พัฒนาการเด็กทารก 2 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการทุกด้าน
เด็กทารก 2 เดือน มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง คุณแม่มือใหม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้อย่างไร ให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี พร้อมเคล็ดลับเสริมพัฒนาการเด็กทารก 2 เดือน
ยินดีด้วยค่ะ กับคุณพ่อคุณแม่ที่ผ่านพัฒนาการลูกน้อยในเดือนแรกมาได้ อาจจะเหนื่อยบ้างโดยเฉพาะสำหรับพ่อแม่มือใหม่กับการเลี้ยงทารกแรกเกิดเป็นครั้งแรก พัฒนาการเด็ก 2 เดือนนี้ ทำให้พ่อแม่หายเหนื่อยได้ด้วยรอยยิ้มชัดๆ จากลูกน้อยเป็นครั้งแรก นอกจากนั้น ลูกน้อยจะเริ่มมีพฤติกรรม และพัฒนาการทางด้านร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และพ่อแม่จะต้องทำอย่างไร เพื่อช่วยส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 2 เดือนได้บ้าง มาดูกันเลยค่ะ
1. น้ำหนักและส่วนสูงพัฒนาการเด็ก 2 เดือน
พัฒนาการเด็กทารก 2 เดือน น้ำหนักของทารกชาย 2 เดือนจะอยู่ที่ประมาณ 4 - 6 กิโลกรัม และสูงประมาณ 53 - 60 เซ็นติเมตร และทารกหญิงจะมีน้ำหนักประมาณ 4 - 5.5 กิโลกรัม และสูงประมาณ 51 - 60 เซ็นติเมตร
2. พัฒนาการเด็ก 2 เดือน ทางร่างกาย
พัฒนาการเด็ก 2 เดือน ลูกน้อยจะเริ่มน้ำลายไหลมากขึ้น แม้จะเลอะเทอะมากขึ้น แต่ไม่ต้องห่วงเรื่องความสะอาดว่าจะเปื้อนไปยังสิ่งของต่าง ๆ ของลูกน้อย เพราะธรรมชาติของลูกน้อยสร้างน้ำลายมาเพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ที่สำคัญ ลูกน้อยจะเริ่มชันคอได้เมื่อนอนคว่ำ พร้อมกับเริ่มพยายามตะแคง โดยใช้แขนยันตัวเองขึ้น และสามารถยกแขนทั้งสองข้าง ขึ้นมาเล่นโดยเหยียดแขนออก ห่างจากลำตัวเพื่อพยายามเอื้อมมือคว้าของเล่นได้ในช่วง 3 เดือน คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการลูกด้วยการเขย่าของเล่นพัฒนาการเด็กให้ลูกยกศีรษะมองตาม หรือใช้นิ้วมือสัมผัสฝ่ามือลูก จับแขนขาของลูกให้งอ เหยียด ขยับไปมา และยกขึ้นลงบ่อย ๆ
3. พัฒนาการเด็ก 2 เดือน ด้านการมองเห็น
เด็กในวัย 2 เดือนจะเริ่มมองเห็นภาพชัดในระยะ 7-8 นิ้ว และจ้องมองตามสิ่งของที่เคลื่อนไหวได้แล้ว เมื่อเข้าสู่วัย 3 เดือน ลูกจะเริ่มใช้มือและตาได้สัมพันธ์กันมากขึ้นค่ะ สามารถส่งเสริมพัฒนาการลูกได้ง่ายๆ ด้วยการวางของเล่นให้ลูกมองตาม หรืออาจอุ้มลูกหันหน้าเข้าหาแม่ ยิ้มแย้มสบตาลูกบ่อย ๆ หรืออาจเอียงหน้าไปมาให้ลูกมองตาม และสัมผัสลูกอย่างอ่อนโยน
4. พัฒนาการเด็ก 2 เดือน ด้านสติปัญญา
ในช่วงเดือน 2 นี้ลูกน้อยจะสามารถจดจำเสียง ใบหน้า และสัมผัสของคุณแม่ได้แล้วค่ะ พร้อมกับมีปฏิกิริยากับเสียงที่ได้ยินและเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ได้ การส่งเสริมพัฒนาการลูกคือต้องหมั่นจ้องมองหน้าลูก พร้อมกับโอบกอด สัมผัสลูกบ่อยๆ และอุ้มลูกร้องเพลงเห่กล่อมต่าง ๆ
5. พัฒนาการเด็ก 2 เดือน ด้านอารมณ์และจิตใจ
ลูกน้อยจะแสดงออกว่าชอบใจเวลามีคนอุ้ม เริ่มยิ้มแย้มตอบได้อย่างชัดเจน และรับรู้ถึงความแตกต่างของระยะใกล้-ไกลของสิ่งของต่าง ๆ พร้อมกับเริ่มแสดงอาหารเบื่อเสียงหรือภาพที่ซ้ำ ๆ กัน อีกทั้งยังตอบโต้ต่อสิ่งเร้าแทบทุกชนิดได้ และหยุดร้องได้ทันทีที่เห็นหน้าคน การส่งเสริมพัฒนาการลูกในช่วงนี้คือ คุณพ่อคุณแม่ควรสนใจตอบสนองลูกทันที เช่น หากลูกส่งเสียง ให้รีบหันหน้าสบตาทันที และหมั่นยิ้มพูดคุยเล่นกับลูกบ่อย ๆ ค่ะ
6. พัฒนาการเด็ก 2 เดือน ทางด้านภาษา
พัฒนาการเด็กทารก 2 เดือน จะเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ได้แล้ว อีกทั้งยังพยายามทำเสียงต่าง ๆ ในคอ ทำท่าเงี่ยหูฟัง สามารถแยกเสียงต่าง ๆ และส่งเสียงโต้ตอบเสียงพูดและรอยยิ้มของคุณแม่ได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการลูกในช่วงวัยนี้ด้วยการสนใจตอบสนองลูกทันทีนะคะ เช่น หากลูกส่งเสียงให้รีบหันหน้าสบตา หมั่นเรียกชื่อลูก ทำเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ เล่นกับลูก ร้องเพลง และอ่านนิทานให้ลูกฟังด้วยจะยิ่งดีมากค่ะ
เคล็ดลับช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 2 เดือน
วิธีที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กทารก 2 เดือนได้ดี คือการที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ อ่านหนังสือ นิทานให้ลูกฟัง แม้ลูกจะยังไม่เข้าใจ แต่สามารถช่วยในการพัฒนาการเรียนรู้ แถมยังช่วยให้ลูกรู้สึกสบาย สงบ และคุ้นชินกับเสียงแม่ได้อีกด้วยค่ะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อ้างอิง
- คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5 ปีสำหรับผู้ปกครอง สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต
- กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข 3. ส่วนสูงและน้ำหนักของพัฒนาการเด็ก 2 เดือน อ้างอิงจาก กรมอนามัย: http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/files/AW-WeightHeight.PDF
บทความแนะนำ

1,000 ชื่อจริงมงคล ตั้งชื่อลูกดีเสริมชีวีเป็นสุข
เตรียมพร้อมเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่อีกหนึ่งสเต็ป ด้วยการเลือกชื่อที่เป็นสิริมงคลให้กับลูกน้อย วันนี้เรามีชื่อจริงมงคลถึง 1,000 ชื่อมาให้ทุกคนเลือกกันอย่างจุใจค่ะ โดยเราจะแยกเป็นหมวดหมู่ชื่อของเด็กที่เกิดในแต่ละวันในสัปดาห์ ซึ่งจะเข้ามาเสริมสิริมงคลรอบด้านในชีวิตของน้อง ๆ ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขค่ะ ถ้าพร้อมแล้วไปชมพาเหรดชื่อมงคลกันเลยค่ะ

15 คำถามเรื่องเบบี๋ ที่แม่มือใหม่อยากรู้
ทารกเป็นวัยที่มีความบอบบาง ต้องการการปกป้องดูแลมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้เบบี๋ตัวน้อย ๆ ยังไม่สามารถสื่อสารความต้องการ หรือความเจ็บปวดออกมาเป็นคำพูดได้ ดังนั้น คุณแม่มือใหม่จึงมีเรื่องมากมายที่สงสัยใคร่รู้อยู่เสมอ เราจึงรวบรวม 15 คำถามเรื่องเบบี๋ ที่คุณแม่มือใหม่อยากรู้ มาฝากดังนี้

โภชนาการลูกวัย 0-1 ปี ลูกวัยนี้กินอะไรดีนะ
สำหรับช่วงวัยทารกขวบปีแรก หรือ วัย 0-1 ปีแรกของลูกนั้น การได้รับโภชนาการที่ดี ถูกต้อง เหมาะสม มีส่วนสำคัญสำหรับพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูกเป็นอย่างมาก ดังนั้นคุณแม่จึงควรใส่ใจและดูแลเรื่องโภชนาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญ การเสริมอาหารของลูกในแต่ละวัยมีความแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ ในวันนี้เราจะมาแนะนำอาหารที่เหมาะสมกับลูกตั้งแต่แรกเกิด (0 เดือน) จนถึง 1 ขวบปีกัน