ลูกป่วยบ่อยมาก ทำไงดี พร้อมวิธีเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกแข็งแรง
เด็กป่วยบ่อยเกิดจากอะไร คงเป็นคำถามที่คุณพ่อคุณแม่มีความกังวลสงสัยอยู่ไม่น้อย เมื่อลูกเข้าสู่วัยที่ต้องเข้าโรงเรียนอาจจะต้องกลับมาพร้อมกับอาการป่วยต่าง ๆ เพราะเมื่ออยู่ที่โรงเรียนการป้องกันเว้นระยะห่าง หรือการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาอาจทำได้ยาก การเล่นด้วยกัน สัมผัสกัน หรือการใช้มือหยิบจับสิ่งของร่วมกันจึงเป็นการแพร่เชื้อโรค ซึ่งภูมิต้านทานและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคจึงเป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน
สรุป
- เด็กป่วยบ่อย อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความอ่อนแอของภูมิคุ้มกันในร่างกาย ส่วนใหญ่สาเหตุอันเนื่องมาจากทางพันธุกรรม หรือการขาดสารอาหาร รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ รวมไปถึงการพักผ่อนที่ไม่มีคุณภาพ
- การเพิ่มภูมิคุ้มกันที่ดีแก่ลูก ควรสอนให้ลูกรู้จักสุขอนามัยที่ดี รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สอนให้นั่งสมาธิช่วยให้จิตใจปลอดโปร่ง มีสุขภาพจิตที่ดี และนอนหลับอย่างมีคุณภาพ
- การได้รับแดดตอนเช้าประมาณ 15 นาที อาทิตย์ละ 2-4 วัน เพราะแสงแดดมีรังสี UV ซึ่งจะช่วยในการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลในร่างกายให้เป็นวิตามินดี ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ลูกป่วยบ่อย ผิดปกติไหม บอกอะไรได้บ้าง
- ลูกป่วยบ่อย เกิดจากสาเหตุอะไร
- สัญญาณแบบไหนที่บอกว่าลูกเริ่มไม่สบาย
- ลูกป่วยบ่อย พ่อแม่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกได้
- ลูกป่วยบ่อยมาก คุณพ่อคุณแม่รับมืออย่างไร
- อาหารที่ควรให้ลูกหลีกเลี่ยง เมื่อลูกน้อยป่วย
- ลูกไม่สบายบ่อยแค่ไหน ควรไปปรึกษาแพทย์
- วิตามินจากแสงแดด ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกได้ไหม
ลูกป่วยบ่อย ผิดปกติไหม บอกอะไรได้บ้าง
การที่ลูกป่วยบ่อย อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความอ่อนแอของภูมิคุ้มกันในร่างกาย เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วร่างกายของทุกคน จะมีภูมิคุ้มกันหรือเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่ช่วยปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เราสามารถพบเจอได้ในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะเชื้อโรคมีอยู่รอบตัวมากมาย เด็กป่วยบ่อยอาจมีสาเหตุมาจากทางพันธุกรรม ที่ได้รับถ่ายทอดจากครอบครัว หรือการขาดสารอาหาร รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ รวมไปถึงการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อภูมิคุ้มกันในร่างกายของลูกได้
ลูกป่วยบ่อย เกิดจากสาเหตุอะไร
สาเหตุหลักที่ทำให้ลูกป่วยบ่อยนั้น สามารถพบได้จากปัจจัยเหล่านี้
- สภาพอากาศ โดยเฉพาะในหน้าฝน ที่มีความชื้นสูงทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีลมช่วยนำพาเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น
- สุขอนามัย เมื่อเด็กได้รับสารอาหารหรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย มีไข้ พะอืดพะอม จนถึงมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
- โรคระบาด เมื่อพบว่าในห้องเรียนมีเด็กป่วย ยิ่งในวัยเด็กเล็กอาจเป็นการยากที่จะป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เพราะบางครั้งเด็กอาจถอดหน้ากากอนามัยออก หรือเวลาเล่นด้วยกัน อาจทำให้สัมผัสเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
- โรคประจำตัว หากเด็กมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น ภูมิแพ้ เมื่อเจอสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ก็อาจไปกระตุ้นอาการของโรคเหล่านั้นขึ้นมาได้
- ภูมิคุ้มกันไม่ดี การที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รับเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารไม่มีคุณภาพ หรือไม่รับประทานผักผลไม้ที่มีวิตามินช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และความเครียด วิตกกังวล
สัญญาณแบบไหนที่บอกว่าลูกเริ่มไม่สบาย
สัญญาณบ่งบอกว่าลูกอาจป่วย เด็กเล็ก ๆ อาจไม่สามารถสื่อสารหรือบอกเราตรง ๆ ได้ว่ารู้สึกอย่างไร แต่หากสังเกตเห็นว่าลูกมีอาการหงุดหงิด หรือร้องไห้ต่อเนื่องนานกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณว่าลูกไม่สบาย โดยเฉพาะหากมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ตัวร้อน เบื่ออาหารหรือไม่ยอมดื่มนม ตาแดง หรือท้องเสีย หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันทีเพื่อความปลอดภัย
ลูกป่วยบ่อย พ่อแม่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกได้
หากลูกป่วยบ่อย คุณพ่อคุณแม่ควรสอนและให้ความรู้กับลูกถึงการดูแลตนเอง และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับลูกน้อย
1. ดูแลสุขอนามัย
ควรสอนให้ลูกรู้จักสุขอนามัยที่ดี เพื่อดูแลตนเองในตอนที่ไม่ได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ เช่น ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร และทุกวันที่กลับมาถึงบ้านก่อนทำกิจกรรมอย่างอื่น
2. จัดสภาพแวดล้อมให้สะอาด
ควรปลูกฝังนิสัยให้รักความสะอาด เพื่อเป็นการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคในเบื้องต้น เช่น ล้างมือบ่อย ๆ รับประทานอาหารที่สะอาด ไม่เล่นสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่อาจมีเชื้อโรค
3. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
โดยจะต้องเป็นอาหารที่สดสะอาด และมีวิตามินแร่ธาตุที่มีส่วนช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย โดยเฉพาะผักผลไม้ เนื่องจากมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่าง ๆ เช่น วิตามินซี วิตามินบี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน หรือซิลีเนียมที่พบมากในผักใบเขียวหรือผักสีเหลืองส้ม และสังกะสีที่พบในเนื้อสัตว์ นมสำหรับเด็ก 1 ขวบขึ้นไป อาหารทะเล ถั่ว เป็นต้น
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
จะช่วยทำให้เม็ดเลือดขาวมีความแข็งแรง และระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายดี ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และยังช่วยลดความเครียดให้กับเด็ก เนื่องจากระหว่างออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินส์ช่วยลดความวิตกกังวลต่าง ๆ ได้ จึงควรมีการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ
5. เสริมด้วยวิตามิน
คุณพ่อคุณแม่อาจปรึกษาคุณหมอประจำตัวของลูกน้อย เพื่อดูประวัติและให้คำแนะนำที่เหมาะสมก่อนรับประทานวิตามินเสริมต่าง ๆ
6. ฝึกให้ลูกมีจิตใจที่แจ่มใส
ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มจากการสอนให้นั่งสมาธิ ช่วยให้จิตใจปลอดโปร่ง มีสุขภาพจิตที่ดี และยังช่วยเพิ่มฮอร์โมนที่มีส่วนช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย
7. ให้ลูกพักผ่อนอย่างเพียงพอ
คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกน้อยนอนหลับอย่างมีคุณภาพอย่างต่ำ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรนอนดึกจนเกินไป เนื่องจากร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน ที่ช่วยลดความเครียดและเพิ่มภูมิต้านทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8. ใส่หน้ากากอนามัยให้ลูกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน
เพื่อช่วยลดการได้รับเชื้อโรคจากการไอ จามของผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระยะใกล้ชิด รวมถึงลดการแพร่กระจายเชื้อโรคสู่คนอื่น โดยเลือกหน้ากากอนามัยที่เหมาะสมต่อช่วงอายุของเด็ก
ลูกป่วยบ่อยมาก คุณพ่อคุณแม่รับมืออย่างไร
หากลูกป่วยบ่อย คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นปลูกฝังให้ลูกดูแลสุขอนามัยของตนเองให้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กในวัยเข้าโรงเรียน ควรสอนให้ลูกล้างมือและสวมหน้ากากอนามัยอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานผักผลไม้เพื่อเสริมวิตามินแร่ธาตุ ระวังไม่ให้โดนฝน ทำร่างกายให้อบอุ่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการได้รับวัคซีนที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ให้ครบถ้วนตามช่วงวัย เพื่อป้องกันอาการป่วยและช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยวัคซีนที่เหมาะสำหรับลูกน้อย มีดังนี้
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เริ่มเมื่อลูกมีอายุได้ 6 เดือน โดยฉีดในปีแรกจำนวน 2 เข็ม และปีถัด ๆ ไป เป็นปีละ 1 เข็ม
- วัคซีนอีสุกอีใส โดยฉีดเข็มแรกในช่วงอายุ 12-18 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งในช่วงอายุ 4-6 ปี
- วัคซีนมือเท้าปาก ฉีด 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน ฉีดได้ตั้งแต่ 6 เดือนถึง 6 ปี เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อสูงในช่วงดังกล่าว สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้
- วัคซีนตับอักเสบเอ เริ่มฉีดเมื่อลูกอายุได้ 1 ปีขึ้นไป จำนวน 2 เข็ม ห่างกันเข็มละ 6-12 เดือน
- วัคซีนนิวโมคอคคัล เริ่มฉีดเมื่อลูกอายุได้ 6 สัปดาห์ ขึ้นไป จนถึง 5 ปี เพื่อช่วยป้องกันความรุนแรงของอาการปอดอักเสบและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- วัคซีนไข้เลือดออก เริ่มฉีดเมื่อลูกอายุได้ 6 ปี ถึง 45 ปี จำนวน 3 เข็ม ห่างกันเข็มละ 6 เดือน ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
อาหารที่ควรให้ลูกหลีกเลี่ยง เมื่อลูกน้อยป่วย
เมื่อลูกป่วยบ่อย คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการให้ทานอาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากระบบย่อยอาหารอาจทำงานช้าลง ทำให้อาหารอยู่ในกระเพาะนานกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เด็กที่มีอาการป่วยเกี่ยวกับทางเดินอาหาร รู้สึกคลื่นไส้หรืออาเจียนได้
ลูกไม่สบายบ่อยแค่ไหน ควรไปปรึกษาแพทย์
เมื่อลูกไม่สบายหลังจากได้รับเชื้อโรค อาการป่วยต่าง ๆ เช่น เด็กมีไข้ ไอ จาม หรือลูกน้อยมีน้ำมูก มักจะดีขึ้นภายใน 3-7 วัน แต่หากมีอาการรุนแรงร่วมด้วยหรืออาการป่วยไม่ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปหาคุณหมอ เพื่อทำการตรวจประเมินอย่างละเอียด เช่น มีอาการหายใจเร็ว หน้าอกบุ๋ม ซึมไม่ร่าเริง ไม่รับประทานอาหาร อาเจียนหรือเด็กท้องเสีย หากทานยาลดไข้ตามที่แพทย์สั่งแล้ว แต่ไข้ไม่ลง และมีไข้มากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ควรรีบพาไปโรงพยาบาลโดยทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงเพิ่มขึ้นได้
วิตามินดีจากแสงแดด ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกได้ไหม
การที่ลูกได้รับแสงแดดอ่อน ๆ ในช่วงเช้า สามารถช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกได้ โดยร่างกายจะสร้างวิตามินดี 3 จากการได้รับแสงแดดในตอนเช้าประมาณ 15 นาที อาทิตย์ละ 2-4 วัน เพราะแสงแดดมีรังสี UV ช่วยในการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลในร่างกายให้เป็นวิตามินดี ซึ่งข้อดีของวิตามินดีนั้นมีมากมาย เช่น เสริมความแข็งแรงของกระดูกและฟัน สามารถรักษาโรคเยื่อบุตาอักเสบ ช่วยในการดูดซึมวิตามินเอ และช่วยในการทำงานของระบบสมอง การเต้นของหัวใจ และที่สำคัญช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย และวิตามินดี 3 ยังพบในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไข่แดง ตับ น้ำมันตับปลา และปลาที่มีไขมันสูงด้วยเช่นกัน
ลูกป่วยบ่อยจากการได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ คงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ก็หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะเชื้อโรคมีอยู่ตามธรรมชาติรอบตัวเรา อีกทั้งสภาพแวดล้อม และอากาศ การแพร่ระบาดของโรค อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นเสริมภูมิต้านทานที่แข็งแรงให้แก่ลูก ด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และทำกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อให้ได้รับวิตามินดีจากแสงแดด ใส่ใจความสะอาด ทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มเกราะป้องกันที่ดีให้แก่ลูกได้
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- โกนผมไฟให้ลูก ใช้อะไรบ้าง พิธีโกนผมไฟ มีขั้นตอนอย่างไร
- การมองเห็นของทารก ในแต่ละช่วงวัย ลูกน้อยมองเห็นอะไรบ้าง
- ท่านั่ง w-sitting ทำไมเด็กเล็กชอบนั่ง เรื่องอันตรายควรรู้
- ล้างจมูกทารก แบบไหนปลอดภัย ล้างยังไงไม่ให้ลูกกลัว
- ทารกตัวเหลือง เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกตัวเหลือง
- ทารกอุจจาระมีมูก ลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด แบบไหนที่ต้องระวัง
- ทารกเป็นหวัดหายใจครืดคราด ลูกเป็นหวัดหายใจไม่สะดวกทําไงดี
- ลูกอ้วกไม่มีไข้ท้องเสีย เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ รับมืออย่างไรดี
- ลูกหายใจครืดคราดแต่ไม่มีน้ำมูก เกิดจากอะไร อันตรายกับลูกน้อยไหม
- วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย เมื่อลูกไอไม่หยุด พร้อมวิธีดูแลและป้องกัน
อ้างอิง:
- เปิดเทอมทีไร ทำไมลูกป่วยทุกที ทั้งที่ใส่หน้ากากอนามัย, โรงพยาบาลสมิติเวช
- ป่วยบ่อยอาจเพราะไม่ค่อยมีภูมิคุ้มกัน, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- คู่มือเติมเต็มความรู้เพื่อลูกรัก, กลุ่มพัฒนาความร่วมมือทันตสาธารณสุขระหว่างประเทศ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
- ดูแลสุขภาพลูกน้อยวัยเรียน ในยุค NEW NORMAL, โรงพยาบาลเปาโล
- เด็กกับหน้ากากอนามัย, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
- ตั้งแต่ลูกเข้าโรงเรียน ป่วยบ่อยมาก เพราะอะไร?, โรงพยาบาลพีเอ็มจี
- หนูน้อยต้องระวัง! โรคหน้าฝนที่พบบ่อยในเด็กเล็ก, โรงพยาบาลศิครินทร์
- วิตามินดี สำหรับเด็ก, โรงพยาบาลสมิติเวช
อ้างอิง ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง