วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
ผู้หญิงกว่าจะรู้ตัวว่าตัวเองตั้งครรภ์ต้องใช้เวลา ในผู้หญิงบางกลุ่มที่ประจำเดือนมาปกติเมื่อประจำเดือนขาดจะรู้ตัวได้เร็ว ส่วนผู้หญิงกลุ่มที่ประจำเดือนมาช้ามาไม่สม่ำเสมอหรือไม่ตรงรอบอาจทำให้รู้ตัวช้ากว่า เมื่อเริ่มต้นครรภ์มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มีคุณแม่ต้องเริ่มปรับตัว โดยเฉพาะการนับอายุครรภ์เพื่อติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์และกำหนดคลอด วิธีการนับอายุครรภ์เป็นเรื่องที่คุณแม่หลายคนสับสนและไม่เข้าใจว่าคุณหมอนับอายุครรภ์อย่างไร วันนี้เรามีเทคนิคการนับอายุครรภ์ด้วยตัวเองมาฝาก
การนับอายุครรภ์ คืออะไร
การนับอายุครรภ์เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ ความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน ความสมบูรณ์ของทารก และกำหนดคลอดคร่าว ๆ ได้ โดยปกติแล้วอายุครรภ์จะอยู่ที่ 40 สัปดาห์ หรือประมาณ 280 วัน นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายจนถึงวันคลอดทารก อายุครรภ์เรียกอีกอย่างว่า “จำนวนสัปดาห์ของการตั้งครรภ์”

การนับอายุครรภ์ คุณแม่ต้องนับอย่างไร?
การนับอายุครรภ์สามารถทำได้หลายวิธี และใช้เกณฑ์วัดเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้คุณแม่เข้าใจวิธีการเกี่ยวกับการนับอายุครรภ์มากขึ้น เรามาดูวิธีการนับอายุครรภ์กันดีกว่า...
1. การนับอายุครรภ์ที่นับตามวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย (Gestational Age)
เป็นการนับอายุครรภ์ตามรอบ 28 วัน โดยอิงจากประจำเดือนของคุณแม่เป็นเรื่องที่ไม่ยากหากคุณแม่สามารถจำวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายได้ เพราะการนับอายุครรภ์วิธีนี้จะเริ่มนับอายุครรภ์โดยเริ่มนับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายซึ่งจะยึดวันนี้เป็นวันที่ 0 ของการตั้งครรภ์
2. การนับอายุครรภ์เป็นรายสัปดาห์
เพื่อให้ง่ายต่อการนับอายุครรภ์และการติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์แต่ละสัปดาห์ คุณหมอจะใช้เกณฑ์การนับเป็นรายสัปดาห์หรือรายวีค แต่วิธีการนับอาจทำให้คุณแม่เกิดความสับสนเล็กน้อย เนื่องจากว่าการนับอายุครรภ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายเป็น “วันที่ 0” แล้วจะนับวันต่อไปเป็นวันที่ 1 จนถึงวันที่ 6 เราเรียกสัปดาห์ของการตั้งครรภ์ที่ที่ 0 – 6 ว่า “สัปดาห์ที่ศูนย์ของการตั้งครรภ์” ส่วนสัปดาห์ต่อมาเราจะนับวันที่ 7 -13 เป็น “สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์”
3. การนับอายุครรภ์ตามวันที่ปฏิสนธิ (Fertilization age)
การนับอายุครรภ์ตามวันที่ปฏิสนธิจะมีความซับซ้อนมากกว่าการนับตามวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย เพราะการนับวิธีนี้เป็นการนับอายุจริงของทารกในครรภ์ที่คำนวณจากอายุครรภ์ที่นับตามวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย กับวันที่ผู้หญิงกำลังมีวันตกไข่หรือวันที่มีการปฏิสนธิ โดยปกติแล้วไข่จะตกก่อนประจำเดือนรอบใหม่มา 2 สัปดาห์ ทำให้อายุครรภ์ตามวันที่ปฏิสนธิช้ากว่าอายุครรภ์ตามวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย 2 สัปดาห์ นั่นหมายความว่า
- อายุครรภ์ที่นับตามวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย (Gestational Age) = อายุครรภ์ตามวันที่ปฏิสนธิ (Fertilization age) + 2 สัปดาห์
4. การนับอายุครรภ์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์
การใช้เครื่องอัลตราซาวนด์เป็นวิธีที่นิยมนำมาใช้นับอายุครรภ์มากที่สุด เพราะให้ความแม่นยำสูงสามารถคำนวณอายุครรภ์รายสัปดาห์ได้อย่างคร่าว ๆ ในช่วงแรกของตั้งครรภ์ เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ไม่ทราบวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยคำนวณจากขนาดศีรษะของเด็ก ความยาวของกระดูก และขนาดหน้าท้อง เป็นต้น และจะให้ผลแม่นยำที่สุดเมื่อใช้ตรวจช่วงหลังจากตั้งครรภ์ไปแล้ว 3 เดือนหรือประมาณ 12 สัปดาห์ นอกจากนี้การใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ยังช่วยตรวจพัฒนาการและการเติบโตของทารกในครรภ์ได้อีกด้วย
ไตรมาสที่ | เดือน | สัปดาห์ |
---|---|---|
1 | 1 | 1 - 4 |
2 | 5 - 8 | |
3 | 9 - 13 | |
2 | 4 | 14 - 17 |
5 | 18 - 22 | |
6 | 23 - 27 | |
3 | 7 | 28 - 31 |
8 | 32 - 35 | |
9 | 36 - 40 |
วิธีคำนวณอายุครรภ์กำหนดคลอด
การนับอายุครรภ์ทำให้คุณแม่ทราบกำหนดคร่าวได้คร่าว ๆ โดยคำนวณจาก 2 วิธีนี้
- นับตามวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย แล้วบวกเพิ่ม: หลังจากคุณแม่ทราบวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุดแล้ว ให้บวกเพิ่มไปอีก 9 เดือน และบวกต่ออีก 7 วัน จะได้กำหนดคลอด เช่น
- วันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย คือ วันที่ 1 เม.ย. 66 + 9 เดือน + 7 วัน จะได้กำหนดคลอด คือ วันที่ 8 ม.ค. 67
- นับตามวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย แล้วนับย้อนหลัง: หลังจากคุณแม่ทราบวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุดแล้วให้นับไปก่อน 1 ปี แล้วนับย้อนหลัง 3 เดือน จากนั้นบวกเพิ่มไปอีก 7 วัน จะได้กำหนดคลอด เช่น
- วันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย คือ วันที่ 1 เม.ย. 66 + 1 ปี - 3 เดือน + 7 วัน จะได้กำหนดคลอด คือ วันที่ 7 ม.ค. 67
จะเห็นได้ว่าการคำนวณอายุครรภ์วันคลอดทั้งสองวิธีจำได้กำหนดคลอดที่ใกล้เคียงกัน แต่การใช้การคาดคะเนกำหนดคลอดแบบนี้สามารถใช้ได้กับคุณแม่ที่มีประจำเดือนมาตรงรอบและสม่ำเสมอเท่านั้น สำหรับคุณแม่ที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือไม่ตรงรอบ คุณแม่จะใช้การอัลตราซาวนด์กับวันที่ประจำเดือนมาครั้งล่าสุดมาคำนวณควบคู่กับไปเพื่อให้ได้กำหนดคลอดและอายุครรภ์ที่ใกล้เคียงมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม อายุครรภ์ และกำหนดเวลาคลอดอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ขึ้นซึ่งคุณหมอจะคอยอัปเดตเป็นระยะเมื่อคุณแม่เข้ารับการตรวจครรภ์จากคุณหมอ พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลลูกน้อยในครรภ์และการเตรียมตัวเมื่อทารกใกล้คลอด
เอกสารอ้างอิง
- โรงพยาบาลเปาโล
- The South Dakota Department of Health
- Eurostat Statistic Explained
- CK Birla hospital
- Medthai
- Pobpad
อ้างอิง ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2566
บทความแนะนำ

ฤกษ์ผ่าคลอด 2565 ฤกษ์คลอด ฤกษ์มงคล เสริมดวงลูกรัก
ฤกษ์ดีผ่าคลอด ปี 2565 การกำหนด ฤกษ์ผ่าคลอด หรือ ฤกษ์คลอด ควรทำควบคู่ไปกับการขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้ทำคลอดด้วย เพราะหากผู้ปกครองดื้อรั้นกำหนดวันคลอดเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากจะไม่ได้รับอนุญาตให้คลอดในวันดังกล่าวแล้ว ยังอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ไปตลอดชีวิตอีกด้วย

ฤกษ์ผ่าคลอด 2566 ฤกษ์คลอด วัน เวลาดี เสริมดวงลูกรัก
สำหรับลูกน้อยที่เกิดในปี 2566 ตรงกับนักษัตรเถาะ มักเป็นคนที่นุ่มนวล มารยาทงาม มีสัมมาคารวะ เป็นที่รักของผู้ใหญ่และคนรอบข้าง คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังกำลังวางแผนการตั้งครรภ์ หรือหาฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอดมหามงคล เพื่อส่งเสริมดวงให้ลูกน้อยในปีนี้ S-Mom Club มีฤกษ์ผ่าคลอดสุดเฮงสำหรับปีนี้มาแนะนำค่ะ

อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณที่บอกว่ากำลังตั้งครรภ์
อาการคนท้อง เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์ โดยอาการเริ่มแรกที่หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่สัมผัสได้ คือ การขาดประจำเดือน แต่ความจริงแล้วในช่วงท้อง 1 สัปดาห์ - 2 สัปดาห์แรก ผู้หญิงที่เริ่มตั้งครรภ์อาจมีอาการเลือดออกเล็กน้อยคล้ายประจำเดือนที่เรียกว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” ทำให้ว่าที่คุณแม่อาจไม่ทันได้สังเกตคิดว่าประจำเดือนมาปกติ ส่วนอาการอื่น ๆ อย่างอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อ่อนเพลีย และอารมณ์แปรปรวน จะตามมาทีหลัง รวมถึงมีสัญญาณการตั้งครรภ์อื่น ๆ ตามมา