อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 27 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 27 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

05.03.2020

อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ เป็นสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 คุณแม่มีอายุครรภ์ 6 เดือนก่อนเข้าสัปดาห์แรกของท้องไตรมาสที่ 3 ซึ่งคุณแม่จะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นอาการหายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม อาการชามือ ปวดมือ รวมถึงทารกในครรภ์ก็มีพัฒนาการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

headphones

PLAYING: อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 27 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ ทารกในครรภ์จะมีขนาดตัวยาวประมาณ 35-36.8 เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวประมาณ 600-900 กรัม สามารถเทียบขนาดตัวได้เท่ากับดอกกะหล่ำ
  • อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ จะมีการพัฒนาขึ้นของไขมัน Vernix มาปกคลุมผิวหนังทั่วร่างกายของทารก
  • อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ คุณแม่จะรู้สึกชามือ และปวดมือ สาเหตุมาจากการหนาตัวขึ้นของพังผืดตรงบริเวณข้อมือไปกดทับเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve)

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เวลาผ่านไปไว เผลอแป๊บเดียวคุณแม่ก็เข้าสู่อายุครรภ์ 27 สัปดาห์แล้ว ในสัปดาห์นี้คุณแม่จะรู้สึกว่าตัวเองหายใจลำบาก หายใจเหมือนไม่อิ่ม จนทำให้รู้สึกอ่อนเพลียเหนื่อยง่าย ไม่ค่อยสบายตัวมากขึ้น สำหรับอาการหายใจลำบากขณะตั้งครรภ์เป็นอาการปกติที่จะเกิดขึ้นกับคุณแม่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น อาการหายใจลำบาก เป็นเพราะปอดของคุณแม่ได้รับออกซิเจนน้อยลง

 

ซึ่งมีสาเหตุมาจากมดลูกมีการขยายตัวเพื่อรองรับขนาดร่างกายของทารกในครรภ์ที่เจริญเติบโตขึ้น ทำให้มดลูกเข้าไปเบียดชิดติดกับปอดและกระบังลมของคุณแม่ ส่งผลให้ปอดมีพื้นที่จำกัดในการขยายตัว ปอดจะได้รับออกซิเจนลดลง ทำให้คุณแม่เกิดมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ร่างกายอ่อนแรงหน้ามืดจะเป็นลม

 

ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์ พัฒนาการของลูกน้อยเป็นอย่างไร

อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ อยากรู้ว่าลูกในท้องจะมีพัฒนาการอะไรที่เพิ่มขึ้นบ้าง คุณแม่ไปเช็กพร้อมกัน

  • เริ่มมีการลืมตา หลับตา และที่น่าตื่นเต้นคือ ทารกสามารถที่จะมองเห็นแสงจากภายนอกครรภ์ที่ผ่านมายังหน้าท้องคุณแม่
  • ผิวหนังจะมีการพัฒนาให้มีไขมัน Vernix ปกคลุมผิวหนังทั่วร่างกาย
  • กระดูกร่างกายพัฒนาขึ้นจนมีความแข็งแกร่ง
  • รูจมูกทั้งสองถูกพัฒนาจนสามารถเปิดได้ เพื่อใช้ในการหายใจ
  • ระบบการหายใจพัฒนาขึ้นจนสมบูรณ์ มีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงที่ถุงลม และสมองมีการทำงานด้วยการควบคุมระบบหายใจของทารก
  • ทารกเริ่มมีการสะอึก  ที่เกิดจากการฝึกหายใจจากปอด โดยที่ทารกจะหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าปอด และหายใจเอาน้ำคร่ำออกจากปอด
  • สมองมีการพัฒนารอยหยักขึ้นมา
  • ร่างกายของทารกมีการเจริญเติบโตช้าลง เพื่อกระตุ้นให้ระบบทางเดินอาหาร ระบบหายใจ ปอด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายพัฒนาขึ้นอย่างสมบูรณ์
  • ทารกจะมีปฏิกิริยาตอบกลับเมื่อได้ยินเสียงของคุณพ่อคุณแม่ผ่านทางหน้าท้อง
  • ทารกมีขนาดตัวที่ใหญ่ แต่ก็ยังสามารถเคลื่อนไหว พลิก ขยับตัวได้อย่างคล่องแคล่วอยู่ในมดลูกคุณแม่ที่เต็มไปด้วยน้ำคร่ำ

 

อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ อาการคนท้องที่พบได้ทั่วไป

1. ตะคริวน่อง

คุณแม่เกิดอาการตะคริวขึ้นที่น่องขณะตั้งครรภ์ สาเหตุมาจากเลือดไหลเวียนได้น้อยลงทำให้ออกซิเจนที่ส่งจากเลือดไปเลี้ยงบริเวณน่องขาได้น้อยลง ส่งผลให้เกิดเป็นตะคริว รวมถึงการได้รับแคลเซียมไม่พอขณะตั้งครรภ์ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดเป็นตะคริวได้

 

2. ริดสีดวงทวาร

คุณแม่เป็นริดสีดวงทวารขณะตั้งครรภ์ สาเหตุมาจากขนาดมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นจนไปกดทับหลอดเลือดดำที่อยู่ในช่องท้อง จนทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกจนเลือดไปคั่งที่หลอดเลือดตรงช่วงก้น เลือดที่สะสมจนคั่งจะเกิดเป็นก้อนปูดออกมา เวลาที่คุณแม่ถ่ายอุจจาระจะถ่ายยาก เพราะถูกก้อนเลือดปูดกันไว้ ทำให้ถ่ายยาก และถ่ายมีเลือดหลุดปนมากับก้อนอุจจาระได้

 

3. กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

คุณแม่มีอาการปัสสาวะเล็ด หรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์ จึงทำให้กล้ามเนื้อช่วงเชิงกรานต้องแบกรับน้ำหนักมากสะสมมาเป็นเวลาหลายเดือน ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณช่วงเชิงกรานหย่อนลงมา จนหูรูดท่อปัสสาวะทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ และคุณแม่ก็จะมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ บางครั้งถึงกับปัสสาวะเล็ดออกมาได้

 

4. ท้องผูก

ขนาดตัวของทารกที่พัฒนาใหญ่ขึ้น ทำให้ไปกดทับลำไส้ใหญ่จนไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมาจากการที่ฮอร์โมนในร่างกาย ก็ส่งผลให้ระบบขับถ่ายไม่ปกติ คุณแม่จึงมีอาการท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์

 

5. ปวดหลัง

อายุครรภ์ที่มากขึ้นส่งผลให้กระดูกสันหลังของคุณแม่แอ่นจากการรับน้ำหนักครรภ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าจะคลอด จึงส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการปวดหลัง

 

6. ชามือ ปวดมือ

คุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากขึ้น จะมีอาการชามือ ปวดมือเกิดขึ้นได้ สาเหตุมาจากการหนาตัวขึ้นของพังผืดตรงบริเวณข้อมือไปกดทับเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ส่งผลทำให้เกิดการชาขึ้นที่ปลายนิ้วมือ

 

คุณแม่มีระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง จนทำให้เส้นเอ็นและเนื้อเยื่อในข้อมือขยายบวมขึ้นมาจนไปกดทับเบียดเส้นประสาทและพังผืด จนทำให้เกิดอาการปวดและชาขึ้นที่มือทั้งสองข้าง บางครั้งก็จะมีอาการเจ็บแปล๊บ ๆ เหมือนไฟดูดร่วมกับอาการปวดและชา

 

อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน

ตั้งแต่ช่วงอายุครรภ์ 27 สัปดาห์เป็นต้นไป เรียกว่าเป็นช่วงสบาย ๆ ของคุณแม่เลยก็ได้ เพราะการใช้ชีวิตประจำวัน การทำกิจกรรมต่าง ๆ ของคุณแม่จะต้องทำอย่างช้า ๆ และมีความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากขนาดมดลูกในครรภ์เริ่มใหญ่ขึ้น ตรงบริเวณยอดมดลูกจะไปชิดติดกับบริเวณชายโครง จนทำให้คุณแม่หายใจได้ยาก และเหนื่อยง่ายขึ้น คุณแม่จะเดินได้ช้าลง เดินอุ้ยอ้ายเหมือนเป็ดเดิน

 

ท้อง 27 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน

ทารกในครรภ์อายุ 27 สัปดาห์มีขนาดใหญ่ขึ้น เปรียบเสมือนดอกกะหล่ำ หรือประมาณ 35-36.8 เซนติเมตร และมีน้ำหนักตัวประมาณ 600-900 กรัม

 

พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 27 สัปดาห์

  • ในช่วงนี้ทารกในครรภ์เริ่มที่จะจำเสียงของคุณพ่อคุณแม่ได้แล้ว
  • ใบหูทั้งสองข้างมีแว๊กซ์ปกคลุม
  • อวัยวะสำคัญอย่างปอดเริ่มทำงานแล้ว
  • เริ่มเปิดเปลือกตาได้
  • มีลายนิ้วมือนิ้วเท้า

 

การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 27 สัปดาห์

 

การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 27 สัปดาห์

การเพิ่มความระมัดระวังในการทำกิจวัตรประจำวันสำคัญมาก ๆ ด้วยครรภ์ขนาดที่เพิ่มใหญ่ขึ้น คุณแม่ไม่สามารถทำอะไรได้คล่องตัว และเหนื่อยง่ายขึ้นมาก ๆ หากลุกขึ้นนั่งกะทันหัน หรือเดินเร็ว ๆ อาจหน้ามืดเป็นลมได้ นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถดูแลตัวเองจากอาการปกติที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ง่าย ๆ ดังนี้

 

1. ริดสีดวงทวาร

  • เมื่อปวดอุจจาระให้เข้าห้องน้ำทันที ไม่ควรกลั้นอุจจาระ
  • รับประทานผักใบเขียว และผลไม้ เพื่อเพิ่มกากใยขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
  • ดื่มน้ำให้มากเพียงพอต่อวัน
  • กรณีที่ใช้ยาระบาย ควรอยู่ในการแนะนำจากแพทย์เท่านั้น

 

2. ชามือ

  • หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมือหนัก เช่น ยกของ ถือของ กิจกรรมที่ต้องมีการกระดกและงอข้อมือ เช่น การทำงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

 

3. ปวดหลัง

  • รับประทานอาหารสำหรับคนท้อง ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์การตั้งครรภ์
  • เวลานั่ง ไม่นั่งไขว่ห้าง แนะนำคุณแม่นั่งให้หลังตรงและช่วงหลังควรชิดกับพนักพิงเก้าอี้
  • เวลานอน แนะนำให้นอนท่าตะแคง เพื่อให้ง่ายต่อการลุกนั่ง
  • ไม่ควรยกหรือถือของหนัก
  • สวมรองเท้าที่ไม่มีส้นสูง
  • ออกกำลังกาย เช่น การว่ายน้ำ การเดิน

 

4. ตะคริวน่อง

  • ดื่มน้ำอุ่น
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น นม ผักใบเขียวต่าง ๆ
  • ปรับท่านอนเป็นท่านอนตะแคงซ้าย เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย
  • ก่อนนอนให้ยืดกล้ามเนื้อช่วงขาทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 5 ครั้ง
  • กรณีที่เกิดตะคริวขึ้นที่น่อง ให้คุณแม่เหยียดขาข้างที่เกิดตะคริวยืดออกให้สุดเท้า แล้วนวดอย่างเบามือตรงน่องข้างที่เกิดตะคริว

 

เคล็ดลับสำหรับคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์เพื่อช่วยให้คุณแม่มีอารมณ์ที่ดี และลูกน้อยในครรภ์มีพัฒนาการสมองและอารมณ์ดี แนะนำคุณแม่หากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น การฟังเพลง การนั่งสมาธิ หรือออกกำลังกายเบา ๆ มีการศึกษาทางการแพทย์ชี้ว่าคุณแม่ที่มีภาวะอารมณ์ดีตลอดการตั้งครรภ์ ร่างกายจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินส์ (Endorphin) ที่เป็นสารความสุขออกมา เอ็นดอร์ฟินส์ถูกส่งผ่านทางสายสะดือไปให้ลูกในท้อง ซึ่งจะไปกระตุ้นให้ลูกมีพัฒนาการสมองดี และอามรณ์ดีได้

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. ท้องไตรมาสแรก ภาวะเสี่ยงที่คุณแม่ต้องระวัง, โรงพยาบาลเปาโล
  2. อาการหน้ามืด อ่อนเพลียในคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  3. การตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์, Siamhealth
  4. 9 เดือน กับพัฒนาการของทารกในครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล
  5. อาการตะคริวน่องในคนท้องแก้ไขอย่างไร, คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  6. 7 อาการป่วนตอนท้อง ตอนที่ 2, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  7. ปัสสาวะเล็ด, สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  8. วิธีรับมืออาการท้องผูก ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก
  9. คุณแม่ตั้งครรภ์กับอาการปวดหลัง, โรงพยาบาลสมิติเวช
  10. อาการมือชา, โรงพยาบาลนนทเวช
  11. ชวนคุณแม่ลูกอ่อนมาอ่าน … ทำไมถึงชอบปวดข้อมือตอนมีน้อง, โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ KDMS
  12. พัฒนาการของทารกในครรภ์ตลอด 9 เดือน เป็นอย่างไรบ้างนะ, โรงพยาบาลพญาไท
  13. พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 27 ของการตั้งครรภ์, helloคุณหมอ
  14. กายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดหลังส่วนล่างขณะตั้งครรภ์, ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
  15. อยากกระตุ้นให้ลูกฉลาดตั้งแต่อยู่ในท้อง, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

อ้างอิง ณ วันที่ 14 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

วิธีลดน้ำหนักหลังคลอด ให้คุณแม่ฟิตหุ่นสวยหลังคลอดได้ด้วยตัวเอง

วิธีลดน้ำหนักหลังคลอด ให้คุณแม่ฟิตหุ่นสวยหลังคลอดได้ด้วยตัวเอง

รวมวิธีลดน้ำหนักหลังคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ คุณแม่หลังคลอดอยากกลับมาหุ่นสวยฟิตเหมือนเดิม ทำยังไงได้บ้าง ไปดูวิธีลดน้ำหนักหลังคลอด ที่คุณแม่ทำได้ที่บ้านกัน

ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐดีไหม แพงหรือเปล่า แล้วคุณแม่ใช้สิทธิอะไรได้บ้าง

ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐดีไหม แพงหรือเปล่า แล้วคุณแม่ใช้สิทธิอะไรได้บ้าง

ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐราคาเท่าไหร่ ผ่าคลอดใช้สิทธิบัตรทองได้ไหม มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง คำถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการคลอดที่คุณแม่เตรียมคลอดธรรมชาติและผ่าคลอดอยากรู้

คนท้องกินโกโก้ได้ไหม คุณแม่ท้องกินโกโก้ส่งผลอะไรกับลูกในท้องบ้าง

คนท้องกินโกโก้ได้ไหม คุณแม่ท้องกินโกโก้ส่งผลอะไรกับลูกในท้องบ้าง

คนท้องกินโกโก้ได้ไหม กินโกโก้แล้วอันตรายกับลูกในครรภ์หรือเปล่า โดยเฉพาะคุณแม่ที่ชอบกินน้ำหวาน น้ำชง คนท้องกินโกโก้ได้ไหม ควรกินวันละกี่แก้ว ปริมาณเท่าไหร่ ไปดูกัน

เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน ช่วยบำรุงครรภ์ให้แข็งแรง คุณแม่ทำตามได้

เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน ช่วยบำรุงครรภ์ให้แข็งแรง คุณแม่ทำตามได้

รวมเมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน เมนูสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ช่วยให้คุณแม่และลูกน้อยในครรภ์มีสุขภาพที่แข็งแรง เมนูอาหารสําหรับคนท้อง 1-3 เดือน ทำเองได้เลยที่บ้าน