เทคนิคคุยกับลูก ฝึกลูกพูดตามวัย เสริมพัฒนาการเด็กวัยแรกเกิด – 1 ปี

7 วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด ฝึกลูกพูดช้าให้พูดเร็วตามช่วงวัย

การเรียนรู้ การตอบสนอง และการสื่อสารกับเด็กในช่วงขวบปีแรกมีความสำคัญต่อพัฒนาการเด็กเป็นอย่างมาก หากพ่อแม่พยายามสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกน้อยผ่านการเล่นที่เหมาะสมกับวัย รวมถึงพยายามพูดคุยกับลูกอยู่เป็นประจำจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี  และยังสามารถเห็นถึงพัฒนาการของลูกรักได้อย่างชัดเจน อีกทั้งการเฝ้ามองลูกน้อยในทุก ๆ วันจะทำให้พ่อแม่สามารถสังเกตเห็นถึงความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นของลูกน้อยได้

headphones
อ่าน 9 นาที

 

พัฒนาการด้านการสื่อสารของเด็กอายุ 1 – 12 เดือน ในแต่ละช่วงวัย

ในเด็กที่มีอายุระหว่าง 1 – 12 เดือน ย่อมมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน เช่น เด็กอายุ 3-6 เดือนจะเริ่มพูด ส่วนเด็กอายุ 6-9 เดือน จะสามารถรับรู้ชื่อของตนเองได้ ซึ่งการแสดงออกถึงพัฒนาการเหล่านี้ของเด็กแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน บางคนมีพัฒนาการช้า บางคนมีพัฒนาการไว และพัฒนาการในแต่ละเดือนนี้เองที่พ่อแม่ควรทราบ จะได้รู้ว่าตอนนี้ลูกน้อยมีพัฒนาการอย่างไร

 

เทคนิคกับการคุยกับลูก ฝึกลูกพูด


 

  • เด็กอายุ 1-2 เดือน เริ่มมีการเล่นเสียงในลำคอ เช่น การร้องไห้ ไอ หรือหาว และจะแสดงอาการตกใจจนสะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงดังกะทันหัน

  • เด็กอายุ 3-4 เดือน เริ่มยิ้มเมื่อได้ยินเสียงพ่อแม่หรือคนที่คุ้นเคยใกล้ชิด เริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ หรือเสียงอู/อา จากการพยายามพูดกับพ่อแม่ และจะเงียบเสียงเมื่อต้องการฟังพ่อแม่พูด

  • เด็กอายุ 5-6 เดือน เด็กจะเริ่มเล่นเป่าน้ำลาย เริ่มหันหาเสียงเสียงรบกวนที่ไม่ดังมากนัก เริ่มเล่นเสียงบริเวณริมฝีปาก สามารถเลียนแบบเสียงของผู้อื่นได้ มีการเล่นเสียงทีละพยางค์หรือสองพยางค์ เช่น “บา” “ดา” “มา”รวมถึงมีการตอบสนองเมื่อมีการเรียกชื่อของตัวเอง

  • เด็กอายุ 7-8 เดือน จะสามารถจำชื่อตัวเองได้แล้ว รู้จักการเขินอายหรือกลัวคนแปลกหน้า สามารถฟังคำถามง่าย ๆ มีการตอบสนองออกมาด้วยภาษาท่าทางแทนการพูดได้ เช่น มองดู ชี้ หยิบ และสามารถเล่นเสียงหลายพยางค์ได้ เช่น “ดาดาดา” “บาบาบา” เป็นต้น

  • เด็กอายุ 9-12 เดือน จะมีการโต้ตอบกับพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดแต่ยังไม่เป็นภาษา ยังคงชอบที่จะเลียนแบบเสียงของผู้อื่นอยู่แต่สามารถเลียนเสียงแปลก ๆ ได้ เช่น เสียงเห่าของสุนัข และเสียงจิ้งจกร้อง เริ่มทำเสียงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ เริ่มพูดได้เป็นคำพยางค์เดียวที่มีความหมายได้ 2-3 คำ เช่น “พ่อ” “แม่” “หม่ำ” เป็นต้น และสามารถใช้ท่าทางสื่อความหมายต่อคำพูด เช่น การพยักหน้า และการสั่นหัว ทำตามคำสั่งได้ เช่น การโบกมือบ๊ายบาย การส่งจูบ เป็นต้น เพราะลูกน้อยเข้าใจคำพูดที่ได้ยินบ่อย ๆ แล้ว และสามารถทำตามคำสั่งที่มีท่าทางประกอบได้

 

7 วิธีคุยกับลูกน้อย ทำอย่างไรให้ลูกเข้าใจและสื่อสารได้ 

การเตรียมพร้อมก่อนที่จะสอนลูกพูดจะช่วยให้พ่อแม่ทราบว่าในขณะนั้นลูกน้อยพร้อมที่จะเรียนรู้หรือไม่ หากลูกอยู่ในช่วงอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด หรือร้องไห้โยเย แสดงว่าน้องยังไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ต้องรอให้เด็กสงบลงก่อน  สำหรับวิธีกระตุ้นการพูดกับลูก มีวิธีดังนี้

  1. เล่นแบบมีปฏิสัมพันธ์
    การเล่นกับลูกจะช่วยฝึกฝนพัฒนาการทางด้านการพูดและการสื่อสารได้เป็นอย่างดี โดยพ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมของลูกด้วย เช่น เล่นจ๊ะเอ๋กับลูก เล่นซ่อนของ เล่านิทานให้ลูกฟังพร้อมใช้ท่าทางประกอบเพื่อให้ลูกสนใจและสนุกสนานมากขึ้น หรือจะร้องเพลงสำหรับเด็กให้ลูกฟัง โดยพ่อแม่ต้องพยายามร้องซ้ำ ๆ ร้องบ่อย ๆ เพราะเด็กจะใช้เวลาในการจดจำในสิ่งที่ได้ยิน การเล่นของเด็ก คือ การเรียนรู้ การฝึกทักษะ การแก้ปัญหา และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่จำเป็นต่อพัฒนาการของลูก

  2. คุยกับลูกบ่อย ๆ
    พ่อแม่ควรขยันคุยกับลูกให้มาก ๆ และควรพูดให้กระชับ ใช้น้ำเสียงที่เน้นคำพร้อมกับทำกิจกรรมไปด้วย เช่น ถอดเสื้อ กินข้าว อาบน้ำ สำหรับเด็กเล็กอาจจะใช้วิธีตั้งคำถามกับลูก เช่น คนไหนแม่ หมาอยู่ไหน กล้วยอยู่ไหน หลังจากนั้นควรรอให้ลูกตอบคำถามเพื่อสังเกตว่าลูกเข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่พูดหรือไม่ หากลูกไม่แน่ใจพ่อแม่สามารถช่วยลูกได้โดยการจับมือชี้ไปที่คำตอบของคำถามนั้น

  3. สบตากับลูกน้อย
    เมื่อพ่อแม่ต้องการสอนลูกให้รู้จักคำศัพท์ใหม่ ๆ รอบตัว จำเป็นต้องมองที่ใบหน้าของลูก เพราะลูกน้อยจะใช้วิธีการสบตา และอ่านรูปปากของพ่อแม่เช่นเดียวกัน หากพ่อแม่ต้องการสอนคำศัพท์อะไร ให้หยิบสิ่งนั้นมาไว้ใกล้ปากแล้วพูดคำนั้นออกมา เด็กจะทำความเข้าใจต่อสิ่งนั้นพร้อม ๆ สังเกตรูปปาก เพราะการที่จะเริ่มสอนคำศัพท์ใหม่ ๆ นั้น พ่อแม่ต้องให้ลูกเข้าใจต่อสิ่งที่ต้องการสอนก่อน

     

    เทคนิคคุยกับลูก ฝึกลูกพูดตามวัย เสริมพัฒนาการเด็กวัยแรกเกิด – 1 ปี

     

  4. สอนพูดเป็นคำ ๆ
    การเริ่มต้นสอนพูดพ่อแม่ควรเลือกสอนคำเดี่ยว ๆ ที่ลูกน้อยสามารถมองเห็นรูปปากได้ชัดเจน รวมถึงต้องเลือกคำที่สามารถออกเสียงได้ง่าย เช่น คำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ “ม” ได้แก่ แม่ หมา หรือ คำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ “ป” ได้แก่ ปาก ปลา ปู เป็นต้น รวมถึงควรเลือกคำที่อยู่ใกล้ตัวในชีวิตประจำวันจะสามารถช่วยให้เด็กสามารถเชื่อมโยงคำนั้นได้ เกิดความเข้าใจต่อคำนั้นได้ดี และสามารถจดจำคำนั้นได้ในที่สุด

  5. ออกเสียงให้ชัด
    จังหวะในการพูด การสื่อสารของพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญ เช่น ถ้าลูกพ่อแม่เป็นคนเริ่มพูดคุยกับลูก ต้องรอให้ลูกตอบก่อนแล้วค่อยพูดกับลูกต่อ การพูดสลับกันแบบนี้จะทำให้ลูกน้อยเรียนรู้ว่าเมื่อใดเป็นการสิ้นสุดคำถามได้ เพื่อเป็นการบอกว่าตอนนี้ถามเสร็จแล้วลูกต้องตอบนะ ออกมา เช่น แม่ถามว่า “นี่อะไร” แต่ถ้าถามแล้วลูกไม่แสดงอาการ อาจจะกระตุ้นลูกโดยการจ้องหน้าแล้วถามอีกครั้ง แล้วพยายามเน้นคำ ออกเสียงให้ชัดเจน พร้อมกับพูดช้า ๆ ลูกจะได้พูดตามได้ หากลูกมีการเล่นระดับเสียงพ่อแม่ก็ควรออกเสียงสูงต่ำตามลูกด้วย ถ้าลูกสามารถพูดเป็นคำได้แล้ว พ่อแม่สามารถเริ่มสอนคำที่ยาวขึ้น หรือสอนประโยคสั้น ๆ ได้

  6. เน้นให้ลูกพยายามสื่อสาร
    กระบวนการเรียนรู้ของลูกพ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมด้วย แต่ควรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและเปิดจังหวะให้ลูกพยายามสื่อสารด้วยตัวเองจากภาษาท่าทางต่าง ๆ อย่าบังคับให้ลูกพูด เช่น ให้ลูกชี้ตอบ เดินไปหยิบสิ่งของ เป็นต้น หากลูกมีการโต้ตอบแบบไม่เป็นภาษา หรือเป็นภาษาที่พูดแม่ไม่เข้าใจ พ่อแม่ควรพยายามเดาว่าลูกต้องการพูดอะไร แล้วพูดตอบในเรื่องนั้นออกมา

  7. ชื่นชมลูก
    พ่อแม่ควรชมเชยหรือให้รางวัลแก่ลูก เช่น การปรบมือ หรือยิ้มแย้มให้กับลูกเมื่อลูกทำตามคำสั่งได้สำเร็จแม่จะเป็ความสำเร็จเพียงเล็กน้อยก็ตาม เพราะคำชม เป็นกำลังใจที่เป็นแรงผลักดันให้ลูกอยากทำอะไรก็ตามให้สำเร็จ ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกน้อยเอง แม้ว่าสิ่งที่ต้องทำนั้นเป็นสิ่งที่ยากและไม่เคยทำมาก่อน ทำให้เด็กสามารถก้าวผ่านความกลัว ความยากลำบากไปได้ ดังนั้น คำชมเล็ก ๆ อาจเป็นตัวกระตุ้นพัฒนาการที่ดี และความสำเร็จในทุก ๆ ด้านของลูกในอนาคตได้

 

ลูกมีพัฒนาการช้าหรือไม่ สังเกตจากอะไร

  • ช่วงวัยแรกเกิด ไม่มีการตอบสนองหรือปฏิกิริยาต่อเสียง เช่น ไม่ส่งเสียงร้องเมื่อมีเสียงดัง ลูกไม่ยอมจ้องหน้าพ่อแม่ขณะพูดคุยด้วย

  • อายุ 10 เดือน ไม่มีการเริ่มออกเสียงบริเวณริมฝีปาก เช่น “บา” “กา”

  • อายุ 15-18 เดือน พูดได้ทีละคำ ไม่มีการพูดคำ 2 คำที่ติดกัน

  • พัฒนาการทางด้านภาษาไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตามช่วงวัย เช่น ไม่สบตา ไม่บอกความต้องการของตน ไม่ทำตามคำสั่ง ไม่เรียกพ่อแม่ เป็นต้น

 

โดยปกติแล้วเด็กทุกรายต้องได้รับการตรวจพัฒนาการตั้งแต่ช่วงวัยแรกเกิด ในเด็กทารกควรได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินตั้งแต่ช่วงแรก เพราะถ้าพบความผิดปกติในการได้ยินตั้งแต่ต้น จะสามารถรักษาได้ทันท่วงที เพื่อให้ลูกน้อยมีพัฒนาการพูดและการได้ยินกลับมาเป็นปกติได้ในอนาคต

สำหรับเด็กเล็กเป็นไปได้คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็กกับแพทย์ตามช่วงอายุ 9 เดือน 18 เดือน  24 เดือน หรือ 30 เดือน เพื่อให้แพทย์ทำการประเมินพัฒนาการของลูกว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หรือมีพัฒนาการช้าหรือเปล่า ถ้าตรวจแล้วพบว่าเด็กมีปัญหาเรื่องพัฒนาการ คุณหมอจะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงทีพร้อมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลลูกน้อยในอนาคตด้วย

 

ฝึกลูกพูดตามวัย เสริมพัฒนาการเด็กวัยแรกเกิด – 1 ปี

 

กิจกรรมที่พ่อแม่ควรทำเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก ในช่วงขวบปีแรก

  • เด็กอายุ 1 เดือน จัดท่าให้ลูกนอนหงาย แล้วใช้เรียกชื่อหรือพูดคุยกับลูกจากทางด้านซ้ายสลับกับทางด้านขวา หากลูกน้อยมีการสะดุ้งตกใจให้ลดเสียงลง พร้อมกับสัมผัสที่ตัวลูก

  • เด็กอายุ 2 เดือน  พ่อแม่ยื่นหน้าเข้าหาลูกเว้นระยะห่างประมาณ 60 ซม. สบตาแล้วเริ่มพูดคุยด้วยเสียง “อู” อือ ในลำคอ แล้วหยุดให้ลูกน้อยทำเสียงตาม เมื่อลูกทำเสียงตามให้เปลี่ยนไปฝึกเสียง “อือ”

  • เด็กอายุ 3 - 4 เดือน ให้พ่อแม่พูดคุยและเล่นกับลูกผ่านการสัมผัสจุดต่าง ๆ ของร่างกาย โดยใช้นิ้วกดที่บริเวณฝ่าเท้า เอว หน้าท้อง หรือลองใช้จมูกสัมผัสบริเวณหน้าผาก แก้ม ปากและหน้าท้องของหนูน้อย ให้มีน้ำหนักหนักเบาที่แตกต่างกัน

  • เด็กอายุ 5 - 6 เดือน สบตา พูดคุยกับลูก และทำเสียง “จุ๊บจุ๊บ” หรือ “วา..วา..” ให้ลูกน้อยดูหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้เด็กจดจำและเกิดการเลียนแบบทำตาม หากลูกน้อยไม่สามารถออกเสียงได้ เพื่ออาจจับมือลูกแล้วให้ลูกทำตาม

  • เด็กอายุ 7 - 9 เดือน ลองสื่อสารกับเด็กโดยให้ลูกน้อยพยายามเลียนเสียงและออกเสียงคำตามพ่อแม่ เช่น “มามา” “ปาปา” หรือ “หม่ำหม่ำ” เป็นต้น

  • เด็กอายุ 10 - 12 เดือน พยายามเล่นกับลูกโดยให้ลูกเลียนแบบท่าทางของพ่อแม่ เช่น โบกมือ ปรบมือ ถ้าลูกทำไม่ได้ให้ค่อย ๆ จับมือให้น้องทำตาม พอลูกพอทำได้แล้วก็ค่อยไม่ต้องให้การช่วยเหลือ และลองนำของเล่นที่ดึงดูดความสนใจแล้วลองยื่นให้ลูกดูแล้วถามประมาณว่า “หนูเอาไหม” ถ้าเด็กต้องการแล้วค่อยยื่นให้

 

