อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 35 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
คุณแม่ท้องแก่เต็มที่ใกล้คลอด ใกล้จะได้เห็นหน้าลูกกันแล้วค่ะ สัปดาห์นี้เข้าสู่ช่วงท้อง 35 สัปดาห์ อยู่ในการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 คุณแม่จะมีอาการเจ็บท้องเตือน ซึ่งการเจ็บท้องเตือนเกิดจากมดลูกมีการบีบรัดตัว เป็นการเจ็บท้องที่ไม่ต่อเนื่อง ความเจ็บจะอยู่ในระดับคงที่ หากคุณแม่ลุกขึ้นเดินช้า ๆ อาการเจ็บเตือนก็จะดีขึ้นและหายไป
PLAYING: อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 35 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
สรุป
- ท้อง 35 สัปดาห์ ทารกจะมีขนาดลำตัวยาว 40-45 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 1,600 กรัม
- ท้อง 35 สัปดาห์ จะมีอาการเจ็บท้องเตือน เนื่องจากมดลูกบีบตัว คุณแม่จะมีอาการปวดท้องทุกครึ่งชั่วโมง
- ท้อง 35 สัปดาห์ จะมีอาการท้องแข็ง ที่หน้าท้องของคุณแม่จะมีก้อนแข็งตึง ๆ สาเหตุมาจากทารกในครรภ์ดิ้นไปถูกผนังมดลูก ทำให้มดลูกมีการบีบตัวขึ้น
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- คุณแม่ใกล้คลอด ควรปรึกษาแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
- ศึกษาการคลอด และการดูแลตัวเองหลังคลอด
- ก่อนถึงกำหนดคลอด คุณแม่ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
- สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด ของคุณแม่ท้อง 35 สัปดาห์
- อาการคนท้อง 35 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
- ท้อง 35 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
- ท้อง 35 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
- การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 35 สัปดาห์
คุณแม่ท้อง 35 สัปดาห์ ซึ่งเป็นสัปดาห์การตั้งครรภ์ของเดือนที่ 8 แนะนำให้คุณแม่เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการคลอดที่ใกล้จะถึงในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อจะได้ไม่ฉุกละหุกเมื่อถึงเวลาต้องไปคลอดที่โรงพยาบาลค่ะ
คุณแม่ใกล้คลอด ควรปรึกษาแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
อายุครรภ์ระหว่าง 28-36 สัปดาห์ สูติแพทย์จะนัดคุณแม่เพื่อตรวจติดตามพัฒนาการทารกในครรภ์ และสุขภาพของคุณแม่ถี่ขึ้น จากก่อนหน้านี้นัดตรวจครรภ์เดือนละ 1 ครั้ง ก็จะเปลี่ยนเป็นนัดคุณแม่มาตรวจครรภ์ในทุก 2 สัปดาห์
ศึกษาการคลอด และการดูแลตัวเองหลังคลอด
อย่างที่ทราบกันว่า การคลอดลูกที่มีในปัจจุบันจะเป็นการคลอดธรรมชาติและการผ่าคลอด ซึ่งในช่วงท้อง 35 สัปดาห์คุณแม่ก็พอจะรู้กันแล้วว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นการคลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอด
สำหรับการคลอดทั้ง 2 วิธี หากคุณแม่เตรียมร่างกาย เตรียมใจให้พร้อมกับการคลอด ก็จะผ่านไปได้อย่างราบรื่น มีคำแนะนำในการคลอดธรรมชาติเพื่อลดความเจ็บปวดเมื่อเข้าสู่ระยะคลอด ด้วยการฝึกการหายใจ ทางการแพทย์จะเรียกว่าวิธีฝึกหายใจเพื่อลดความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับคุณแม่
- หายใจเข้า หายใจออกช้า ๆ เพื่อให้มีสมาธิอยู่ที่ลมหายใจ การฝึกการหายใจจะช่วยลดความตึงเครียด และความกลัวขณะคลอดลงได้ค่ะ ช่วงระหว่างนี้ คุณแม่ลองฝึกกำหนดลมหายใจกันดูนะคะ
- ส่วนในเรื่องการดูแลตัวเองหลังคลอด ก็จะมีดังนี้ค่ะ
- การดูแลแผลฝีเย็บ แผลผ่าคลอด
- การดูแลสุขอนามัยช่วงที่มีน้ำคาวปลา
- การเตรียมความพร้อมเต้านม วิธีการกระตุ้นให้น้ำนมแม่มาเร็ว
- การรับประทานอาหารเพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูหลังคลอด และเพื่อให้ร่างกายมีสารอาหารในการผลิตน้ำนม
- การมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งปกติหลังคลอดแพทย์จะสั่งงดในระหว่าง 6 สัปดาห์แรกหลังจากคลอดลูก
- การตรวจติดตามสุขภาพคุณแม่หลังคลอด ซึ่งแพทย์จะนัดมาเพื่อเช็กร่างกาย 4-6 สัปดาห์หลังคลอด
ก่อนถึงกำหนดคลอด คุณแม่ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
- วางแผนค่าใช้จ่ายในการคลอด สำหรับค่าใช้จ่ายในการคลอดแต่ละโรงพยาบาลจะมีเรทราคาแจ้งให้ทราบว่า คลอดธรรมชาติ และผ่าคลอด มีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่
- เตรียมซื้ออุปกรณ์ เสื้อผ้า และของใช้เด็กเล็ก เพื่อจะได้ไม่ฉุกละหุก แนะนำให้คุณแม่เตรียมของใช้เด็กอ่อนไว้ให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นผ้าอ้อมสำเร็จรูป แชมพู สบู่อาบน้ำสำหรับเด็ก ชุดเสื้อผ้า เบาะที่นอน และของใช้เด็กเล็ก เป็นต้น
- ขอคำปรึกษา ขอคำปรึกษาจากรุ่นพี่ หรือผู้รู้ที่มีประสบการณ์ในการคลอด
สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด ของคุณแม่ท้อง 35 สัปดาห์
คุณแม่ท้อง 35 สัปดาห์ใกล้คลอดหรือยังนะ ถ้าจะคลอด คลอดได้ไหม ลูกจะมีพัฒนาการที่สมบูรณ์แล้วหรือยัง มาเช็กพร้อมกัน
- ทารกครบกำหนดคลอด (Full Term) ในทางการแพทย์หมายถึง ทารกที่คลอดมาในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์เต็ม ถึงน้อยกว่า 42 สัปดาห์เต็ม (ประมาณ 259-293 วัน)
- ทารกเกินก่อนกำหนดคลอด (Pre-Term) ในทางการแพทย์หมายถึง ทารกที่คลอดมาในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์เต็ม (น้อยกว่าประมาณ 259 วัน)
- ทารกเกินกำหนดคลอด (Post-Term) ในทางการแพทย์หมายถึง ทารกที่คลอดในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 42 สัปดาห์เต็มขึ้นไป (ประมาณตั้งแต่ 294 วันเป็นต้นไป)
ทางการแพทย์ได้กำหนดไว้ว่าในคุณแม่ตั้งครรภ์หากมีการคลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ถือว่าเป็นครรภ์คลอดก่อนกำหนด ซึ่งคุณแม่สามารถเช็กสัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนดได้ดังนี้
- ปวดท้องเนื่องจากมดลูกมีการบีบตัว คุณแม่จะมีอาการปวดท้องทุกครึ่งชั่วโมง
- ปวดหลังร้าวไปจนถึงบริเวณก้นกบ
- ปวดถ่วง ๆ ตรงอุ้งเชิงกราน
- ช่องคลอดมีเลือดออกมา
- ช่องคลอดมีน้ำไหลออกมา และมีตกขาวปนมูกเลือด
อาการคนท้อง 35 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
1. ท้องผูกมากขึ้น
ขนาดตัวของทารกที่พัฒนาใหญ่ขึ้น ทำให้ไปกดทับลำไส้ใหญ่จนไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมาจากการที่ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงก็ส่งผลให้ระบบขับถ่ายทำงานได้น้อยลง คุณแม่จึงมีอาการท้องผูกที่เพิ่มขึ้น
2. มือบวม เท้าบวม
ขนาดมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นตามขนาดตัวของทารกไปกดทับหลอดเลือด ส่งผลให้การไหลเวียนของระบบเลือดและน้ำเหลืองในร่างกายไม่สามารถไหลย้อนกลับไปที่หัวใจได้ทั้งหมด จึงเกิดการคั่งของเลือดขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นเพราะฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นนั้น ทำให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายดูดซึมกักเก็บน้ำไว้ปริมาณมาก คุณแม่ท้องจึงมีอาการมือบวม เท้าบวม และตัวบวม
3. ปัสสาวะบ่อย
คุณแม่ปัสสาวะบ่อยขณะตั้งครรภ์ถือเป็นอาการปกติ สาเหตุที่ทำให้ปัสสาวะบ่อยเป็นเพราะขนาดตัวของทารกในครรภ์ที่เจริญเติบโตขึ้นจนไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
4. นอนหลับไม่สนิท
อายุครรภ์ในไตรมาสที่ 3 มดลูกจะมีการขยายใหญ่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้คุณแม่ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ เพราะปวดปัสสาวะ และไปรบกวนการนอนของคุณแม่ ทำให้นอนหลับได้ไม่ค่อยสนิท
5. ท้องแข็ง
การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 คุณแม่จะมีอาการท้องแข็งวันละ 4 ครั้งโดยเฉลี่ย ลักษณะท้องแข็งคือที่หน้าท้องของคุณแม่จะมีก้อนแข็งตึง ๆ สาเหตุมาจากทารกในครรภ์ดิ้นไปถูกผนังมดลูก ทำให้มดลูกมีการบีบตัวขึ้น
6. ปวดขา ปวดเท้า
คุณแม่ท้องมีอาการปวดขา สาเหตุมาจากการไหลเวียนเลือดภายในร่างกายทำงานได้ไม่ค่อยดี บวกกับมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คุณแม่มีอาการปวดเมื่อย ปวดขา ปวดเท้าขึ้นได้
ท้อง 35 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
ในสัปดาห์นี้มดลูกของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้นมาก ทำให้ตรงยอดมดลูกขยับไปอยู่ใกล้ชิดตรงใต้ชายโครง คุณแม่จะปัสสาวะบ่อยมากขึ้น และบางครั้งก็จะมีอาการจุกเสียดอึดอัดแน่นท้อง
ท้อง 35 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
ทารกในครรภ์อายุ 35 สัปดาห์มีขนาดใหญ่ขึ้น เปรียบเสมือนผลแตงไทย หรือประมาณ 40-45 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 1,600 กรัม ในช่วงนี้ทารกในครรภ์จะมีขนาดตัวที่ใหญ่เกือบเต็มพื้นที่รก ทำให้ดิ้นได้น้อยลง และเริ่มเคลื่อนเอาศีรษะไปตรงปากมดลูก เพื่อเตรียมสู่การคลอดในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 35 สัปดาห์
- ในช่วงนี้ผิวหนังทารกในครรภ์จะมีสีชมพูแดง และเหี่ยวย่น เนื่องจากมีไขมันน้อย
- อวัยวะสำคัญอย่างปอดมีการทำงานได้ดีมากขึ้น
- ทารกดิ้นน้อยลง
การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 35 สัปดาห์
- ดื่มน้ำมาก ๆ ให้ได้อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี อุจจาระไม่แข็ง ท้องไม่ผูก
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดหลังขณะตั้งครรภ์
- ใช้หมอนรองเอว หรือหลัง
- หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด และความกังวล
- พูดคุยกับคู่ครอง และคนในครอบครัวให้มากขึ้น
ข้อแนะนำสำหรับคุณแม่ท้องที่เลี้ยงแมว ไม่ควรทำความสะอาดเก็บอุจจาระแมวด้วยตัวเอง เนื่องจากในอุจจาระของแมวมีท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) เป็นเชื้อปรสิต ที่เป็นพาหะนำโรคมาจากแมว หากคุณแม่ติดเชื้อปรสิตนี้ขณะตั้งครรภ์ อาจเป็นอันตรายถึงขั้นทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ค่ะ นอกจากนี้เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมร่างกายในการผลิตน้ำนมแม่สำหรับใช้เลี้ยงลูกน้อยแรกเกิด คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ประโยชน์ของการการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะทำให้ลูกได้รับสารอาหารสำคัญในนมแม่ที่มีมากกว่า 200 ชนิด รวมทั้ง สฟิงโกไมอีลิน ซึ่งช่วยในพัฒนาการสมอง สติปัญญา และการเจริญเติบโตของลูก รวมทั้งยังได้รับจุลินทรีย์สุขภาพ บีแล็กทิส (B. lactis) หนึ่งในจุลินทรีย์สุขภาพในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และยังเป็นโพรไบโอติกส์ ที่สามารถส่งต่อเพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยได้อีกด้วย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 36 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 37 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 38 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 39 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 39 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 40 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
อ้างอิง:
- 9 เดือน มหัศจรรย์พัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลสิมิติเวช
- เจ็บครรภ์ก่อนคลอด, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ท้องไตรมาสแรก ภาวะเสี่ยงที่คุณแม่ต้องระวัง, โรงพยาบาลเปาโล
- ฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์, โรงพยาบาลพญาไท
- เมื่อคุณแม่มือใหม่เตรียมคลอด ตอนที่ 2, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- การดูแลตัวเองหลังคลอดที่คุณแม่ต้องรู้, โรงพยาบาลเปาโล
- การพยาบาลทารกแรกเกิด, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มัณฑนาวดี เมธาพัฒนะ
- สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด ที่คุณแม่ต้องระวัง, โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล อ้อมน้อย
- วิธีรับมืออาการท้องผูก ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก
- มือบวม เท้าบวมขณะตั้งครรภ์ เกิดจากเหตุใด?, โรงพยาบาลพญาไท
- ภาวะปัสสาวะบ่อย, MedPark Hospital
- เคล็ดลับการนอนสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลพญาไท
- อาการท้องแข็ง อันตรายของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเครียด, โรงพยาบาลพญาไท
- คุณแม่ตั้งครรภ์ยืนนานๆ ส่งผลต่อทารกในครรภ์อย่างไรบ้าง, โรงพยาบาทพญาไท
- พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 35 ของการตั้งครรภ์, helloคุณหมอ
- พัฒนาการของทารกในครรภ์ตลอด 9 เดือน เป็นอย่างไรบ้างนะ, โรงพยาบาลพญาไท
- ขนาดทารกในครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ต่าง ๆ เปรียบเทียบกับขนาดผักและผลไม้, helloคุณหมอ
- 9 เดือน กับพัฒนาการของทารกในครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล
- ท้องผูกถ่ายยากทำยังไงดี, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- กายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดหลังส่วนล่างขณะตั้งครรภ์, ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
- 10 ข้อห้ามที่ “คนท้อง” ต้องรู้, โรงพยาบาลสมิติเวช
อ้างอิง ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567