
อาหารตามวัย แนวทางโภชนาการสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 5 ขวบ
การให้อาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก การเจริญเติบโตเต็มศักยภาพของร่างกายและสมองขึ้นอยู่กับการได้รับอาหารที่เหมาะสมตามวัย และมีสารอาหารหลากหลายครบถ้วน ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบทางเดินอาหาร และระบบเผาผลาญ ทำให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาดูกันว่า อาหารตามวัย ที่เหมาะสมเป็นอย่างไร
สรุป
- การได้รับอาหารตามวัย ช่วยส่งเสริมโภชนาการที่เหมาะสม ทำให้ร่างกายและสมองของเด็กเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย สมองดี มีสุขภาพแข็งแรง และลดโอกาสเจ็บป่วยได้
- อาหารตามวัยสำหรับเด็กแรกเกิด – 6 เดือน ได้แก่ นมแม่ ควรให้นมแม่อย่างเดียวในช่วงนี้ โดยไม่ต้องเสริมอาหารเหลวหรือเครื่องดื่มอื่นเพิ่มเติม
- เด็ก 6 เดือนขึ้นไป สามารถเสริมอาหารตามวัย โดยควบคู่ไปกับการให้นมแม่
- เด็ก 1 ปีขึ้นไป จากเดิมที่กินนมแม่เป็นหลัก ปรับเป็นกินอาหารหลัก 3 มื้อ และเสริมด้วยนมแม่ไปจนถึง 2 ปี
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- อาหารตามวัย สำหรับเด็กแรกเกิด – 6 เดือน
- อาหารตามวัย สำหรับเด็ก 6 เดือน – 1 ปี
- อาหารตามวัย สำหรับเด็ก 1 – 2 ปี
- อาหารตามวัย สำหรับเด็ก 3 – 5 ปี
- เคล็ดลับการจัดอาหารตามวัยสำหรับคุณพ่อคุณแม่
- สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
อาหารตามวัย สำหรับเด็กแรกเกิด – 6 เดือน
ในช่วง 6 เดือนแรกสำหรับลูกน้อย นมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เพราะมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม รวมถึง แอลฟาแล็ค-สฟิงโกไมอีลิน ซึ่งช่วยในพัฒนาการสมอง สติปัญญา และการเจริญเติบโตของลูก ในนมแม่ยังมีวิตามินที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อต่าง ๆ ถ้าคุณแม่มีสุขภาพดี สามารถให้นมแม่ได้อย่างสม่ำเสมอ และลูกน้อยมีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์ การให้นมแม่อย่างเดียวก็เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อยในช่วงวัยนี้
ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ และมีความจำเป็นทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์ โดยโภชนาการที่แพทย์แนะนำ จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตและพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
ข้อควรระวัง ไม่จำเป็นต้องให้อาหารเหลวหรือเครื่องดื่มอื่นเพิ่มเติม เช่น น้ำเปล่า น้ำผลไม้ น้ำผึ้ง หรือข้าวต้ม การให้อาหารหรือเครื่องดื่มอื่นที่ไม่ใช่นมแม่แก่ทารกที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหลายประการ เช่น ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย อาการแพ้อาหาร และในกรณีที่รุนแรง อาจทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดตัน หรือหัวใจหยุดเต้น เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากระบบการย่อยอาหารของทารกในวัยนี้ยังพัฒนาไม่เต็มที่ นอกจากนี้ การให้อาหารอื่นจะทำให้ทารกดูดนมแม่น้อยลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำนมแม่ซึ่งเป็นอาหารหลักลดลงตามไปด้วย