การกระตุ้นการสื่อสารที่ดีของเด็กเล็ก พ่อแม่ควรเน้นให้ลูกฟังอย่างเข้าใจ และตอบสนองด้วยท่าทางเสียก่อน ไม่จำเป็นต้องคาดคั้นให้ลูกพูดออกมา เพราะการสื่อภาษานั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบนอกจากการพูดออกเสียง เช่น ภาษาท่าทาง และภาษากาย โดยเฉพาะหนูน้อยวัย 8 เดือน เป็นช่วงวัยที่สมองกำลังทำงานหนัก คุณพ่อคุณแม่ควรพูดกับกับลูกบ่อย ๆ โดยเน้นการพูดช้า ๆ ชัด ๆ เริ่มจากคำง่าย ๆ ใกล้ตัว พยายามให้ลูกได้มีการโต้ตอบออกมาให้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นการเปล่งเสียงหรือใช้ภาษาท่าทาง หรืออาจใช้เพลงเด็กเพื่อช่วยให้เกิดการจดจำ เพื่อเป็นการกระตุ้นพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย เพราะทุกการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่เริ่มได้ใน 1000 วันแรกของชีวิต

 

บทความแนะนำ

100 ชื่อจริง 100 ชื่อเล่นภาษาอังกฤษ

100 ชื่อจริง 100 ชื่อเล่นภาษาอังกฤษ ความหมายดีคนไทยใช้ได้ มีทั้งผู้ชายมีทั้งผู้หญิง

มาเลือกชื่อจริง ชื่อเล่นภาษาอังกฤษ เท่ๆ ไว้ใช้สำหรับเจ้าตัวเล็กกันค่ะ

เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 2563

เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 2563 ทำยังไง ใครลงทะเบียนได้บ้าง อยากรู้อ่านเลย!

โครงการที่จะมาช่วยเหลือพ่อแม่เลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เงินอุดหนุนทารกแรกเกิดล่าสุด ประจำปี 2563 มาแล้ว ใครที่อยากรู้ว่าใช้เอกสารอะไรประกอบการลงทะเบียนบ้าง ลงทะเบียนเริ่มต้นตั้งแต่วันไหน วันสุดท้ายลงลงทะเบียนได้คือเมื่อไหร่  เรารวบรวมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 2563 มาให้ คุณแม่ คุณพ่อ เรียบร้อยแล้ว  

เมนูเด็ก  6 เดือน มื้อแรกของลูกเริ่มยังไง ลูกต้องกินแค่ไหนถึงจะพอดี

เมนูเด็กวัย 6 เดือน อาหารมื้อแรกของลูกเริ่มยังไง และแค่ไหนถึงจะพอดี

คุณแม่สงสัยไหมเอ่ยว่าทำไมมื้อแรกของลูกต้องหลัง 6 เดือน ง่ายๆ เลยค่ะก็เพราะว่า ช่วง 6 เดือนแรก ลูกจะได้รับสารอาหารพอเพียงจากนมแม่   หลังจากนั้นเจ้าตัวเล็กจำเป็นต้องได้รับพลังงาน และสารอาหารบางชนิดเพิ่มเติมจากอาหารตามวัยสำหรับ เช่น โปรตีน เหล็ก แคลเซียม สังกะสี ไอโอดีน วิตามินเอ เป็นต้น เพื่อให้การเจริญเติบโตตามปกติ ก่อนจะเริ่ม เมนูเด็กวัย 6 เดือน เราไปดูกันค่ะว่า สารอาหารที่เด็กวัยนี้ต้องได้รับนั้นมีอะไรบ้าง 

สีอึของลูกบอกอะไรแม่ได้บ้าง อึแบบนี้ลูกแฮปปี้หรือไม่ อึได้แบบไหนบอกสัญญาณร้ายสุขภาพลูก

สีอึของลูกบอกอะไรแม่ได้บ้าง อึแบบนี้ลูกแฮปปี้หรือไม่ อึได้แบบไหนบอกสัญญาณร้ายสุขภาพลูก

อึแบบนี้ลูกแฮปปี้หรือไม่ อึได้แบบไหนบอกสัญญาณร้ายสุขภาพลูก ทุกครั้งที่ลูกขับถ่าย คุณแม่รู้มั๊ยว่าสีและลักษณะอึของลูกนั้น สามารถที่จะบ่งบอกถึงสุขภาพของเค้าได้ สีหรือลักษณะอึทารกจะเปลี่ยนแปลงได้จากการดื่มนมแม่หรือนมผงและการได้เริ่มกินอาหารหรือแม้แต่การเกิดความผิดปกติกับร่างกาย เรามาดูค่ะว่าอึของเจ้าตัวน้อยบอกอะไรคุณแม่ได้บ้าง