อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 33 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
ใกล้ได้เจอลูกน้อยเข้ามาทุกที สำหรับแม่ท้อง 33 สัปดาห์ เดินทางเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในระหว่างนี้ จะพบว่า ร่างกายเตรียมความพร้อมเข้าสู่การคลอดทุกทีแล้ว ในช่วงนี้อาการที่สำคัญและอาจรู้สึกทำให้คุณแม่บางคนรู้สึกตกใจโดยเฉพาะแม่ท้องแรก คือ อาการเจ็บท้องหลอก ข้อสังเกตสำหรับคุณแม่อาการเจ็บท้องนี้จะหายไปในระยะเวลาไม่นานและจะไม่เจ็บถี่ขึ้นเพราะไม่ใช่การเจ็บท้องคลอด
สรุป
- เจ็บท้องหลอกหรือเจ็บท้องเตือน คุณแม่ที่ตั้งครรภ์อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ หรือช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นสัญญาณของร่างกายเริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดทารก
- อาการที่พบได้บ่อยของแม่ท้องอายุครรภ์ 33 สัปดาห์ หน้าท้องของคุณแม่เริ่มขยายใหญ่ขึ้น การเคลื่อนไหวร่างกายทำได้ไม่คล่องแคล่ว และอาจเกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้ เวลาไอจาม หรือหัวเราะ เพราะมดลูกที่กดเบียดกระเพาะปัสสาวะทำให้พื้นที่กักเก็บปัสสาวะลดลง คุณแม่ไม่ควรแก้ปัญหานี้ด้วยการดื่มน้ำน้อยลง หรือกลั้นปัสสาวะเพราะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของแม่ท้องและทารกในครรภ์ได้
- ทารกในครรภ์อายุ 33 สัปดาห์ ทารกน้อยเจริญเติบโตและแข็งแรงมากขึ้น อวัยวะทั้งภายนอกและภายในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น หากเปรียบเทียบขนาดร่างกายของทารกกับผลไม้ เปรียบได้กับสับปะรด ในช่วงนี้ทารกมีขนาดความยาวประมาณ 17.20 นิ้ว มีน้ำหนักประมาณ 4.23 ปอนด์ หรือราว 1,919 กรัม
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ ควรรับประทานอะไรบ้าง
- อาการคนท้อง 33 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
- ท้อง 33 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
- ท้อง 33 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
- การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 33 สัปดาห์
แม่ท้อง 33 สัปดาห์ เรียกว่า อยู่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ในช่วงนี้คุณแม่จะได้พบกับอาการสำคัญอีกอาการหนึ่งที่แม่ตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์ต้องเจอ “เจ็บท้องหลอก” หรือ “เจ็บท้องเตือน” (Braxton Hicks Contractions) ซึ่งอาการเจ็บเตือนนี้จะเริ่มมีอาการตอนตั้งครรภ์ประมาณเดือนที่ 8 ในระหว่างนี้มดลูกของแม่ตั้งครรภ์จะขยายตัวเต็มที่และเคลื่อนตัวต่ำลงมา หากใช้มือคลำหน้าท้องจะรู้สึกได้ว่าเป็นก้อนแข็ง ๆ แม่ท้องจะเริ่มมีอาการเจ็บท้องหลอก เกิดจากมดลูกบีบตัวทำให้ท้องแข็งเกร็ง แต่การเจ็บท้องหลอกจะยังไม่เป็นจังหวะที่แน่นอน ไม่เจ็บเพิ่มขึ้นจากเดิม และระยะเวลาเจ็บท้องไม่ยาวนาน เป็นเพียงการส่งสัญญาณของร่างกายให้รู้ว่า ร่างกายกำลังเข้าสู่ช่วงเตรียมพร้อมคลอดทารก ไม่ใช่สัญญาณเตือนว่าคุณแม่จะคลอดทารก
อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ ควรรับประทานอะไรบ้าง
อาหารสำหรับแม่ท้องอายุครรภ์ 33 สัปดาห์หรือไตรมาสที่ 3 ยังมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา หากร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นและเพียงพอ ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณแม่และทารกในครรภ์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีนและแคลเซียม ซึ่งมีในอาหารประเภท เนื้อปลา เนื้ออกไก่ ไข่ ตับ ถั่วต่าง ๆ นมจืดพร่องมันเนย ชีส โยเกิร์ต หรือในปลาเล็กปลาน้อยทอดรับประทานได้ทั้งก้าง ช่วยเพิ่มแคลเซียมได้อย่างดีสำหรับแม่ท้องที่ไม่สามารถดื่มนมได้ นอกจากนี้ผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ ช่วยเพิ่มกากใย และช่วยในเรื่องการขับถ่าย
อาการคนท้อง 33 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
1. ขี้ร้อน
คนท้องมักจะรู้สึกว่าตนเองขี้ร้อนมากกว่าปกติ เหงื่อไหลออกมามาก และเหงื่อออกง่าย สาเหตุสำคัญคือ ร่างกายของแม่ตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีภายในร่างกายหลายอย่าง เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้น ไตทำงานมากขึ้น หัวใจสูบฉีดโลหิตมากขึ้น เพราะต้องใช้เลือดไปเลี้ยงร่างกายมากขึ้น ทำให้ในช่วงนี้ร่างกายมีอัตราการเผาผลาญพลังงานในร่างกายของคุณแม่มากขึ้นกว่าเดิม เลยทำให้คุณแม่กลายเป็นคนขี้ร้อน บางคนเป็นทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ดังนั้น การดื่มน้ำอย่างเพียงพอช่วยลดความร้อนภายในร่างกาย ทำให้คุณแม่รู้สึกสดชื่น รวมถึงการสวมเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้อย่างดี อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนอบอ้าว ช่วยทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
2. น้ำนมไหล
แม่ตั้งครรภ์ 33 สัปดาห์ เต้านมของแม่ท้องจะขยายใหญ่ขึ้นมาก เกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ หัวนมจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและตั้งชันมากกว่าปกติ บริเวณลานหัวนมของแม่ท้องจะเริ่มมีสีคล้ำและขยายวงใหญ่มากขึ้น ช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ แม่ท้องมักมีอาการคัดตึงเต้าและคุณแม่บางคนจะเริ่มมีของเหลวสีเหลือง เรียกว่า โคลอสตรัม (colostrum) หรือน้ำนมเหลือง ไหลออกจากเต้านม แม้จะไหลออกมาก่อนกำหนดคลอดก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเต้านมเตรียมความพร้อมสำหรับการให้นมแม่แก่ทารกหลังคลอด หรือคุณแม่คนใดไม่มีน้ำนมเหลืองไหลออกมา ไม่ถือว่าผิดปกติและไม่มีผลต่อการให้นมแม่แก่ทารกหลังคลอดแต่อย่างใด
3. ปวดศีรษะ
คนท้องมักมีอาการปวดศีรษะบ่อย ๆ อาจเกิดความเครียดและฮอร์โมนเพศระหว่างการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่มักเกิดอาการวิงเวียน หรือแม่ท้องบางคนอาจเกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้ อาการปวดหัวมักเกิดจากการกดทับของเส้นเลือดใหญ่ที่นำเลือดจากร่างกายกลับสู่หัวใจในช่วงตั้งครรภ์ไม่ดีเท่าคนปกติ จึงเกิดอาการเวียนหัว ปวดหัวได้ง่าย อาการปวดหัวที่มักพบใน คนท้อง ได้แก่
- ปวดหัวไมเกรน คนท้องกว่าร้อยละ 80 มีอาการปวดหัวไมเกรน โดยเฉพาะในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์
- ปวดหัวจากความเครียด ทำให้เกิดกล้ามเนื้อตึงตัว มักมีอาการปวดบริเวณท้ายทอย ร้าวไปที่ขมับทั้งสองข้างหรือปวดทั่วศีรษะ ปวดแบบบีบรัด
- ปวดหัวแบบคลัสเตอร์ ปวดหัวรุนแรงและกะทันหัน มีลักษณะปวดข้างเดียว ปวดบริเวณรอบดวงตา ภายในหนึ่งวันอาการเช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้หลายครั้ง
4. ปัสสาวะเล็ด
ขนาดครรภ์ของแม่ท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้พื้นที่ในการกักเก็บปัสสาวะลดลง แม่ท้องจึงรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยจนบางคนมีอาการปัสสาวะเล็ดเวลาไอ จาม หรือหัวเราะ เพราะเวลาที่แม่ท้องไอ จาม หรือหัวเราะ จะไปเพิ่มความดันในช่องท้อง ทำให้ปัสสาวะเล็ดออกไปทางท่อปัสสาวะได้ สิ่งที่แม่ท้องไม่ควรปฏิบัติ คือ
- กลั้นปัสสาวะ แม่ท้องไม่ควรกลั้นปัสสาวะ เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ หรือติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดได้
- ดื่มน้ำน้อยลง แม่ท้องบางคนเลือกดื่มน้ำน้อยลงเพราะคิดว่า จะทำให้ปวดปัสสาวะลดลง แต่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องเพราะอาจเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำได้ เพิ่มภาระให้ไตทำงานหนักตามไปด้วย แม่ท้องควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 1-2 ลิตร เพื่อให้ร่างกายไม่เกิดอาการขาดน้ำและปัสสาวะไม่มีกลิ่นแรง
อาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะถี่ หรือปัสสาวะเล็ด จะเริ่มดีขึ้นเมื่อมดลูกลอยตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ไม่กดเบียดกระเพาะปัสสาวะมากนัก จะลดการปัสสาวะบ่อยลงได้ นอกจากนี้การฝึกขมิบอุ้งเชิงกราน ให้กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานกระชับตึง ช่วยทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรงขึ้น แม่ท้องสามารถขอคำปรึกษาจากคุณหมอเพื่อการบริหารที่ถูกวิธี ช่วยลดปัญหาปัสสาวะเล็ดได้
5. แสบร้อนกลางทรวงอก
สำหรับแม่ตั้งครรภ์ อาการแสบร้อนกลางทรวงอกหรือกรดไหลย้อน เกิดขึ้นได้ง่ายและมีโอกาสเกิดขึ้นบ่อย
- การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกาย ระบบภายในร่างกาย รวมถึงช่องท้องของคุณแม่
- ขนาดมดลูกที่ขยายใหญ่ตามการเจริญเติบโตของทารก กดเบียดกระเพาะอาหาร ส่งผลให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่าย และมักจะเป็นช่วงเวลาหลังรับประทานอาหารและช่วงเวลากลางคืน หลีกเลี่ยงกรดไหลย้อน ทำได้ดังนี้
- รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ไขมันต่ำ ควรเลือกรับประทานอาหารประเภทโปรตีนที่ย่อยง่าย ไขมันต่ำ ได้แก่ เนื้อปลา เนื้อไก่
- รับประทานครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง ปกติรับประทานวันละ 3 มื้อ อาจแยกย่อยเป็นวันละ 5 มื้อ รับประทานมื้อละน้อย ๆ เคี้ยวช้า ๆ ให้ละเอียด
- ไม่รับประทานอาหารช่วงก่อนนอน เพราะอาหารย่อยไม่ทัน ย่อยยาก ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงอาหารมัน รสจัด เผ็ด เพราะส่งผลให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่าย
- ท่านอน ท่านอนมีความสำคัญ แม่ท้องหาตัวช่วยด้วยการใช้หมอนหนุนเพื่อยกระดับหน้าอกให้สูงขึ้น ป้องกันกรดไหลย้อนได้
ท้อง 33 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
แม่ท้องอายุครรภ์ 33 สัปดาห์ ในช่วงนี้หน้าท้องของคุณแม่ขยายใหญ่ขึ้นมาก ไปพร้อมกับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น ประกอบกับเม็ดสีผิวทำงานมากกว่าปกติ ทำให้คุณแม่บางคนมีปัญหาหน้าท้องลาย ควรระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารเพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มเร็วเกินไป รวมถึงใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ปลอดภัยสำหรับแม่ท้อง ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและยืดหยุ่นให้กับผิวหน้าท้อง
ท้อง 33 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
ทารกในครรภ์อายุ 33 สัปดาห์ ขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ เปรียบได้กับสับปะรด ทารกมีขนาดความยาวตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้า วัดได้ประมาณ 17.20 นิ้ว มีน้ำหนักประมาณ 4.23 ปอนด์ หรือราว 1,919 กรัม
ในช่วงนี้ทารกในครรภ์ ขนเส้นบาง ๆ ที่ปกคลุมอยู่ทั่วร่างกายทารกน้อยเริ่มหลุดร่วง ทำให้เริ่มเห็นเล็บเท้าชัดเจน รูม่านตาเริ่มตอบสนองต่อแสง และความหนาแน่นและความแข็งแรงของกระดูกเพิ่มมากขึ้น ยกเว้นกะโหลกศีรษะของทารกที่ยังคงนิ่มอยู่
พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 33 สัปดาห์
ทารกในครรภ์อายุ 33 สัปดาห์ จะมีพัฒนาการด้านร่างกาย ดังนี้
- กระดูกแข็งแรงมากขึ้น
- ผิวหนังเริ่มเหมือนคนปกติ
- สมองพัฒนาอย่างเต็มที่
- เส้นประสาททำงานได้เต็มที่
- ตุ่มรับรสเริ่มทำงาน
- ทารกเริ่มรับแสง เสียง และความเจ็บปวดได้
การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 33 สัปดาห์
1. เปิดใจพูดคุยกับคู่ครอง หรือคนในครอบครัว
แม่ท้อง 33 สัปดาห์ การเปิดใจพูดคุยกับคู่ครอง หรือคนในครอบครัว มีความสำคัญและจำเป็น เพราะสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
- เป็นช่วงที่คุณแม่เริ่มเกิดความกังวลถึงการคลอด กลัวการคลอด เช่น จะคลอดแบบไหนดี จะเจ็บมากหรือไม่ การคลอดจะปลอดภัยหรือไม่ ลูกคลอดออกมาจะสมบูรณ์แข็งแรงหรือไม่ จะครบ 32 หรือไม่ จะเลี้ยงลูกได้หรือไม่
- ส่งผลให้แม่ตั้งครรภ์เกิดความกังวลใจ ความเครียด หงุดหงิดใจได้ง่าย
- ช่วงนี้คุณพ่อและสมาชิกในครอบครัวควรพูดคุยสร้างความสบายใจ
- รวมถึงวางแผนการคลอด การเลี้ยงดูทารก เพื่อให้คุณแม่คลายกังวล
2. ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
ช่วงอายุครรภ์ 33 สัปดาห์ คุณหมอจะนัดตรวจถี่ขึ้น คือ
- นัดทุก ๆ 2 สัปดาห์ เพื่อประเมินสุขภาพแม่ท้อง ในช่วงนี้จะเป็นการตรวจปัสสาวะ เพื่อดูปริมาณน้ำตาลและโปรตีนในร่างกาย
- ตรวจเช็กความดันโลหิต การติดตามอาการบวม เพื่อตรวจหาว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษหรือไม่
- รวมถึงคุณหมอจะนัดตรวจอัลตราซาวด์เพื่อติดตามสุขภาพทารกในครรภ์ รวมถึงให้คำแนะนำเบื้องต้นถึงวิธีการคลอด การไปพบคุณหมอตามนัดจึงมีความสำคัญมาก
3. ฝึกหายใจเตรียมตัวคลอด
การไปตรวจครรภ์และพบคุณหมอตามนัด ในช่วงนี้แม่ท้องอายุครรภ์ 33 สัปดาห์
- มักจะได้รับคำแนะนำถึงวิธีการฝึกหายใจเพื่อเตรียมตัวคลอด เพื่อให้ความรู้เบื้องต้นแก่คุณแม่
- ข้อดีของการฝึกหายใจเพื่อเตรียมตัวคลอดสำหรับคุณแม่ คือ ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดระหว่างคลอด และเพิ่มกำลังในการเบ่งคลอดให้มากขึ้นด้วย
4. วิธีการฝึกการหายใจสำหรับแม่ท้อง
- เมื่อมีสัญญาณการบีบตัวของมดลูก ให้คุณแม่หายใจเข้า และหายใจออก ให้เต็มที่ 1 ครั้ง
- ขั้นตอนต่อไป ให้คุณแม่หายใจเข้าทางจมูกแบบตื้น เร็ว และเบา จำนวน 4-6 ครั้ง ติดต่อกันเร็ว ๆ คล้ายกับกำลังหายใจหอบ
- จากนั้นให้คุณแม่หายใจออกโดยการห่อปาก เป่าลมออกทางปากเบา ๆ 1 ครั้ง พยายามรักษาสมดุลไปพร้อมกับการหายใจเข้า ให้คุณแม่หายใจเช่นนี้เรื่อย ๆ จนกว่ามดลูกจะเริ่มคลายตัว
- เมื่อมดลูกคลายตัวแล้ว จะทำให้คุณแม่เจ็บปวดน้อยลง การหายใจแบบลึก และช้าช่วยทำให้แม่ท้องรู้สึกผ่อนคลาย และช่วยนำออกซิเจนไปให้ทารกในครรภ์ได้มากขึ้น
5. ใช้หมอนหนุนเท้าให้สูง
แม่ท้องอายุครรภ์ 33 สัปดาห์ มักมีอาการต่าง ๆ ดังนี้
- เท้าชา ตะคริว ขาบวม เท้าบวม ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนภายในร่างกาย
- ท่านอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ขนาดท้องที่ขยายใหญ่เป็นอุปสรรคต่อการนอน
- การหาอุปกรณ์เป็นตัวช่วยให้คุณแม่นอนหลับสบาย ด้วยการใช้หมอนหนุนตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อช่วยพยุงตัว โดยเฉพาะหมอนรองปลายเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อการไหลเวียนเลือดได้อย่างสะดวก
- การใช้หมอนหนุนทำให้คุณแม่นอนหลับสนิทดียิ่งขึ้น เพราะการนอนหลับพักผ่อน นอนหลับสนิท ช่วยให้แม่ท้องมีจิตใจสดชื่นแจ่มใส
แม่ท้อง 33 สัปดาห์ เป็นระยะการตั้งครรภ์ระยะที่สามหรือระยะสุดท้าย ร่างกายและจิตใจเกิดการเปลี่ยนแปลง ขนาดท้องที่ขยายใหญ่ สภาพจิตใจที่กังวลเกี่ยวกับการคลอดและทารกในครรภ์ ส่งผลให้แม่ท้องเกิดความเครียดได้ ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากสมาชิกในครอบครัว รวมถึงการไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจดูความพร้อมของแม่และทารกในครรภ์ รวมถึงการฝึกหายใจสำหรับการคลอด เพราะการคลอดธรรมชาติทารกแรกคลอดจะได้รับจุลินทรีย์สุขภาพหลายสายพันธุ์จากแม่ตั้งแต่แรกคลอด อาทิ B.Lactis ที่เป็นจุลินทรีย์ในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรง
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 34 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 35 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 36 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 37 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 38 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
อ้างอิง:
- สัญญาณเตือนคุณแม่ใกล้คลอด เตรียมพร้อมได้ทันเวลา, โรงพยาบาลนครธน
- คำแนะนำ คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 3 (อายุครรภ์ 7-9 เดือน), โรงพยาบาลเปา
- โรคของต่อมไทรอยด์ในสตรีตั้งครรภ์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- น้ำนมแม่ ภูมิต้านทานที่ดี ช่วยลดโอกาสเจ็บป่วยให้กับลูก, โรงพยาบาลบางปะกอก
- ปวดหัวไมเกรนในคนท้อง….ยาตัวไหนใช้ได้บ้างนะ, โรงพยาบาลขอนแก่น
- การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic Floor Muscle Training), คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ไม่ดีแน่… ถ้าปล่อยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องสู้กับ “กรดไหลย้อน”, โรงพยาบาลเปาโล
- ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ > 28 สัปดาห์ ), โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
- เทคนิคดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์อย่างมีสุขภาพดีทั้งแม่และทารกในครรภ์, โรงพยาบาลนครธน
- 9 สิ่งควรทำ ใน 9 เดือน ที่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล
- เมื่อคุณแม่มือใหม่เตรียมคลอด ตอนที่ 2, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- มือบวม เท้าบวมขณะตั้งครรภ์ เกิดจากสาเหตุใด?, โรงพยาบาลพญาไท
- พัฒนาการทารกในครรภ์ตลอด 9 เดือนในท้องแม่, Pobpad
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1-3, โรงพยาบาลบางปะกอก
- น้ำคร่ำ (Amniotic fluid), คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ขนาดทารกในครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ต่าวๆเปรียบเทียบกับขนาดผักและผลไม้, hellokhunmor
- มาฝึกหายใจเตรียมตัวสำหรับการคลอดกัน, โรงพยาบาลพญาไท
อ้างอิง ณ วันที่ 15 มกราคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง