เด็กพัฒนาการช้าเป็นยังไง พร้อมวิธีสังเกตเมื่อเด็กมีพัฒนาการล่าช้า
เด็กพัฒนาการช้า อาจเกิดจากหลายสาเหตุทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม สุขภาพ ปัญหาจากการคลอด หรือแม้แต่การเลี้ยงดู การเข้าใจสาเหตุของปัญหาจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถหาแนวทางแก้ไขและส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้อย่างถูกต้อง และตรงจุด บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กพัฒนาการล่าช้า พร้อมทั้งแนะนำวิธีการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม
สรุป
- เด็กพัฒนาการช้า จะมีลักษณะของพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าเด็กในช่วงวัยเดียวกัน ซึ่งเด็กพัฒนาการช้าไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับพัฒนาการด้านใดก็ตาม จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านที่เหลือให้ล่าช้าตามไปด้วย
- เด็กพัฒนาการช้า สาเหตุอาจมาจากพันธุกรรม เช่น พ่อแม่ หรือญาติพี่น้อง มีประวัติยีน หรือโครโมโซมผิดปกติ
- เด็กพัฒนาการช้า สามารถสังเกตได้จากความผิดปกติของอวัยวะในร่างกาย ได้แก่ ใบหู ดวงตา จมูก ปาก ลิ้น ผิวหนัง รวมทั้งแขนขาและลำตัว
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- เด็กพัฒนาการช้าเป็นอย่างไร
- เด็กพัฒนาการช้า เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
- เด็กพัฒนาการช้า เกิดจากความผิดปกติของร่างกายหรือเปล่า
- เด็กพัฒนาการช้า ต่างกับเด็กออทิสติกยังไง
- ลูกพัฒนาการล่าช้าแบบไหน ควรปรึกษาแพทย์
- เด็กพัฒนาการล่าช้า มีวิธีป้องกันไหม
- อยากกระตุ้นพัฒนาการให้ลูก ทำยังไงได้บ้าง
พัฒนาการ (Child Development) คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ทักษะทางสังคม อารมณ์ และสติปัญญา ซึ่งต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามแต่ละช่วงวัยของเด็ก การสังเกตพัฒนาการของลูกตั้งแต่แรกเกิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในเด็กปกติจะมีลำดับขั้นของพัฒนาการ หากพบว่าเด็กมีพัฒนาการช้าเกิน 6 เดือน เป็นไปได้ว่าลูกของคุณพ่อคุณแม่อาจมีความผิดปกติทางพัฒนาการไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง จำเป็นที่จะต้องพบแพทย์เฉพาะทางเด็ก เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างทันที
เด็กพัฒนาการช้าเป็นอย่างไร
เด็กพัฒนาการช้า จะมีลักษณะของพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าเด็กในช่วงวัยเดียวกัน ซึ่งเด็กพัฒนาการช้าไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับพัฒนาการด้านใดก็ตาม จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านที่เหลือให้ล่าช้าตามไปด้วย คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตพัฒนาการล่าช้าในแต่ละด้านของลูกได้ดังนี้
- พัฒนาการด้านสติปัญญา: ไม่เข้าใจคำสั่ง ไม่สามารถใช้ความคิดในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างสมวัย
- พัฒนาการด้านร่างกาย: การเคลื่อนไหวร่างกายทั้งส่วนกล้ามเนื้อมัดเล็ก และกล้ามเนื้อมัดใหญ่ พลิกตัว คลาน ลุก นั่ง ยืน เดิน และการใช้มือในการจับดินสอขีดเขียนไม่เป็นไปตามพัฒนาการของช่วงวัย
- ด้านการพูดสื่อสาร: พูดไม่เป็นคำ ไม่เข้าใจที่คนรอบข้างพูดสื่อสารกัน
- พัฒนาการด้านอารมณ์และการเข้าสังคม: ไม่เข้าใจคำพูดหรือคำสั่งง่าย ๆ ไม่มองหน้า ไม่สบตา และไม่แสดงอารมณ์ร่วมใด ๆ และไม่เล่นกับใคร
เด็กพัฒนาการช้า เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
สาเหตุที่ทำให้เด็กพัฒนาการช้า พัฒนาการไม่สมวัยเหมือนกับเพื่อนวัยเดียวกัน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- พันธุกรรม: ที่ได้รับมาจากพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องมีประวัติยีน หรือโครโมโซมผิดปกติ
- การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม: ไม่เคยได้รับการกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย หรือได้รับโภชนาการที่ไม่มีประโยชน์ สารอาหารไม่ครบ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- สภาพแวดล้อมไม่ดี: ได้รับการเลี้ยงดูมาในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ดีเท่าที่ควร
- การติดเชื้อ: เด็กอาจได้รับการติดเชื้อขณะอยู่ในครรภ์คุณแม่ หรือหลังคลอดมีการติดเชื้อรุนแรง ป่วยเยื้อหุ้มสมองอักเสบ
- ความผิดปกติของระบบประสาท: อาจเกิดจากการเป็นโรคทางสมองและระบบประสาท ที่ส่งผลทำให้มีความบกพร่องต่อพัฒนาการ เช่นเด็กมีอาการชัก มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อจนไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างเหมาะสม
เด็กพัฒนาการช้า เกิดจากความผิดปกติของร่างกายหรือเปล่า
อยากรู้ว่าลูกเป็นเด็กพัฒนาการช้าหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตความผิดปกติของลูกได้จากอวัยวะของร่างกาย ได้แก่
- หูผิดปกติ: ลักษณะของใบหูผิดรูป ใบหูอาจจะอยู่ตรงตำแหน่งที่สูงหรือต่ำจากตำแหน่งปกติ ติ่งหูมีความยาวมากกว่าติ่งหูปกติ และไม่มีรูหู
- ผิวหนังผิดปกติ: มีปานบนผิวหนังเกิน 6 จุด ลักษณะของผิวตัวจะเป็นสีหลือง และมีปานเป็นริ้ว ๆ สีขาวหรืออาจเป็นสีดำ
- ตาผิดปกติ: ดวงตาทั้งสองข้างอาจจะเหล่เข้า เหล่ออก หรือห่างกันจนผิดปกติ เห็นแสงสะท้อนของรูม่านตาเป็นสีขาว
- จมูกผิดปกติ: ลักษณะของดั้งจมูกมีความบี้มาก หรืออาจเชิดสูงมากกว่าปกติ ไม่ตอบสนองต่อกลิ่นต่าง ๆ
- ปากผิดปกติ: ไม่เห็นริมฝีปาก มีภาวะของปากแหว่งเพดานโหว่ พูดติดอ่าง พูดไม่ชัด และไม่ส่งเสียงตอบโต้ตามวัย
- ลิ้นผิดปกติ: เวลาพูดจะเห็นลิ้นออกมาจากปากเนื่องจากลิ้นใหญ่ และมีน้ำลายไหลย้อยออกจากปาก ไม่เคี้ยวหรือกลืนอาหาร
- แขนขาและลำตัวผิดปกติ: กล้ามเนื้อแขนขามีการเกร็งมาก มีการยึดติดของข้อต่อต่าง ๆ ทำให้มีความยากลำบากในการเคลื่อนไหว และแขนขาทั้งสองข้างมีความยาวไม่เท่ากัน
เหล่านี้เป็นลักษณะอาการเบื้องต้นที่แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่สังเกต อย่างไรก็ดี จำเป็นได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และรับคำแนะนำต่อไป
เด็กพัฒนาการช้า ต่างกับเด็กออทิสติกยังไง
เด็กพัฒนาการช้าและเด็กออทิสติก เป็นสองภาวะที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นภาวะเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงทั้งสองภาวะนี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน การทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างสองภาวะนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยและการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก
- เด็กพัฒนาการช้า (Developmental Delay in Children) คือจะมีทักษะพัฒนาการของช่วงวัยบางด้านที่ช้ากว่าเกณฑ์ ซึ่งหากได้รับการแก้ไข และการกระตุ้นจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้เร็ว ก็จะสามารถกลับมามีพัฒนาการเท่าทันกับเด็กที่อยู่ในวัยเดียวกัน
- เด็กออทิสติก (Autism spectrum disorder: ASD) ออทิสติกในเด็ก เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางระบบประสาท ไม่สามารถที่จะหายได้เอง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือมีปัญหาในการเข้าสังคม รวมถึงมีพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารที่ล่าช้า
ลูกพัฒนาการล่าช้าแบบไหน ควรปรึกษาแพทย์
การสังเกตพัฒนาการตามช่วงวัยจะทำให้ทราบว่าลูกมีพัฒนาการล่าช้า เด็กพัฒนาการเร็ว หรือพัฒนาการเป็นปกติหากพบว่าลูกมีพัฒนาการไม่เป็นไปตามตารางพัฒนาการตามวัยเกิน 6 เดือนขึ้นไป ถือว่ามีความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเร็ว
- ลูกอายุ 1-2 เดือน ไม่ตอบสนองต่อเสียงรอบข้าง
- ลูกอายุ 6 เดือน ยังไม่พลิกคว่ำ ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้
- ลูกอายุ 9 เดือน ยังนั่งเองไม่ได้ ไม่แสดงอารมณ์ใด ๆ และไม่เล่นสนุก
- ลูกอายุ 12 เดือน ไม่สนใจ ไม่สื่อสารกับคนรอบข้าง
เด็กพัฒนาการล่าช้า มีวิธีป้องกันไหม
ถึงแม้ว่าพัฒนาการล่าช้าที่เกิดขึ้นกับเด็กนั้นแม้จะไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันไม่ให้ลูกเป็นเด็กพัฒนาการล่าช้าได้ ด้วยวิธีการเบื้องต้นดังนี้
- ขณะตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีหรือสารพิษ และไปพบคุณหมอตามนัด เพื่อรับการตรวจ ติดตามสุขภาพครรภ์ตลอด 9 เดือน
- หลังคลอด หากสังเกตพบว่าลูกมีความผิดปกติของพัฒนาการที่ไม่เป็นไปตามช่วงวัย แนะนำให้พาไปพบแพทย์ เพราะหากได้รับการตรวจวินิจฉัยและกระตุ้นพัฒนาการก่อนอายุ 3 ปี จะส่งผลที่ดีต่อพัฒนาการในระยะยาวของเด็ก
อยากกระตุ้นพัฒนาการให้ลูก ทำยังไงได้บ้าง
เด็กพัฒนาการช้า คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกได้ดังนี้
- พูดคุยกับกุมารแพทย์ ขอคำปรึกษา และแนวทางในการกระตุ้นพัฒนาการในด้านที่ล่าช้า
- ทำกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ อาทิเช่น การกระตุ้นการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กด้วยการให้เล่นปั้นดินน้ำมัน หรือพาลูกเที่ยวเล่นนอกบ้าน พบเพื่อนในวัยเดียวกัน จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์และสังคมให้ลูก
- อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง เพื่อเป็นการเพิ่มคลังคำศัพท์ เนื่องจากนิทานสำหรับเด็กทารก จะช่วยกระตุ้นทักษะด้านภาษาให้กับลูก
- ไม่ควรหยิบยื่นหน้าจอต่าง ๆ ให้ลูกดู หรือให้ลูกเล่นก่อนวัย 2 ปี
ทั้งนี้เพื่อพัฒนาการการเจริญเติบโตของร่างกาย และพัฒนาการสมองการเรียนรู้ของลูกน้อยที่สมวัย คุณแม่ควรให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด เนื่องจากนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด อุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญต่อพัฒนาการ เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม แอลฟา-แล็คตัลบูมิน และสฟิงโกไมอีลิน ซึ่งช่วยในพัฒนาการสมอง สติปัญญา และการเจริญเติบโตของลูกให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีพัฒนาการล่าช้า เมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน อย่าเพิ่งวิตกกังวลเกินไป การสังเกตและการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะพัฒนาการของเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การได้รับการวินิจฉัยและการบำบัดที่ถูกต้อง จะช่วยให้ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่ได้รับการกระตุ้นและมีพัฒนาการที่เหมาะสมได้
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- โปรแกรม Baby Development เข้าใจพัฒนาการลูกน้อยแต่ละช่วงวัยเพื่อการเตรียมพร้อมของคุณแม่
- โปรแกรม PlayBrain ยิ่งเล่น สมองยิ่งแล่น โปรแกรมพัฒนาทักษะสมองลูกน้อยให้ตรงตามช่วงวัย ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญสมองระดับโลก
- พัฒนาการเด็ก 1 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 2 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 3 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 4 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 5 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 6 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 7 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 9 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 10 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 11 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
อ้างอิง:
- 5 สัญญาณบ่งบอก ลูกน้อยพัฒนาการล่าช้า, โรงพยาบาลสินแพทย์
- พัฒนาการเด็ก…สำคัญอย่างไร?, โรงพยาบาลกรุงไทย
- พัฒนาการของเด็กตามช่วงวัย, โรงพยาบาลเปาโล
- พัฒนาการเด็ก (Child Development), สถาบันราชานุกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
- เด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการ, สถาบันราชานุกุล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
- พัฒนาการล่าช้าในเด็ก (Developmental Delay in Children), MedPark Hospital
- เด็กพัฒนาการล่าช้า, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- 4 สิ่งผิดปกติบ่งบอกว่าลูกรักเป็น “เด็กพัฒนาการล้าช้า”, โรงพยาบาลพญาไท
อ้างอิง ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง