงานของสมองของลูกน้อย อย่าง สฟิงโกไมอีลิน ดีเอชเอ เป็นต้น
- หากลูกดื่มนมผง อาจต้องเปลี่ยนเป็นนมที่ปราศจากแล็กโตส ให้ลูกดื่มต่อเนื่องเป็นเวลา 1 สัปดาห์โดยประมาณ แล้วค่อยกลับมาดื่มนมปกติหลังจากลูกหายดีแล้ว ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์เพื่อช่วยให้คำแนะนำ
- หากลูกอยู่ในวัยที่เริ่มการเสริมอาหารแล้ว ควรให้ลูกรับประทานอาหารอ่อน อาหารที่ย่อยง่าย เพื่อให้ลำไส้สามารถดูดซึมสารอาหารได้ง่าย ควรงดน้ำผลไม้ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
วิธีบรรเทาอาการทารกท้องเสีย
คุณแม่อาจช่วยบรรเทาอาการท้องเสียในทารก เช่น
- ให้ลูกดื่มนมแม่บ่อยขึ้น
- ให้ลูกได้รับวัคซีนโรต้า ในช่วงวัย 2เดือน, 4 เดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้า
- ปรับอาหารการกินของคุณแม่ให้นม หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจกระตุ้นอาการท้องเสียของลูกน้อย
วิธีดูแลเบื้องต้นเมื่อลูกท้องเสีย
เมื่อสังเกตและยืนยันได้แล้วว่าลูกน้อยมีอาการท้องเสีย คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลด้วยวิธีเบื้องต้นดังต่อไปนี้
- สังเกตอาการว่าทรุดลงหรือไม่ ยังถ่ายเหลวต่อเนื่องเกิน 4 วัน หรือถ่ายเหลวเป็นน้ำมากกว่ากากอุจจาระเกิน 10 ครั้งต่อวันหรือไม่ หากมีอาการดังกล่าว ให้พาลูกไปหาหมอ
- ให้ลูกดื่มนมแม่บ่อยขึ้น ในกรณีที่ลูกดื่มนมแม่เป็นหลัก
- ปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำ หรือทำการรักษา เรื่องการเปลี่ยนนมผงให้ลูก โดยอาจเลือกนมปราศจากแล็กโตส
สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อพบว่าลูกท้องเสีย
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำเมื่อลูกท้องเสียมีดังต่อไปนี้
- ไม่ดูแลความสะอาด ทั้งความสะอาดของมือที่ต้องสัมผัสตัวลูก และความสะอาดของสภาพแวดล้อม อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ชิดกับลูก
- รับประทานอาหารที่กระตุ้นอาการท้องเสียให้แย่ลง ในกรณีที่คุณแม่ให้ลูกดื่มนมแม่ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันสูง กากใยสูง ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส และอาหารที่มีน้ำตาลสูง
อาการหรือข้อบ่งชี้ ที่ควรพาลูกพบแพทย์
หากทารกที่ท้องเสียมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที
- มีไข้สูง
- อาเจียน
- ริมฝีปากแห้ง
- หัวใจเต้นเร็ว
- เหนื่อยหอบ
- ถ่ายเป็นมูก หรือมูกเลือด
อ้างอิง
- Diarrhea in Babies, webmd
- Diarrhea (0-12 Months), Seattle Children’s Hospital
- Diarrhea in infants, medlineplus
- Causes for baby diarrhea, healthline
- ลูกน้อยท้องเสียบ่อย ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก, โรงพยาบาลบางปะกอก 3
- อย่าปล่อยให้ร่างกายอยู่ใน… “ภาวะขาดน้ำ”, Phyathai Hospital
- ปกป้องลูกน้อยจากไวรัสโรต้าได้ ด้วยวัคซีนโรต้า!, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
อ้างอิง ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2023