รก คืออะไร หน้าที่ของรกมีอะไรบ้าง รกผิดปกติ อันตรายกับคุณแม่แค่ไหน
เคยสงสัยไหมว่าตลอด 9 เดือนในครรภ์ ลูกน้อยได้รับอาหารและออกซิเจนอย่างไร? คำตอบอยู่ที่ "รก" อวัยวะมหัศจรรย์ที่เชื่อมโยงแม่และลูกน้อยเข้าด้วยกัน รกทำหน้าที่แลกเปลี่ยน สารอาหารและออกซิเจนให้ลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรง พร้อมทั้งกำจัดของเสียออกไปจากร่างกายของลูกน้อยอีกด้วย มาไขคำตอบอย่างละเอียดกันว่า รก คืออะไร และเรียนรู้ความสำคัญของรกอวัยวะเล็ก ๆ ที่มีความสำคัญต่อชีวิตใหม่น้อย ๆ ในครรภ์ของคุณแม่
สรุป
- รก คืออะไร รก เป็นส่วนหนึ่งของทารกในครรภ์ รกจะอยู่นอกตัวเด็กทารกและอยู่ติดกับผนังด้านในมดลูก การตั้งครรภ์จะดำเนินไปได้อย่างปลอดภัย ต้องอาศัยฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นจากรกมาใช้ในการควบคุมการตั้งครรภ์
- รก ทำหน้าที่ในการส่งผ่านสารอาหาร ออกซิเจน กำจัดของเสีย สร้างฮอร์โมน และป้องกันอันตราย ให้กับทารกในครรภ์
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- รก คืออะไร สำคัญกับการตั้งครรภ์แค่ไหน
- หน้าที่ของรก ที่สำคัญต่อลูกในครรภ์
- รกมีน้ำหนักเท่าไหร่
- รกมีความผิดปกติ เกิดจากอะไรได้บ้าง
- รกมีความผิดปกติ คุณแม่จะรู้ได้ยังไง
- ดูแลตัวเองให้ดี ช่วยป้องกันภาวะรกผิดปกติได้
รก คืออะไร สำคัญกับการตั้งครรภ์แค่ไหน
รก คือ เซลล์โทรโฟบลาสท์ (Trophoblast) ของบลาสโตซิสที่เกิดจากการผสมกันของอสุจิและไข่จนปฏิสนธิขึ้นและค่อย ๆ เคลื่อนย้ายมาจนถึงมดลูกที่เป็นระยะบลาสโตซิส (Blastocyst) จากนั้นบลาสโตซิสจะยึดกับเนื้อเยื่อของมดลูกแล้วเจริญไปเป็นรก (Placenta) รก เป็นส่วนหนึ่งของทารกในครรภ์ รกจะอยู่นอกตัวเด็กทารกและอยู่ติดกับผนังด้านในมดลูก ช่วยให้การตั้งครรภ์จะดำเนินไปได้อย่างปลอดภัยตลอด 9 เดือน และต้องอาศัยฮอร์โมนหลายตัวที่ผลิตขึ้นจากรกมาใช้ในการควบคุมการตั้งครรภ์
หน้าที่ของรก ที่สำคัญต่อลูกในครรภ์
อยากรู้ว่ารกทำหน้าที่อะไรบ้างและสำคัญต่อลูกน้อยอย่างไร มาไขข้อสงสัยหน้าที่ของรกไปพร้อมกัน
1. ลำเลียงอาหารให้ทารก
ระหว่างตั้งครรภ์รกเป็นเสมือนอวัยวะส่วนหนึ่งของคนท้อง โดยจะมีสายสะดือเป็นตัวกลางเชื่อมกันระหว่างรกกับทารก เมื่อแม่รับประทานอาหารเข้าสู่ร่างกาย รกจะทำหน้าที่ลำเลียงอาหารที่ได้รับมาจากร่างกายของแม่ส่งต่อไปให้กับทารกในครรภ์
2. ป้องกันอันตราย
รก ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคบางชนิดไม่ให้เข้าสู่ทารก โดยรกจะส่งต่อภูมิคุ้มกันโรคจากแม่ไปให้กับทารกในครรภ์ในรูปแบบของ Gamma Globulin
3. กรองของเสีย
รก ทำหน้าที่ช่วยในการขับถ่ายและกรองของเสียจากทารกในครรภ์ ที่เกิดจากการเผาผลาญแทนไตให้กับทารก
4. ช่วยระบบหายใจ
รก ทำหน้าที่ช่วยระบบหายใจของทารกในครรภ์ โดยจะทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์แทนปอด
5. สร้างฮอร์โมน
รก ทำหน้าที่เป็นต่อมไร้ท่อในมดลูก โดยจะผลิตฮอร์โมนที่สำคัญเพื่อใช้ในการควบคุมการตั้งครรภ์ ได้แก่ ฮอร์โมนอีสโทรเจน ฮอร์โมน โพรเจสเทอโรน และฮอร์โมนฮิวแมนคอริโอนิกโกนาโดโทรฟิน
รกมีน้ำหนักเท่าไหร่
รกจะมีน้ำหนัก 470 กรัม หรือประมาณ 1/6 ของน้ำหนักตัวทารก ซึ่งเป็นลักษณะของรกปกติที่คลอดจากทารกครบกำหนด รกจะมีรูปทรงกลมหรือรี มีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 22 เซนติเมตร และความหนาของรกจะอยู่ที่ 2-4 เซนติเมตร
รกมีความผิดปกติ เกิดจากอะไรได้บ้าง
รก คืออะไร รกเกิดความผิดปกติได้ไหม รกคืออวัยวะส่วนหนึ่งของทารกที่เกิดขึ้นมาขณะตั้งครรภ์ รก ประกอบด้วย สายสะดือ(Umbilical cord) เยื่อหุ้มรก(placental membrane) และเนื้อรก(parenchyma) รกจะทำหน้าที่ส่งผ่านเลือด สารอาหาร อากาศหายใจ และสารคัดหลั่งต่าง ๆ ระหว่างคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ และรกก็สามารถที่จะเกิดความผิดปกติขึ้นได้ ดังนี้
1. รกเกาะต่ำ
รกเกาะต่ำ (Placenta Previa) เป็นภาวะของรกที่ไปปิดขวางหรือคลุมบางส่วนหรืออาจจะทั้งหมดของปากมดลูก ภาวะรกเกาะต่ำ สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงอายุครรภ์ปลายไตรมาสที่ 2 ถึงต้นอายุครรภ์ไตรมาสที่ 3 อาการที่สังเกตได้คือช่องคลอดมีเลือดสีแดงสดไหลออกมา และอาจจะมีอาการปวดเจ็บแปลบ ๆ จากการบีบตัวของมดลูก แต่ในคนท้องบางรายอาจจะมีแค่เลือดไหลเท่านั้น
2. รกเสื่อมสภาพ
รกเสื่อมสภาพ (Placental Insufficiency) เกิดจากรกมีการเจริญเติบโตผิดปกติ หรืออาจเกิดจากการได้รับความเสียหาย รกเสื่อมสภาพมักเกิดขึ้นกับคุณแม่ท้องที่มีภาวะโรคเบาหวาน และครรภ์เป็นพิษ สำหรับรกที่เสื่อมสภาพ จะทำให้ไม่สามารถส่งอาหารและออกซิเจนให้กับลูกน้อยในครรภ์อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อคลอดออกมา ลูกจะมีน้ำหนักตัวน้อย หรือในคุณแม่ท้องบางรายอาจมีการคลอดยาก อาการรกเสื่อมไม่ได้มีอาการแสดงความผิดปกติใด ๆ ต่อมารดา
3. รกเกาะแน่น
รกเกาะแน่น (Placenta Accreta) เป็นภาวะที่รกมีการเจริญลึกเข้าไปในเยื่อผนังมดลูกมากผิดปกติ คุณแม่ท้องที่มีรกเกาะแน่นอาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะรกติดหลังคลอด ซึ่งจะมีอาการเลือดออกมากถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับรกเกาะแน่นที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ให้คุณแม่ทราบ
4. รกลอกตัวก่อนกำหนด
รกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental Abruption) เกิดจากคุณแม่ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงตรงบริเวณหน้าท้อง สาเหตุอาจมาจาก มีภาวะน้ำเดินอย่างรวดเร็ว หรือได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นต้น ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดมักพบในอายุครรภ์ไตรมาสสุดท้าย อาการแสดงที่เกิดขึ้น ได้แก่ มดลูกบีบตัวตลอดเวลา ปวดท้อง และเลือดออกทางช่องคลอด
รกมีความผิดปกติ คุณแม่จะรู้ได้ยังไง
ขณะตั้งครรภ์คุณแม่สามารถทราบได้ว่ารกปกติ หรือรกผิดปกติ ได้จากการที่แพทย์ตรวจอัลตราซาวด์ดูพัฒนาการทารกในครรภ์ในทุกเดือน ซึ่งหากพบความผิดปกติของรก แพทย์จะช่วยวางแผนดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบแก่คุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
ดูแลตัวเองให้ดี ช่วยป้องกันภาวะรกผิดปกติได้
การใส่ใจดูแลร่างกายขณะตั้งครรภ์อย่างดี ช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพครรภ์แข็งแรง และเพื่อป้องกันภาวะรกผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ คุณแม่ควรพบแพทย์ตามนัดตรวจ ติดตามสุขภาพและพัฒนาการครรภ์ในทุกเดือน และระหว่างที่ตั้งครรภ์คุณแม่สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ดังนี้
- กินสารอาหารให้ครบ ขณะตั้งครรภ์ให้คุณแม่เลือกรับประทานอาหารสำหรับคนท้อง ที่มีประโยชน์ ให้สารอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่
- นอนหลับให้เพียงพอ ในคุณแม่ตั้งครรภ์ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้ได้อย่างน้อย 8-14 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงความเครียด เพื่อไม่ให้กระทบกับลูกน้อยในครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ควรทำจิตใจให้สบาย ปล่อยวางจากเรื่องเครียดทุกอย่าง
- ออกกำลังกายเบา ๆ การออกกำลังกายช่วยให้มีสุขภาพดี แต่สำหรับคุณแม่ท้อง ควรปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์ที่ดูแลครรภ์คุณแม่ ถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสมและปลอดภัยกับคุณแม่
- ไม่ทำงานหนัก การเคลื่อนไหวร่างกายที่มากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ไม่ควรทำงานหนัก และควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ หากระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่มีเลือดออกจากช่องคลอด มีอาการมดลูกบีบตัว หรือปวดท้อง แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที
พอจะทราบกันแล้วว่า รก คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรกับลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้น คุณแม่จึงควรใส่ใจอย่างมากกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในช่วงตั้งครรภ์ เพื่อให้รกสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ลูกน้อยในครรภ์มีความแข็งแรงสมบูรณ์ที่สุด และหลังคลอดแนะนำให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะนมแม่ มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน ซึ่งช่วยในการพัฒนาสมอง สติปัญญา และการเจริญเติบโตของลูกให้สมวัย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด
- โปรแกรม Womb development ตามติด 9 เดือนในครรภ์ของลูกน้อย พร้อมบทความพัฒนาการต่าง ๆ
- คุณแม่ปวดหลังหลังคลอด พร้อมวิธีบรรเทาอาการปวดหลัง
- คุณแม่ปวดท้องน้อยหลังคลอด อันตรายไหม รับมืออย่างไรดี
- คุณแม่ปวดท้องข้างซ้าย เจ็บท้องข้างซ้าย บอกอะไรได้บ้าง
- คุณแม่ปวดท้องข้างขวาจี๊ด ๆ หน่วง ๆ บอกอะไรได้บ้าง
- ผ่าคลอดห้ามยกของหนักกี่เดือน ต้องพักฟื้นนานไหม
- ผ่าคลอดกี่วันขับรถได้ หลังผ่าตัดขับรถได้ไหม อันตรายหรือเปล่า
- ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ผ่าคลอดมีลูกได้กี่คน ผ่าคลอดบ่อย อันตรายไหม
- คันแผลผ่าคลอด ทำยังไงดี พร้อมวิธีแก้อาการคันแผลผ่าตัด
- การผ่าคลอดกับคลอดเองต่างกันยังไง พร้อมข้อดีข้อเสีย
- วิธีดูแลรอยแผลผ่าคลอดสวย ให้รอยแผลผ่าคลอดเรียบเนียน
อ้างอิง:
- รกและฮอร์โมนจากรก (placenta), สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
- เรื่องการตั้งครรภ์, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษณ์ธานี
- ความผิดปกติของรก (Placental Abnormalities), แพทย์หญิงณัฐกานต์ รุ่งตรานนท์ สูติศาสตร์ล้านนา คณะแพทยศาสตร์
- ความผิดปกติของรก (Placental abnormalities), นายแพทย์ปกรณ์ จักษุวัชร รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเฟื่องลดา ทองประเสริฐ สูติศาสตร์ล้านนา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ภาวะรกเกาะต่ำในคุณแม่ตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหนนะ?, โรงพยาบาลพญาไท
- ภาวะรกเสื่อม (Placental Insufficiency), POBPAD
- “ภาวะครรภ์เสี่ยง” เรื่องควรรู้ของคุณแม่ตั้งท้อง, โรงพยาบาลพญาไท
- ภาวะรกเกาะแน่น (Placenta Accreta), POBPAD
- ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด Placental Abruption, โรงพยาบาลสมิติเวช
- 6 วิธีดูแลตัวเองในระหว่างตั้งครรภ์, โรงพยาบาลบางปะกอก 3
- อันตรายของภาวะรกเกาะต่ำ พร้อมแนวทางการรักษา, โรงพยาบาลสินแพทย์
- เทคนิคคุณแม่ดูแลครรภ์ 9 เดือนอย่างมีคุณภาพ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
อ้างอิง ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง