7 วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด ฝึกลูกพูดช้าให้พูดเร็วตามช่วงวัย

7 วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด ฝึกลูกพูดช้าให้พูดเร็วตามช่วงวัย

16.09.2021

เด็กจะพูดคำที่มีความหมายได้คำแรกเมื่ออายุประมาณ 1 ขวบ การฝึกลูกพูดในช่วงขวบปีแรกมีความสำคัญต่อพัฒนาการเด็กเป็นอย่างมาก เพราะการฝึกพูดเป็นวิธีที่จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการทางด้านการสื่อสารเหมาะสมตามช่วงวัย หากพ่อแม่พยายามสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกน้อยผ่านการเล่นที่เหมาะสมกับวัย รวมถึงพยายามพูดคุยกับลูกอยู่เป็นประจำ จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และยังสามารถเห็นถึงพัฒนาการของลูกรักได้อย่างชัดเจน

headphones

PLAYING: 7 วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด ฝึกลูกพูดช้าให้พูดเร็วตามช่วงวัย

อ่าน 12 นาที

 

สรุป

  • การพูดคุยกับลูกเป็นประจำ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ จะทำให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตพัฒนาการและอาจเห็นถึงความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นของลูกน้อยได้
  • ในเด็กเล็กจะมีพัฒนาการตามช่วงวัย เมื่ออายุ 3-6 เดือน จะเริ่มส่งเสียงได้ พอถึงอายุ 6-9 เดือน จะรับรู้ชื่อของตนเอง หลังจากนั้นจะเริ่มเปล่งเสียงเป็นคำที่มีความหมายได้ตั้งแต่อายุประมาณ 9 เดือนเป็นต้นไป
  • อาการที่อาจบ่งบอกว่าลูกน้อยมีพัฒนาการช้า เช่น ลูกน้อยไม่การตอบสนองหรือมีปฏิกิริยาต่อเสียง ไม่จ้องหน้าพ่อแม่ พอถึงอายุประมาณ 10 เดือนแล้วยังไม่เริ่มออกเสียงบริเวณริมฝีปาก หรือ การใช้เสียงผิดปกติ เป็นต้น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เมื่อไหร่ ลูกน้อยถึงจะเริ่มพูด

โดยทั่วไปแล้วเด็กจะเริ่มพูดเป็นคำให้ได้ยินชัด ๆ เมื่ออายุประมาณ 12-18 เดือน ซึ่งเด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการการพูดช้าหรือเร็วแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่แล้วเด็กอายุ 3-6 เดือนจะเริ่มออกเสียงได้ ส่วนเด็กอายุ 6-9 เดือน จะสามารถรับรู้ชื่อของตนเองได้

 

แบบไหนเรียกว่าลูกมีความผิดปกติเกี่ยวกับการพูด

พัฒนาการทางด้านการสื่อสารที่ช้าอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากโรคทางพันธุกรรม ปัญหาการได้ยิน ภาวะออทิสติก รวมทั้งขาดการฝึกพูดและการกระตุ้นอย่างเหมาะสม ดังนั้น หากลูกน้อยมีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติ เช่น การไม่ตอบสนองต่อเสียงในช่วง 10 เดือนแรก หรือไม่สามารถเข้าใจในคำสั่งหรือไม่พูดคำแรกในช่วง 15 เดือน ซึ่งโดยทั่วไปเด็กที่ถือว่ามีปัญหาพูดช้า คือเด็กอายุ 2 ขวบแล้ว แต่ไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายได้เลย อย่างไรก็ตามคุณแม่ไม่ต้องรอให้ถึง 2 ขวบ หากพบความผิดปกติด้านพัฒนาการที่ช้า ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และในทางกลับกัน หากลูกน้อยพูดเก่งและพูดไม่หยุด แต่เป็นเรื่องที่ไม่สอดคล้องกันหรือคนละเรื่องในขณะนั้น ก็อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่ควรสังเกตเช่นกัน

 

พัฒนาการด้านการสื่อสารของเด็กอายุ 1 – 12 เดือน ในแต่ละช่วงวัย

พัฒนาการด้านการสื่อสารในวัยขวบปีแรก ไปจนถึง 3 ขวบมีความสำคัญ คุณแม่ควรตรวจสอบพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ดังต่อไปนี้ 

1-2 เดือนเริ่มมีการเล่นเสียงในลำคอ เช่น การร้องไห้ ไอ หรือหาว และจะแสดงอาการตกใจจนสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงดังกะทันหัน
3-4 เดือนเริ่มยิ้มเมื่อได้ยินเสียงคุณพ่อคุณแม่หรือคนคุ้นเคย เริ่มหัวเราะ ทำเสียงอ้อแอ้ เสียงสูงต่ำ จากการพยายามพูดกับพ่อแม่ และจะเงียบเสียงเมื่อต้องการฟังพ่อแม่พูด
5-6 เดือนเริ่มเล่นเป่าน้ำลาย เริ่มหันหาเสียงเสียงรบกวนที่ไม่ดังมากนัก เริ่มเล่นเสียงบริเวณริมฝีปาก สามารถเลียนแบบเสียงของผู้อื่นได้ มีการเล่นเสียงทีละพยางค์หรือสองพยางค์ เช่น “บา” “ดา” “มา”รวมถึงมีการตอบสนองเมื่อมีการเรียกชื่อของตัวเอง
7-8 เดือนเริ่มมีเสียงจากการปิดปาก สามารถเล่นเสียงหลายพยางค์ได้ เช่น “ดาดาดา” “บาบาบา” เป็นต้น สามารถจำชื่อตัวเองได้แล้ว รู้จักการเขินอายหรือกลัวคนแปลกหน้า สามารถฟังคำถามง่าย ๆ มีการตอบสนองออกมาด้วยภาษาท่าทางแทนการพูดได้ เช่น มองดู ชี้ หยิบ
9-10 เดือนเริ่มเปล่งเสียงเป็นคำที่มีความหมาย เช่น หม่ำ ๆ ป่าป๊า และเลียนเสียงแปลก ๆ เช่น เสียงสุนัขเห่า เสียงของจิ้งจก ทำตามคำสั่งง่าย ๆ เช่น บ๊ายบาย การส่งจูบ
1 ขวบพูดเสียงดังขึ้น พูดเป็นคำเดี่ยวที่มีความหมายได้ 2-3 คำ เช่น พ่อ แม่ หม่ำ ร่วมกับการใช้ภาษากายกายช่วยมากขึ้น
2 ขวบเริ่มพูดเป็น 2 คำต่อกันเป็นประโยคำได้ เช่น เอามา ไปเที่ยว และสามารถพูดคำที่มีความหมายได้ 50-400 คำ
3 ขวบพูดเป็นประโยค บอกชื่อตัวเองได้ ชอบพูดคนเดียวขณะที่ทำสิ่งต่าง ๆ และชอบถามคำถามมากขึ้น

 

7 วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด ฝึกลูกพูดและคุยกับลูกน้อย

การเตรียมพร้อมก่อนที่จะฝึกลูกพูดควรเริ่มทำในช่วงที่ลูกน้อยอารมณ์ดี พร้อมสำหรับการเรียนรู้ไปพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ หากลูกอยู่ในช่วงอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด หรือร้องไห้โยเย แสดงว่าน้องยังไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ ควรรอให้ลูกสงบลงก่อน  สำหรับวิธีกระตุ้นให้ลูกน้อยพูด มีวิธีดังนี้

 

วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด ฝึกลูกพูดและคุยกับลูกน้อย

 

1. เล่นแบบมีปฏิสัมพันธ์

การเล่นกับลูกช่วยฝึกฝนพัฒนาการทางด้านการพูดและการสื่อสารได้เป็นอย่างดี โดยพ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมในการฝึกลูกพูดของลูกด้วย เช่น เล่นจ๊ะเอ๋กับลูก เล่นซ่อนของ เล่านิทานให้ลูกฟังพร้อมใช้ท่าทางประกอบเพื่อให้ลูกสนใจและสนุกสนานมากขึ้น หรือจะร้องเพลงสำหรับเด็กให้ลูกฟัง โดยพ่อแม่ต้องพยายามร้องซ้ำ ๆ ร้องบ่อย ๆ เพราะเด็กจะใช้เวลาในการจดจำในสิ่งที่ได้ยิน การเล่นของเด็กเสริมพัฒนาการ คือ การเรียนรู้ การฝึกทักษะ การแก้ปัญหา และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่จำเป็นต่อพัฒนาการของลูก

 

2. คุยกับลูกบ่อย ๆ

การที่พ่อแม่คุยกับลูกบ่อย ๆ นับเป็นการฝึกพูดให้ลูกอยู่ในตัว ที่สำคัญคือ ควรพูดให้กระชับ ใช้น้ำเสียงที่เน้นคำพร้อมกับทำกิจกรรมไปด้วย เช่น ถอดเสื้อ กินข้าว อาบน้ำ สำหรับเด็กเล็กอาจจะใช้วิธีตั้งคำถามกับลูก เช่น คนไหนแม่ หมาอยู่ไหน กล้วยอยู่ไหน หลังจากนั้นควรรอให้ลูกตอบคำถามเพื่อสังเกตว่าลูกเข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่พูดหรือไม่ หากลูกไม่แน่ใจพ่อแม่สามารถช่วยลูกได้โดยการจับมือชี้ไปที่คำตอบของคำถามนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งใจฟังเมื่อลูกพยายามพูด อย่าใช้วิธีการตัดบทเวลาลูกพยายามพูด เพราะจะเป็นการปิดโอกาสที่ลูกจะเปล่งเสียงพูดออกมา ซึ่งทำให้ลูกไม่ได้ฝึกการใช้ภาษาด้วยตัวเองอีกด้วย

 

3. สบตากับลูกน้อย

วิธีกระตุ้นให้ลูกพูดที่ดี จำเป็นต้องมองที่ใบหน้าของลูก เพราะลูกน้อยจะใช้วิธีการสบตา และอ่านรูปปากของพ่อแม่เช่นเดียวกัน หากพ่อแม่ต้องการสอนคำศัพท์อะไร ให้หยิบสิ่งนั้นมาไว้ใกล้ปากแล้วพูดคำนั้นออกมา เด็กจะทำความเข้าใจต่อสิ่งนั้นพร้อม ๆ สังเกตรูปปาก เพราะการที่จะเริ่มสอนคำศัพท์ใหม่ ๆ นั้น พ่อแม่ต้องให้ลูกเข้าใจต่อสิ่งที่ต้องการสอนก่อน

 

4. สอนพูดเป็นคำ ๆ

การเริ่มต้นสอนและฝึกพูด พ่อแม่ควรเลือกสอนคำเดี่ยว ๆ ที่ลูกน้อยสามารถมองเห็นรูปปากได้ชัดเจน รวมถึงต้องเลือกคำที่สามารถออกเสียงได้ง่าย เช่น คำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ “ม” ได้แก่ แม่ หมา หรือ คำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ “ป” ได้แก่ ปาก ปลา ปู เป็นต้น รวมถึงควรเลือกคำที่อยู่ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน จะสามารถช่วยให้เด็กสามารถเชื่อมโยงคำนั้นได้ เกิดความเข้าใจต่อคำนั้นได้ดี และสามารถจดจำคำนั้นได้ในที่สุด

 

วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด ฝึกลูกพูด เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย

 

5. ออกเสียงให้ชัด

วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด จังหวะในการพูด การสื่อสารโต้ตอบ และการออกเสียงให้ชัดเจน เป็นสิ่งสำคัญมาก คุณพ่อคุณแม่ต้องพูดให้ช้าลง และออกเสียงให้ขัดเจน เพื่อให้ลูกน้อยได้เรียนรู้การออกเสียง พูดตามได้ โดยเริ่มจากเสียงพยัญชนะ ได้แก่เสียง “ม” “พ” “บ” “ป” ต่อมาจึงเพิ่มคำง่าย ๆในชีวิตประจำวัน เช่น นม น้ำ ข้าว หรือคำกริยา เช่น กิน นอน อาบน้ำ รวมไปถึงการชื่อคำเรียกคนในครอบครัว

 

พร้อมกันนี้ต้องสอนในด้านการจับจังหวะในการสื่อสารไปด้วย เช่น ถ้าลูกพ่อแม่เป็นคนเริ่มพูดคุยกับลูก ต้องรอให้ลูกตอบก่อนแล้วค่อยพูดกับลูกต่อ การพูดสลับกันแบบนี้จะทำให้ลูกน้อยเรียนรู้ว่าเมื่อใดเป็นการสิ้นสุดคำถามได้ เพื่อเป็นการบอกว่าตอนนี้ถามเสร็จแล้วลูกต้องตอบออกมา เช่น แม่ถามว่า “นี่อะไร” แต่ถ้าถามแล้วลูกไม่แสดงอาการ อาจจะกระตุ้นลูกโดยการจ้องหน้าแล้วถามอีกครั้ง แล้วพยายามเน้นคำ ออกเสียงให้ชัดเจน พร้อมกับพูดช้า ๆ ลูกจะได้พูดตามได้

 

หากลูกมีการเล่นระดับเสียงพ่อแม่ก็ควรออกเสียงสูงต่ำตามลูกด้วย ถ้าลูกสามารถพูดเป็นคำได้แล้ว พ่อแม่สามารถเริ่มสอนคำที่ยาวขึ้น หรือฝึกลูกพูดประโยคสั้น ๆ ได้

 

6. เน้นฝึกลูกพูด ให้ลูกพยายามสื่อสาร

กระบวนการเรียนรู้ของลูก พ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมในแบบค่อยเป็นค่อยไป และเปิดจังหวะให้ลูกพยายามสื่อสารด้วยตัวเองจากภาษาท่าทางต่าง ๆ อย่าบังคับให้ลูกพูด เช่น ให้ลูกชี้ตอบ เดินไปหยิบสิ่งของ เป็นต้น หากลูกมีการโต้ตอบแบบไม่เป็นภาษา หรือเป็นภาษาที่พูดแม่ไม่เข้าใจ พ่อแม่ควรพยายามเดาว่าลูกต้องการพูดอะไร แล้วพูดตอบในเรื่องนั้นออกมา

 

7. ชื่นชมลูก

การที่คุณพ่อคุณแม่ชื่นชมลูกน้อยในช่วงเวลาของการฝึกพูด จะทำให้ลูกอยากพัฒนาการพูดมากขึ้น ดังนั้นจึงควรชมเชยหรือให้รางวัล เช่น การปรบมือ หรือยิ้มแย้มให้กับลูก เมื่อลูกทำตามได้สำเร็จ แม้จะเป็นความสำเร็จเพียงเล็กน้อยก็ตาม เพราะคำชม เป็นกำลังใจที่เป็นแรงผลักดันให้ลูกอยากทำอะไรก็ตามให้สำเร็จ ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกน้อยเอง แม้ว่าสิ่งที่ต้องทำนั้นเป็นสิ่งที่ยากและไม่เคยทำมาก่อน การชื่นชมทำให้เด็กสามารถก้าวผ่านความกลัว ความยากลำบากไปได้ ดังนั้น คำชมเล็ก ๆ อาจเป็นวิธีกระตุ้นให้ลูกพูด และเป็นความสำเร็จในทุก ๆ ด้านของลูกในอนาคตได้

 

ลูกมีพัฒนาการช้าหรือไม่ สังเกตจากอะไร

โดยปกติแล้วเด็กทุกรายต้องได้รับการตรวจพัฒนาการตั้งแต่ช่วงวัยแรกเกิด ในเด็กทารกควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินตั้งแต่ช่วงแรก เพราะถ้าพบความผิดปกติในการได้ยินตั้งแต่ต้น จะสามารถรักษาได้ทันท่วงที เพื่อให้ลูกน้อยมีพัฒนาการพูดและการได้ยินกลับมาเป็นปกติได้ในอนาคต สำหรับอาการที่บ่งบอกว่าลูกน้อยมีพัฒนาการช้า อาจสังเกตได้ตามวัย ดังนี้

  • ช่วงวัยแรกเกิด ไม่มีการตอบสนองหรือปฏิกิริยาต่อเสียง เช่น ไม่ส่งเสียงร้องเมื่อมีเสียงดัง ลูกไม่ยอมจ้องหน้าพ่อแม่ขณะพูดคุยด้วย
  • อายุ 10 เดือน ไม่มีการเริ่มออกเสียงบริเวณริมฝีปาก เช่น “บา” “กา”
  • อายุ 15-18 เดือน พูดได้ทีละคำ ไม่มีการพูดคำ 2 คำที่ติดกัน
  • อาการพูดไม่ชัด พูดติดอ่าง ใช้เสียงผิดปกติ
  • พัฒนาการทางด้านภาษาไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตามช่วงวัย เช่น ไม่สบตา ไม่บอกความต้องการของตน ไม่ทำตามคำสั่ง ไม่เรียกพ่อแม่ เป็นต้น

 

ในเบื้องต้นนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็กกับแพทย์ตามช่วงอายุ 9 เดือน 18 เดือน  24 เดือน หรือ 30 เดือน เพื่อให้แพทย์ทำการประเมินพัฒนาการของลูก ถ้าตรวจแล้วพบว่าเด็กมีปัญหาเรื่องพัฒนาการ คุณหมอจะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงทีพร้อมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลลูกน้อยในอนาคตด้วย

 

กิจกรรมที่พ่อแม่ควรทำเพื่อพัฒนาการเด็ก ในช่วงขวบปีแรก

วัยขวบปีแรกนับเป็นช่วงเวลาทองของพัฒนาการของลูกน้อยในทุกด้าน โดยเฉพาะในด้านการสื่อสาร เมื่อคุณพ่อคุณแม่มีความเข้าใจและเสริมสร้างพัฒนาการได้อย่างถูกต้อง จะช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีและมีการเติบโตที่สมวัย ผ่านกิจกรรมดังต่อไปนี้

  • เด็กอายุ 1 เดือน จัดท่าให้ลูกนอนหงาย แล้วใช้เรียกชื่อหรือพูดคุยกับลูกจากทางด้านซ้ายสลับกับทางด้านขวา หากลูกน้อยมีการสะดุ้งตกใจให้ลดเสียงลง พร้อมกับสัมผัสที่ตัวลูก
  • เด็กอายุ 2 เดือน  คุณพ่อคุณแม่ยื่นหน้าเข้าหาลูกเว้นระยะห่างประมาณ 60 ซม. สบตาแล้วเริ่มพูดคุยด้วยเสียง “อู” อือ ในลำคอ แล้วหยุดให้ลูกน้อยทำเสียงตาม เมื่อลูกทำเสียงตามให้เปลี่ยนไปฝึกเสียง “อือ”
  • เด็กอายุ 3 - 4 เดือน ให้คุณพ่อคุณแม่ดคุยและเล่นกับลูกผ่านการสัมผัสจุดต่าง ๆ ของร่างกาย โดยใช้นิ้วกดที่บริเวณฝ่าเท้า เอว หน้าท้อง หรือลองใช้จมูกสัมผัสบริเวณหน้าผาก แก้ม ปากและหน้าท้องของหนูน้อย ให้มีน้ำหนักหนักเบาที่แตกต่างกัน
  • เด็กอายุ 5 - 6 เดือน สบตา พูดคุยกับลูก และทำเสียง “จุ๊บจุ๊บ” หรือ “วา..วา..” ให้ลูกน้อยดูหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้เด็กจดจำและเกิดการเลียนแบบทำตาม หากลูกน้อยไม่สามารถออกเสียงได้ เพื่ออาจจับมือลูกแล้วให้ลูกทำตาม
  • เด็กอายุ 7 - 9 เดือน ลองสื่อสารกับเด็กโดยให้ลูกน้อยพยายามเลียนเสียงและออกเสียงคำตามพ่อแม่ เช่น “มามา” “ปาปา” หรือ “หม่ำหม่ำ” เป็นต้น

    โดยเฉพาะหนูน้อยวัย 8 เดือน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สมองกำลังทำงานหนัก คุณพ่อคุณแม่ควรพูดกับกับลูกบ่อย ๆ โดยเน้นการพูดช้า ๆ ชัด ๆ เริ่มจากคำง่าย ๆ ใกล้ตัว พยายามให้ลูกได้มีการโต้ตอบออกมาให้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นการเปล่งเสียงหรือใช้ภาษาท่าทาง หรืออาจใช้เพลงเด็กเพื่อช่วยให้เกิดการจดจำ

  • เด็กอายุ 10 - 12 เดือน พยายามเล่นกับลูกโดยให้ลูกเลียนแบบท่าทางของพ่อแม่ เช่น โบกมือ ปรบมือ ถ้าลูกน้อยทำไม่ได้ให้ค่อย ๆ จับมือให้ลูกทำตาม พอลูกพอทำได้แล้วก็ค่อยไม่ต้องให้การช่วยเหลือ และลองนำของเล่นเสริมพัฒนาการเด็กที่ดึงดูดความสนใจแล้วลองยื่นให้ลูกดูแล้วถามว่า “หนูเอาไหม” ถ้าลูกน้อยต้องการแล้วค่อยยื่นให้

 

สุดท้ายนี้ วิธีกระตุ้นให้ลูกพูดที่ดีของเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นแบบอย่างการพูดที่ดี พร้อมไปกับการเน้นให้ลูกฟังอย่างเข้าใจ และตอบสนองด้วยท่าทางเสียก่อน ไม่จำเป็นต้องคาดคั้นให้ลูกพูดออกมา เพราะการฝึกลูกพูดและการสื่อภาษานั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ นอกจากการพูดออกเสียง เช่น ภาษาท่าทาง และภาษากาย คุณพ่อคุณแม่ควรพูดกับกับลูกบ่อย ๆ โดยเน้นการพูดช้า ๆ ชัด ๆ เริ่มจากคำง่าย ๆ ใกล้ตัว พยายามให้ลูกได้มีการโต้ตอบออกมาให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเปล่งเสียงหรือใช้ภาษาท่าทาง หรืออาจใช้เพลงเด็กเพื่อช่วยให้เกิดการจดจำ เป็นการกระตุ้นพัฒนาการเด็กเล็กที่ดีและเป็นวิธีกระตุ้นให้ลูกพูดได้อีกด้วย

 

บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย

 

 

อ้างอิง:

  1. คู่มือฝึกการพูดเบื้องต้น, สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต
  2. เช็กให้ชัวร์ ลูกพูดช้าไปหรือเปล่า, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
  3. ทำไงดี? ลูกพูดช้า...ไม่ยอมพูด, โรงพยาบาลพญาไท
  4. 7 เคล็ดลับฝึกพูด เสริมพัฒนาการเจ้าตัวน้อย, pobpad
  5. 12 วิธี สำหรับพ่อแม่สอนลูก“ฝึกพูด”, Ace-Con (Thailand)
  6. ความผิดปกติทางการพูด เรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ, โรงพยาบาลรามาธิบดี
  7. เด็กพูดไม่ชัด สาเหตุและวิธีการแก้ปัญหา, Hello Health Group
  8. การส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาในเด็ก, โรงพยาบาลสินแพทย์
  9. 5 เทคนิค ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาลูกน้อยวัยหัดพูด, โรงพยาบาลพญาไท

อ้างอิง ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2566

บทความแนะนำ

10 ของเล่นฝึกสมาธิเด็ก เสริมไอคิว พร้อมฝึกสมาธิลูกน้อย

10 ของเล่นฝึกสมาธิเด็ก เสริมไอคิว พร้อมฝึกสมาธิลูกน้อย

รวมของเล่นฝึกสมาธิเด็ก ช่วยเสริมพัฒนาการสมองและพัฒนาการทางร่างกายของลูก ให้ลูกมีพัฒนาการทางที่ดี ของเล่นฝึกสมาธิเด็กแบบไหน ที่เหมาะกับลูกน้อยบ้าง ไปดูกัน

เด็กพัฒนาการช้าเป็นยังไง พร้อมวิธีสังเกตเมื่อเด็กมีพัฒนาการล่าช้า

เด็กพัฒนาการช้าเป็นยังไง พร้อมวิธีสังเกตเมื่อเด็กมีพัฒนาการล่าช้า

เด็กพัฒนาการช้าจะสังเกตเห็นได้ยังไง ลูกพัฒนาการล่าช้าเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง เด็กพัฒนาการล่าช้า มีวิธีป้องกันไหม และพ่อแม่สามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกได้ยังไงบ้าง

เด็กเรียนรู้ช้า ไอคิวต่ำ มีลักษณะอย่างไร พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูก

เด็กเรียนรู้ช้า ไอคิวต่ำ มีลักษณะอย่างไร พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูก

ลูกไอคิวต่ำ เกิดจากสาเหตุอะไร เด็กเรียนรู้ช้าจะส่งผลเสียอะไรกับลูกบ้าง คุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้ยังไงว่าเด็กไอคิวต่ำ พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อย

อาการออทิสติกเทียม ลูกไม่สบตาเรียกไม่หัน เสี่ยงออทิสติกหรือเปล่า

อาการออทิสติกเทียม ลูกไม่สบตาเรียกไม่หัน เสี่ยงออทิสติกหรือเปล่า

ออทิสติกเทียม คืออะไร ลูกไม่สบตาเรียกไม่หัน อาการแบบนี้เสี่ยงเป็นออทิสติกเทียมหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลูกน้อยอย่างไร พร้อมวิธีรับมือเบื้องต้น

เด็กสมาธิสั้น ลูกอยู่ไม่นิ่ง พร้อมวิธีรับมือที่พ่อแม่ควรรู้

เด็กสมาธิสั้น ลูกอยู่ไม่นิ่ง พร้อมวิธีรับมือที่พ่อแม่ควรรู้

เด็กสมาธิสั้น เกิดจากสาเหตุอะไร ลูกอยู่ไม่นิ่งและซนมาก คืออาการของเด็กสมาธิสั้นหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่มีวิธีสังเกตอาการของลูกได้อย่างไร พร้อมวิธีรับมือ

ลูกพูดติดอ่าง ลูกพูดไม่ชัด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมือปัญหาลูกพูดติดอ่าง

ลูกพูดติดอ่าง ลูกพูดไม่ชัด เกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมือปัญหาลูกพูดติดอ่าง

เด็กพูดติดอ่าง เกิดจากสาเหตุอะไร อาการลูกพูดไม่ชัดเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมไหม คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร เมื่อลูกพูดไม่ชัด พร้อมวิธีรับมือปัญหา อาการลูกพูดติดอ่าง

ลูกพูดช้า ลูกรู้ทุกอย่างแต่ลูกไม่พูด แบบนี้ผิดปกติไหม

ลูกพูดช้า ลูกรู้ทุกอย่างแต่ลูกไม่พูด แบบนี้ผิดปกติไหม

ลูกพูดช้า ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยไหม ลูกไม่พูดสักที จะเป็นอันตรายหรือเปล่า เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง พร้อมวิธีฝึกลูกพูดตามช่วงวัย เสริมพัฒนาการลูกน้อย