คนท้องไอบ่อยเป็นอะไรไหม ไอขณะตั้งครรภ์เกิดจากอะไร รับมืออย่างไรดี

คนท้องไอบ่อยเป็นอะไรไหม ไอขณะตั้งครรภ์เกิดจากอะไร รับมืออย่างไรดี

24.08.2024

ช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง มีหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนไป รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันของคนท้อง เพื่อเตรียมตัวต้อนรับลูกน้อยในท้องที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณแม่มีอาการต่างกันไป เช่น อาการแพ้ท้อง ปวดเมื่อยตามตัว เหนื่อยง่าย หรือแม้แต่การไอขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ในหญิงตั้งครรภ์

headphones

PLAYING: คนท้องไอบ่อยเป็นอะไรไหม ไอขณะตั้งครรภ์เกิดจากอะไร รับมืออย่างไรดี

อ่าน 8 นาที

 

สรุป

  • คนท้องมีอาการไอบ่อย ป่วยบ่อย สาเหตุหนึ่งมาจากระบบภูมิคุ้มกันของคนท้องที่ต่ำกว่าปกติ ทำให้คนท้องไอได้ง่าย ทั้งยังมีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ เช่น ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ กรดไหลย้อน เป็นต้น
  • อาการไอ เป็นกลไกของร่างกายที่ต้องการกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคออกจากร่างกาย หากคุณแม่มีไข้ ไอหนัก ติดต่อกันนาน ๆ รวมถึงมีอาการเบื่ออาหาร เหนื่อยหอบ หรือไอเป็นเลือด แนะนำให้คุณแม่ไปพบคุณหมอให้เร็วที่สุด
  • เมื่อคนท้องไอบ่อย แนะนำให้คุณแม่พยายามดื่มน้ำให้มาก ๆ หลีกเลี่ยงการทานอาหารมันหรืออาหารทอด เพื่อลดการระคายเคือง งดดื่มน้ำเย็นเพราะจะยิ่งทำให้คนท้องไอเพิ่มมากขึ้น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

คนท้องไอบ่อย เกิดจากอะไร

อาการไอของคนท้อง เกิดจากการที่ร่างกายของคุณแม่พยายามขับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคออกมาในลักษณะของมูก หรือเสมหะ โดยสาเหตุที่ทำให้คนท้องไอบ่อย คือ การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของคนท้องที่ต่ำกว่าปกติ ทำให้ร่างกายของคุณแม่ได้รับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น คนท้องจึงอาจไอบ่อย ทั้งยังอาจมีสาเหตุมาจากอาการของโรคบางอย่าง ดังต่อไปนี้

1. ไข้หวัด

ไข้หวัด เป็นอาการของโรคที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัส หรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนท้องมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ มีไข้ต่ำ ส่วนใหญ่แล้วอาการจะไม่ได้มีความรุนแรงมากเท่ากับไข้หวัดใหญ่ และหายไปภายในระยะเวลาไม่กี่วัน แต่ในคนท้องบางคนอาจมีอาการไอหลังเป็นหวัด ทำให้คนท้องไอบ่อย แม้ว่าอาการไข้ หรืออาการเจ็บคอจะหายไปแล้วก็ตาม เนื่องจากการอักเสบบริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจที่ยังไม่ดีขึ้น หรือยังมีอาการน้ำมูกไหลลงคอทำให้คนท้องยังไออยู่ จึงเป็นอีกหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอขณะตั้งครรภ์

 

2. กรดไหลย้อน

คนท้องเป็นกรดไหลย้อน เป็นอาการที่พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนท้องไอบ่อย ๆ อาจมีสาเหตุมาจากอาการกรดไหลย้อน เนื่องจากกรดได้ไหลย้อนเข้าไปในหลอดลม ทำให้หลอดลมของคุณแม่เกิดการอักเสบ หรืออาจเกิดจากการระคายเคืองบริเวณหลอดอาหาร ทำให้คุณแม่เกิดอาการไอ หรือกรดในกระเพาะอาหารที่เพิ่มขึ้นไปกระตุ้นหลอดลมเกิดการหดตัวขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้คนท้องไอบ่อยนั่นเอง

 

3. ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ มีลักษณะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา แต่ต่างกันตรงที่อาการของโรครุนแรงมากกว่า อาการของไข้หวัดใหญ่ คือ ไอแห้ง จาม เจ็บคอ มีไข้สูงหลายวัน ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว และอาจมีน้ำมูกร่วมด้วย คนท้องที่มีอาการไอบ่อย อาจพบได้หลังจากหายจากอาการเป็นไข้หวัด ทำให้คุณแม่ยังคงมีอาการไอต่อเนื่องได้

 

4. โควิด-19

คนท้องเป็นโควิด-19 อาจมีความรุนแรงที่ต่างกัน บางคนมีอาการคล้ายไข้หวัด บางคนมีอาการรุนแรงมากที่อาจส่งผลให้เกิดปอดอักเสบขึ้นมาได้ ลักษณะอาการของโควิด-19 คือ เป็นไข้ ไอแห้ง เหนื่อยล้า หายใจลำบาก และอาจมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย หากคุณแม่พบว่าตัวเองมีอาการไอ พร้อมกับไม่สบายคุณแม่ควรลองตรวจโควิด-19 ให้แน่ใจ และควรพบแพทย์เมื่อพบว่าติดโควิด-19

 

5. หอบหืด

อาการหอบหืด เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ซึ่งเกิดจากการได้รับตัวกระตุ้นทำให้เกิดความรุนแรงของโรค เช่น สารก่อภูมิแพ้ สารเคมี น้ำหอม อากาศที่เย็น เป็นต้น หากคุณแม่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืด พร้อมกับได้รับตัวกระตุ้นทำให้คนท้องเกิดอาการไอบ่อย ๆ จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุของการไอขณะตั้งครรภ์

 

6. ภูมิแพ้

คนท้องเป็นภูมิแพ้ เกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่มากกว่าปกติ ทำให้มีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก ไอ จาม หายใจไม่สะดวก และเกิดผื่นแพ้ขึ้นตามตัว โดยที่อาการของแต่ละคนอาจตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่แตกต่างกันและความรุนแรงไม่เท่ากัน หากคุณแม่มีโรคประจำตัวเป็นโรคภูมิแพ้ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนท้องไอบ่อย ๆ ด้วยเช่นกัน

 

7. อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อาจทำให้คนท้องเกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม คันตา แสบตา น้ำตาไหล ซึ่งอาการแพ้อากาศมีความคล้ายกับอาการของโรคไข้หวัด แต่จะแตกต่างกันตรงที่ไม่มีไข้ และมีอาการต่าง ๆ มากกว่า 2 สัปดาห์

 

คนท้องไอบ่อย ไอขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม

โดยปกติแล้วคนท้องมักมีภูมิคุ้มกันต่ำ จึงมีโอกาสป่วยได้ง่ายกว่าปกติอยู่แล้ว ทำให้คุณแม่เสี่ยงต่ออาการป่วยและไอได้ง่าย อย่างไรก็ตาม อาการไออาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคต่าง ๆ คุณแม่จึงต้องคอยสังเกตอาการตัวเองว่ามีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ หากคุณแม่มีไข้ หรือมีอาการไอหนัก ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ แนะนำให้คุณแม่เข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษา

 

แม้ว่าการไอจะไม่เป็นอันตรายต่อคนท้อง แต่การปล่อยให้เกิดอาการไอขณะตั้งครรภ์บ่อย ๆ คงไม่ดีแน่ เพราะการไอหนัก ๆ นาน ๆ อาจเป็นการเพิ่มแรงดันที่บริเวณมดลูก เมื่อไอบ่อย ๆ อาจเกิดการกระตุ้นให้มดลูกเกิดการหดตัวและเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือเกิดการแท้งได้

 

ไอขณะตั้งครรภ์จนเจ็บท้อง ผิดปกติหรือเปล่า

คุณแม่ที่มีอาการไอจนเจ็บท้องขณะตั้งครรภ์ เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะการไออาจทำให้เกิดแรงดันที่บริเวณท้อง และกล้ามเนื้อบริเวณท้องตึง การไอซ้ำ ๆ อาจทำให้เกิดการปวดท้องขึ้นได้ โดยเฉพาะการไอแรง ๆ ยิ่งเพิ่มแรงกดทับของกล้ามเนื้อมากขึ้นไปอีก หากคุณแม่มีอาการไอบ่อย ๆ และมีอาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์ เป็นประจำ แนะนำให้คุณแม่ปรึกษาคุณหมอจะดีที่สุด

 

สำหรับการดูแลตัวเองเบื้องต้น คุณแม่สามารถบรรเทาอาการเจ็บหน้าท้อง เมื่อมีอาการไอได้ด้วยการยืนหรือนั่งตัวตรงในขณะที่ไอ หรือการใช้มือหรือหมอนนุ่ม ๆ มาประคองหน้าท้องเพื่อลดแรงกดที่บริเวณช่วงท้องส่วนล่างให้ลดลง

 

อาการร่วมของคนท้องไอบ่อย ที่คุณแม่ควรระวัง

 

อาการร่วมของคนท้องไอบ่อย ที่คุณแม่ควรระวัง

  • มีไข้สูง: มีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส ติดต่อกันหลายวัน วิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้นคุณแม่ควรดื่มน้ำเยอะ ๆ และหมั่นเช็ดตัวเพื่อให้ร่างกายขับเอาความร้อนออกมาจากร่างกาย ไข้จะได้ลดลง
  • ไอมีเลือดปน: คนท้องที่ไอบ่อยควรสังเกตตัวเองว่าไอมีเสมหะปกติหรือไม่ ไอจนเจ็บคอหรือไอแล้วมีเลือดปนเสมหะออกมา
  • อ่อนเพลีย หน้ามืด: มีอาการไอติดต่อกันนานและมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย หน้ามืด เวียนหัว
  • จุกแน่นหน้าอก หายใจลำบาก: มีอาการไอรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ไอจนจุกแน่นหน้าอกและหายใจลำบาก อาจเป็นสัญญาณที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่
  • เบื่ออาหาร: มีอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ทำให้คุณแม่ทานอาหารได้น้อยลง จนเป็นสาเหตุทำให้น้ำหนักลดและอ่อนเพลีย อาจเป็นอาการของโรคที่ร้ายแรงได้
  • เหนื่อยหอบ: มีอาการไอหนักไอรุนแรงจนเหนื่อยหอบและไอติดต่อกันนาน อาการไอแบบนี้ทำให้คนท้องหายใจไม่สะดวก พักผ่อนได้ไม่เต็มที่
    หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป

 

เคล็ดลับดูแลตัวเอง เมื่อคนท้องไอบ่อย

  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ ในปริมาณที่เหมาะสม: เมื่อคุณแม่มีอาการไอบ่อย ๆ แนะนำให้คุณแม่พยายามดื่มน้ำให้มาก ๆ ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองคอ รวมทั้งยังช่วยละลายเสมหะที่เหนียวข้นให้ขับออกมาได้ง่ายขึ้นด้วย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ: การพักผ่อนเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูร่างกาย หากคุณแม่มีอาการป่วยและไอบ่อยจนทำให้ร่างกายอ่อนแอ ยิ่งต้องให้ร่างกายได้พักผ่อนให้มากที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น: คุณแม่หลายคนอาจจะติดดื่มน้ำเย็น หรือเครื่องดื่มเย็น แต่คุณแม่รู้ไหมว่า การดื่มน้ำเย็นในขณะที่มีการไอ จะยิ่งกระตุ้นให้หลอดลมเกิดการหดตัวมากขึ้น คนท้องจึงไอหนักกว่าเดิม ดังนั้น เพื่อบรรเทาอาการไอของคนท้อง คุณแม่จึงควรดื่มน้ำที่อุณหภูมิปกติจะส่งผลดีต่อคุณแม่ที่สุด
  • หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด: อาหารมันและอาหารทอด คืออาหารที่คนท้องไม่ควรกินเยอะจนเกินไป และเป็นตัวกระตุ้นอาการไอ โดยเฉพาะหากคุณแม่มีอาการไอขณะตั้งครรภ์ ควรงดอาหารมันและอาหารทอด เพราะอาหารจำพวกนี้จะทำให้เกิดการระคายเคืองที่หลอดลม เป็นสาเหตุทำให้คนท้องมีอาการไอมากขึ้น
  • ใส่ผ้าพันคอเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย: ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว คุณแม่ควรหาเสื้อผ้าหนา ๆ ผ้าพันคออุ่น ๆ มาสวมใส่เสมอเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายสัมผัสกับอากาศเย็นมากเกินไป จนเกิดอาการไอและป่วยตามมา การดูแลตนเองเบื้องต้นด้วยการสวมผ้าพันคอจึงเป็นวิธีป้องกันการเจ็บคอจากสภาพอากาศที่เย็นได้ดีอีกด้วย

 

อาการไอในระหว่างตั้งครรภ์ เป็นอาการที่มาพร้อมกับปัญหากวนใจ หากคุณแม่ไอบ่อยในตอนกลางคืนก็จะทำให้คุณแม่พักผ่อนไม่เพียงพอ ตื่นขึ้นมาไม่สดชื่น และการไอมาก ๆ อาจก่อให้เกิดความรำคาญของคุณแม่เองด้วย หรืออาจเป็นสัญญาณที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่ได้ ดังนั้น วิธีรับมือกับอาการไอได้ดีที่สุด คือ การทำให้ร่างกายอบอุ่น พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามดื่มน้ำบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีสารก่อภูมิแพ้ และหากมีอาการอื่น ๆ ร่วมกับอาการไอ เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย จุกแน่นหน้าอก หายใจลำบาก และไอมีเสมหะปนเลือด คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาโดยเร็ว

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. Colds During Pregnancy, what to expect
  2. อาการไอกับกรดไหลย้อน, โรงพยาบาลสมิติเวช
  3. ภูมิแพ้ VS ไข้หวัด VS ไข้หวัดใหญ่ VS โควิด-19 แยกให้เป็นไม่ตื่นตระหนก, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  4. ไอเรื้อรังหลังเป็นหวัด เกิดจากอะไร?, โรงพยาบาลสินแพทย์
  5. ไอบ่อยเกิดจากอะไร ดูแลตัวเองอย่างไรจึงจะหายดี, pobpad
  6. อากาศเปลี่ยนแปลง...โรคแพ้อากาศ, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  7. ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อคุณแม่เป็นไข้ขณะตั้งครรภ์, โรงพยาบาลพญาไท
  8. How to Relieve Pain in Lower Abdomen While Coughing, Infinity Care Hospital
  9. “ไอเรื้อรัง” ไม่ใช่แค่น่ารำคาญ หากปล่อยไว้อาจอันตรายกว่าที่คิด, โรงพยาบาลพญาไท
  10. เจ็บท้องน้อยเวลาไอ เป็นอาการของโรคอะไรหรือเปล่า, Pobpad
  11. เป็นไข้ขณะตั้งครรภ์ ควรดูแลตัวเองอย่างไร, โรงพยาบาลบางปะกอก
  12. เขาบอกว่า...เป็นของแสลง, โรงพยาบาลเปาโล
  13. 5 วิธีต้านลมหนาว…โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, โรงพยาบาลเปาโล

อ้างอิง ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2567

บทความแนะนำ

ลูกแฝด เกิดจากอะไร ตั้งครรภ์แฝดเสี่ยงอันตรายจริงไหมต้องระวังอะไรบ้าง

ลูกแฝด เกิดจากอะไร ตั้งครรภ์แฝดเสี่ยงอันตรายจริงไหมต้องระวังอะไรบ้าง

ลูกแฝด เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่อยากมีลูกแฝดด้วยวิธีธรรมชาติ ต้องทำอย่างไร ตั้งครรภ์แฝดอันตรายไหม มีเรื่องอะไรบ้างที่คุณแม่ต้องระวังเป็นพิเศษ

ทำกิ๊ฟ คืออะไร การทำกิ๊ฟ GIFT ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วไหม

ทำกิ๊ฟ คืออะไร การทำกิ๊ฟ GIFT ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วไหม

การทำกิ๊ฟ คืออะไร คุณแม่มีลูกยากอยากทำกิ๊ฟ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง การทำกิ๊ฟมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ค่าใช้จ่ายแพงไหม ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร

อยากได้ลูกชายทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกชาย

อยากได้ลูกชายทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกชาย

อยากได้ลูกชาย ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ทำยังไงได้บ้าง อยากมีลูกชายด้วยวิธีธรรมชาติทำได้จริงไหม พร้อมวิธีคำนวณวันตกไข่ นับวันตกไข่ ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม คุณแม่หลังคลอดมีเพศสัมพันธ์เลยทันทีจะเป็นอันตรายหรือเปล่า มีเพศสัมพันธ์ตอนไหนปลอดภัยกับคุณแม่ที่สุด ไปดูกัน

อยากได้ลูกสาวทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกสาว

อยากได้ลูกสาวทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกสาว

อยากได้ลูกสาว ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ทำยังไงได้บ้าง อยากมีลูกสาวด้วยวิธีธรรมชาติทำได้จริงไหม พร้อมวิธีคำนวณวันตกไข่ นับวันตกไข่ ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

มดลูกหย่อนอันตรายไหม คุณแม่ควรรับมือยังไง เมื่อมดลูกหย่อน

มดลูกหย่อนอันตรายไหม คุณแม่ควรรับมือยังไง เมื่อมดลูกหย่อน

มดลูกหย่อน คืออะไร อาการมดลูกหย่อนเป็นแบบไหน มีทั้งหมดกี่ระยะ เกิดขึ้นกับช่วงวัยไหนบ้าง รักษาให้หายขาดได้ไหม พร้อมวิธีป้องกันมดลูกหย่อนในผู้หญิง

ฝังยาคุมดีไหม ได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์ ฝังยาคุมมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

ฝังยาคุมดีไหม ได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์ ฝังยาคุมมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

ฝังยาคุมเพื่อคุมกำเนิดได้ผลดีแค่ไหน การฝังยาคุมกำเนิด เหมาะกับใคร มีข้อดีข้อเสียยังไง ฝังยาคุมอยู่ได้นานกี่ปี ปลอดภัยไหม มีผลข้างเคียงหรือเปล่า

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก