ล้างจมูกทารก แบบไหนปลอดภัย ล้างยังไงไม่ให้ลูกกลัว
จมูกของทารก เมื่อมีน้ำมูกก็อาจจะทำให้เขาหายใจไม่สะดวก คุณแม่ลองสังเกตดูแล้วก็คงจะรู้สึกอึดอัดแทนได้ แต่จะให้ยานอกเหนือคำแนะนำของแพทย์ก็ไม่ใช่วิธีการทสมควรสำหรับลูกน้อยในวัยแบเบาะ วิธีที่สามารถทำได้เองที่บ้านและปลอดภัย คือการล้างจมูก คุณแม่บางท่านอาจจะรู้สึกกังวลเพราะว่าการล้างจมูกจะดูคล้ายว่าปลอดภัยแต่ว่าต้องลงมือทำด้วยตัวเองก็คงระแวงว่ามีสิ่งที่ไม่รู้หรือทำไม่ถูกหรือเปล่า บทความนี้จะอธิบายทั้งเหตุผลที่ควรล้างจมูกให้ทารก ความถี่ที่เหมาะสม อุปกรณ์ที่ต้องใช้และลำดับวิธีการ
สรุป
- การล้างจมูกควรทำวันละ 2 ครั้ง และอาจจะทำได้ 3-4 ครั้ง ถ้าสังเกตว่าลูกน้อยมีน้ำมูกเยอะ
- อายุที่เหมาะสมที่จะทำการล้างจมูกได้คือตั้งแต่แรกเกิด และจริง ๆ แล้วคุณแม่เองก็สามารถล้างจมูกได้เหมือนกัน เป็นกิจกรรมดี ๆ เพื่อสุขภาพในครอบครัว
- เพื่อความปลอดภัย ไม่ระคายเคืองโพรงจมูกและป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อน ควรล้างจมูกตามที่แพทย์แนะนำ
- ในระหว่างขั้นตอนการล้างจมูกทารก สามารถใช้ได้ทั้งกระบอกฉีดยาและลูกยาง และควรจะหมั่นพูดคุยกับลูกน้อย ร้องเพลง นำของเล่นมาไว้ในมือเขา และพูดชื่นชมเขาหลังล้างจมูกเรียบร้อยแล้ว เสียงของคุณแม่และความใส่ใจจะทำให้ลูกน้อยสบายใจด้วย เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมเชิงบวกเพื่อให้ลูกน้อยมีท่าทีร่วมมือในการล้างจมูกครั้งต่อ ๆ ไป
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ทำไมต้องล้างจมูกให้ทารก
- ล้างจมูกให้ทารกได้บ่อยแค่ไหน
- การล้างจมูกทารก มีประโยชน์มากกว่าที่คิด
- ล้างจมูกทารกได้ตั้งแต่กี่เดือน
- ล้างจมูกให้ทารก ต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง
- ขั้นตอนการล้างจมูกให้ทารกอย่างถูกวิธี
- เคล็ดลับการล้างจมูกทารก แบบไม่ให้ลูกกลัว
ทำไมต้องล้างจมูกให้ทารก
ลูกน้อยสามารถเกิดอาการเป็นหวัดคัดจมูกในเด็กได้เช่นเดียวกับวัยผู้ใหญ่ ลองคิดดูว่าผู้ใหญ่อย่างเราเวลาคัดจมูก ยังน่ารำคาญเลย ลูกน้อยน่าจะรู้สึกไม่ต่างกัน แต่ด้วยวัยจึงไม่สามารถดูแลและจัดการกับตัวเองได้ เพราะแบบนั้นถ้าหากว่าคุณแม่ล้างจมูกให้ ก็จะเป็นการช่วยลูกน้อยให้สามารถหายใจทางจมูกได้ง่าย ทำให้ลูกน้อยโล่งจมูกและมีความสุขในขณะที่ดื่มนมจากอกแม่ด้วย
ล้างจมูกให้ทารกได้บ่อยแค่ไหน
- อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอน หรือมากกว่านั้นได้ แต่ไม่ควรเกินวันละ 3-4 ครั้ง
- เมื่อรู้สึกว่ามีน้ำมูกข้น คัดจมูก
- แนะนำให้ทำขณะท้องว่าง เพราะจะไม่ทำให้อาเจียน
การล้างจมูกทารก มีประโยชน์มากกว่าที่คิด
ลูกน้อยสามารถมีน้ำมูกไหลโดยเฉลี่ยถึงหนึ่งลิตรต่อวัน และจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อน้องเป็นหวัด ซึ่งเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 6-8 ครั้งต่อปี ส่วนใหญ่มักมีน้ำมูกมากในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤษภาคม เพราะฉะนั้นช่วงเดือนเหล่านี้ให้คุณแม่สามารถเตรียมศึกษาวิธีล้างจมูกทารกได้เลย
- จมูกของลูกน้อยเหมือนกับผู้ใหญ่ ในชีวิตประจำวันทั้งสูดฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ สะเก็ดผิวหนังหรือขนของสัตว์เลี้ยง ฯลฯ เข้าไป การล้างจมูกทำความสะอาด จะเพิ่มและคงความชุ่มชื้นแก่ช่องจมูก และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานกรองอนุภาคต่าง ๆ ด้วย
- กำจัดชะล้างสารคัดหลั่งออกไป คือ น้ำมูกนั่นเอง
- ลดอาการคัดจมูก เป็นผลให้เมื่อไม่มีการสะสมของน้ำมูกและหายใจสะดวกขึ้น ทำให้จมูกชุ่มชื้น จะช่วยป้องกันเลือดกำเดาไหล
- ลดความถี่และระยะเวลาของการเป็นหวัด
- ป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการคัดจมูก (หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ไอ)
- ควบคุมโรคหอบหืดได้ดีขึ้น
ล้างจมูกทารกได้ตั้งแต่กี่เดือน
- ตั้งแต่แรกเกิดเลย การล้างจมูกเป็นวิธีที่ปลอดภัย
- เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ไม่ควรได้รับยาลดน้ำมูกเพราะอาจมีผลข้างเคียงตามมา การใช้ยาลดน้ำมูกในเด็ก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา
- เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีควรได้รับการดูแลในเบื้องต้น เช่น การใช้ลูกยางดูดน้ำมูก หรือ วิธีล้างโพรงจมูกที่ถูกต้อง ถ้าหากไม่ดีขึ้นหรือยังมีปัญหาจากการอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก ควรปรึกษากุมารแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา รวมถึงเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดจากการใช้ยาได้
ล้างจมูกให้ทารก ต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง
- ใช้น้ำเกลือตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ
- ถ้วยสะอาดสำหรับใส่น้ำเกลือ
- กระบอกฉีดยาพลาสติกขนาด 1 ซีซี (อาจจำเป็นต้องมีหลอดหยดกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 1-5 ปี)
- หลอดบีบดูดน้ำมูกและเสมหะ กรณีที่เด็กไม่สามารถสั่งน้ำมูกหรือไอออกมาเอง
- กระบอกฉีดยาหรือลูกยาง เบอร์ 0-2 สำหรับใช้กับลูกน้อยอายุ 1 ขวบ
- กระบอกฉีดยาหรือลูกยาง เบอร์ 2-4 สำหรับใช้กับลูกน้อยอายุมากกว่า 1 ปี
- ภาชนะสำหรับเก็บขยะ ไว้ทิ้งกระดาษทิชชู่ และอุปกรณ์อื่น ๆ หลังใช้เสร็จแล้ว
ขั้นตอนการล้างจมูกให้ทารกอย่างถูกวิธี
- คุณแม่ต้องล้างมือทั้งสองให้สะอาด ควรถูสบู่และเช็ดมือด้วยผ้าสะอาดให้แห้ง
- ใช้กระบอกฉีดยาเพื่อดูดน้ำเกลือเข้าไป การเตรียมน้ำเกลือไว้ก่อน ให้เทน้ำเกลือลงในภาชนะสะอาดที่จะสามารถจุ่มส่วนดูดของกระบอกฉีดยาลงไปได้
- สำรวจด้วยสายตาว่าลูกน้อยอยู่ในท่านอนหรือนั่งที่สะดวกกับการล้างจมูก ในลูกรักวัยแรกเกิดอาจจะใช้ผ้าพันตัวไว้ด้วยหากไม่แน่ใจว่าลูกน้อยจะให้ความร่วมมือหรือกังวลว่าลูกน้อยจะเคลื่อนไหวไปมา การห่อตัวลูกน้อยจะช่วยให้การล้างจมูกของคุณแม่เป็นไปอย่างอ่อนโยน
- จัดท่าทางให้ลูกน้อยนอนหงาย ประคองศีรษะไว้ในท่ายกสูง เพื่อป้องกันการสำลัก
- จับศีรษะเด็กนิ่ง ๆ ค่อย ๆ หยดน้ำเกลือทีละ 2-3 หยด หรือค่อย ๆ ใส่กระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูกข้างที่จะล้าง บีบน้ำเกลือครั้งละ 0.5 ซีซี ชิดด้านบนของจมูก ทำเบา ๆ ค่อย ๆ คุณแม่ควรลองฝึกบีบน้ำเกลือกับอุปกรณ์ที่มีก่อน จะได้กะแรงได้ถูก กระบอกฉีดยาแต่ละอันอาจจะฝืดไม่เท่ากัน หรือคุณแม่อาจจะใช้ลูกยางเบอร์เดียวกันที่มีแรงฉีดเบากว่า
- ใช้ลูกยางแดงที่สะอาด ดูดน้ำมูกหรือเสมหะออก โดยบีบอากาศทั้งหมดออกก่อน จากนั้นค่อย ๆ สอดเข้าไปในรูจมูกประมาณ 1-1.5 เซ็นติเมตร ค่อย ๆ คลายส่วนที่บีบเพื่อดูดน้ำมูกเข้าไปในลูกยางแดง จากนั้นบีบของเหลวลงในกระดาษทิชชู่
- ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งในรูจมูกแต่ละข้างจนกระทั่งไม่มีน้ำมูกเหลืออยู่
- มีเสมหะอยู่ในลำคอ ให้สอดลูกยางแดงเพื่อดูดเสมหะออกจากลำคอ หากต้องการให้เด็กไอเสมหะให้สอดปลายของลูกยางแดงสะอาดเข้าไปประมาณโคนลิ้นเพื่อกระตุ้นให้ไอและดูดเสมหะตามที่กล่าวข้างต้น ซึ่งต้องระวังด้วย ขณะดูดเสมหะให้จับหน้าลูกน้อยหันไปด้านใดด้านหนึ่งด้วย เพื่อป้องกันการหายใจไม่ออก
เคล็ดลับการล้างจมูกทารก แบบไม่ให้ลูกกลัว
การล้างจมูกทารก ลูกน้อยอาจมีความกังวลหรือไม่คุ้นเคยและงอแง เพื่อให้ลูกน้อยสบายใจและอาการไข้หวัดไม่แย่ลงด้วยความเครียด คุณแม่อาจจะยึดทำตามเคล็ดลับต่อไปนี้
- หากลูกดิ้นให้ใช้ผ้าห่อตัวเอาไว้ ป้องกันหลุดมือหรือว่าฟาดไปโดนสิ่งของทำให้เป็นอันตรายได้
- ใช้น้ำเสียงที่อ่อนโยน ไม่ดุ ไม่ทำเสียงแข็ง ให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลาย ลูกน้อยพร้อมจะฟังคุณแม่และมั่นใจในตัวคุณแม่มากกว่าถ้าแสดงความอ่อนโยนในการพูดคุยกับเขา
- เปิดเพลงผ่อนคลายคลอไปด้วย เพราะถ้าเครียดอาจจะทำให้อาการที่เป็นสาเหตุของน้ำมูกไหลอย่างไข้หวัดแย่ลงอีก ควรให้ผ่อนคลาย แล้วร่างกายจะแข็งแรงขึ้น
- เบี่ยงเบนความกลัวด้วยของเล่นชิ้นโปรด หรือการละเล่นโปรด ทั้งของเล่นชิ้นโปรดหรือการละเล่นต้องมีคุณแม่อยู่ด้วยกัน ลูกรักจะรู้สึกได้ถึงความรักและความใส่ใจ จึงผ่อนคลายขึ้น
- เมื่อล้างเสร็จให้ชื่นชม และกอดลูกทุกครั้ง เพราะจะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมเชิงบวก เช่นเดียวกับการให้ยาที่ต้องรับประทาน การให้รางวัลเป็นแผนการเพื่อให้ลูกรักเลือกที่จะยอมรับการดูแลจากคุณแม่ และแสดงออกมาเป็นท่าทีที่เป็นมิตร
อากาศทุกปีจะมีช่วงที่ทำให้เด็ก ๆ เป็นหวัดได้ง่าย และเด็กแต่ละคนมีภูมิคุ้มกันไม่เท่ากัน ด้วยปัจจัยที่หลากหลาย เด็กบางคนอาจมีน้ำมูกที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ในเด็ก แต่ทุกคนล้วนแต่มีอาการคัดจมูกได้ทั้งนั้น เวลาผู้ใหญ่สักคนคัดจมูกหรือมีน้ำมูกกับเสมหะมาก ก็รู้สึกไม่สบายตัว และบางทีต้องสั่งน้ำมูกหรือสูดหายใจแรง ๆ ทำเสียงแปลก ๆ อยู่ตลอด บ่อยครั้งก็รู้สึกเจ็บคอขึ้นมา ลูกรักของคุณแม่ก็เช่นกัน แต่เพราะว่าการล้างจมูกเป็นตัวช่วยได้ เพื่อจัดการกับปัญหามีน้ำมูกและเสมหะ ทั้งคุณแม่และลูกรักสามารถล้างจมูกไปด้วยกันได้ เป็นกิจกรรมเพื่อสุขภาพในครอบครัว
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สารอาหารสำคัญในนมแม่ ดีต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- ลูกเป็นโรคภูมิแพ้ คุณแม่รับมือภูมิแพ้ในเด็กได้อย่างไร
- ลูกอ้วก ไม่มีไข้ ท้องเสีย เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ รับมืออย่างไรดี
- อาการทารกท้องอืด พร้อมวิธีป้องกันและวิธีดูแลทารกท้องอืด
- ผื่นทารก ลูกเป็นผื่นแดงทั้งตัว ปัญหาผิวผื่นทารกในเด็ก
- ผื่นขึ้นหน้าทารก ทำไงดี พร้อมวิธีแก้ผดผื่นบนใบหน้าทารก
- ลูกเป็นผื่นเม็ดเล็ก ๆ คัน ลูกเป็นผื่น ดูแลลูกแบบไหนให้ถูกวิธี
- ผื่นคันในเด็ก ลูกมีผื่นคันขึ้นตามตัวแต่ไม่มีไข้ พร้อมวิธีดูแลลูก
- ลูกเป็นผื่นผิวสาก ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกมีผื่นสาก
- ลูกเป็นผื่นแพ้เหงื่อ ผื่นแพ้ในเด็กเกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแล
- ผื่นลมพิษในเด็ก เกิดจากอะไร ทำไมพ่อแม่ยุคใหม่ ควรใส่ใจเป็นพิเศษ
- ผื่นแพ้อาหารทารก พร้อมวิธีป้องกันลักษณะผื่นแพ้อาหารทารก
อ้างอิง:
- How to Clean Your Baby’s Nose, WebMD
- Saline Nasal Washes for Children, โรงพยาบาลนครธน
- Cleaning Baby’s Nose: Your How-To Guide, Healthline
- What Are the Benefits of Cleaning the Nose?, MedicineNet
- How to Clear a Baby's Stuffy Nose, Parents
- Use Caution When Giving Cough and Cold Products to Kids, FDA
- How to Safely Give Saline Drops to Babies, Verywell Health
- Colds, KidsHealth
- Soothing Your Sick Child, WebMD
- Medicine - Helping Children Take Oral Medication, Children's Minnesota
- ในเด็กเล็ก (ตำกว่า 2 ปี) มีนำมูกไหลมาก ๆ แต่ใส จนทำให้เด็กงอแงมาก สามารถให้ยาลดนำมูกได้หรือไม่ เนื่องจากหมอเด็กบางท่านไม่แนะนำ actifed / cpm จะมียากลุ่มใดหรือยาใดที่สามารถให้ได้คะ(นอกจาก dimetapp), หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- “ล้างจมูก” ไม่ยาก – วิธีการล้างจมูกที่ถูกต้อง, โรงพยาบาลศิครินทร์
- ล้างจมูกในเด็กอย่างไรให้ปลอดภัย เหมาะสมกับช่วงวัย, โรงพยาบาลนครธน
อ้างอิง ณ วันที่ 22 มีนาคม 2567