โรคหัดในเด็ก เด็กออกหัด เรื่องใกล้ตัวที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม

โรคหัดในเด็ก เด็กออกหัด เรื่องใกล้ตัวที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม

คู่มือคุณแม่มือใหม่
บทความ
มี.ค. 24, 2025
6นาที

เด็กเล็กและทารก มัก   เกิดโรคหัด หรือที่เรียกว่าโรคหัดได้ คุณแม่จึงต้องรู้ถึงวิธีป้องกัน เพราะโรคหัดในเด็กมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย จึงต้องหมั่นสังเกตอาการ ในบทความนี้อยากชวนมาทำความรู้จักโรคหัด และอาการออกหัดป้องกันและดูแล  ยังไง เพื่อดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคร้าย

โรคหัดในเด็ก เด็กออกหัด เรื่องใกล้ตัวที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม

สรุป

  • โรคหัด เป็นไข้ออกผื่น ที่พบได้บ่อยในช่วงอากาศเย็น เกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่ม Morbillivirus และพบบ่อยในเด็กเล็ก
  • สิ่งที่ควรระวังสำหรับเด็กที่เป็นโรคหัด คือ ภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเด็กเป็นโรคขาดสารอาหาร
  • สำหรับข้อสงสัยที่ว่า ออกหัดดูแลและบรรเทาอาการยังไง จริง ๆ แล้ว โรคหัดไม่ได้มียารักษาเฉพาะ เพียงแต่ดูแลอาการแบบประคับประคอง

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

โรคหัดในเด็ก สาเหตุเกิดจากอะไร

โรคหัด (Measles) มีลักษณะเป็นไข้ออกผื่น แม้ว่าจะพบได้ตลอดทั้งปี แต่ในช่วงหน้าหนาวหรือมีอากาศหนาวเย็น จะพบได้มากเป็นพิเศษ โรคหัดในเด็กเกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่ม Morbillivirus โรคหัดพบได้บ่อยในเด็กเล็ก อีกทั้งเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่าย และต้องระวังเรื่องภาวะแทรกซ้อน

 

โรคหัดในเด็กติดต่อยังไง แพร่กระจายได้ด้วยวิธีไหน

โรคหัดติดต่อได้ง่าย เพราะเชื้อไวรัสอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย จึงติดต่อได้ผ่านการหายใจ หรือสัมผัสเชื้อได้ผ่านการพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด เมื่อผู้ป่วยไอ จาม เชื้อหัดสามารถแพร่กระจายในละอองอากาศ แล้วเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย โดยผู้ป่วยจะมีเชื้ออยู่ในลำคอ และแพร่เชื้อได้ในช่วง 1-2 วันก่อนเกิดผื่น ไปจนมีผื่นขึ้นแล้ว 4 วัน ก่อนเชื้อจะหมดไป

 

เด็กออกหัดพบบ่อยในวัยไหน

เด็กออกหัดพบบ่อยตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี โดยเฉพาะช่วงวัย 1-3 ปี จะพบเด็กเป็นโรคหัดมากที่สุด และพบรองลงมาในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี

 

เด็กออกหัดอาการแบบไหน

เด็กออกหัดมีอาการ 4 ระยะ นับตั้งแต่เริ่มติดเชื้อโรคหัด จนถึงช่วงแพร่กระจายไวรัส ได้แก่

ระยะติดเชื้อและฟักตัวของโรค

หลังจากเด็กติดเชื้อโรคหัด เชื้อไวรัสจะใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน ในการฟักตัว ซึ่งเด็กที่ติดเชื้อโรคหัดจะยังไม่แสดงอาการออกมาในระยะแรก

ระยะก่อนออกผื่น

ในระยะนี้ เด็กติดโรคหัดจะมีอาการคล้ายไข้หวัดในเด็ก  เริ่มแรกลูกจะมีไข้และตัวร้อน จากนั้นเด็กจะเริ่มไอแห้ง ก่อนมีน้ำมูกไหล เด็กตาแดง  ตาไม่สู้แสง และมีอาการเจ็บคอได้ หากสังเกตในกระพุ้งแก้มบริเวณฟันกรามล่างจะพบตุ่มค็อปลิค ลักษณะเป็นจุดสีเทาขาว มีขอบสีแดง เกิดขึ้นก่อนเด็กออกหัด 2-3 วัน

ระยะเวลาออกผื่น

ช่วงเวลานี้เด็กจะออกหัด มีลักษณะเป็นผื่นสีแดง ขนาดเล็ก แบนราบ ติดกันหลายจุดจนกลายเป็นปื้น ผื่นหรือการออกหัดนั้นไม่มีรูปทรงแน่นอน แต่เด็กออกหัดมักไม่มีอาการคัน ลักษณะของเด็กออกหัดจะเริ่มขึ้นผื่นที่หลังใบหูก่อน และเกิดชิดขอบผม ผื่นจะกระจายที่ลำคอ แขน ลำตัว  ขาและเท้า กว่าที่ผื่นจะลุกลามจากใบหน้าถึงเท้าใช้เวลา 2-3 วัน ระยะนี้จะมีอาการไข้สูง 40 – 41 องศาเซลเซียส ต่อมาผื่นจะจางลงเริ่มจากใบหน้าก่อนถึงขาและเท้า ลักษณะของการออกหัด สีของผื่นจะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีน้ำตาลแดง ก่อนจะลอกเป็นแผ่นบาง กว่าจะหายใช้เวลาราว 7-10 วัน

ระยะติดต่อ

ช่วงเวลาแพร่กระจายเชื้อไวรัสหัดอยู่ประมาณ 8 วัน นับตั้งแต่ 4 วันก่อนเด็กออกหัด จนถึง 4 วันหลังออกหัด

 

อาการแทรกซ้อนโรคหัดในเด็กที่ต้องระวัง

โรคหัดในเด็กอาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะเด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กเป็นโรคขาดสารอาหาร และภาวะแทรกซ้อนมักพบในระยะหลังของโรค ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วย ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุด คือ การถ่ายเหลว สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญอื่น ๆ เช่น

  • หูติดเชื้อแบคทีเรีย
  • หูชั้นกลางอักเสบ
  • หลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ หรือโรคครูป
  • ภาวะปอดบวม ปอดอักเสบ
  • ลำไส้อักเสบ
  • สมองอักเสบ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้เสียชีวิตหรือพิการ มักพบหลังมีผื่น 2-6 วัน

 

ออกหัดดูแลและบรรเทาอาการยังไง หายเองได้ไหม

  • โรคหัดในเด็กไม่มียาต้านไวรัสโดยตรง การดูแลบรรเทาอาการ  ทำได้โดยดูแลคล้ายกับอาการไข้หวัด หรือกินยาภายใต้การดูแลของแพทย์ ได้แก่ เช็ดตัวลดไข้ ด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิปกติ
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำสะอาด

 

วิธีป้องกันโรคหัดในเด็ก

การป้องกันโรคหัดในเด็ก สามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีน ดังนี้

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด ซึ่งเป็นวัคซีนรวมโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม 2 เข็ม ฉีดเข็มแรกอายุ 9-12 เดือน  ฉีดเข็มที่ 2 อายุ 2 ขวบ-2 ขวบครึ่ง
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือใส่หน้ากากอนามัย ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน
  • ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ

 

แม้ว่าโรคหัดในเด็ก ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง แต่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครบทั้ง 2 เข็ม พร้อมทั้งดูแลเรื่องโภชนาการอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะทารกควรกินนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนและกินอย่างต่อเนื่องต่อไป   เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารสำคัญในนมแม่ ที่มีมากกว่า 200 ชนิด รวมทั้ง แอลฟา-แล็คตัลบูมิน  และ สฟิงโกไมอีลิน  ซึ่งช่วยในพัฒนาการสมอง สติปัญญา และการเจริญเติบโตของลูก รวมทั้งยังมีจุลินทรีย์สุภาพหลายชนิด เช่น บี แล็กทิส (B. lactis)  หนึ่งในจุลินทรีย์สุขภาพในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และยังเป็นโพรไบโอติก ที่สามารถส่งต่อเพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยได้อีกด้วย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 

อ้างอิง:

  1. โรคหัด (measles), สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
  2. โรคหัด (measles), คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. โรคหัด สำหรับประชาชน, กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  4. โรคหัด, โรงพยาบาลสมิติเวช
  5. โรคหัด (Measles), สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
  6. โรคหัดในเด็ก, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

อ้างอิง ณ วันที่  18 พฤศจิกายน 2567