พัฒนาการเด็กเล็ก 1 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูกน้อย
แม้การกินและนอนคือเรื่องหลักของทารกวัย 0-1 เดือน แต่ พัฒนาการของลูกน้อย วัย 1 เดือนแรกเกิดนี้ ก็ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญเพื่อพ่อแม่มือใหม่ได้ทำความคุ้นเคย และได้รู้จักลูกน้อยของคุณเป็นครั้งแรก
แม้ทารกแรกเกิดทุกคนอาจต่างกันทั้งน้ำหนัก ส่วนสูงและพฤติกรรม แต่ก็มีอยู่หลายเรื่องที่เหมือนกัน มาดูกันค่ะว่าลูกน้อยวัยนี้ส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ที่พ่อแม่ควรรู้เกี่ยวกับพัฒนาการ
-
น้ำหนักและส่วนสูง พัฒนาการของลูกน้อย 1 เดือน
น้ำหนักของทารกชาย 1 เดือนจะอยู่ที่ประมาณ 3.5 - 5 กิโลกรัม และมีพัฒนาการส่วนสูงประมาณ 50 - 57 เซ็นติเมตร และทารกหญิง 1 เดือนจะมีน้ำหนักประมาณ 3 - 4.5 กิโลกรัม และสูงประมาณ 49 - 57 เซ็นติเมตร (สำหรับเด็กแรกเกิดชาย จะมีน้ำหนักประมาณ 2.8 - 3.9 และหญิง 2.7 - 3.7)
-
การมองเห็นของเด็ก 1 เดือน
เด็กวัย 1 เดือนจะมองเห็นได้ชัดเมื่อวัตถุเข้าใกล้ประมาณ 8-10 นิ้วค่ะ ไม่ไกลมาก แต่สามารถมองตามใบหน้าคุณพ่อคุณแม่ หรือชำเลืองมองสิ่งต่างๆ รอบตัวไปมา จากบนลงล่าง โดยสามารถมองวัตถุได้ถึงกึ่งกลางลำตัว คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยจัดสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวลูกให้เอื้อต่อการกระตุ้นพัฒนากการการมองเห็น เช่น การแขวนโมบายไว้หน้าเปลนอนลูก หรือเคลื่อนไหวของเล่นที่มีสีสันสดใสเพื่อให้ลูกสนใจ โดยมีระยะห่างประมาณ 1 ไม้บรรทัด โดยค่อยๆ เคลื่อนของเล่นจากข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง และสังเกตการมองตาม เป็นต้น

-
พัฒนาการของลูกน้อย ทางร่างกายของเด็ก 1 เดือน
พัฒนาการของเด็กแรกเกิดถึง 1 เดือน จะสามารถเคลื่อนไหวมือ แขน และขาทั้ง 2 ข้างได้ แต่ยังไม่สามารถพยุงศีรษะให้ตั้งตรงเองได้ สามารถดูดปากตัวเองเสียงดังจุ๊บจั๊บ และทำหน้าเหยเกได้ สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยกระตุ้น พัฒนาการทางร่างกายของทารกวัย 1 เดือน คือ การโอบกอด สัมผัส และอุ้มเด็กบ่อยๆ เพื่อให้ลูกน้อยสัมผัสถึงความอบอุ่น เชื่อมั่น เวลาอุ้มควรสบตา ยิ้มและพูดคุย หรือร้องเพลงให้ลูกฟังระหว่างให้นมแม่ แสดงความดีใจ ชมเชย เมื่อเด็กมีการตอบสนองต่อการกระตุ้นต่างๆ ควรออกกำลังกายแขนขา โดยการให้ลูกนอนหงาย และจับขาขึ้น ลง งอ หรือเหยียด
-
พัฒนาการของลูกน้อย ในด้านสติปัญญา
เด็กจากวัย 0 ถึง 1 เดือน จะมีพัฒนาการการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอน สมองและระบบประสาทกำลังเชื่อมต่อได้ดีขึ้นเรื่อยๆ และรู้จักวิธีการปฏิบัติตัวกลับบ้างในบางครั้ง เช่น ขยับร่างกายให้แม่อุ้มได้ง่ายขึ้น เป็นต้น สิ่งสำคัญของการพัฒนาสมองคือ การกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมค่ะ
-
พัฒนาการของลูกน้อย ทางอารมณ์และจิตใจ
เด็ก 1 เดือนอาจทำสีหน้าพอใจเมื่อรู้สึกไม่สบาย หรือทำสีหน้าเหยเกเมื่อรู้สึกเจ็บ ซึ่งหากได้สบตาคุณพ่อคุณแม่หรือคนคุ้นเคย จะมีอารมณ์ดีขึ้น ทั้งนี้ลูกจะเริ่มจำเสียงพ่อแม่ได้แล้ว พร้อมกับสามารถปรับท่าทางตัวเองให้เหมาะกับการอุ้มของคุณพ่อคุณแม่ด้วยค่ะ ความสุข ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อพัฒนาการลูกค่ะ เพราะแม้ว่าลูกจะมีอายุได้แค่เดือนเดียว แต่เขาก็สามารถรับคลื่นความเครียดจากคุณพ่อคุณแม่ได้แล้ว ถ้าคุณพ่อคุณแม่เริ่มเครียด ลูกจะรับรู้ได้ทันทีและจะร้องให้งอแงอย่างไม่มีเหตุผล แต่หากคุณพ่อคุณแม่เข้าหาลูกด้วยท่าทีอารมณ์ดี ลูกก็จะเป็นเด็กที่แจ่มใส โยเยน้อยกว่าค่ะ
-
พัฒนาการของลูกน้อย ทางภาษา
ทารกน้อยวัยแรกเกิดถึงวัย 1 เดือนจะมีการสะดุ้งหรือเคลื่อนไหว หรือสื่อสารด้วยการร้องไห้ เมื่อหิว หรือไม่สบายตัวเพราะปัสสาวะเปียก แฉะ เป็นต้น ที่สำคัญลูกสามารถจดจำเสียงของคุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัวได้แล้ว การส่งเสริมพัฒนาการลูก คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นยิ้ม พูดคุย และเรียกชื่อลูกบ่อยๆ นะคะ
-
เคล็ดลับส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อย 1 เดือน
- มองตาลูก สื่อสารกับลูกด้วยการมองตาบ่อยๆ ถ้าลูกน้อยมองมาที่คุณ ให้มองกลับไป เพราะนี่เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสัมพันธ์กับลูกของคุณ จนกว่าลูกน้อยของคุณจะมองไปทางอื่น ซึ่งแสดงว่าลูกหันไปสนใจเรื่องอื่นแทน หรือต้องการนอนแล้ว
- ยิ้มให้ลูกบ่อยๆ เมื่อลูกน้อยเห็นคุณยิ้มแย้มให้ ลูกคุณจะรู้สึกดี และปลอดภัยโดยธรรมชาติของร่างกาย และยังสร้างใยสัมพันธ์ให้คุณกับลูกอีกด้วย
- ใช้เวลากับลูก การใช้เวลาอยู่ด้วยกัน การเล่นกันกับลูกน้อยแรกเกิด การโอบกอด อุ้ม สัมผัส พูดคุย ร้องเพลงให้ฟัง สื่อสารด้วยมือ ด้วยหน้าตายิ้มแย้ม นอกจากจะช่วยสร้างใยสัมพันธ์อันดีกับพ่อและแม่แล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด ไม่ว่าจะด้านร่างกาย ภาษาและการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้นด้วย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
วิธีการเก็บนมแม่
เลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เริ่มต้นพัฒนาการลูกน้อยวัย 2 เดือน จะเริ่มจากตรงไหนดี
อ้างอิง
- คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5 ปีสำหรับผู้ปกครอง สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต
- กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข 3. ส่วนสูง และน้ำหนักลูกน้อย 1 เดือน อ้างอิงจาก กรมอนามัย: http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/files/AW-WeightHeight.PDF
บทความแนะนำ

เทคนิคคุยกับลูก ฝึกลูกพูดตามวัย เสริมพัฒนาการเด็กวัยแรกเกิด – 1 ปี
การเรียนรู้ การตอบสนอง และการสื่อสารกับเด็กในช่วงขวบปีแรกมีความสำคัญต่อพัฒนาการเด็กเป็นอย่างมาก หากพ่อแม่พยายามสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกน้อยผ่านการเล่นที่เหมาะสมกับวัย รวมถึงพยายามพูดคุยกับลูกอยู่เป็นประจำจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

1,000 ชื่อจริงมงคล ตั้งชื่อลูกดีเสริมชีวีเป็นสุข
เตรียมพร้อมเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่อีกหนึ่งสเต็ป ด้วยการเลือกชื่อที่เป็นสิริมงคลให้กับลูกน้อย วันนี้เรามีชื่อจริงมงคลถึง 1,000 ชื่อมาให้ทุกคนเลือกกันอย่างจุใจค่ะ โดยเราจะแยกเป็นหมวดหมู่ชื่อของเด็กที่เกิดในแต่ละวันในสัปดาห์ ซึ่งจะเข้ามาเสริมสิริมงคลรอบด้านในชีวิตของน้อง ๆ ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขค่ะ ถ้าพร้อมแล้วไปชมพาเหรดชื่อมงคลกันเลยค่ะ

15 คำถามเรื่องเบบี๋ ที่แม่มือใหม่อยากรู้
ทารกเป็นวัยที่มีความบอบบาง ต้องการการปกป้องดูแลมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้เบบี๋ตัวน้อย ๆ ยังไม่สามารถสื่อสารความต้องการ หรือความเจ็บปวดออกมาเป็นคำพูดได้ ดังนั้น คุณแม่มือใหม่จึงมีเรื่องมากมายที่สงสัยใคร่รู้อยู่เสมอ เราจึงรวบรวม 15 คำถามเรื่องเบบี๋ ที่คุณแม่มือใหม่อยากรู้ มาฝากดังนี้

โภชนาการลูกวัย 0-1 ปี ลูกวัยนี้กินอะไรดีนะ
สำหรับช่วงวัยทารกขวบปีแรก หรือ วัย 0-1 ปีแรกของลูกนั้น การได้รับโภชนาการที่ดี ถูกต้อง เหมาะสม มีส่วนสำคัญสำหรับพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูกเป็นอย่างมาก ดังนั้นคุณแม่จึงควรใส่ใจและดูแลเรื่องโภชนาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญ การเสริมอาหารของลูกในแต่ละวัยมีความแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ ในวันนี้เราจะมาแนะนำอาหารที่เหมาะสมกับลูกตั้งแต่แรกเกิด (0 เดือน) จนถึง 1 ขวบปีกัน

พัฒนาการลูกรักวัย 1 ขวบ ในขวบปีแรกลูกควรมีพัฒนาการอะไรบ้าง?
ช่วงเวลา 3 ปีแรกของลูกน้อยนั้น เปรียบได้ดั่งรากฐานสำคัญของสุขภาพและพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ตลอดชีวิตของเขา เพราะในช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาที่พวกเขามีการเติบโตและมีการเปลี่ยนแปลงมากมายของพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ซึ่งในวันนี้เราอยากนำเสนอถึงข้อมูลอันสำคัญเกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกรักในวัย 1 ขวบ ว่าในช่วงวัยนี้ เขาควรมีพัฒนาการอะไรบ้าง และคุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไรเพื่อกระตุ้นพัฒนาการของลูกให้ดียิ่งขึ้น