ลูกตัวร้อน ทำอย่างไรดี พร้อมวิธีสังเกตอาการลูกมีไข้ไม่ทราบสาเหตุ

ลูกตัวร้อนอย่างเดียว ลูกมีไข้ไม่ทราบสาเหตุ รับมือยังไงดี

10.05.2024

เมื่อลูกตัวร้อน หากคุณพ่อคุณแม่วัดไข้เด็กแล้วมีอุณหภูมิตั้งแต่ 37.8 องศาเซลเซียสขึ้นไป แสดงว่ามีไข้ แต่ถ้าวัดไข้แล้วอุณหภูมิตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้สูง หากดูแลลดไข้เบื้องต้นด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น เช็ดตัว ให้ดื่มน้ำให้เพียงพอ ให้สวมเสื้อผ้าที่เบาสบาย ให้นอนในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวกแล้วไข้ยังไม่ลด ให้สังเกตดูว่าไข้สูงต่อเนื่อง หรือมีอาการอื่น เช่น มีผื่นขึ้นตามตัว อุจจาระมีเลือดปน ตาบวมและแดง ไปจนถึงอาการหายใจลำบาก อาเจียน อาการชัก แบบนี้ไม่ปกติแน่นอน ต้องรีบพาไปพบคุณหมอโดยด่วน

headphones

PLAYING: ลูกตัวร้อนอย่างเดียว ลูกมีไข้ไม่ทราบสาเหตุ รับมือยังไงดี

อ่าน 8 นาที

 

สรุป

  • ลูกเป็นไข้ไม่ทราบสาเหตุ ส่วนหนึ่งอาจมาจากอากาศก็เป็นได้ เพราะปัจจุบันสภาพอากาศไม่ค่อยดีนัก ปัญหาฝุ่นควันที่เป็นอันตรายอาจทำให้ลูกเป็นไข้ไม่สบายได้
  • การเช็ดตัวที่ถูกต้อง สามารถช่วยลดไข้ได้ ช่วยในการลดอุณหภูมิในร่างกายที่ดี โดยการเช็ดตัว เป็นการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อช่วยถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย
  • อาการไข้ที่เป็นอันตราย สังเกตได้ ดังนี้ ไข้ไม่ลดลง มีผื่นขึ้นตามตัว อุจจาระมีเลือดปน ตาบวมและแดง ไปจนถึงอาการหายใจลำบาก อาเจียน อาการชัก แบบนี้ไม่ปกติแน่นอน ต้องรีบพาไปพบคุณหมอโดยด่วน

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

สาเหตุที่ทำให้ลูกตัวร้อน มีอะไรบ้าง

สาเหตุของอาการตัวร้อน และมีอาการไข้ เกิดจากภาวะที่ร่างกายตอบสนองกับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย โดยร่างกายจะหลั่งสารเคมีออกจากเซลล์เม็ดเลือดขาว ไปกระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้ผลิตความร้อนออกมาเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้น ทำให้ลูกมีอาการตัวร้อน หน้าแดง ตัวแดง เกิดจากเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังเกิดการขยายตัวเพื่อระบายความร้อนภายในร่างกาย เด็กบางคนอาจมีอาการเท้าเย็น มือเย็นและซีดร่วมด้วย อาจทำให้ดูไม่ออกว่าตอนนี้ไข้กำลังขึ้นสูง ต้องวัดอุณหภูมิร่างกายจึงจะทราบว่ามีไข้ อาการตัวร้อนของลูกมีสาเหตุ ดังนี้

  • ติดเชื้อ ทำให้ร่างกายเกิดอาการเจ็บป่วย เป็นกลไกธรรมชาติในการต่อสู้กับเชื้อโรค
  • การสร้างภูมิคุ้มกัน ร่างกายก่อภูมิคุ้มกันเมื่อได้รับวัคซีน เมื่อรับวัคซีนแล้ว ร่างกายจะมีกลไกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้น ๆ และอาการไข้ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกลไกดังกล่าวได้ สวมใส่เสื้อผ้าที่หนาเกินไป และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศไม่ถ่ายเท ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะในเด็กทารกหรือเด็กเล็ก ที่ร่างกายยังปรับอุณหภูมิได้ไม่ดีเท่ากับเด็กที่โตกว่าหรือผู้ใหญ่

 

ลูกมีไข้ไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นเพราะไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

ลูกเป็นไข้ไม่ทราบสาเหตุอาจเกิดจาก ไซนัสอักเสบ เฉียบพลัน คือ อาการโพรงจมูกบวมและติดเชื้อทำให้ขัดขวางการระบายของน้ำมูก ส่งผลให้น้ำมูกคั่งค้างในโพรงจมูก ทำให้หายใจไม่สะดวก ปวดศีรษะตุบ ๆ บนใบหน้า และมีอาการบวมรอบดวงตา ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน มีข้อสังเกต ดังนี้

