ของเล่นเด็ก 1 ขวบ มีอะไรบ้าง ของเล่นเสริมพัฒนาการ 1 ขวบ

ของเล่นเด็ก 1 ขวบ มีอะไรบ้าง ของเล่นเสริมพัฒนาการ 1 ขวบ

ของเล่นเด็ก 1 ขวบ มีอะไรบ้าง ของเล่นเสริมพัฒนาการ 1 ขวบ

ดูแลลูกตามช่วงวัย
บทความ
ก.พ. 27, 2025
11นาที

การเล่นของลูกเป็นโอกาสที่จะให้เขาได้สนุกอย่างอิสระ ทั้งในด้านร่างกาย ความคิด และการเข้าสังคม ซึ่งช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้เหมาะสมตามวัย ทำให้ได้เรียนรู้การเชื่อมโยงเหตุและผลได้ดี ของเล่นเด็ก 1 ขวบ จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยพัฒนาทักษะในหลายด้าน คุณพ่อคุณแม่จึงควรเลือกของเล่นที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และเหมาะสมกับช่วงอายุ เพื่อให้ลูกได้พัฒนาทักษะต่าง ๆ อย่างเต็มที่

สรุป

  • ของเล่นเสริมพัฒนาการ 1 ขวบ นอกจากเล่นสนุกแล้ว ยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ การทรงตัว พัฒนาการด้านสติปัญญา และพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม เช่น กล่องหยอดรูปทรง รถลากจูง สมุดรูปภาพสัตว์ สิ่งของ หนังสือนิทานตามวัย
  • คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกของเล่นเด็ก 1 ขวบให้เหมาะสมกับวัย เป็นของเล่นที่เด็กเล่นแล้วเข้าใจ เล่นสนุก เพื่อให้ลูกได้รับประโยชน์สูงสุดและพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ อย่างสมวัย
  • ของเล่นเด็ก 1 ขวบอาจมีอันตรายแอบแฝง หากของเล่นไม่ปลอดภัยก็อาจทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเลือกของเล่นอย่างระมัดระวัง โดยควรเลือกของเล่นที่ผ่านมาตรฐาน มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กำกับ และหลีกเลี่ยงของเล่นที่มีชิ้นส่วนเล็ก ๆ ซึ่งอาจหลุดออกและติดคอ ทำให้เด็กขาดอากาศหายใจ รวมถึงหลีกเลี่ยงของเล่นที่มีสายยาวซึ่งอาจพันรอบคอและเป็นอันตราย

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

พัฒนาการของเด็ก 1 ขวบ

พัฒนาการของเด็ก 1 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายด้าน เด็กจะเปลี่ยนจากวัยทารกเป็นเด็กวัยเตาะแตะ ที่กระตือรือร้นและสนใจในสิ่งรอบตัว สมองของเด็กวัยนี้กำลังเติบโต เริ่มเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับคนใกล้ชิด แสดงความต้องการของตัวเอง และสามารถพูดคำง่าย ๆ ที่มีความหมาย รวมถึงการเริ่มก้าวเดินได้ด้วยตัวเอง โดยพัฒนาการของเด็ก 1 ขวบในด้านต่าง ๆ มีดังนี้

พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและร่างกายของเด็ก 1 ขวบ

  • เด็กจะสามารถเดินได้ด้วยตัวเอง 2-3 ก้าว โดยผู้ดูแลไม่ต้องช่วย
  • นั่งเองได้โดยไม่ต้องช่วย และยันตัวเองให้ลุกขึ้นโดยการเหนี่ยวเกาะโต๊ะ หรือเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน

 

พัฒนาการด้านสมองของเด็ก 1 ขวบ

  • ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้ และวางสิ่งของลงได้เอง โดยไม่ต้องช่วยเหลือ
  • ใช้ของใช้บางอย่างได้ถูกวิธี เช่น ใช้แก้วดื่มน้ำ
  • มองไปที่สิ่งของ หรือวัตถุที่เอ่ยชื่อได้ถูกต้อง
  • สามารถค้นหาสิ่งของที่ซ่อนอยู่เจอ
  • ใส่ของลงในภาชนะและนำออกมาได้
  • เลียนแบบท่าทาง การเคลื่อนไหวของคนใกล้ชิด
  • จับเอาวัตถุมาชนกัน

 

พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ของเด็ก 1 ขวบ

  • ร้องไห้เมื่อไม่เห็นพ่อแม่ หรือ ร้องไห้เมื่อพ่อแม่ออกจากบ้าน
  • แสดงความต้องการ ด้วยการเปล่งเสียง หรือ ทำท่าทาง เช่น ยื่นหนังสือให้เมื่ออยากให้คุณแม่อ่านให้ฟัง ยื่นมือเมื่ออยากให้อุ้ม
  • มีสิ่งของชิ้นโปรด และถือไว้เสมอ เช่น ตุ๊กตา ผ้าห่ม
  • รู้สึกอายเมื่อต้องอยู่ใกล้คนแปลกหน้า
  • เรียกร้องความสนใจจากคนใกล้ชิด ด้วยการพูดซ้ำ ๆ

 

พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารของลูกน้อยวัย 1 ปี

  • พูดคำพูดพื้นฐานง่าย ๆ หรือเรียกชื่อคนใกล้ชิดได้ เช่น แม่ พ่อ
  • ใช้ภาษากายพื้นฐานได้ เช่น โบกมือบ๊ายบาย
  • เข้าใจคำพูด คำศัพท์ง่าย ๆ หรือหยุดทำในสิ่งที่ถูกห้าม เช่น หยุดชะงัก เมื่อได้ยินคำว่า ไม่
  • ทำตามคำขอ คำสั่งแบบง่าย ๆ ได้
  • พูดทวนคำที่ได้ยินจากคนใกล้ชิด

 

ประโยชน์ด้านพัฒนาการของของเล่นเด็ก 1 ขวบ

 

ประโยชน์ด้านพัฒนาการของของเล่นเด็ก 1 ขวบ

ของเล่นสำหรับเด็กนั้นมีประโยชน์ต่อพัฒนาการในด้านต่าง ๆ เช่น พัฒนาการด้านสติปัญญา พัฒนาการด้านร่างกาย พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วของเล่นยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น ส่งเสริมจินตนาการ ช่วยให้ลูกได้ขยับร่างกาย สร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกของเล่นที่เหมาะสมกับวัย เพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุดและพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ อย่างสมวัย

 

ของเล่นเสริมพัฒนาการ 1 ขวบ ต้องเลือกยังไง

ของเล่นช่วยส่งเสริมความสุขทางอารมณ์และพัฒนาทักษะการเข้าสังคม อีกทั้งยังช่วยฝึกทักษะ เสริมสร้างพัฒนาการด้านสติปัญญา ทางกล้ามเนื้อ การทรงตัว และการใช้ภาษา ซึ่งพ่อแม่ควรเลือกของเล่นที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของลูก เพื่อป้องกันสารปนเปื้อนหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะเล่น รวมถึงควรเลือกของเล่นให้เหมาะสมกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย เช่น

  1. เลือกของเล่นที่เหมาะกับอายุ เป็นของเล่นที่เด็กเล่นแล้วเข้าใจ เล่นสนุก มีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่และปลอดภัย
  2. เลือกของเล่นที่ฝึกความเคลื่อนไหว และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ส่งเสริมพัฒนาการทางกล้ามเนื้อการทรงตัว พัฒนาการด้านภาษา และพัฒนาการด้านสติปัญญา ฝึกการใช้มือและสายตาประสานกัน เช่น รถลากจูง สมุดภาพรูปสัตว์ กล่องหยอดรูปทรงต่าง ๆ ตัวต่อ เป็นต้น
  3. เลือกของเล่นที่ใช้งานง่ายและน้ำหนักเบา เพื่อให้ลูกถือและยกได้สะดวก เหมาะสมกับวัย และสามารถทำความสะอาดและจัดเก็บได้ง่ายเมื่อไม่ได้ใช้งาน
  4. เลือกของเล่นที่ผ่านมาตรฐาน มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กำกับ ทำจากวัสดุปลอดสารพิษ บนฉลากบอกช่วงอายุของเด็กที่สามารถเล่นของเล่นชิ้นนั้น ๆ ได้
  5. เลือกของเล่นที่มีขนาดใหญ่กว่าปากของเด็ก ควรระวังของเล่นที่มีชิ้นส่วนขนาดเล็ก เพื่อป้องกันการกลืน ซึ่งเสี่ยงต่อการสำลัก อาจส่งผลอันตรายแก่ชีวิตได้
  6. เลือกของเล่นที่มีความทนทาน ไม่แตกหัก หรือฉีกขาดง่าย ของเล่นต้องไม่มีมุมแหลมคมที่อาจบาดผิวหนัง ทำให้บาดเจ็บได้ง่าย

 

ลูก 1 ขวบซื้ออะไรให้ดี

ลูก 1 ขวบซื้ออะไรให้ดี การเลือกของเล่นเสริมพัฒนาการ 1 ขวบที่ช่วยฝึกทักษะต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรมองหาของเล่นที่ไม่เพียงแต่เล่นสนุก แต่ยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา กล้ามเนื้อ การทรงตัว สติปัญญา อารมณ์ และสังคม เช่น

  • ของเล่นที่เสริมพัฒนาการทางภาษา เช่น สมุดรูปภาพสัตว์ สิ่งของ หนังสือนิทานตามวัย เพื่อให้ลูกรู้จักชื่อ สิ่งของต่าง ๆ
  • ของเล่นที่ส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อ การทรงตัว เช่น สีเทียน หรือสีไม้ ให้ลูกฝึกการจับและหัดขีดเขียน เพื่อเสริมทักษะกล้ามเนื้อมือและทักษะการใช้มือของลูก หรือ แท่งไม้รูปทรงต่าง ๆ รถลากจูงเล็ก ๆ ของเล่นไขลาน เพื่อให้ลูกได้ใช้มือหยิบจับ
  • ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการสติปัญญา เช่น กล่องหยอดรูปทรง เพื่อให้ลูกฝึกการใช้สายตาและมือทำงานประสานกัน
  • ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม สำหรับเด็กเล็กนั้นพ่อแม่คือของเล่นที่ดีที่สุดของลูก เพราะการเล่นกับพ่อแม่ไม่เพียงแต่สร้างความสุข แต่ยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม การเล่นง่าย ๆ เช่น เล่นจ๊ะเอ๋ จะช่วยสร้างความใกล้ชิดระหว่างพ่อแม่ลูก ทำให้ตื่นเต้น สนุกสนาน มีความสุข เปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้ที่จะปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รู้จักการเล่นร่วมกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานช่วยให้ลูกเข้าสังคมได้ง่ายเมื่อเติบโตขึ้น
  • ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการทักษะการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ลูกบอล ช่วยให้ลูกเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว และยังช่วยในการส่งเสริมการประสานงานระหว่างมือกับตา 

 

ของเล่นเด็ก 1 ขวบ ของเล่นที่ไม่ควรให้ลูกเล่น

 

ของเล่นที่ไม่ควรให้ลูกเล่น

การเล่นของเล่นนอกจากให้ความสนุกเพลินเพลินแล้ว ยังช่วยกระตุ้นพัฒนาการทั้งร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ สร้างความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ ฝึกการแก้ไขปัญหา และการใช้เหตุผล แต่ของเล่นที่พบเห็นอาจมีอันตรายแอบแฝงอยู่ และส่งผลให้ลูกบาดเจ็บจากการเล่นของเล่นที่ไม่ปลอดภัยได้เช่น

  1. ของเล่นที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ที่ขนาดเล็กกว่า 3.2 X 6 ซม. เป็นส่วนประกอบ ทำให้มีโอกาสอุดตันทางเดินหายใจหรือสำลักได้ เช่น ตุ๊กตาพลาสติกตัวเล็ก ๆ เมื่อเผลอเข้าปาก เคี้ยว หรืออม อาจทำให้ชิ้นส่วนบางชิ้นหลุดออกมา ติดหลอดลมจนทำให้ขาดอากาศหายใจได้
  2. ของเล่นที่เป็นลูกกระสุนที่แรงกว่า .08 จุล เช่น ปืนอัดลม ปืนลูกดอก หากยิงกระสุนโดนลูกตา จะทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นตาบอดได้
  3. ของเล่นที่มีสายยาวกว่า 22 ซม. เช่น กีต้าร์ รถลาก เชือกที่ยาวอาจพันรอบคอและทำให้เกิดอันตรายได้
  4. ของเล่นที่มีช่องหรือรู เช่น ของเล่นชุดครัว ชุดปราสาท อาจทำให้ลูกเผลอสอดนิ้ว มือ หรือแม้แต่หัวเข้าไปติดได้
  5. ของเล่นที่เคลื่อนที่ได้เร็ว เช่น จักรยานสองล้อ สามล้อ ที่ออกแบบมาไม่เหมาะสม รวมถึงควรหลีกเลี่ยง รถพยุงตัว และรถหัดเดิน เพราะเสี่ยงต่อการหกล้มหรือพลิกคว่ำ
  6. ของเล่นที่ติดไฟง่าย ที่ใช้สำหรับสวมหัว สวมตัว เช่น ชุดสไปเดอร์แมน ชุดซูเปอร์ฮีโร่ต่าง ๆ ทั้งผ้าและวัสดุที่ใช้ ต้องผ่านการทดสอบการต้านการติดไฟมาก่อน
  7. ของเล่นที่เสียงดังเกิน 110 เดซิเบล เพราะอาจทำลายเซลล์ประสาทรับเสียงของลูกได้
  8. ของเล่นที่แหลมคม เช่น ลูกข่าง หุ่นยนต์ที่มีส่วนหัวแหลม ๆ อาจทำให้บาดผิวหนัง บาดเจ็บได้ง่าย

 

กิจกรรมเสริมพัฒนาการที่พ่อแม่ทำร่วมกับลูกได้

การเล่นและการทำกิจกรรมกับลูกทำได้ง่าย ๆ แต่ให้ประโยชน์มาก ซึ่งเริ่มต้นได้จากพ่อแม่ ที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเมื่อมีการพูดคุยและถามคำถามระหว่างทำกิจกรรม จะช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นและส่งเสริมพัฒนาการด้านการเรียนรู้ โดยกิจกรรมเสริมพัฒนาการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำร่วมกับลูกได้ ได้แก่

1. กิจกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน

เช่น การแปรงฟัน การหวีผม โดยคุณพ่อคุณแม่หวีผมตัวเองให้ลูกดู แล้วจับมือลูกให้ฝึกหวีผมของตัวเอง เพื่อให้ลูกเล่นสิ่งของตามประโยชน์ของสิ่งนั้นได้ เสริมพัฒนาการด้านการช่วยเหลือตัวเองและสังคม

 

2. การหยิบจับอาหาร

โดยแบ่งอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร วางไว้ในจาน หยิบอาหารโดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ให้ลูกดู จากนั้นให้ลูกฝึกทำตาม หรือชวนลูกร้องเพลงแมงมุมขยุ้มหลังคา พร้อมทำท่าทางจีบนิ้วตามจังหวะเพลง ฝึกให้ลูกใช้นิ้วมือหยิบจับอาหารหรือสามารถจีบนิ้วได้ เพื่อเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กและพัฒนาการด้านสติปัญญา

 

3. การเลือกสิ่งของหรือของเล่น

โดยนำสิ่งของหรือของเล่นที่ลูกชอบ 2-3 อย่างมาวางตรงหน้า แล้วถามว่า “ลูกชอบ ลูกเลือกอันไหน” จากนั้นรอให้ลูกบอกความต้องการด้วยการพูดหรือทำท่าทางเลือกของเล่นที่ต้องการ ก่อนจะยื่นของเล่นให้ วิธีนี้ช่วยส่งเสริมทักษะการแสดงความต้องการและการสื่อสารของลูก เสริมพัฒนาการด้านการใช้ภาษา

 

4. การเล่นกับลูกโดยใช้คำสั่งง่าย ๆ

พร้อมทำท่าทางประกอบ เช่น ตบมือ หรือโบกมือ เพื่อส่งเสริมทักษะการทำตามคำสั่งและการเลียนแบบท่าทางง่าย ๆ ซึ่งจะช่วยเสริมพัฒนาการด้านภาษา

 

5. ฝึกการทรงตัว

โดยให้ลูกยืนอย่างมั่นคง มีคุณพ่อคุณแม่อยู่ใกล้ ๆ จากนั้นวางของเล่นลงที่พื้น แล้วชวนลูกพูดคุยเพื่อกระตุ้นให้เขาหย่อนตัวลงนั่งเพื่อเล่นของเล่นกับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อฝึกการทรงตัว และหย่อนตัวลงนั่ง เสริมพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว

 

ของเล่นเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเสริมพัฒนาการในหลายด้าน แต่ของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกก็คือ "พ่อแม่" เมื่อคุณพ่อคุณแม่เล่นกับลูก ลูกจะรู้สึกสนุกและพร้อมเปิดรับการเรียนรู้ เป็นเด็กอารมณ์ดี มีความสุข และยังได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ การเล่นด้วยกันจึงช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับพัฒนาการของลูกในทุก ๆ ด้าน แม้ว่าของเล่นเป็นสิ่งสำคัญต่อพัฒนาการของลูก แต่โภชนาการก็สำคัญไม่แพ้กันในการส่งเสริมพัฒนาการสมองและพัฒนาการทางร่างกายของลูก สำหรับเด็กวัย 1 ขวบ นอกเหนือจากสารอาหารที่มีคุณค่าในแต่ละมื้อแล้ว คุณแม่ควรคำนึงถึงสารอาหารสำคัญที่ควรมีในนมกล่องเด็ก เช่น โอเมก้า 3, 6, 9, ดีเอชเอ , วิตามินบี 12 และ สฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญที่ช่วยสร้างปลอกไมอีลินในสมอง ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและสติปัญญาของลูกน้อย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 

อ้างอิง:

  1. พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ และการส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม, hellokhunmor
  2. พัฒนาการวัยเตาะแตะ 1-3 ปี ดูแลอย่างไรให้เด็กเติบโตสมวัยและแข็งแรง, โรงพยาบาลกรุงไทย
  3. พัฒนาการของลูกน้อยเมื่ออายุ 1 ปี, unicef Thailand
  4. ตารางพัฒนาการเด็กปฐมวัย, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
  5. ของเล่น เล่นอย่างไรให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อลูกน้อย, hellokhunmor
  6. The 35 Best Toys for 1-Year-Olds, Recommended by Parents and Experts, parents
  7. เลือก “ของเล่น” เป็น “ของขวัญ” ช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย, โรงพยาบาลสมิติเวช
  8. Smart Toys for Every Age, kidshealth
  9. สื่อและของเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย, มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
  10. หลากอันตรายจาก “ของเล่นเด็ก”, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  11. เล่นกับลูกอย่างไร ให้สมวัยและสร้างสรรค์ หากโรงเรียนยังปิด และทุกคนยังต้องติดบ้าน, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  12. เล่นกับลูกทำได้ง่าย ๆ แต่ประโยชน์มหาศาล, กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  13. คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5 ปี สำหรับผู้ปกครอง, สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
  14. เล่นอย่างไรให้พัฒนาการสมวัย , ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  15. ประโยชน์ของการเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกน้อย ควรเริ่มเล่นเมื่อไหร่ดี? (Benefits of Peek-A-Boo) , drnoifamily

อ้างอิง ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567