อาหารตามวัย สำหรับเด็ก 6 เดือน – 1 ปี
เมื่อลูกน้อยอายุครบ 6 เดือน นอกจากนมแม่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มให้อาหารตามวัย ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ลูกได้รับพลังงานและสารอาหารที่ครบถ้วน เพียงพอกับความต้องการในการเจริญเติบโต
การเริ่มต้นอาหารเสริม ในช่วงแรกควรเริ่มจากอาหารที่บดละเอียด เช่น ข้าวบด ผักสุกบด ผลไม้สุกบด เพื่อให้ลูกน้อยฝึกกลืนและย่อยอาหาร เมื่อลูกน้อยคุ้นเคยกับอาหารบดแล้ว สามารถค่อย ๆ เริ่มเพิ่มโปรตีนจากเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น ไข่แดง ตับบด ปลา ซึ่งอุดมไปด้วยโปรตีนและธาตุเหล็กที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
เพิ่มความหลากหลาย ให้ลูกน้อยได้ลองอาหารหลากหลายชนิดสลับกันไป ทั้งข้าว เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ผัก และผลไม้ เพื่อให้ได้รับสารอาหารหลากหลายครบถ้วน โดยเฉพาะผักใบเขียวและผักสีส้ม เช่น ตำลึง ผักบุ้ง ผักกาดขาว ฟักทอง แครอท และผลไม้รสไม่หวานจัด เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก ส้ม ซึ่งเป็นแหล่งของวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร
เพิ่มเนื้อสัมผัสของอาหาร เมื่อลูกน้อยเริ่มเคี้ยวและกลืนได้ดีขึ้น ให้ค่อย ๆ เพิ่มเนื้อสัมผัสของอาหารจากบดละเอียดเป็นบดหยาบ เช่น เปลี่ยนจากข้าวบดเป็นโจ๊ก ข้าวต้ม ตามลำดับ เพื่อให้ลูกน้อยคุ้นเคยกับอาหารที่มีลักษณะเป็นชิ้นเล็ก ๆ
เมื่อลูกน้อยอายุ 8-9 เดือน จะเริ่มใช้นิ้วมือหยิบจับสิ่งของได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกน้อยหยิบอาหารกินเองได้ เช่น ฟักทองนึ่ง มันต้มหั่นชิ้นยาว แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แข็งและเป็นเม็ดเล็ก ๆ เช่น ถั่วลิสง เมล็ดข้าวโพด เพราะอาจทำให้สำลักได้
คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มต้นอาหารตามวัย ให้ลูกน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และควรสังเกตอาการแพ้อย่างใกล้ชิด โดยให้ลูกลองอาหารใหม่ทีละชนิด และเว้นระยะ 2-3 วัน เพื่อสังเกตอาการแพ้ เช่น ผื่นขึ้น ท้องเสีย อาเจียน หรือหายใจลำบาก ก่อนจะเริ่มให้ลองอาหารชนิดใหม่
ตัวอย่างเมนูแนะนำ
1. ข้าวบดฟักทอง (สำหรับเด็ก 6 เดือน)
ส่วนผสม:
- นมแม่
- ไข่แดงต้มสุกบดละเอียด
- ข้าวสวย
- ฟักทองต้มสุก
วิธีทำ:
นำนมแม่ผสมกับฟักทองและข้าวสวย บดรวมกันจนละเอียดเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้น ตักใส่ชาม โรยหน้าด้วยไข่แดงบดละเอียด พร้อมเสิร์ฟให้ลูกน้อย
2. ไข่ตุ๋นเนื้อนุ่ม (สำหรับเด็ก 10 เดือน)
ส่วนผสม:
- ไข่ไก่
- เต้าหู้ไข่
- ฟักทอง
- ข้าวสวย
วิธีทำ:
ตีไข่แดงและไข่ขาวให้เข้ากัน ใส่น้ำเปล่าลงไปตีให้เป็นเนื้อเดียวกัน นำฟักทองและเต้าหู้ไข่ไปต้ม โดยจะต้องปอกเปลือกฟักทองให้สามารถบดได้ จากนั้นนำฟักทองไปบดให้ละเอียด หั่นเต้าหู้ไข่เป็นชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำ นำไข่ที่ตีไว้ไปนึ่งในหม้อนึ่ง ปิดฝาตั้งไว้ประมาณ 2 นาที จากนั้นใส่ฟักทอง ข้าวสวย และเต้าหู้ไข่ลงไป จับเวลาอีก 5 นาที เป็นอันเสร็จ พร้อมเสิร์ฟให้ลูกน้อย
3. กล้วยน้ำว้าบดนมแม่ (สำหรับเด็ก 6 เดือน)
ส่วนผสม:
- กล้วยน้ำว้าสุก
- นมแม่
- ข้าวกล้องสุก
- น้ำต้มสุก
วิธีทำ:
บดข้าวกล้องสุกให้ละเอียด หั่นกล้วยน้ำว้าเป็นชิ้นเล็ก ๆ ปั่นรวมกับน้ำต้มสุก จากนั้นผสมด้วยนมแม่อุ่น ๆ พร้อมเสิร์ฟให้ลูกน้อย
อ่านเพิ่มเติม
- อาหารเด็ก 6 เดือน
- อาหารเด็ก 6-12 เดือน
- อาหารเด็ก 7 เดือน
- อาหารเด็ก 9 เดือน
- อาหารเด็ก 8 เดือน
- อาหารเด็ก 11 เดือน
- อาหารเด็ก 10 เดือน
- อาหารเด็ก 1 ขวบ
อาหารตามวัย สำหรับเด็ก 1 – 2 ปี
เมื่อลูกน้อยอายุครบ 1 ปี เด็กวัยนี้ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น ซึ่งควรได้รับพลังงานจากอาหารหลัก 3 มื้อ และอาหารว่าง 1-2 มื้อ โดยนมจะกลายเป็นเพียงอาหารเสริมเท่านั้น
อาหารตามวัยสำหรับเด็ก 1-2 ปี ควรเป็นอาหารที่หลากหลาย ครบ 5 หมู่ โดยเน้นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ไข่ ถั่วต่าง ๆ ผักและผลไม้เน้นผักหลากสีสัน เช่น ผักใบเขียวเข้ม ผักสีส้ม ผักสีแดง และผลไม้สด ธัญพืชเต็มเมล็ด ควรเน้นข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมือ เพราะมีวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหารมากกว่าข้าวขาว
ข้อควรระวัง อาหารสำหรับเด็กวัยนี้ควรปรุงสุก อ่อนนุ่ม และหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง ไม่ควรให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำหวาน น้ำอัดลม และไม่ควรให้ขนมกรุบกรอบเป็นอาหารว่าง
อาหารตามวัย สำหรับเด็ก 2 – 3 ปี
ควรเริ่มฝึกนิสัยการกินที่ดีให้ลูกน้อย ฝึกใช้ช้อนตักอาหารและส้อมจิ้มอาหารได้ด้วยตนเอง หรือฝึกให้ร่วมโต๊ะอาหารกับผู้ใหญ่ เพื่อค่อย ๆ เรียนรู้วินัยในการกิน และใส่ใจกับการกินอาหารในแต่ละมื้อ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน และเติบโตแข็งแรงสมวัย
เด็กในวัยนี้มีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น จึงควรเสริมสารอาหารที่จำเป็น เพื่อบำรุงกระดูกให้แข็งแรง ด้วยแคลเซียมจากนม โยเกิร์ต และชีส ซึ่งเป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันที่แข็งแรง เด็กควรดื่มนมจืด 2 แก้วต่อวัน เพราะนอกจากจะมีปริมาณแคลเซียมสูงแล้ว นมยังมีอัตราส่วนของแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
นอกจากนี้ ร่างกายของเด็กยังต้องการธาตุเหล็กเพื่อการเจริญเติบโตและสร้างภูมิต้านทาน ควรเน้นรับประทานเนื้อสัตว์ ตับ เลือด ไก่ อาหารทะเล และผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักโขม คะน้า ตำลึง เป็นต้น
ตัวอย่างเมนูแนะนำ
1. สปาเกตตีซอสไก่
ส่วนผสม:
- เส้นสปาเกตตี
- หอมใหญ่ลอกเปลือก หั่นเต๋า
- มะเขือเทศ หั่นเต๋า
- ไก่สับ
- เนย
- เกลือ
- ซอสมะเขือเทศ
- น้ำมันมะกอก (หรือน้ำมันพืช)
- น้ำเย็น
- น้ำตาลทราย
- ซอสปรุงรสฝาเขียว
วิธีทำ:
หั่นหอมใหญ่และมะเขือเทศเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า จากนั้น ต้มน้ำให้เดือด ใส่เกลือเล็กน้อย ใส่เส้นสปาเกตตีลงไป ต้มประมาณ 9 นาที หรือจนสุกตามชอบ ตักเส้นขึ้นสะเด็ดน้ำ คลุกเส้นกับน้ำมันมะกอก (หรือน้ำมันพืช) เพื่อไม่ให้เส้นติดกัน
ตั้งกระทะ ใส่เนยลงไปผัดจนละลาย ใส่หอมใหญ่ลงไปผัดจนขอบเริ่มใส ใส่มะเขือเทศลงไป ผัดจนนิ่ม ใส่ไก่สับลงไปผัด ใส่เกลือเล็กน้อย ผัดจนไก่สุก ใส่ซอสมะเขือเทศตามชอบ ผัดให้เข้ากัน เติมน้ำตาลทรายและซอสฝาเขียวเล็กน้อย ปรุงรสตามชอบ ตักซอสราดบนเส้นสปาเกตตี พร้อมเสิร์ฟได้เลย
2. ข้าวผัดไข่ใส่ผักรวม
ส่วนผสม:
- ข้าวกล้อง หุงสุก
- ไข่ไก่
- ผักชี ซอย
- ก้านคะน้า หั่นพอดีคำ
- แครอท ฝานบาง ๆ
- กระเทียม สับละเอียด
- ซีอิ๊วขาว
- น้ำปลา
- น้ำตาลทราย
- พริกไทยป่น
- น้ำมันพืช
วิธีทำ:
เตรียมข้าวกล้องหุงสุก ใส่ในภาชนะ ปรุงรสด้วยน้ำปลา ซีอิ๊วขาว น้ำตาล และพริกไทยตามชอบ คลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นตั้งกระทะ ใส่น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ เมื่อน้ำมันร้อน ใส่กระเทียมสับลงไปผัดจนหอม ตอกไข่ใส่กระทะ ยีให้ไข่พอแตก ผัดจนไข่เริ่มสุก จึงใส่ข้าวที่ปรุงรสไว้ลงไป ผัดให้เข้ากันกับไข่ ใส่ก้านคะน้าและแครอทลงไป ผัดจนผักเริ่มสุก โรยผักชีซอยลงไป ผัดให้เข้ากัน ชิมรสชาติ ตักใส่จาน พร้อมเสิร์ฟได้เลย
3. ซุปฟักทอง
ส่วนผสม:
- ฟักทองนึ่ง
- หอมใหญ่ สับละเอียด
- นมสด
- น้ำเปล่า
- เกลือ & พริกไทย
- น้ำมันมะกอก
วิธีทำ:
บดฟักทองนึ่งพอหยาบ เตรียมไว้ ตั้งหม้อ ใส่น้ำมันมะกอกเล็กน้อย ผัดหอมใหญ่สับจนสุกใส เติมนมสดและน้ำเปล่าลงในหม้อ ใส่ฟักทองบด ปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทยเล็กน้อย คนให้เข้ากัน เคี่ยวจนเดือด ยกลงพักไว้ให้อุ่น เทส่วนผสมลงในเครื่องปั่น ปั่นจนเนื้อเนียนละเอียด เทซุปที่ปั่นแล้วกลับลงหม้อ อุ่นให้ร้อนอีกครั้ง ตักซุปใส่ถ้วย โรยหน้าตามชอบ พร้อมเสิร์ฟได้เลย

อาหารตามวัย สำหรับเด็ก 2 – 5 ปี
เด็กวัย 2-5 ปี เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น รวมถึงการเลือกรับประทานอาหาร ซึ่งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจ ในวัยนี้จึงควรสร้างเสริมพฤติกรรมการกินที่ดี พัฒนาความหลากหลายของอาหาร เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่หลากหลายเหมาะสมกับวัย
ปัญหาการเลือกกินของเด็กวัยนี้ มักมีสาเหตุจากประสบการณ์ที่ไม่ดี เช่น เนื้อสัตว์เหนียวเกินไป อาหารชิ้นใหญ่ทำให้ติดคอ หรือผักที่มีกลิ่นฉุนและรสขม ดังนั้น เพื่อให้ลูกน้อยมีประสบการณ์ที่ดีในการรับประทานอาหาร ควรเลือกใช้เนื้อสัตว์ส่วนที่นุ่มและหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือสลับกับเต้าหู้ไข่ เพื่อให้ลูกเคี้ยวง่ายขึ้น สำหรับผักผลไม้ ลองเริ่มจากผักหรือผลไม้ที่ลูกชอบ และค่อย ๆ เพิ่มชนิดอื่น ๆ โดยอาจใช้กิจกรรมสนุก ๆ เช่น หั่นผักเป็นชิ้น หรือลวกให้สุก ให้ลูกลองชิม และให้ลูกมีส่วนร่วมในการจัดจานอาหาร เพิ่มสีสันในจานอาหาร เพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร
อาหารตามวัย ที่ควรเน้นสำหรับเด็ก 2 -5 ปีได้แก่
- โปรตีน เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและพัฒนาการ เน้นเนื้อสัตว์ กินสลับกับ ไข่ หรือกับอาหารทะเล โดยหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ พอดีคำ และเลือกเนื้อสัมผัสที่นุ่ม เคี้ยวง่าย
- ผักหลากสี เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และระบบขับถ่าย แนะนำให้เริ่มจากผักใบเขียวที่ไม่มีกลิ่นฉุน เช่น ตำลึง ผักกาดขาว บรอกโคลี หรือผักที่ลูกชอบ และค่อย ๆ เพิ่มผักสีอื่น ๆ เช่น ฟักทอง แครอท มะเขือเทศ
- ผลไม้สด เป็นแหล่งวิตามิน และใยอาหารที่ดี ควรให้ลูกรับประทานผลไม้สด หลากหลายชนิด มื้อละ 8 ชิ้นพอดีคำ หรือกล้วยน้ำว้าขนาดกลาง 1 ผล
- ข้อควรระวัง ขนมขบเคี้ยว และอาหารทอด มักมีไขมัน และโซเดียมสูง ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ควรจำกัดปริมาณ และเลือกขนมที่มีประโยชน์
เคล็ดลับการจัดอาหารตามวัยสำหรับคุณพ่อคุณแม่
คุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างนิสัยการกินที่ดีให้ลูกน้อยได้ ด้วยเคล็ดลับการจัดอาหารตามวัย ที่ทำตามได้ง่าย ๆ ดังนี้
- จัดตารางมื้ออาหารให้เป็นเวลา กำหนดเวลาอาหารให้เป็นประจำ งดกิจกรรมอื่น ๆ ขณะกิน และจำกัดเวลาไม่เกิน 30 นาที เพื่อสร้างวินัยและความคุ้นเคย
- ให้ลูกมีส่วนร่วมในการเตรียมอาหาร ชวนลูกเข้าครัว ช่วยเลือกเมนู ช่วยเด็ดผัก หรือตกแต่งจานอาหาร เพื่อสร้างความสนใจและอยากลองชิม
- หลีกเลี่ยงการบังคับ ไม่บังคับให้ลูกกินอาหารที่ลูกไม่ชอบ แต่ใช้การดัดแปลงอาหารให้มีสีสัน และหน้าตาน่ารับประทาน เพื่อกระตุ้นความสนใจ เช่น จัดอาหารเป็นตัวการ์ตูนหรือสัตว์ที่ลูกชอบ
- ปรึกษาแพทย์ หากคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลใจเกี่ยวกับปัญหาการกินของลูกน้อย เช่น ลูกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ
สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
หากลูกน้อยขาดสารอาหาร อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ รวมถึงมีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ดังนี้
- น้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ สังเกตได้จากค่า BMI ของลูกน้อยที่ต่ำกว่าปกติ
- เบื่ออาหาร หรือกินน้อยกว่าปกติ ภาวะขาดสารอาหารมีผลต่อต่อมรับรส ทำให้ความอยากอาหารลดลง
- เหนื่อยง่าย และอารมณ์แปรปรวน เด็กจะเหนื่อยง่าย เพราะมีพลังงานน้อยกว่าปกติ ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านอารมณ์ จิตใจ และมีปัญหาในการเรียนรู้
หากลูกมีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเพื่อให้คำแนะนำในการแก้ไขโดยเร็ว
สรุป: อาหารตามวัย เสริมสร้างสุขภาพและพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย
โภชนาการที่ดีในวัยเด็กส่งผลต่อพัฒนาการรอบด้าน การได้รับอาหารตามวัยอย่างเหมาะสม ทำให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายและสมองเจริญเติบโตอย่างเต็มประสิทธิภาพ สมองดี สุขภาพแข็งแรงสมวัย และไม่เจ็บป่วยบ่อย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- รู้จักอาหารสี่มื้อ อาหารตามช่วงวัยสำหรับลูกน้อย
- อาหารเด็ก 7 เดือน เมนูอาหารเด็ก 7 เดือน เมนูไหนเหมาะกับลูกน้อย
- อาหารเด็ก 9 เดือน เมนูอาหารเด็ก 9 เดือน เสริมโภชนาการลูกรัก
- อาหารเด็ก 11 เดือน เมนูอาหารเด็ก 11 เดือน ช่วยบำรุงสมองลูกน้อย
- เมนูอาหาร 5 หมู่สำหรับเด็ก อร่อยถูกใจ ได้สารอาหารครบถ้วน
- อาหารเด็ก 1 ขวบ สำหรับลูกน้อย เมนูเด็ก 1 ขวบ คุณแม่ทำตามได้ง่าย
- โภชนาการลูกวัย 0-1 ปี ลูกวัยนี้กินอะไรดีนะ
- เมนูอาหารสุขภาพและการจัดอาหารสำหรับวัยเตาะแตะ
- อาหารเด็ก 10 เดือน เมนูอาหารเด็ก 10 เดือน เสริมพัฒนาการลูกน้อย
- เมนูอาหารมื้อแรกของลูก 6 เดือน เริ่มยังไง กินแค่ไหนถึงจะพอดี
- เมนู Finger Food เมนูฝึกการเคี้ยว สำหรับลูกน้อย
- โจ๊กเด็ก เมนูเริ่มต้นสำหรับลูกน้อย มีประโยชน์ ช่วยเสริมโภชนาการลูก
- เมนูตับบดนักจินตนาการ
- "เมนูไก่ใบตำลึง" ด้วยอาหารเสริมธัญพืช
- ประโยชน์ดี ๆ ของโยเกิร์ต เมนูสุขภาพ เหมาะกับลูกน้อย
- โฮลเกรน เมนูธัญพืช เหมาะสำหรับลูกน้อย
- วิธีเตรียมผักและผลไม้บดเป็น เมนูอร่อย เสริมโภชนาการลูกน้อย
- เมนูผักโขมนักคิด
- วิธีทำเมนูแฮมชีสไข่ เมนูอร่อย เสริมโภชนาการลูกน้อย
- เมนูอะโวคาโดศิลปินน้อย
อ้างอิง:
- ทานอาหารให้เหมาะสมตามช่วงวัย สำหรับทารกแรกเกิด ถึง 1 ปี, โรงพยาบาลพญาไท
- ตำรับอาหารสำหรับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย อายุ 1 - 5 ปี, สำนักโภชนาการ
- นมผงสำหรับทารก นมทางเลื¬อกสำหรับทารกที่ไม่ได้กินนมแม่, hello คุณหมอ
- คู่มืออาหารตามวัย สำหรับทารกและเด็กเล็ก, สมาคมแพทย์สตรี
- อาหารสำหรับทารก: เมื่อไรคุณควรเริ่มป้อนอาหารแข็ง, unicef
- กรมอนามัย ย้ำ ทารกกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ดีที่สุด ก่อนให้อาหารตามวัยควบนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น, กรมอนามัย
- เด็กทารกห้ามกินน้ำผึ้งจริงหรือ, อย.
- การป้องกันภูมิแพ้และการเสริมอาหารที่เหมาะสมสำหรับลูกน้อย, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
- ไข่ตุ๋นอุ่นใจ (สไตล์เด็ก 10 เดือน), cookpad
- เมนูข้าวบดฟักทอง สำหรับลูกน้อย 6 เดือน, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
- หม่ำ ๆ ทำเมนูอร่อย.. ให้เจ้าตัวน้อย 6-12 เดือน, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
- อาหารตามวัยทารก สำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป, โรงพยาบาลนครธน
- ความรู้ด้านโภชนาการสำหรับเด็ก, โรงพยาบาลวิภาวดี
- อาหารที่เหมาะสมกับลูกวัย 1-2 ปี, KhunLook
- แคลเซียม กินอย่างไรให้ดีต่อร่างกาย ?, Rama Channel
- อาหารเสริมธาตุเหล็ก, โรงพยาบาลบางปะกอก 3
- สปาเกตตีซอสมะเขือเทศไก่สับ, cookpad
- ข้าวผัดไข่ผักรวม, cookpad
- ซุปฟักทอง อย่างง่าย, cookpad
- อาหารเสริมพัฒนาการลูกน้อยวัยอนุบาล, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
- คู่มือเลี้ยงลูก สำหรับคุณแม่มือใหม่ ลูกรักสุขภาพดีมีสุข, สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชิน
- เปลี่ยนลูกที่กินยาก ให้กินง่าย, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
- เคล็ดลับ เมื่อลูกกินยากช่างเลือก, มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- เด็กขาดสารอาหาร เรียนรู้อาการและวิธีรับมือ, pobpad
- อาหารและโภชนาการสำหรับเด็กอายุ 3 – 5 ปี, haamor
- สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก ฉบับภาษาไทย ปี 2567, สำนักส่งเสริมสุขภาพกรมอนามัย
อ้างอิง ณ วันที่ 10 มีนาคม 2568 / 13 มีนาคม 2568 / 22 เมษายน 2568