  • ปกติแล้วไซนัสอักเสบมักมีอาการ 7-10 วัน หากไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย หากมีอาการนานเกินกว่า 7 วัน ควรรีบไปพบแพทย์
  • ปวด บวม แดงบริเวณรอบดวงตา
  • ปวดตึงคอ
  • มึน งง สับสน
  • มีไข้สูงหรือมีไข้ติดต่อมากกว่าหนึ่งสัปดาห์
  • เห็นภาพซ้อนหรือสายตาเปลี่ยน
  • มีอาการแย่ลงหลังจากที่ดูเหมือนอาการจะดีขึ้น

 

รู้ก่อนเริ่มวัดไข้ให้ลูก อุณหภูมิเท่าไหร่ ถึงเรียกว่ามีไข้

เมื่อลูกมีอาการตัวร้อน หากคุณพ่อคุณแม่วัดไข้ได้ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ถือว่าลูกมีไข้ ไข้แบ่งออกเป็นไข้ต่ำ และไข้สูง ดังนี้

  • ไข้ต่ำ อุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง 37.5-38.4 องศาเซลเซียส
  • ไข้สูง อุณหภูมิจะมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป

 

ลูกตัวร้อนอย่างเดียว ไม่มีอาการอื่น ผิดปกติไหม

อุณหภูมิร่างกายถูกควบคุมโดยสมองส่วนไฮโปโทลามัส สมองส่วนนี้จะคอยส่งสัญญาณให้ร่างกายรักษาอุณหภูมิในระดับที่เหมาะสม ประมาณ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยในช่วงเช้า ร่างกายมักจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าทุกช่วงเวลาของวัน ถือเป็นเรื่องปกติ และอุณหภูมิร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อร่างกายเคลื่อนไหว

 

วิธีดูแลลูกตัวร้อนเบื้องต้น ต้องทำอะไรบ้าง

1. เช็ดตัว

การเช็ดตัวเป็นการระบายความร้อนออกจากร่างกาย โดยอาศัยน้ำช่วยระบายความร้อน เพื่อให้หลอดเลือดขยายตัว น้ำที่ใช้เช็ดตัวอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 27-37 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส

 

2. ให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ

เมื่อลูกมีไข้ การดื่มน้ำเยอะ ๆ ช่วยลดไข้ ระบายความร้อนในร่างกาย และชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปขณะเป็นไข้ด้วย

 

3. ให้สวมเสื้อผ้าที่เบาสบาย

ทำให้ร่างกายระบายความร้อนได้ดี

 

4. ให้นอนในห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก

ห้องที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนเกินไป หรือหนาวเย็นเกินไป

 

สังเกตอาการลูกตัวร้อน แบบไหนอันตราย

1. ไข้สูงต่อเนื่อง

ไข้สูงต่อเนื่อง หากไข้สูง 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป เช็ดตัวลดไข้ก็แล้ว แต่ไข้ยังไม่ยอมลด แบบนี้ต้องรีบพาไปพบคุณหมอโดยด่วน

 

2. มีผื่นขึ้นตามตัว

อาการมีผื่นขึ้นตามตัว อาจเป็นอาการของไข้ออกผื่น มีอาการตัวร้อนพร้อมกับมีผื่นหรือตุ่มขึ้นตามตัว มักเกิดจากการติดเชื้อในกลุ่มไวรัส ได้แก่ หัดเยอรมัน อีสุกอีใส หรือว่าไข้ มีส่วนน้อยที่เกิดจากอาการแพ้ยา

 

3. อุจจาระมีเลือดปน

อุจจาระมีเลือดปนหรือถ่ายเป็นมูกเลือด สิ่งเหล่านี้อาจแสดงถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ลำไส้ ควรรีบไปพบคุณหมอ

 

4. ตาบวมและแดง

หากลูกมีไข้ตัวร้อน แล้วมีอาการตาบวมและแดงร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาอาการและรักษาให้ทันท่วงที

 

5. หายใจลำบาก

หายใจเหนื่อยหอบ อาจเป็นอาการโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืดที่รุนแรง หรือบางครั้งอาจมีบางสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรไว้วางใจ เพราะเพียงไม่กี่นาทีอาจส่งผลถึงชีวิตได้ ควรรีบไปพบแพทย์

 

6. อาเจียน

อาการอาเจียน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายขาดน้ำรุนแรง โดยเฉพาะเด็กที่ไม่สามารถดื่มน้ำหรือเกลือแร่ได้ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบไปพบคุณหมออาจเกิดการติดเชื้อหรืออักเสบลุกลามได้

 

7. อาการชัก

อาการชักในเด็ก มักเกิดหลังจากมีไข้สูง หากชักเกิน 10 นาที หรือชักซ้ำ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

 

ลูกตัวร้อนไม่ทราบสาเหตุ แบบไหนถึงเรียกว่าผิดปกติ

 

ลูกตัวร้อนบ่อยแค่ไหน ถึงเรียกว่าผิดปกติ

ปกติแล้วอาการไข้ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มักจะหายขาดได้ภายใน 5-7 วัน หากยังมีไข้ติดต่อกันเกินกว่านั้น อาจมีเพียงไข้ต่ำ ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุหรือโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

 

วิธีเช็ดตัวให้ลูกตัวร้อน ช่วยลดไข้ได้ไว

เมื่อลูกตัวร้อน นอกจากการรับประทานยาลดไข้ การเช็ดตัวลดไข้ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยในการลดอุณหภูมิในร่างกายช่วยถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกายลูกได้

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม

  • ผ้าขนหนูผืนเล็ก 2-4 ผืน
  • ผ้าขนหนูสำหรับเช็ดตัว
  • กะละมัง หรืออ่างสำหรับใส่น้ำเช็ดตัว ใส่น้ำอุ่นประมาณ ½ ของกะละมัง

 

วิธีการเช็ดตัวที่ถูกต้อง ทำได้ดังนี้

  • จัดเตรียมสถานที่ อากาศถ่ายเท ไม่ควรเปิดแอร์ขณะเช็ดตัว
  • ถอดเสื้อผ้าของลูก
  • ปูผ้าเช็ดตัวรองส่วนที่เช็ด เพื่อป้องกันน้ำเปียกที่นอน
  • ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น บิดน้ำให้หมาด ๆ เริ่มต้นเช็ดบริเวณใบหน้า และพักผ้าขนหนูนั้นไว้ที่หน้าผาก ซอกคอ ทำซ้ำประมาณ 3-4 ครั้ง
  • ต่อจากนั้น เช็ดบริเวณหน้าอกและลำตัว
  • ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำบิดหมาด เช็ดแขนด้านไกลตัวก่อน เริ่มจากปลายแขนเข้าหาต้นแขน และเช็ดรักแร้ วิธีเช็ดให้เช็ดในลักษณะย้อนรูขุมขน เพื่อระบายความร้อน เช็ดซ้ำประมาณ 3-4 ครั้ง ให้พักผ้าไว้บริเวณข้อพับแขน และรักแร้
  • นำผ้าขนหนูชุบน้ำบิดหมาด เช็ดแขนด้านใกล้ตัว โดยทำเช่นเดียวกัน
  • เช็ดขาด้านไกลตัว จากปลายขาเข้าหาต้นขา และขาหนีบประมาณ 3-4 ครั้ง และพักผ้าบริเวณใต้เข่า ขาหนีบ
  • นำผ้าขนหนูชุบน้ำบิดหมาด เช็ดขาด้านใกล้ตัว โดยทำเช่นเดียวกัน
  • จากนั้นให้ลูกนอนตะแคงเพื่อเช็ดบริเวณหลัง เริ่มตั้งแต่ก้นกบขึ้นไปถึงบริเวณคอทำซ้ำประมาณ 3-4 ครั้ง
  • นำผ้าขนหนูมาเช็ดตัวให้แห้ง แล้วใส่เสื้อผ้าให้ลูก

 

อาการไข้ ตัวร้อน หากอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 37.5-38.4 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้ต่ำ หากลูกมีอุณหภูมิมากกว่า 38.4 องศาเซลเซียสขึ้นไป ถือว่ามีไข้สูง อาการไข้หากเกิดจากเชื้อไวรัสมักจะหายภายใน 5-7 วัน ถ้ายังมีไข้ต่อเนื่อง รับประทานยาลดไข้แล้ว เช็ดตัวลดไข้แล้ว แต่ไข้ยังไม่ลด หรือมีอาการอื่น ๆ เช่น อาเจียน หายใจลำบาก อาการชัก ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนได้

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

อ้างอิง:

  1. เมื่อลูกน้อยมีไข้สูงตอนกลางคืน ต้องทำอย่างไร, โรงพยาบาลเปาโล
  2. หวัดหรือภูมิแพ้กันแน่…, Medpark Hospital
  3. ไม่แพ้..แม้อากาศเปลี่ยน (โรคแพ้อากาศ – Allergic Rhinitis), โรงพยาบาลสมิติเวช
  4. ภาวะไข้ในเด็ก, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. ลูกตัวร้อน พ่อแม่ควรดูแลอย่างไร?, pobpad
  6. เมื่อลูกไม่สบาย ลดไข้อย่างไรให้ถูกวิธี, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
  7. 7 อาการเฝ้าระวังของลูกน้อย ที่ต้องรีบไปพบแพทย์, โรงพยาบาลเปาโล
  8. ดูแลตนเองเมื่อเป็นไข้ออกผื่น, โรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์
  9. การเช็ดตัวเพื่อลดไข้ผู้ป่วย Tepid Sponge, โรงพยาบาลวิภาวดี
  10. สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยตั้งแต่แรกคลอดด้วยการฉีด "วัคซีน", โรงพยาบาลเปาโล
  11. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน, โรงพยาบาลเมดพาร์ค
  12. โรคภูมิแพ้จมูกในเด็ก (Allergic rhinitis), โรงพยาบาลเวชธานี

อ้างอิง ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567
 

บทความแนะนำ

10 ของเล่นฝึกสมาธิเด็ก เสริมไอคิว พร้อมฝึกสมาธิลูกน้อย

10 ของเล่นฝึกสมาธิเด็ก เสริมไอคิว พร้อมฝึกสมาธิลูกน้อย

รวมของเล่นฝึกสมาธิเด็ก ช่วยเสริมพัฒนาการสมองและพัฒนาการทางร่างกายของลูก ให้ลูกมีพัฒนาการทางที่ดี ของเล่นฝึกสมาธิเด็กแบบไหน ที่เหมาะกับลูกน้อยบ้าง ไปดูกัน

เด็กพัฒนาการช้าเป็นยังไง พร้อมวิธีสังเกตเมื่อเด็กมีพัฒนาการล่าช้า

เด็กพัฒนาการช้าเป็นยังไง พร้อมวิธีสังเกตเมื่อเด็กมีพัฒนาการล่าช้า

เด็กพัฒนาการช้าจะสังเกตเห็นได้ยังไง ลูกพัฒนาการล่าช้าเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง เด็กพัฒนาการล่าช้า มีวิธีป้องกันไหม และพ่อแม่สามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกได้ยังไงบ้าง

เด็กเรียนรู้ช้า ไอคิวต่ำ มีลักษณะอย่างไร พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูก

เด็กเรียนรู้ช้า ไอคิวต่ำ มีลักษณะอย่างไร พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูก

ลูกไอคิวต่ำ เกิดจากสาเหตุอะไร เด็กเรียนรู้ช้าจะส่งผลเสียอะไรกับลูกบ้าง คุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้ยังไงว่าเด็กไอคิวต่ำ พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อย

อาการออทิสติกเทียม ลูกไม่สบตาเรียกไม่หัน เสี่ยงออทิสติกหรือเปล่า

อาการออทิสติกเทียม ลูกไม่สบตาเรียกไม่หัน เสี่ยงออทิสติกหรือเปล่า

ออทิสติกเทียม คืออะไร ลูกไม่สบตาเรียกไม่หัน อาการแบบนี้เสี่ยงเป็นออทิสติกเทียมหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลูกน้อยอย่างไร พร้อมวิธีรับมือเบื้องต้น

เด็กสมาธิสั้น ลูกอยู่ไม่นิ่ง พร้อมวิธีรับมือที่พ่อแม่ควรรู้

เด็กสมาธิสั้น ลูกอยู่ไม่นิ่ง พร้อมวิธีรับมือที่พ่อแม่ควรรู้

เด็กสมาธิสั้น เกิดจากสาเหตุอะไร ลูกอยู่ไม่นิ่งและซนมาก คืออาการของเด็กสมาธิสั้นหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่มีวิธีสังเกตอาการของลูกได้อย่างไร พร้อมวิธีรับมือ

ลูกพูดติดอ่าง ลูกพูดไม่ชัด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมือปัญหาลูกพูดติดอ่าง

ลูกพูดติดอ่าง ลูกพูดไม่ชัด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมือปัญหาลูกพูดติดอ่าง

เด็กพูดติดอ่าง เกิดจากสาเหตุอะไร อาการลูกพูดไม่ชัดเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมไหม คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร เมื่อลูกพูดไม่ชัด พร้อมวิธีรับมือปัญหา อาการลูกพูดติดอ่าง

ลูกพูดช้า ลูกรู้ทุกอย่างแต่ลูกไม่พูด แบบนี้ผิดปกติไหม

ลูกพูดช้า ลูกรู้ทุกอย่างแต่ลูกไม่พูด แบบนี้ผิดปกติไหม

ลูกพูดช้า ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยไหม ลูกไม่พูดสักที จะเป็นอันตรายหรือเปล่า เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง พร้อมวิธีฝึกลูกพูดตามช่วงวัย เสริมพัฒนาการลูกน้อย

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก