ย้ายทะเบียนบ้านลูกใช้อะไรบ้าง พร้อมขั้นตอนการย้ายทะเบียนบ้านลูก
ในปัจจุบันการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านลูก แจ้งย้ายเข้า ย้ายออก มีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนยื่นเอกสารต่าง ๆ สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการยื่นเรื่องด้วยตนเองที่สำนักงานเขต และการยื่นเรื่องแบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มความง่าย สะดวกสบาย ให้แก่ผู้ขอทำเรื่องย้าย ก่อนการยื่นเรื่องการย้ายทะเบียนบ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาข้อมูล เตรียมเอกสารที่จำเป็นในการยื่นเรื่องให้ครบถ้วน เพื่อความถูกต้องและรวดเร็วในการรับบริการ
PLAYING: ย้ายทะเบียนบ้านลูกใช้อะไรบ้าง พร้อมขั้นตอนการย้ายทะเบียนบ้านลูก
สรุป
- เอกสารที่ใช้ในการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านลูกมีดังนี้ ใบ ท.ร. 6 หรือใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ตอนที่ 1 และ 2 ซึ่งเจ้าบ้านลงนามยินยอมให้ย้ายเข้าแล้ว , สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) , บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน , บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน , หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน)
- การย้ายทะเบียนบ้านลูกไม่มีค่าธรรมเนียมใด ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรแจ้งย้ายเข้าภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ลูกย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน หากเกินระยะเวลาที่กำหนดแล้วไม่ได้มีการแจ้งย้ายเข้า จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมด้วย
- ในปัจจุบัน สามารถแจ้งย้ายทะเบียนบ้านที่อยู่ปลายทางได้แล้ว หากผู้ย้ายทำการย้ายที่อยู่ สามารถแจ้งเรื่องย้ายที่อยู่ออก และย้ายเข้า ที่สำนักทะเบียนที่อยู่ใหม่ได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ไปแจ้งย้ายออกจากที่อยู่เดิมที่ย้ายออกมา
- ในกรณีที่ย้ายทะเบียนบ้านลูก สามารถไปแจ้งย้ายได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพาลูกไปด้วย เพียงแต่ต้องนำเอกสารที่ใช้ในการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านให้ลูกไปให้ครบ โดยนำเอกสารไปยื่นต่อนายทะเบียนในท้องที่ที่จะย้ายเข้าไป
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- เช็กลิสต์ให้ครบ ย้ายทะเบียนบ้านลูกใช้อะไรบ้าง
- ย้ายทะเบียนบ้านปลายทางสะดวกกว่า เพราะอะไร
- ย้ายทะเบียนบ้านลูกใช้อะไรบ้าง ถ้าต้องการย้ายปลายทาง
- ย้ายทะเบียนบ้านลูก ต้องให้ใครไปบ้าง
- ย้ายทะเบียนบ้านให้ลูก ต้องไปทำที่ไหน
- ย้ายทะเบียนบ้านลูกง่าย ๆ ทำผ่านออนไลน์ก็ได้
- ย้ายทะเบียนบ้านลูก มีขั้นตอนยังไง รอนานไหม
- ใครบ้างที่มีสิทธิย้ายลูกเข้าทะเบียนบ้าน
- ย้ายทะเบียนบ้านลูก มีค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง
เช็กลิสต์ให้ครบ ย้ายทะเบียนบ้านลูกใช้อะไรบ้าง
เอกสารที่ใช้ในการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านมีดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
- สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน
- หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน)
- ใบ ท.ร. 6 หรือใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ตอนที่ 1 และ 2 ซึ่งเจ้าบ้านลงนามยินยอมให้ย้ายเข้าแล้ว
คุณพ่อคุณแม่ควรแจ้งย้ายเข้าภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ลูกย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน หากพ้นระยะเวลาที่กำหนดแล้วไม่ปฏิบัติตามการแจ้งย้ายเข้า จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่อครั้งดังนี้
- การแจ้งหรือขอที่พ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายไม่เกิน 6 เดือน คิดค่าธรรมเนียม 30 บาท
- การแจ้งหรือขอที่พ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายเกิน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี คิดค่าธรรมเนียม 50 บาท
- และหากการแจ้งเกินกำหนดเวลา 1 ปี จะคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มตามระยะเวลา แต่ไม่เกิน 500 บาท เศษของเดือน ถ้าเกิน 15 วันให้นับเป็น 1 เดือน
ย้ายทะเบียนบ้านปลายทางสะดวกกว่า เพราะอะไร
ในปัจจุบันนี้ การแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทางมีความสะดวกสบาย สามารถแจ้งเรื่องย้ายที่อยู่ออก และย้ายเข้าที่สำนักทะเบียนที่ได้ไปอยู่ใหม่ได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง เสียค่าใช้จ่ายในการกลับไปแจ้งย้ายออกจากที่อยู่เดิมที่ย้ายออกมา
ย้ายทะเบียนบ้านลูกใช้อะไรบ้าง ถ้าต้องการย้ายปลายทาง
การแจ้งย้ายที่อยู่แบบปลายทางให้กับลูก ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ กรณีที่คุณพ่อเป็นผู้ไปแจ้ง ใช้เอกสารดังนี้
- สูติบัตรของบุตรฉบับจริง พร้อมด้วยสำเนา 1 ชุด
- บัตรประจำตัวประชาชนของพ่อฉบับจริง พร้อมด้วยสำเนา 1 ชุด
- ทะเบียนสมรส หรือทะเบียนรับรองบุตร หรือทะเบียนหย่า ที่ระบุว่าพ่อเป็นผู้มีอำนาจปกครองลูก ใช้ฉบับจริง พร้อมด้วยสำเนา 1 ชุด
- ทะเบียนบ้านเล่มที่แจ้งย้ายเข้า
- เจ้าบ้านหลังที่แจ้งย้ายเข้ามาให้ความยินยอมย้ายเข้า พร้อมนำบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง และสำเนา 1 ชุดมาด้วย หากเจ้าบ้านไม่ได้มาด้วย ต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าบ้าน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน ลงชื่อรับรองสำเนา แนบมาด้วย 1 ชุด
- หากพ่อ แม่ หรือลูกมีการเปลี่ยนชื่อตัว หรือนามสกุล ให้นำหลักฐานเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุลมาด้วย โดยนำมาทั้งฉบับจริง พร้อมด้วยสำเนา 1 ชุด
การแจ้งย้ายที่อยู่แบบปลายทางให้กับลูก ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ กรณีที่คุณแม่เป็นผู้ไปแจ้งเองใช้เอกสารดังนี้
- สูติบัตรของบุตรฉบับจริง พร้อมด้วยสำเนา 1 ชุด
- บัตรประจำตัวประชาชนของแม่ฉบับจริง พร้อมด้วยสำเนา 1 ชุด
- ทะเบียนหย่า ที่ระบุว่าพ่อเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตร ใช้ฉบับจริง พร้อมด้วยสำเนา 1 ชุด
- เจ้าบ้านหลังที่ย้ายเข้ามา ให้ความยินยอมที่จะให้ย้ายเข้า พร้อมนำบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง และสำเนา 1 ชุดมาด้วย
ย้ายทะเบียนบ้านลูก ต้องให้ใครไปบ้าง
ในกรกรณีที่ย้ายทะเบียนบ้านลูก คุณพ่อ หรือคุณแม่สามารถไปแจ้งย้ายได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพาลูกไปด้วย เพียงแต่ต้องนำเอกสารที่ใช้ในการแจ้งย้ายทะเบียนบ้านให้ลูกไปให้ครบ และต้องพาเจ้าบ้านหลังที่แจ้งย้ายเข้ามาให้ความยินยอมย้ายเข้า พร้อมกับให้เจ้าบ้านนั้นนำบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านฉบับจริง และสำเนา 1 ชุดมาด้วย หากเจ้าบ้านไม่ได้มาด้วย ต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าบ้าน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน ลงชื่อรับรองสำเนา แนบมาด้วย 1 ชุด
ย้ายทะเบียนบ้านให้ลูก ต้องไปทำที่ไหน
การย้ายทะเบียนบ้านให้ลูก ต้องนำเอกสารไปยื่นต่อนายทะเบียนในท้องที่ที่จะย้ายเข้า หรือสามารถเข้าเว็บไซต์บริการประชาชนของกรมการปกครองได้ที่ BORA Web Portal (dopa.go.th) เพื่อลงทะเบียน นัดหมายขอรับบริการล่วงหน้า ในการขอรับบริการด้านงานทะเบียน ขอแจ้งย้ายที่อยู่ด้วยตนเอง ผู้ขอย้ายแจ้งความประสงค์ขอย้ายที่อยู่ด้วยตนเองสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ 15 วัน ไม่เกิน 16.00 น. ก่อนวันที่จะไปเข้ารับบริการ หรือเข้ารับบริการงานทะเบียนออนไลน์ได้ด้วยการยืนยันตัวตนด้วยแอปพลิเคชัน ThaID โดยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ThaID ลงในโทรศัพท์มือถือของตนเอง สามารถใช้ได้ทั้งระบบ Android และระบบ iOS เพื่อทำธุรกรรมงานทะเบียนออนไลน์ผ่านช่องทางดิจิทัล สะดวก รวดเร็ว
ย้ายทะเบียนบ้านลูกง่าย ๆ ทำผ่านออนไลน์ก็ได้
- เปิดแอปพลิเคชัน ThaID กดขั้นตอนให้บริการระยะที่ 1
- กดเข้าเว็บไซต์ https://thportal.bora.dopa.go.th กดเลือกระบบย้ายที่อยู่ตัวเอง
- กรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลักของเจ้าบ้านที่เราต้องการจะย้ายเข้าไป
- เมื่อเจ้าบ้านได้รับคำขอผ่านแอปพลิเคชัน ThaID แล้ว ให้เจ้าบ้านกดยืนยันได้ทันที
- คำขอย้ายทะเบียนบ้านจะส่งไปยังนายทะเบียนของสำนักงานเขตที่ทำการแจ้งย้าย เพื่อทำการอนุมัติแจ้งย้าย
ทะเบียนบ้าน - เมื่อเรื่องทำการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งผลให้ทราบทางระบบ
- เมื่อทำการอนุมัติ จะสามารถคัดสำเนา ทร. 14/1 โดยกดเข้าเมนูคัดรับรองเอกสารด้วยตัวเอง ข้อมูลที่ทำการแจ้งย้ายจะถูกอัพเดททันที
- สามารถใช้เอกสารที่คัดสำเนา ทร. 14/1 นี้แทนสำเนาทะเบียนบ้านได้
ย้ายทะเบียนบ้านลูก มีขั้นตอนยังไง รอนานไหม
ขั้นตอนแจ้งย้ายทะเบียนบ้านลูก
- ยื่นเอกสารที่ต้องใช้ในการย้ายทะเบียนบ้าน และหลักฐานต่าง ๆ ต่อนายทะเบียนท้องที่ ที่จะทำการย้ายเข้า
- นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบใบแจ้งการย้ายที่อยู่ เอกสาร และหลักฐานต่าง ๆ
- นายทะเบียนเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน และสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน แล้วส่งมอบหลักฐานและสำเนาทะเบียนบ้านคืนผู้แจ้ง
ใครบ้างที่มีสิทธิย้ายลูกเข้าทะเบียนบ้าน
คุณพ่อคุณแม่ที่ทำการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย สามารถทำการย้ายลูกเข้าทะเบียนบ้านได้ ในกรณีที่คุณพ่อไม่ได้ทำการจดทะเบียนสมรสกับคุณแม่ คุณพ่อจะต้องมีการจดทะเบียนรับรองบุตร จึงจะทำการยื่นเรื่องย้ายทะเบียนบ้านให้ลูกได้
ย้ายทะเบียนบ้านลูก มีค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง
การย้ายทะเบียนบ้านลูกไม่มีค่าธรรมเนียม คุณพ่อคุณแม่ควรแจ้งย้ายเข้าภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ลูกย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน หากเกินเวลาที่กำหนดแล้ว จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ดังนี้ การแจ้งหรือขอที่พ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายไม่เกิน 6 เดือน คิดค่าธรรมเนียม 30 บาทต่อครั้ง หรือพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายเกิน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี คิดค่าธรรมเนียม 50 บาทต่อครั้ง หากคุณพ่อคุณแม่ทำการแจ้งเกินกำหนดเวลา 1 ปี จะคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มตามระยะเวลา แต่ไม่เกิน 500 บาท เศษของเดือน ถ้าเกิน 15 วันให้นับเป็น 1 เดือน
การติดต่อสำนักงานเขต เพื่อยื่นเรื่องทะเบียนต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป หากแต่ตัวผู้เข้าใช้รับการบริการจะต้องตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วน และตรวจสอบขั้นตอนในการยื่นเรื่องนั้น ๆ ให้ดี หากมีข้อสงสัยในงานข้อมูลทะเบียนราษฎร หรืองานทะเบียนทั่วไป สามารถติดต่อสอบถามขั้นตอนงานทะเบียนราษฎรต่าง ๆ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์ตอบปัญหางานทะเบียนและบัตร ที่เบอร์ 1548
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- ไอเดียตั้งชื่อมงคล ตั้งชื่อลูกตามวันเกิด เสริมความเป็นสิริมงคล
- ไอเดียชื่อจริง ชื่อเล่นภาษาอังกฤษลูกสาว อัพเดทล่าสุด
- โปรแกรมคำนวณวันไข่ตก เช็กวันไข่ตกคุณแม่มือใหม่
- โปรแกรมคํานวณอายุครรภ์คุณแม่ คำนวณวันครบกำหนดคลอด
- โปรแกรมคำนวณน้ำหนักคนท้อง แต่ละไตรมาสน้ำหนักควรเพิ่มเท่าไหร่
- คุณแม่ตั้งครรภ์เบิกค่าฝากครรภ์ได้กี่บาท มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
- วิธีเช็คผลอนุมัติเงินค่าคลอดบุตร สมทบบุตร สิทธิประกันสังคมมาตรา 33
- เบิกค่าคลอดประกันสังคมได้เท่าไหร่ คุณแม่ท้องมีสิทธิเบิกอะไรได้บ้าง
- แจ้งเกิดภายในกี่วัน เอกสารแจ้งเกิดมีอะไรบ้าง รวมทุกคำตอบที่ควรรู้
- ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐดีไหม แพงหรือเปล่า คุณแม่ใช้สิทธิอะไรได้บ้าง
อ้างอิง:
- การย้ายที่อยู่, สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
- การแจ้งย้ายที่อยู่, สำนักงานกรุงเทพมหานคร
- BORA Web Portal ของกรมการปกครอง, สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
- ระบบ Digital ID ของกรมการปกครองในแอปพลิเคชัน ThaID, สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
- ต่อไปนี้ การย้ายทะเบียนบ้านจะเป็นเรื่องง่ายนิดเดียว! ผ่าน ThaIDไทยดี, เทศบาลตำบลบ้านเสด็จ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อ้างอิง ณ วันที่ 24 กรกฎาคม 2567