อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 34 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 34 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

05.03.2020

เมื่อคุณแม่อายุครรภ์ครบ 34 สัปดาห์ หรือช่วงกลางของการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 ขนาดท้องของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้นมาก เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์อย่างเต็มที่ ซึ่งอาจทำให้คุณแม่รู้สึกหายใจลำบากขึ้น เหนื่อยง่าย การเคลื่อนไหวลุกนั่งลำบาก และคุณแม่บางท่านอาจเริ่มมีอาการบวมร่วมด้วย ดังนั้นคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ด้วย อาทิ อาการตะคริว ความดันโลหิตสูง มีเลือดออกหรือมูกเลือด หรือภาวะน้ำเดิน รวมถึงความผิดปกติของน้ำคร่ำ ซึ่งคุณหมอจะเริ่มนัดตรวจครรภ์ก่อนคลอดถี่ขึ้น ส่วนการดูแลตนเองในช่วงนี้ เต้านมจะเริ่มมีสารพวกไขมันเคลือบบริเวณหัวนมและลานนมของคุณแม่ ให้อาบน้ำล้างด้วยน้ำเปล่าเท่านั้น ไม่ควรล้างออกด้วยสบู่เพราะจะทำให้หัวนมแห้งและแตกได้ง่าย และคุณแม่อย่าลืมใส่ใจการรับประทานอาหารที่สดสะอาดปลอดภัย เน้นสารอาหารประเภทโปรตีนและผักใบเขียว ดื่มน้ำสะอาด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

headphones

PLAYING: อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 34 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

อ่าน 8 นาที

 

สรุป

  • คุณแม่อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ หรือไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ จะเริ่มรู้สึกลุกนั่งลำบากมากขึ้น เนื่องจากขนาดของท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นมาก เพราะมีน้ำคร่ำปริมาณสูงขึ้น โดยน้ำหนักตัวของคุณแม่อาจจะเพิ่มขึ้นจากก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 10-15 กิโลกรัม ลักษณะท้องจะเริ่มคล้อยต่ำลง จากการที่ลูกเริ่มกลับตัวและเอาหัวหันไปทางปากมดลูกเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด
  • ลูกน้อยจะมีการพัฒนาอวัยวะทั้งภายในและภายนอกเกือบสมบูรณ์ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเริ่มมีการทำงาน สามารถมองเห็น ได้ยินเสียง หายใจ นอนหลับ เล็บนิ้วมือและนิ้วเท้าเริ่มงอก โดยมีส่วนสูงอยู่ที่ประมาณ 45 เซนติเมตร และหนักประมาณ 2.1 กิโลกรัม
  • ใกล้ถึงวันที่คุณแม่จะได้พบลูกน้อยออกสู่โลกภายนอกแล้ว คุณแม่ต้องดูแลตนเองให้ดีด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มีสารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ลดอาหารที่มีโซเดียมสูง และพยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เมื่อเริ่มเข้าสู่การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 หรือประมาณ 29 สัปดาห์เป็นต้นไป คุณหมอจะเรียกคุณแม่ตั้งครรภ์มาพบทุก ๆ 2 สัปดาห์ การตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวด์ ในช่วงอายุครรภ์นี้จะช่วยคำนวณน้ำหนักตัวของลูกในครรภ์ก่อนคลอดได้ รวมถึงเห็นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ อัตราการเต้นของหัวใจ และพัฒนาการอื่น ๆ ของลูกน้อย ในส่วนการตรวจสุขภาพของคุณแม่ คุณหมอจะเพิ่มการตรวจหาเชื้อสเตร็ปโตคอคคัสกรุ๊ปบี ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาจแพร่ไปยังลูกขณะทำการคลอดผ่านช่องคลอดได้

 

ท้อง 34 สัปดาห์ คุณแม่ควรรับประทานอะไร

 

ท้อง 34 สัปดาห์ คุณแม่ควรรับประทานอะไร

ในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 คุณแม่ควรได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณวันละ 470 กิโลแคลอรี จากเดิมที่ควรได้รับ 2,050 กิโลแคลอรีต่อวัน โดยรับประทานอาหารที่มีคุณค่า และสดสะอาด ปลอดภัย โดยเน้นสารอาหาร ดังนี้

  • โปรตีน เป็นสารอาหารสำคัญ ช่วยในการเจริญเติบโตและสร้างเซลล์ของลูกในครรภ์ ซึ่งได้รับจากสัตว์ อาทิ นม ไข่ เนื้อสัตว์ และปลา
  • แคลเซียม ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงและความหนาแน่นของกระดูก โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรได้รับแคลเซียมอย่างน้อย 1,000-1,300 มิลลิกรัมต่อวัน อาหารที่มีแคลเซียมสูง อาทิ นม ชีส ปลาตัวเล็กตัวน้อย ธัญพืชต่าง ๆ
  • โฟเลต ช่วยป้องกันความผิดปกติของสมองและระบบประสาทของลูกในครรภ์
  • โอเมก้า 3 ช่วยในการเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองและระบบภูมิคุ้มกันแก่ลูกน้อยในครรภ์ จำเป็นต่อระบบประสาท สมอง และดวงตาของลูก และยังมีส่วนช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นด้วย โดยเน้นรับประทานปลาที่มีโอเมก้า 3 อาทิ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู และปลาช่อน เป็นต้น
  • ไอโอดีน ช่วยในการพัฒนาระบบประสาทของลูกในครรภ์ ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับไอโอดีนไม่น้อยกว่าวันละ 250 ไมโครกรัม โดยได้รับจากอาหารทะเลต่าง ๆ หรือผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนต่าง ๆ ในรูปแบบเครื่องปรุงรส
  • โคลีน ช่วยในการพัฒนาสมอง และป้องกันความผิดปกติของสมองและกระดูกสันหลังได้ ซึ่งร่างกายของคนทั่วไปสามารถผลิตโคลีนได้เอง โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับปริมาณโคลีน 450 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งร่างกายอาจผลิตไม่เพียงพอ จึงควรรับประทานอาหารที่มีโคลีน อาทิ ไข่ ไก่ เนื้อวัว นมและถั่ว
  • ธาตุเหล็ก ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้ โดยเน้นรับประทานสัตว์เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ ผักสีเขียวเข้ม ถั่วแดงและงา
  • ดีเอชเอ พบว่า DHA  มีส่วนช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ป้องกันความเสี่ยงของครรภ์เป็นพิษ และอาจเพิ่มน้ำหนักตัวของลูกในครรภ์ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงสำหรับคุณแม่ในการเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้ โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับ ดีเอชเอ ประมาณ 200 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งพบได้จากอาหาร อาทิ ปลา น้ำมันปลา และหอย

 

อาการคนท้อง 34 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป

 

อาการคนท้อง 34 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป

1. ปวดท้องน้อย ปวดหัวหน่าว

อาจพบได้เนื่องจากการเกร็งตัวของมดลูกเล็กน้อย อาการไม่รุนแรงมาก แต่หากอาการดังกล่าวเกิดต่อเนื่องกันนาน ๆ หรือมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน ควรรีบพบแพทย์ เพราะอาจเป็นภาวะคลอดก่อนกำหนดได้

 

2. น้ำนมไหล

เมื่อตั้งครรภ์ได้ครบ 6 เดือนขึ้นไป ต่อมน้ำนมจะขยายเพิ่มมากขึ้น และมีเซลล์กล้ามเนื้อรอบ ๆ ท่อน้ำนมหนาขึ้น และน้ำคัดหลั่งโคลอสตรัม ก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งหากคุณแม่ลองบีบเบา ๆ จะมีน้ำขุ่น ๆ ไหลออกมาได้

 

3. เหนื่อยง่าย

อาจเกิดได้จากขนาดของครรภ์ที่ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้การเคลื่อนที่ลุกหรือนั่งลำบาก รวมถึงหายใจลำบากขึ้นด้วย เนื่องจากเด็กตัวโตขึ้นจนไปดันกระเพาะและกะบังลม

 

4. เท้าบวม

คุณแม่สามารถทดสอบการบวมได้โดยใช้นิ้วมือกดไปที่หน้าแข้งหรือหลังเท้า จะเกิดรอยบุ๋มลงไปเล็กน้อย แต่หากมีรอยค่อนข้างลึกอาจมีอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ซึ่งควรรีบพบแพทย์โดยทันที แต่หากเป็นการบวมโดยทั่วไปสามารถหาสิ่งของหนุนเท้าให้สูงขึ้นระดับสะโพกขณะนั้น หรือสูงกว่าแนวราบในขณะนอน เพื่อช่วยลดอาการบวมได้

 

5. ปวดสะโพก ปวดขา

อาจเกิดจากน้ำหนักตัวของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้สะโพกต้องรองรับน้ำหนักมากขึ้น จึงเกิดอาการปวดบริเวณสะโพกและต้นขาได้

 

ท้อง 34 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน

คุณแม่อาจจะเริ่มรู้สึกลุกนั่งลำบากมากขึ้น เนื่องจากขนาดของท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นมาก เพราะมีน้ำคร่ำปริมาณสูงขึ้น โดยน้ำหนักตัวของคุณแม่อาจจะเพิ่มขึ้นจากก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 10-15 กิโลกรัม ลักษณะท้องจะเริ่มคล้อยต่ำลง เพราะลูกเริ่มกลับตัวและเอาหัวหันไปทางปากมดลูกเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด

 

ในช่วงนี้คุณแม่จะพบมูกใสบริเวณปากช่องคลอดได้มากขึ้น และมีอาการข้อเท้าบวมได้ คุณแม่ไม่ต้องตกใจเพราะเป็นอาการที่สามารถพบได้ทั่วไปสำหรับอายุครรภ์นี้ และบางครั้งอาจทำคุณแม่รู้สึกท้องแข็ง หรือการเจ็บท้องเตือนได้ โดยคุณแม่ควรศึกษาเพื่อแยกความแตกต่างระหว่างการเจ็บท้องเตือนหรือการเจ็บท้องคลอดจริง อาทิ ความถี่และความรุนแรงของการเจ็บท้องจริงจะมากกว่า รวมถึงสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น พบมูกเลือดหรืออาการน้ำเดิน ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที

 

ท้อง 34 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน

ทารกในครรภ์อายุ 34 สัปดาห์ จะมีขนาดเพิ่มขึ้นเร็วกว่าช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 โดยมีขนาดประมาณ 45 เซนติเมตร หรือหนักประมาณ 2.1 กิโลกรัม ในช่วงนี้ทารกจะมีการพัฒนาอวัยวะทั้งภายในและภายนอกเกือบสมบูรณ์ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเริ่มมีการทำงาน ซึ่งช่วงนี้ลูกจะเคลื่อนไหวบ่อยขึ้น ทำให้คุณแม่สามารถรับรู้การดิ้นของลูกได้บ่อย ๆ เลยค่ะ

 

พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 34 สัปดาห์

  • ทารกจะสามารถมองเห็น และได้ยินเสียง ได้มากขึ้น
  • มีการพัฒนาระบบหายใจ และการนอนหลับ
  • เล็บนิ้วมือและนิ้วเท้าเริ่มงอกยาว

 

การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 34 สัปดาห์

เมื่ออายุครรภ์มาถึง 34 สัปดาห์ ซึ่งใกล้เวลาที่คุณแม่จะได้พบลูกน้อยออกสู่โลกภายนอกแล้ว ในช่วงสัปดาห์นี้คุณแม่ยังคงเน้นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารให้ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อป้องกันอาการท้องผูก ชดเชยแร่ธาตุที่สูญเสียไปจากการที่ปัสสาวะบ่อยขึ้น รวมถึงการดื่มน้ำยังช่วยลดความเสี่ยงของอาการเจ็บท้องเตือนได้ด้วย และลดอาหารที่มีโซเดียมสูง เพราะจะยิ่งทำให้มีอาการเท้าบวมมากขึ้น คอยสังเกตการดิ้นของลูกน้อย ด้วยการนับการดิ้นให้ได้อย่างน้อย 10 ครั้งภายใน 1 ชั่วโมง และพยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อาจรับประทานอาหารมื้อเย็นให้เร็วขึ้น หาหมอนหนุนขาสูงจะช่วยให้หลับสบายขึ้นด้วย

 

ใกล้ถึงวันที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะได้เป็นคุณแม่เต็มตัวแล้ว ระยะทางกว่าจะมาถึงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 34 หรือ ไตรมาสสุดท้ายก่อนคลอดนี้ คุณแม่บางท่านอาจจะมีความกังวลต่าง ๆ หรือความไม่สบายเนื้อสบายตัวมากมาย ทั้งจากการแพ้ท้อง หรือขนาดของท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นมากทำให้รู้สึกอึดอัด แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดีเพื่อลูกน้อยที่เรารัก ในช่วงอายุครรภ์นี้ คุณแม่อาจศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมตัวคลอด เตรียมวันลาคลอด รวมถึงการจัดกระเป๋าไปโรงพยาบาลกรณีฉุกเฉิน และอย่าลืมทำจิตใจให้ผ่อนคลาย เตรียมพร้อมที่จะได้พบกับลูกน้อย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1-3, โรงพยาบาลบางปะกอก
  2. พัฒนาการของทารก สุขภาพของคุณ และเรื่องน่ารู้ในช่วงท้อง 8 เดือน, PobPad
  3. ฝากครรภ์ครั้งแรกต้องทำอย่างไร ตอบข้อสงสัยคุณแม่มือใหม่, โรงพยาบาลนครธน
  4. เทคนิคดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์อย่างมีสุขภาพดีทั้งแม่และทารกในครรภ์, โรงพยาบาลนครธน
  5. 7 อาหารเสริมคนท้อง เพื่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์, PobPad
  6. โอเมก้า 3 สารอาหารเพื่อคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อย, PobPad
  7. 9 เดือน กับพัฒนาการของทารกในครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล
  8. อาการระหว่างตั้งครรภ์ เรื่องสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้, โรงพยาบาลพญาไท
  9. เต้านมในระหว่างตั้งครรภ์ (ตอนที่ 1), คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

อ้างอิง ณ วันที่ 14 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

คนท้องปวดหัวข้างเดียวทำยังไงดี พร้อมวิธีแก้ไขอาการคนท้องปวดหัว

คนท้องปวดหัวข้างเดียวทำยังไงดี พร้อมวิธีแก้ไขอาการคนท้องปวดหัว

คนท้องปวดหัวขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร คนท้องปวดหัวผิดปกติไหม อาการแบบไหนเรียกว่าปวดหัวปกติหรือไมเกรนในคนท้อง พร้อมวิธีแก้ไขเมื่อคนท้องมีอาการปวดหัว

มดลูกคว่ำคืออะไร อันตรายไหม อาการแบบนี้ทำให้มีลูกยากหรือเปล่า

มดลูกคว่ำคืออะไร อันตรายไหม อาการแบบนี้ทำให้มีลูกยากหรือเปล่า

มดลูกคว่ำ คืออะไร ภาวะมดลูกคว่ำในผู้หญิง ทำให้ว่าที่คุณแม่มีลูกยากและแท้งง่ายจริงไหม ภาวะมดลูกคว่ำ มดลูกกลับหลัง เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ไปดูกัน

ตกขาวสีน้ำตาลคนท้องบอกอะไร แม่ท้องมีตกขาวสีน้ำตาลไม่มีกลิ่นไม่คัน

ตกขาวสีน้ำตาลคนท้องบอกอะไร แม่ท้องมีตกขาวสีน้ำตาลไม่มีกลิ่นไม่คัน

ตกขาวสีน้ำตาลไม่มีกลิ่นไม่คัน เกิดจากอะไร อาการตกขาวสีน้ำตาลคนท้อง อันตรายกับคุณแม่ตั้งครรภ์ไหม ตกขาวแบบไหนผิดปกติ พร้อมวิธีสังเกตตกขาวสีน้ำตาลไม่มีกลิ่นไม่คัน

เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม จำเป็นไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม จำเป็นไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง

เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม ทำไมคุณแม่ควรเจาะน้ำคร่ำในระหว่างตั้งครรภ์ การเจาะน้ำคร่ำควรเจาะตอนไหนถึงไม่เป็นอันตรายกับลูกในครรภ์ เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร ไปทำความรู้จักกัน

คนท้องแน่นอกหายใจไม่สะดวก เกิดจากออะไร อันตรายกับลูกในท้องไหม

คนท้องแน่นอกหายใจไม่สะดวก เกิดจากออะไร อันตรายกับลูกในท้องไหม

คนท้องแน่นอกหายใจไม่สะดวก เกิดจากอะไรได้บ้าง คนท้องหายใจไม่อิ่ม จะเป็นอันตรายกับลูกในท้องไหม พร้อมวิธีดูแลตัวเอง เมื่อคนท้องแน่นอกหายใจไม่สะดวก

รกเกาะต่ำเกิดจากอะไร อันตรายแค่ไหน สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

รกเกาะต่ำเกิดจากอะไร อันตรายแค่ไหน สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

รกเกาะต่ำเกิดจากอะไร คุณแม่มีภาวะรกเกาะต่ำ อันตรายไหม แม่ท้องจะรู้ได้ยังไงว่าตัวเองมีภาวะรกเกาะต่ำ พร้อมวิธีสังเกตอาการและวิธีป้องกันรกเกาะต่ำในคนท้อง

คนท้องเป็นริดสีดวงอันตรายไหม แม่ท้องเป็นริดสีดวงสังเกตยังไง

คนท้องเป็นริดสีดวงอันตรายไหม แม่ท้องเป็นริดสีดวงสังเกตยังไง

แม่ท้องเป็นริดสีดวง เกิดจากอะไร คุณแม่ท้องจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองเป็นริดสีดวง พร้อมวิธีสังเกตริดสีดวงคนท้อง พร้อมวิธีป้องกันริดสีดวงคนท้องระหว่างตั้งครรภ์