ลูกท้องผูก 1 ขวบ สาเหตุ อาการ และ 20 วิธีดูแลให้ลูกกลับมาสบายท้อง

ลูกท้องผูก 1 ขวบ สาเหตุ อาการ และ 20 วิธีดูแลให้ลูกกลับมาสบายท้อง

ลูกท้องผูก 1 ขวบเป็นอาการที่พบได้บ่อย สังเกตง่าย ๆ คือ ลูกไม่ค่อยถ่าย อุจจาระแข็ง หรือร้องเจ็บเวลาเบ่ง ส่วนใหญ่แล้วอาการท้องผูกเกิดจากนิสัยการกินและขับถ่ายที่ไม่ดี บทความนี้มีคำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ช่วยรับมือลูกท้องผูกได้สบายขึ้น รวมถึงเคล็ดลับป้องกันลูกท้องผูกในระยะยาวด้วย

ลูกท้องผูก 1 ขวบ สาเหตุ อาการ และ 20 วิธีดูแลให้ลูกกลับมาสบายท้อง

สรุป

  • ลูกท้องผูก 1 ขวบอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เปลี่ยนจากนมแม่เป็นอาหารเสริมตามวัย ดื่มน้ำไม่เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ความเครียดหรือการกลั้นอุจจาระ รวมถึงอาจเกิดจากความผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกายได้เช่นกัน
  • อาการลูกท้องผูก 1 ขวบ สังเกตได้จาก ลูกขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ลักษณะอุจจาระแข็งแห้ง เป็นก้อนเล็ก ๆ เหมือนเม็ดกระสุน หรือถ่ายก้อนใหญ่มาก ๆ จนลูกเบ่งเจ็บ ร้องงอแงถ่ายยาก
  • การดูแลลูกท้องผูก สามารถทำได้หลายวิธี เช่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ออกกำลังกาย ฝึกขับถ่ายเป็นเวลา ไม่กลั้นอุจจาระ และลดความเครียดของลูก เป็นต้น
  • ยาระบายที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก มีทั้งชนิดน้ำ ยาสวนทวาร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไฟเบอร์ แต่ไม่ควรซื้อมาให้ลูกใช้เอง ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ลูกท้องผูก 1 ขวบ เกิดจากอะไร?

อาการท้องผูกในเด็กเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย มากกว่าร้อยละ 90 ของอาการท้องผูกมักเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการขับถ่ายและการรับประทานอาหาร โดยพบว่า ลูกท้องผูก 1 ขวบ อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • การเปลี่ยนแปลงอาหาร เช่น การเปลี่ยนจากนมแม่เป็นอาหารเสริมตามวัย อาจส่งผลต่อระบบขับถ่ายและทำให้เกิดอาการท้องผูกได้
  • การดื่มน้ำไม่เพียงพอ การดื่มน้ำน้อยทำให้อุจจาระแข็งและแห้ง ทำให้ขับถ่ายยากและนำไปสู่อาการท้องผูก
  • การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย การบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ดที่หาได้ง่ายในปัจจุบัน ทำให้เด็กไม่ได้รับประทานผักและผลไม้ในปริมาณที่เพียงพอ ซึ่งเป็นแหล่งของกากใยที่สำคัญต่อการขับถ่าย
  • การกลั้นอุจจาระ การเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เช่น เปลี่ยนจากเคยอยู่บ้านไปอยู่เนอสเซอรี่ อาจทำให้เด็กเกิดการกลั้นอุจจาระ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของระบบขับถ่าย
  • ภาวะทางการแพทย์ เช่น เด็กอาจมีความผิดปกติของลำไส้หรือทวารหนัก ภาวะลำไส้ส่วนปลายไม่มีปมประสาท ทำให้ลำไส้ใหญ่ไม่สามารถบีบตัวเพื่อขับเคลื่อนอุจจาระไปถึงทวารหนักได้ และมักแสดงอาการตั้งแต่แรกเกิด หรือเกิดจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ ทำให้เกิดลูกท้องผูกได้

 

อาการของลูกท้องผูกที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกท้องผูก คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการเมื่อลูกท้องผูก ได้ดังนี้

  • ความถี่ในการขับถ่าย ปกติแล้วเด็กควรจะถ่ายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หากลูกถ่ายน้อยกว่านี้ อาจมีปัญหาท้องผูก
  • ลักษณะอุจจาระ อุจจาระของเด็กท้องผูกมักจะแข็งแห้ง เป็นก้อนเล็ก ๆ เหมือนเม็ดกระสุน หรือถ่ายก้อนใหญ่มาก ๆ จนลูกเบ่งเจ็บ
  • ลูกเบ่งถ่ายยาก เวลาเบ่งถ่ายลูกอาจจะร้องไห้งอแง มีอาการเจ็บปวด หรือมีปัญหาในการขับถ่าย ท้องผูกหลายวันถึงขับถ่ายที นานเกิน 1 เดือน อาจกลายเป็นท้องผูกเรื้อรังได้
  • ท้องอืด ไม่สบายท้อง เด็กที่อั้นอุจจาระบ่อย ๆ จะมีอาการท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้ และทานอาหารได้น้อยลง แต่หากได้ถ่ายออกมาแล้ว วันนั้นก็จะทานอาหารได้เยอะขึ้น

 

10 วิธีดูแลเมื่อลูกท้องผูก 1 ขวบ

เมื่อลูกท้องผูก คุณแม่สามารถช่วยให้ลูกน้อยกลับมาขับถ่ายได้ตามปกติ โดยเรียนรู้วิธีดูแลที่เหมาะสม ดังนี้

  1. ดื่มน้ำมากขึ้น น้ำเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัวและขับเคลื่อนออกจากลำไส้ได้ง่ายขึ้น ควรให้ลูกดื่มน้ำอย่างเพียงพอ วันละ 6-8 แก้ว และออกกำลังกายเป็นประจำ
  2. หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องผูก อาหารที่มีไขมันสูงและกากใยต่ำทำให้ท้องผูกได้ง่าย ควรลดอาหาร เช่น ขนมปังขาว ชีส เนย อาหารทอด และขนมหวาน เช่น ลูกอม คุกกี้ เค้ก รวมถึง เนื้อสัตว์ แม้จะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโต แต่ถ้าหากรับประทานมากเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบขับถ่ายได้
  3. เพิ่มโยเกิร์ตหรือโพรไบโอติก ให้ลูกกินโยเกิร์ตเสริม หรือเลือกโภชนาการที่มีส่วนผสมของ พรีไบโอติกและโพรไบโอติก ซึ่งเป็นใยอาหารชนิดพิเศษและแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ช่วยปรับสมดุลลำไส้และทำให้อุจจาระนิ่มลง
  4. ลดการบริโภคนมวัว ในเด็กบางคน นมวัวอาจทำให้ท้องผูก ไม่ควรให้ลูกกินนมมากเกิน 30 ออนซ์ต่อวัน ถ้าจะให้ดีที่สุด ควรให้ลูกกินนมแม่ เพราะการรับประทานนมแม่อย่างต่อเนื่องนั้นดีต่อสุขภาพลำไส้ของลูกน้อย เนื่องจากแอลฟา-แล็คตัลบูมิน เป็นโปรตีนที่พบในนมแม่ มีคุณสมบัติ ย่อยง่าย ดูดซึมง่าย ร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย จึงช่วยลดอาการท้องผูกของลูกน้อยได้

     

    10 วิธีดูแลเมื่อลูกท้องผูก 1 ขวบ

     

  5. เสริมอาหารที่มีกากใยสูง ช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระและกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ได้แก่ ธัญพืช เช่น ขนมปังโฮลวีท ข้าวโอ๊ต ผักใบเขียว เช่น ผักโขม บรอกโคลี ผลไม้ช่วยระบาย เช่น ฝรั่ง มะละกอ สับปะรด และ อาจให้น้ำผลไม้ เช่น น้ำลูกพรุน น้ำองุ่น หรือน้ำส้ม ในปริมาณที่เหมาะสมได้เช่นกัน
  6. ฝึกให้ลูกขับถ่ายเป็นเวลา ทุกวัน โดยเฉพาะหลังอาหารเช้าหรือเย็น เป็นช่วงเวลาที่ระบบย่อยอาหารทำงานได้เต็มที่ และกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดความรู้สึกอยากขับถ่าย การฝึกให้ลูกนั่งขับถ่ายในช่วงเวลานี้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยสร้างนิสัยการขับถ่ายที่ดี และป้องกันปัญหาท้องผูกได้
  7. ฝึกท่านั่งขับถ่ายที่ถูกต้อง ฝึกให้ลูกนั่งโดยเท้าเหยียบพื้น ก้นแตะชักโครก เข่าสูงกว่าสะโพก และลำตัวเอนไปข้างหน้าเล็กน้อย ท่านั่งที่ถูกต้องช่วยให้ลำไส้ตั้งตรงและขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
  8. ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้และช่วยให้ลูกขับถ่ายได้ดีขึ้น ควรให้ลูกได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การวิ่งเล่น การกระโดด หรือการออกกำลังกายเบา ๆ เป็นเวลา 30-60 นาทีทุกวัน
  9. หลีกเลี่ยงการกลั้นอุจจาระ สอนให้ลูกรู้ว่าเมื่อปวดถ่ายต้องรีบไปเข้าห้องน้ำทันที การกลั้นอุจจาระทำให้อุจจาระแข็งและถ่ายยากขึ้น
  10. ลดความเครียดของลูก เด็กบางคนถูกฝึกขับถ่ายเร็วและเข้มงวดเกินไป โดยที่ยังไม่พร้อม เกิดเป็นความเครียดที่อาจส่งผลต่อการทำงานของลำไส้ ควรสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายในห้องน้ำ คุณพ่อคุณแม่ต้องอดทนและใจเย็น ไม่กดดันลูก

 

ยาระบายสำหรับเด็กมีประเภทไหนบ้าง

โดยทั่วไป หากทำตามวิธีข้างต้นแล้วอาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้น คุณหมออาจแนะนำยาระบายอ่อน ๆ สำหรับเด็ก ที่ช่วยเพิ่มน้ำในลำไส้ ให้อุจจาระนิ่มขึ้น ขับถ่ายง่ายขึ้น ซึ่งยาระบายสำหรับเด็กมีหลายประเภท ได้แก่

  • ยาระบายชนิดน้ำ ช่วยให้อุจาระนิ่มและถ่ายง่ายขึ้น อาจมีรสผลไม้หรือมิ้นต์เพื่อให้เด็ก ๆ ทานง่ายขึ้น
  • ยาระบายชนิดสวนทวาร ช่วยเพิ่มน้ำในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทำให้ลำไส้ขยายตัวและขับอุจจาระออกมา
  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไฟเบอร์ ช่วยปรับสมดุลลำไส้ ให้อุจจาระนิ่ม ถ่ายง่าย และบรรเทาอาการท้องผูก

 

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรซื้อยาระบายให้ลูกใช้หรือรับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ และอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย

 

เมื่อไหร่ที่ควรพาลูกไปพบแพทย์?

 

เมื่อไหร่ที่ควรพาลูกไปพบแพทย์?

หากลูกมีอาการต่อไปนี้ เช่น ไม่ถ่ายหลายวัน ถ่ายไม่ออก หรือต้องเบ่งจนร้องไห้ มีเลือดปนออกมากับอุจจาระ ถ่ายเป็นก้อนแข็ง ๆ ใหญ่ ๆ จนกดชักโครกไม่ลง ลูกปวดท้องบ่อย อุจจาระเล็ดราดเลอะกางเกง หรือมีอาการแปลก ๆ เช่น มักจะเกร็งขาหนีบ ก้น และชอบไปยืนบิดตัวตามมุมห้อง คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์

 

เคล็ดลับป้องกันลูกท้องผูกในระยะยาว

หากลูกท้องผูก พ่อแม่ควรปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการขับถ่ายของลูก เพื่อป้องกันลูกท้องผูกในระยะยาว ดังนี้

1. สร้างนิสัยการกินที่ดีตั้งแต่เล็ก

ควรส่งเสริมให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เน้นผักผลไม้ที่มีกากใยสูง เช่น บรอกโคลี แครอท ผักโขม ลูกพรุน ส้ม มะละกอ เลือกรับประทานธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีท หรือถั่วต่าง ๆ ควรหลีกเลี่ยงของมันหรือของทอด อาหารฟาสต์ฟู้ด และน้ำอัดลม

2. ฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นเวลา

โดยทั่วไปเด็กจะเริ่มพร้อมฝึกขับถ่ายเมื่ออายุ 18-24 เดือน ซึ่งแต่ละคนมีความพร้อมที่ต่างกัน คุณพ่อคุณแม่ควรรอให้ลูกช่วยเหลือตนเองได้บ้าง เช่น นั่งกระโถนหรือชักโครกเอง ถอดกางเกงได้ และบอกเมื่อปวดถ่ายได้ นอกจากนี้ การฝึกขับถ่ายควรให้ลูกฝึกนั่งกระโถนบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังอาหาร ครั้งละ 10 นาที สอนให้ลูกเข้าใจว่าควรขับถ่ายบนกระโถนทุกครั้งเมื่อปวด และชมเชยเมื่อลูกทำได้

3. ให้ลูกมีกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้

คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกออกกำลังกายทุกวัน วันละ 30-60 นาที หรือ ให้ลูกทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ เช่น วิ่งเล่น เพื่อกระตุ้นลำไส้ให้ทำงานดีขึ้น

 

สรุป: ลูกท้องผูก 1 ขวบ ดูแลอย่างไรให้ลูกกลับมาสบายท้อง

เมื่อลูกท้องผูก คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมการขับถ่ายของลูก การดูแลเรื่องอาหารอย่างใกล้ชิด และการฝึกให้ลูกขับถ่ายเป็นเวลา จะช่วยให้ลูกกลับมาขับถ่ายปกติได้ หากอาการท้องผูกของลูกไม่ดีขึ้นหลังจากที่ได้ลองปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ แล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป

หากคุณแม่กังวลเกี่ยวกับการขับถ่ายของลูกน้อย สามารถทำแบบประเมินพัฒนาการลูกน้อย ได้ที่นี่ Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 

อ้างอิง:

  1. ลูกท้องผูก ปัญหาเรื้อรัง…ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม, โรงพยาบาลไทยนครินทร์
  2. สังเกตยังไง...ว่าลูกกำลังมีภาวะท้องผูก, โรงพยาบาลพญาไท
  3. ท้องผูกในเด็ก เรื่อง (ไม่) เล็ก ที่พ่อแม่ต้องรู้!, โรงพยาบาลศิครินทร์
  4. เคล็ดลับแก้ปัญหา เมื่อลูกน้อยท้องผูก, โรงพยาบาลบางปะกอก สมุทรปราการ
  5. ลูกชอบอั้น แม่ชอบสวน, โรงพยาบาลสมิติเวช
  6. ท้องผูกในเด็ก ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ, โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี
  7. 9 ผลไม้ช่วยขับถ่าย กากใยสูง แก้ท้องผูก เป็นมิตรต่อลำไส้!, โรงพยาบาลวิมุต
  8. เมื่อลูกท้องผูก พ่อแม่ควรรับมืออย่างไรดี, pobpad
  9. 5 ยาระบายเด็ก บรรเทาอาการท้องผูกของลูกน้อยอย่างปลอดภัย, pobpad
  10. เมื่อเจ้าตัวเล็กท้องผูก จะทำอย่างไรดี, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์

อ้างอิง ณ วันที่ 14 มีนาคม 2568