การมองเห็นของทารก ลูกน้อยแต่ละช่วงวัย มองเห็นอะไรบ้าง
พัฒนาการด้านการมองเห็นของทารกเริ่มมีตั้งแต่แรกเกิดและพัฒนาอย่างเต็มที่ในวัย 2 ขวบ ทารกน้อยสามารถมองเห็นได้ตั้งแต่แรกเกิด แต่การใช้สายตานั้นยังไม่ชัดเจน การมองเห็นของทารกจะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเจริญเติบโต คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นเบื้องต้น เช่น อายุ 3 เดือน ไม่จ้องหน้าพ่อแม่ ดวงตามีลักษณะตาเหล่ ตาเข ตาส่อน เป็นต้น ซึ่งต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เท่านั้น
สรุป
- ดวงตาของทารกเจริญเติบโตขึ้นและมีพัฒนาการด้านการมองเห็นตั้งแต่คุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 4-5 สัปดาห์ ช่วงอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ทารกสามารถลืมตาและตอบสนองต่อแสงสว่างได้ การมองเห็นของทารกจะพัฒนาขึ้นตามการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงวัย
- ความผิดปกติด้านการมองเห็นของทารกเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในครรภ์ เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ การติดเชื้อในครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน อีสุกอีใส เชื้อแบคทีเรีย ซิฟิลิส ดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์ หรือการรับประทานยาบางชนิดที่มีผลเสียต่อทารกในครรภ์ ส่งผลให้ดวงตาของทารกอักเสบรุนแรง ตาเป็นต้อกระจก ต้อหิน หรือตาบอดได้
- ปัญหาการมองเห็นของทารกที่ต้องให้คุณหมอวินิจฉัย ได้แก่ ตาเหล่ ตาเข ตาเอียง ความผิดปกติทางสายตาบางชนิดรักษาได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก อาการต่าง ๆ ทางสายตาควรได้รับการรักษาไม่ควรปล่อยไว้เพียงเพราะคิดว่าโตขึ้นก็หายได้เอง อาจส่งผลเสียมากกว่าที่คิด
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- การมองเห็นของทารก 2-3 เดือน
- การมองเห็นของทารก 4-6 เดือน
- การมองเห็นของทารก 7-12 เดือน
- อาการผิดปกติทางสายตาที่พ่อแม่ควรสังเกต
- กิจกรรมช่วยกระตุ้นการมองเห็นของลูก
ดวงตาของทารกแรกเกิดไวต่อแสงจ้า เพราะรูม่านตาของทารกยังมีขนาดเล็กมาก ทารกจึงมองเห็นได้เพียงวงแคบ ๆ เท่านั้น การมองเห็นของทารกแรกเกิดจะเริ่มดีขึ้นเมื่อรูม่านตาของทารกขยายกว้างขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์หลังคลอด การมองเห็นของทารกสามารถมองได้กว้างขึ้น เมื่อทารกอายุครบ 1 เดือน ทารกจะมองเห็นได้ชัดที่สุดในระยะ 20-30 เซนติเมตร และจะมองเห็นสีตัดกันอย่างสีขาวดำ และสีที่ชัดเจนได้ดีกว่าสีทั่วไป นอกจากนี้ทารกสามารถจดจ่อกับวัตถุนั้นได้ในระยะเวลาสั้น ๆ
การมองเห็นของทารก 2-3 เดือน
การมองเห็นของทารกช่วงอายุ 2-3 เดือน ดวงตาของทารกยังทำงานไม่ประสานกันเท่าที่ควร เพราะกล้ามเนื้อตายังทำงานได้ไม่เต็มที่ ในช่วงนี้ทารกสามารถมองตามวัตถุที่เคลื่อนไหวได้ ในช่วงอายุ 3 เดือน การมองเห็นของทารกจะเริ่มจดจ่อกับวัตถุได้นานขึ้น
การมองเห็นของทารก 4-6 เดือน
การมองเห็นของทารกอายุ 4-6 เดือน เริ่มดีขึ้น ระดับการมองเห็นชัดเจนขึ้น มองภาพเป็นสี มองวัตถุแบบ 3 มิติได้อย่างสมบูรณ์ สามารถกะระยะได้ มองจ้องวัตถุที่เข้ามาใกล้ ๆ สามารถหันศีรษะมองตามวัตถุหรือคนที่เคลื่อนไหวไปมา
การมองเห็นของทารก 7-12 เดือน
การมองเห็นของทารกอายุ 7-12 เดือน พัฒนาการของทารกในวัยนี้ บางคนเริ่มคลาน บางคนเริ่มเกาะยืนและเดิน มีการเคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องแคล่วและรวดเร็วมากขึ้น การทำงานของสายตาประสานงานกันระหว่างการมองเห็นและการเคลื่อนไหวร่างกาย มองเห็นในระยะไกล ๆ ได้ ใช้สายตากะระยะวัตถุ ใช้นิ้วมือหยิบ กำวัตถุได้อย่างแม่นยำ ทารกอายุตั้งแต่ 7 เดือน ถึง 1 ปี ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา ในวัยนี้โรคตาที่พบได้บ่อย เช่น ตาเข ตาเหล่ ท่อน้ำตาอุดตัน หากตรวจพบจักษุแพทย์จะทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
อาการผิดปกติทางสายตาที่พ่อแม่ควรสังเกต
1. ปัญหาสายตาและการมองเห็นของทารกคลอดก่อนกำหนด
การตั้งครรภ์ปกติครบกำหนดคลอดอยู่ที่ 40 สัปดาห์ หรือ 280 วัน องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่า ทารกที่คลอดก่อน 37 สัปดาห์ คือ ทารกที่คลอดก่อนกำหนด และควรได้รับการตรวจประเมินความผิดปกติของจอตาจากการคลอดก่อนกำหนด (ROP) หลังคลอดตั้งแต่อายุ 4-6 สัปดาห์เพราะมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสายตาและการมองเห็นได้มากกว่าทารกที่คลอดปกติ
2. ตาเหล่ผิดปกติ
เด็กทารกตาเหล่ ตาเข มีลักษณะความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ที่ทำให้ตาดำของดวงตาทั้งสองข้างไม่อยู่ในแกนตั้งและแกนนอนเดียวกัน เมื่อมองตรง ตาดำข้างหนึ่งจะไม่อยู่ตรงกลาง แต่จะเหล่เขไปทางหัวตา หางตา ด้านบน หรือด้านล่าง พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนอาจเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติ คิดว่าโตขึ้นอาการดังกล่าวจะหายไป ความจริงแล้วอาการตาเขนับว่าเป็นโรคอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อการมองเห็น และบางรายอาจมีสัญญาณของโรคร้ายได้อีกด้วย เช่น จอประสาทตาผิดปกติตั้งแต่กำเนิด มะเร็งที่จอตา จอประสาทตาลอกตัว หรือต้อกระจกในเด็ก
3. สายตาขี้เกียจ
โรคสายตาขี้เกียจ (Amblyopia) เกิดจากความผิดปกติด้านการมองเห็นของทารกตั้งแต่แรกคลอดไปจนถึงอายุ 7 ปี ทำให้การมองเห็นภาพลดลง เป็นผลจากความผิดปกติของพัฒนาการของการมองเห็นในทารกหรือช่วงวัยเด็ก สายตาขี้เกียจเกิดจากการขนส่งกระแสรับภาพระหว่างตาและสมองทำงานไม่เต็มที่ ทำให้สมองรับภาพจากตาเพียงข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง หรือสมองเพิกเฉยต่อการรับภาพของตาข้างที่ด้อยกว่า ทำให้การมองเห็นของตาข้างนั้นลดลง ซึ่งเกิดจากความบกพร่องของอวัยวะรับภาพ แปลผลภาพ เช่น เกิดแผลบริเวณจุดรับภาพจอตา เส้นประสาทตาฝ่อ รวมถึงความเสียหายของสมองส่วนที่แปลภาพจากการขาดออกซิเจน จากการส่งกระแสรับภาพระหว่างดวงตาและสมองทำงานไม่เต็มที่ สมองรับภาพจากดวงตาเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้สายตาข้างใดข้างหนึ่งมองเห็นไม่ชัดกับอีกข้างหนึ่ง หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นระยะยาว ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของลูกในอนาคตได้
อาการที่สังเกตได้
- ตาเข
- การทำงานของดวงตาสองข้างไม่ประสานกัน
- สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงมากเกินไป หรือสายตาไม่เท่ากันระหว่างสองข้าง
- มองภาพไม่ชัดเจน โดยเฉพาะภาพที่มีความละเอียดสูง
4. ท่อน้ำตาอุดตัน
ท่อน้ำตาอุดตันมักเกิดขึ้นในช่วงวัยก่อน 1 ปี เป็นช่วงที่ดวงตาของทารกมีโอกาสที่จะมีเยื่อบาง ๆ มาขวางทางระบายน้ำตาจนมีอาการน้ำตาเอ่อ สำหรับทารกบางคนมีอาการท่อน้ำตาอุดตันตั้งแต่แรกเกิด เนื่องจากมีความผิดปกติของระบบทางเดินน้ำตาในขณะที่อยู่ในครรภ์
อาการที่สังเกตได้
- ขณะที่ทารกร้องไห้และหยุดร้อง ดวงตาจะไม่แดงแบบคนร้องไห้ แต่มีน้ำตาเอ่อคลอเบ้าตาอยู่เสมอ ถ้ามีอาการอุดตันมากน้ำตาจะท่วมท้นหยดลงมาต้องซับตลอดเวลา
- น้ำตาแห้งเพียงข้างเดียว อีกข้างตาแฉะอยู่ตลอดเวลาและอาจมีหนองหากติดเชื้อ
- ถ้าการอุดตันอยู่ต้นทางของระบบทางเดินน้ำตา แม้ตาแฉะแต่จะไม่มีหนอง
- หากลูกมีอาการท่อน้ำตาอุดตันควรพาลูกไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษา
กิจกรรมช่วยกระตุ้นการมองเห็นของลูก
ทารกแรกเกิด จนถึง พัฒนาการทารก 3 เดือน พัฒนาการด้านการมองเห็นยังไม่ดีเท่าที่ควร ทารกสามารถมองเห็นได้ในระยะไม่เกิน 1 ฟุตเท่านั้น การฝึกพัฒนาการด้านการมองเห็น ด้วยการให้ทารกมองวัตถุที่มีลักษณะ 3 มิติ และมีการเคลื่อนไหว ช่วยบริหารกล้ามเนื้อตาให้แข็งแรงขึ้น ตัวอย่างกิจกรรมช่วยกระตุ้นการมองเห็นของลูก ได้แก่
1. โมบายสีสันสดใส
เด็กทารกในวัยนี้ยังนอนเปลหรือนอนเตียง โมบายสีสันสดใสแขวนให้ทารกมองช่วงแรกเกิดถึง 3 เดือน ทารกมองเห็นสีสันที่ตัดกันได้อย่างดี เช่น สีขาว-สีดำ สีขาว-สีแดง โมบายช่วยกระตุ้นการมองเห็นและการเคลื่อนไหวคอ เวลาที่ทารกมองตาม
2. สีสันในห้อง
การตกแต่งห้องให้มีสีสันสดใส หรือประดับด้วยของตกแต่งที่มีสีสันสวยงาม ทารกน้อยมองไปรอบ ๆ ด้าน ช่วยฝึกสายตาและการมองเห็นได้
3. จ้องหน้าลูกใกล้ ๆ
เคยได้ยินไหมว่า พ่อแม่คือของเล่นที่ดีที่สุดของลูก การกระตุ้นการมองเห็นให้ลูกน้อยด้วยการจ้องหน้าลูกใกล้ ๆ ลูกจะมองเห็นตาดำและตาขาวของพ่อแม่ได้ชัดเจนที่สุด จ้องและกลอกตาไปมา เพื่อให้ทารกน้อยมองตาม นอกจากได้บริหารกล้ามเนื้อตาแล้ว ยังได้สายสัมพันธ์ที่อบอุ่นด้วย
การมองเห็นของทารกตั้งแต่แรกเกิด คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น ตาเหล่ ตาเข ท่อน้ำตาอุดตัน การไม่จ้องหน้าพ่อแม่แม้จะมีอายุ 2-3 เดือนแล้วก็ตาม หรือความผิดปกติอื่นใดเกี่ยวกับสายตาและการมองเห็น ควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์โดยเร็ว อย่าคิดว่าโตขึ้นจะหายเองเพราะโรคทางตาอาจเกิดอันตรายเกินกว่าที่คิดไว้ และมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กโดยตรง
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- พัฒนาการเด็ก 1 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 2 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 3 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 4 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 5 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 6 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 7 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 9 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 10 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 11 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
อ้างอิง:
- ถนอมดวงตาลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิด, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- พัฒนาการเด็ก อายุ 2 เดือน, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
- โรคตาในเด็ก ปล่อยทิ้งไว้อาจสายเกินแก้, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
- เรื่องน่ารู้ เมื่อต้องตรวจสุขภาพตาของแก้วตาดวงใจ, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
- เมื่อใดควรพาลูกรักไปตรวจสายตา, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- ตาเหล่ ตาเข เกิดจากอะไร รักษาได้ไหม ไขข้อสงสัยโดยจักษุแพทย์, โรงพยาบาลสมิติเวช
- สายตาขี้เกียจ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- การอุดตันของท่อน้ำตา, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- เลือก “ของเล่น” เป็น “ของขวัญ” ช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย, โรงพยาบาลสมิติเวช
- เด็กทารกอายุ 1 เดือนโตขึ้นแค่ไหน ดูแลลูกน้อยอย่างไรดี ?, พบแพทย์
อ้างอิง ณ วันที่ 16 มกราคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง