อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 21 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
แม่ตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์ เรียกว่า การตั้งครรภ์ครั้งนี้เดินมาถึงครึ่งทางแล้ว ผ่านอาการต่าง ๆ มาตั้งแต่ไตรมาสแรกโดยเฉพาะอาการแพ้ท้อง ซึ่งคุณแม่แต่ละคนจะมีอาการแพ้ท้องหนักหรือเบาแตกต่างกันไป เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 21 การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องไปพร้อม ๆ กับพัฒนาการของทารกในครรภ์ที่เติบโตสมบูรณ์แข็งแรงมากขึ้น และแม่ท้องบางคนร่างกายเริ่มส่งสัญญาณเตรียมความพร้อมใกล้คลอด
PLAYING: อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 21 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
สรุป
- การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของแม่ตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์ ขนาดหน้าท้องของคุณแม่ยังไม่ขยายใหญ่มากนัก มดลูกเริ่มลอยตัวสูงขึ้นทำให้รู้สึกสบายเนื้อสบายตัว หายใจโล่งขึ้น อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ มักพบปัญหาเรื่องผิวพรรณ ได้แก่ ปัญหาสิว เกิดจากร่างกายผลิตน้ำมันมากขึ้น การใช้เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวคุณแม่ควรเลือกใช้ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน และไม่ควรรับประทานยารักษาสิวหรือผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่ไม่ได้รับการสั่งยาจากแพทย์หรือเภสัชกร เพราะอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อทารกในครรภ์ได้
- พัฒนาการของทารกอายุครรภ์ 21 สัปดาห์ ลองนึกถึงภาพแครอทสีส้ม ๆ เปรียบเสมือนทารกน้อยในครรภ์ ความยาวลำตัววัดจากศีรษะถึงปลายเท้า ประมาณ 10.51 นิ้ว และมีน้ำหนัก 12.70 ออนซ์ หรือ 360 กรัม เท่านั้น การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายเริ่มทำงานได้ดีขึ้น
- แม่ตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์ อาการที่มักพบในช่วงนี้ คือ แม่ท้องมีแนวโน้มที่จะมีเส้นเลือดขอดได้ เพราะทารกในครรภ์ที่กำลังเติบโตทำให้เกิดแรงกดทับเส้นเลือดบริเวณขาของคุณแม่ รวมถึงฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นทำให้เส้นเลือดอ่อนแอลง จึงเกิดภาวะเส้นเลือดขอดได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- มีน้ำนมไหลออกมาขณะตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์
- อาการคนท้อง 21 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
- แม่ท้อง 21 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
- แม่ท้อง 21 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
- การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 21 สัปดาห์
อายุครรภ์ 21 สัปดาห์ มักมาพร้อมกับปัญหาผิวพรรณ โดยเฉพาะปัญหาหน้ามัน เป็นสิว เกิดจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงทำให้ต่อมใต้ผิวหนังผลิตไขมันออกมามากกว่าปกติ ไขมันจำนวนมากเข้าไปอุดตันรูขุมขนจนเกิดการอักเสบ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนยังกระตุ้นการสร้างเม็ดสี หรือเมลานิน ในผิวเพิ่มขึ้น ทำให้คุณแม่บางคนอาจมีหน้าท้องลายเกิดขึ้น หรือมีฝ้าขึ้นบริเวณใบหน้า
มีน้ำนมไหลออกมาขณะตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์
ตามปกติแล้ว แม่ตั้งครรภ์เต้านมจะเริ่มขยายและคัดตึงเต้านม ในช่วงสัปดาห์ที่ 6-8 ของการตั้งครรภ์ และหน้าอกของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดการตั้งครรภ์ นอกจากเต้านมขยายแล้ว ยังมีอาการคัดตึงเต้านมเกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ แม่ท้องอาจสังเกตเห็นของเหลวมีสีเหลือง ๆ ซึมออกมาทางหัวนม เรียกว่า น้ำนมเหลือง (colostrum) ไหลออกจากเต้านมในระหว่างการตั้งครรภ์ในช่วง 2-3 เดือนแรก หรือก่อนถึงกำหนดคลอด ถือเป็นเรื่องปกติ หรือคุณแม่คนไหนไม่มีน้ำนมเหลืองไหลออกมาก่อนคลอด ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และไม่มีผลต่อการให้นมแม่หลังคลอดแต่อย่างใด
อาการคนท้อง 21 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
แม่ท้องอายุครรภ์ในสัปดาห์ที่ 21 เป็นช่วงปลายของไตรมาสที่ 2 แล้ว หน้าท้องเริ่มขยายใหญ่ขึ้น อาการที่มักพบได้ทั่วไป มีดังนี้
- ปวดเมื่อยหลัง เกิดจากหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น
- เท้าบวม ปวดเท้า เส้นเลือดขอด จากการเติบโตของทารกในครรภ์ทำให้มดลูกมีขนาดโตขึ้น น้ำหนักแรงกดเส้นเลือดบริเวณขาแบกรับน้ำหนักมากขึ้น
- เส้นเลือดฝอย แม่ท้องบางคนมีเส้นเลือดฝอยบริเวณข้อเท้า หลังเท้า หรือใบหน้า ซึ่งหลังคลอดอาการเส้นเลือดฝอยจะค่อย ๆ จางหายไป
- สุขภาพช่องปากและฟัน การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ ส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัวมากขึ้น เหงือกของแม่ท้องจะมีสีแดงมากกว่าปกติ มีเลือดออกได้ง่าย ในระหว่างนี้แม่ท้องมักมีเหงือกอักเสบหรือฟันผุได้ง่าย ดังนั้น ควรใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม และใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกเหงือกและฟัน เพื่อลดแบคทีเรียในช่องปาก หากแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดไปกระตุ้นฮอร์โมน Prostaglandin E2 เพิ่มขึ้น อาจทำให้แม่ท้องคลอดก่อนกำหนด และทารกแรกคลอดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติได้
แม่ท้อง 21 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
แม่ท้อง 21 สัปดาห์ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายในระยะนี้ คุณแม่จะครรภ์เริ่มใหญ่ขึ้นจนสังเกตได้ว่ากำลังตั้งครรภ์ บริเวณหน้าท้องและเอวขยายใหญ่ขึ้น เต้านมขยายใหญ่เพื่อเตรียมผลิตน้ำนมแม่ แม่ท้องควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไปโดยเฉพาะบริเวณอกและหน้าท้อง
แม่ท้อง 21 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
ทารกในครรภ์อายุ 21 สัปดาห์ มีขนาดเล็ก เปรียบได้กับแครอท มีความยาววัดจากศีรษะถึงปลายเท้า ยาวประมาณ 10.51 นิ้ว มีน้ำหนัก 12.70 ออนซ์ หรือ 360 กรัม เท่านั้น
ในช่วงนี้ทารกในครรภ์ ร่างกายจะเริ่มมีเส้นขนบาง ๆ ขึ้นตามลำตัว ขนบาง ๆ นี้มีหน้าที่เพื่อช่วยให้ไขทารกเกาะบนผิวหนัง และเริ่มอมนิ้วหัวแม่มือของตนเองได้
พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 21 สัปดาห์
พัฒนาการด้านร่างกายของทารกในครรภ์อายุ 21 สัปดาห์ หลัก ๆ ยังรับสารอาหารผ่านทางสายรก แต่อวัยวะอื่น ๆ ภายในร่างกาย มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ดังนี้
- ลำไส้ของทารกพัฒนาขึ้นจนสามารถดูดซึมน้ำตาลในรูปของเหลวผ่านทางระบบลำไส้ใหญ่ได้บางส่วน
- ตับและม้ามของทารกในครรภ์ 21 สัปดาห์ จะทำหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดได้ดีขึ้น
- ไขกระดูกของทารกได้รับการพัฒนาจนสามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดขึ้นได้ รวมถึงเป็นอวัยวะหลักที่ใช้ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง
การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 21 สัปดาห์
1. เคี้ยวอาหารช้าๆ ให้ละเอียด
ในช่วงตั้งครรภ์ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง ส่งผลให้แม่ท้องเกิดอาการ
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยได้บ่อย ดังนั้น แม่ท้องควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เคี้ยวให้นานกว่าปกติ
- ข้อดีของการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดจะช่วยระบบย่อยอาหารทำงานได้ง่ายขึ้น
- กระเพาะอาหารไม่ต้องทำงานหนักในการย่อยอาหารชิ้นใหญ่ ๆ
- ลดการเกิดท้องอืด ท้องเฟ้อสำหรับแม่ตั้งครรภ์ได้
2. หนุนหมอนสูงกว่าปกติ เพื่อป้องกันกรดไหลย้อน
ร่างกายของแม่ตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์ ยิ่งอายุครรภ์มากขึ้น ทารกในครรภ์เจริญเติบโตมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นกดเบียดกระเพาะอาหารทำให้
- ระบบการย่อยทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงเกิดอาการกรดไหลย้อนได้ง่าย อาการแสบร้อนที่หน้าอกมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังอาหารโดยเฉพาะในเวลากลางคืน
- ควรเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย จำพวกโปรตีน เช่น เนื้อปลา อกไก่
- นอกจากนี้ ท่านอนของแม่ท้องที่เหมาะสมช่วยลดอาการกรดไหลย้อนได้
- โดยใช้หมอนหนุนบริเวณลำตัวส่วนบนให้สูงขึ้นเพื่อให้หลอดอาหารอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหาร
- เป็นวิธีการป้องกันกรดไหลย้อนไม่ให้ไหลย้อนกลับมาที่หลอดอาหารได้
3. เน้นรับประทานวิตามินบี 12
แม่ตั้งครรภ์ต้องได้รับประทานอาหารอย่างครบถ้วน รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุสำหรับคนท้องและทารกในครรภ์
- วิตามินบี 12 เป็นวิตามินอีกชนิดหนึ่งที่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
- เสริมสร้างระบบประสาทและไขสันหลังของทารก รวมถึงกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง
- แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อปลา ไข่ไก่
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
แม่ท้องยิ่งอายุครรภ์มากขึ้น ขนาดท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นทำให้นอนหลับไม่สบายหรือนอนหลับไม่สนิท
- ท่านอนของแม่ตั้งครรภ์จึงสำคัญมากและควรเป็นท่านอนที่ปลอดภัยสำหรับแม่และทารกในครรภ์
- ท่านอนตะแคงซ้ายเป็นท่านอนที่เหมาะสำหรับแม่ตั้งครรภ์
- การเพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวกช่วยให้หลับสบาย ได้แก่ หมอน ใช้หมอนสอดเอาไว้บริเวณใต้ท้องและระหว่างเข่าทั้งสองข้าง ทำให้คุณแม่นอนหลับสบายขึ้น
- ข้อดีของท่านอนตะแคงซ้าย คือ ช่วยป้องกันหลอดเลือดจากการถูกมดลูกกดทับ น้ำหนักครรภ์ของคุณแม่ไม่ไปกดทับตับ และข้อดีสำหรับทารก ช่วยให้สารอาหารในเลือดไหลเวียนผ่านสายรกได้สะดวกขึ้น
5. ดื่มน้ำมากๆ
น้ำเป็นปัจจัยสำคัญของร่างกาย โดยเฉพาะแม่ท้อง ทารกในครรภ์จำเป็นต้องได้รับน้ำอย่างเพียงพอ คนปกติทั่วไปดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว แม่ท้องอาจดื่มน้ำในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเป็น 11-12 แก้ว ขึ้นอยู่กับความต้องการของร่างกายของแต่ละคน
- น้ำช่วยเสริมสร้างสุขภาพร่างกายทารกให้เติบโตแข็งแรงตั้งแต่ในครรภ์
- รกจำเป็นต้องใช้น้ำในการลำเลียงอาหารและออกซิเจนจากแม่ไปสู่ลูก
- และน้ำยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างน้ำคร่ำที่ช่วยให้ทารกสามารถเคลื่อนไหวร่างกาย และปกป้องทารกจากแรงกระแทกจากภายนอก การสร้างน้ำคร่ำจึงจำเป็นต้องใช้น้ำ
แม่ท้องจึงต้องดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ Dehydration ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงตั้งครรภ์ ภาวะขาดน้ำ Dehydration สังเกตได้ ดังนี้
- มีความรู้สึกคอแห้ง ปากแห้ง
- ริมฝีปากและผิวหนังแห้ง
- ไม่ค่อยปวดปัสสาวะ หรือปัสสาวะออกน้อย ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม
- ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
- หัวใจเต้นถี่
- ความดันโลหิตต่ำ
- เป็นลม หมดสติ
หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่า ตัวเองเป็น Dehydration ภาวะขาดน้ำรุนแรงมากน้อยแค่ไหน หากดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มเกลือแร่แล้วอาการต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที แม่ตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์ เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 แล้ว ในระหว่างนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายอย่างเห็นได้ชัด
โดยเฉพาะคุณแม่บางคนเริ่มอาจมีของเหลวสีเหลือง (colostrum) ไหลออกจากเต้านม เป็นสัญญาณเตรียมความพร้อมในการให้นมแม่สำหรับลูกน้อยด้วย น้ำนมแม่มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด รวมทั้ง สฟิงโกไมอีลิน DHA โคลีน เป็นต้น ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างสมองให้ทารกหลังคลอด
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 22 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 23 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 24 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 25 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 25 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 26 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
อ้างอิง:
- ท้อง 5 เดือน สิ่งที่คุณแม่ต้องเผชิญกับวิธีการรับมือ, POBPAD
- การเปลี่ยนแปลงในไตรมาสที่ 2 ของคุณแม่ตั้งครรภ์, hellokhunmor
- อาการคัดเต้าคนท้องเป็นอย่างไร และวิธีบรรเทาอาการที่ควรรู้, hellokhunmor
- เต้านมในระหว่างตั้งครรภ์ (ตอนที่ 1), คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- การตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 21 สัปดาห์, Siamhealth
- การเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาในสตรีตั้งครรภ์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ขนาดทารกในครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ต่าง ๆ เปรียบเทียบกับขนาดผักและผลไม้, hellokhunmor
- เพื่อคุณแม่ฟันดี, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- อาการท้องอืด ของคนท้อง เกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร, hellokhunmor
- ไม่ดีแน่… ถ้าปล่อยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องสู้กับ “กรดไหลย้อน”, โรงพยาบาลเปาโล
- คุณแม่ยุคใหม่... ใส่ใจทานวิตามิน, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
- Dehydration คือ ภาวะขาดน้ำ อันตรายที่หญิงตั้งครรภ์ต้องระวัง, hellokhunmor
- น้ำคร่ำ (Amniotic fluid), คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- พัฒนาการทางรกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 21 ของการตั้งครรภ์, hellokhunmor
- พัฒนาการทารกในครรภ์ตลอด 9 เดือนในท้องแม่, POBPAD
อ้างอิง ณ วันที่ 11 มกราคม 2567